Hard Fork เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากในช่วงนี้ ซึ่งคริปโตเคอร์เรนซี เช่น Bitcoin และ Ethereum ต่างก็เคยทำ Hard Fork มาก่อนในอดีต และล่าสุด Terraform Labs ได้เสนอให้ทำ Hard Fork หรือการอัปเกรดซอฟต์แวร์ใหม่ของเครือข่ายบล็อกเชน วันนี้ THE STANDARD WEALTH จะพาไปทำความรู้จักคำว่า ‘Hard Fork’ ว่ามันคืออะไรและมีความสำคัญอย่างไรบ้าง
Hard Fork คืออะไร?
ในเทคโนโลยีบล็อกเชน Hard Fork หมายถึงการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในโปรโตคอลของเครือข่ายบล็อกเชน พูดง่ายๆ ก็คือ Hard Fork จะมีการแบ่งคริปโตออกเป็นส่วน และส่งผลให้เกิดการตรวจสอบบล็อกและธุรกรรมที่ก่อนหน้านี้ใช้ไม่ได้ผล
คำว่า ‘Fork’ ในบล็อกเชนมีคำนิยามหลายแบบ แต่ความเข้าใจโดยทั่วไปคือ มันเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงในโปรโตคอล เมื่อบล็อกเชนแยกออกเป็นสองเชนหรือมากกว่านั้น
Hard Fork บ่อยครั้งนำไปสู่การแยกเชนอย่างถาวร เนื่องจากเวอร์ชันเก่าเข้ากันไม่ได้กับเวอร์ชันใหม่อีกต่อไป ผู้ที่ถือโทเคนบนเชนเก่าจะได้รับโทเคนในเชนใหม่เช่นกัน เนื่องจากมีประวัติเดียวกัน การทำ Hard Fork สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ
Hard Fork เป็นการอัปเกรดที่จำเป็นต่อการปรับปรุงเครือข่าย ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มฟังก์ชัน การเพิ่มความปลอดภัยของเครือข่าย
การแก้ไขข้อขัดแย้งภายในชุมชนของสกุลเงินดิจิทัล
หรือการย้อนกลับการทำธุรกรรมบนบล็อกเชน
ตัวอย่าง Hard Fork ที่เคยเกิดขึ้นในวงการคริปโต
-
Bitcoin
เมื่อต้นปี 2009 บุคคลลึกลับนามว่า ซาโตชิ นากาโมโตะ ได้สร้าง Bitcoin ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลตัวแรกของโลก ตั้งแต่นั้นมา BTC ก็ได้รับความสนใจอย่างมากจากทั่วโลกและเป็นแรงบันดาลใจให้สกุลเงินดิจิทัลอื่นๆ มากมาย
บล็อกเชนของ Bitcoin ได้มีการ Fork หลายสิบครั้งนับตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง แต่มีเพียงบางโครงการเท่านั้นที่สามารถดำเนินการได้
กระบวนการ Fork ได้สร้างสกุลเงินดิจิทัลต่างๆ ที่มีชื่อคล้ายกับ Bitcoin ซึ่งรวมถึง Bitcoin Cash และ Bitcoin Gold
Bitcoin Cash เกิดจากการ Hard Fork ใน Bitcoin เมื่อปี 2017 โดยมีการเปิดใช้งานขนาดบล็อกเพิ่มจาก 1 MB เป็น 8 MB และยังเพิ่มจำนวนธุรกรรมที่สามารถประมวลผลในเครือข่าย
-
Ethereum
สกุลเงินดิจิทัลอันดับ 2 ของโลกอย่าง Ethereum ได้มีการอัปเกรดเครือข่ายครั้งสำคัญเมื่อเดือนสิงหาคม ปี 2021 ซึ่งถูกเรียกว่า London Hard Fork การเปลี่ยนแปลงสำคัญจากการอัปเกรดครั้งนี้คือ การลดจำนวน ETH ที่หมุนเวียนในระบบผ่านการเผาเหรียญที่ถูกจ่ายเป็นต้นทุนการทำธุรกรรมหรือค่าแก๊ส เพื่อแก้ปัญหาคอขวดของ Ethereum ที่มีมายาวนานในเรื่องค่าแก๊สที่สูง และปัญหาความแออัดของเครือข่ายนั่นเอง
ย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น เมื่อปี 2016 Ethereum ชุดเดิมถูกแฮ็ก ทำให้ต้องมีการ Hard Fork และย้ายข้อมูลไปที่บล็อกเชนใหม่ กลุ่มนักพัฒนาที่ไม่เห็นด้วยกับการ Hard Fork ได้ประกาศเรียกตนเองว่าเป็น Ethereum Classic (ETC) โดยยึดหลักเจตนารมณ์ว่าบล็อกเชน Ethereum จะต้องไม่มีการเปลี่ยนแปลง ขณะที่นักพัฒนาหลักได้ย้ายไปที่เชนใหม่อย่าง Ethereum (ETH) กันหมด ทำให้ท้ายที่สุดเชนเก่าแทบไม่มีการพัฒนา ซึ่งนี่เป็นตัวอย่างที่กำลังจะเห็นในเครือข่าย Terra
Hard Fork ของเครือข่าย Terra
หลังจากที่เครือข่ายบล็อกเชน Terra เผชิญกับวิกฤตจากการสูญเสียความเชื่อมั่น และส่งผลให้ราคาเหรียญ LUNA ซึ่งเป็นโทเคนดั้งเดิมของบล็อกเชนร่วงลงอย่างรุนแรง เหรียญ UST ซึ่งเป็น Stablecoin ที่อยู่บนบล็อกเชนเดียวกันนี้ ก็ไม่สามารถตรึงมูลค่าของตัวเองไว้ได้เช่นกัน
โด ควอน ซีอีโอของ Terraform Labs ได้เสนอให้ทำ Hard Fork หรือการอัปเกรดซอฟต์แวร์ใหม่ของเครือข่ายบล็อกเชน โดยจะแยกออกจากซอฟต์แวร์เก่าโดยสิ้นเชิง กระบวนการนี้จะต้องมีการลงมติของผู้ถือเหรียญ LUNA ก่อน โดยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 25 พฤษภาคม 2022
หากผลโหวตของชุมชนเห็นด้วยกับการสร้างเชนใหม่ เหรียญ LUNA อันเดิมจะกลายเป็น LUNA Classic ซึ่งผู้ถือเดิมจะได้รับการจัดสรรเหรียญ LUNA จากเชนใหม่ตามสัดส่วน แต่เหรียญ LUNA เดิมจะไม่มีประโยชน์ใดๆ แล้ว นอกจากการซื้อขายเพื่อเก็งกำไรตามกระแสเท่านั้น
กระบวนการ Hard Fork อาจส่งผลกระทบและเพิ่มความผันผวนต่อสกุลเงินดิจิทัล นักลงทุนจึงควรระมัดระวัง ศึกษาหาข้อมูล และกระจายความเสี่ยงก่อนที่จะลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล
อ้างอิง: