×

ทำไมผู้หญิงได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชาย? ไขคำตอบด้วยผลวิจัยทางเศรษฐศาสตร์

24.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างเพศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศอีกหลายๆ ประเทศก็กำลังประสบอยู่เหมือนกัน
  • คำอธิบายหนึ่งที่หลายคนมักยกขึ้นมาใช้อธิบายว่าทำไมผู้หญิงได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายก็คือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เคยขอขึ้นเงินเดือน เพราะผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่อยากทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและเจ้านายเสียหาย ไม่เหมือนกับผู้ชายทำงานส่วนใหญ่ซึ่งไม่แคร์ในเรื่องพวกนี้เท่ากับผู้หญิง
  • ผลวิจัยในออสเตรเลียระบุว่า ไม่จริงที่ผู้หญิงไม่กล้าขอขึ้นเงินเดือน แต่ผู้หญิงส่วนใหญ่ขอขึ้นเงินเดือนพอๆ กับผู้ชาย แต่ขอแล้ว ‘ไม่ได้’ มากกว่าเมื่อเทียบกับที่ผู้ชายขอ

     สำหรับคุณผู้หญิงทั้งหลาย คุณว่าคุณได้รับเงินเดือนเท่ากับเพื่อนร่วมงานที่มีตำแหน่งหน้าที่เท่ากันกับคุณ แตกต่างกันแค่ว่าเขาเป็นผู้ชายไหมครับ
     จากงานวิจัยของนักเศรษฐศาสตร์ในสิงคโปร์พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วในประเทศไทยของเรา เงินเดือนของผู้ชายมักจะสูงกว่าเงินเดือนของผู้หญิงที่มีหน้าที่การงาน รวมไปถึงอายุและการศึกษาเท่าๆ กัน
     พูดง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยของเรากำลังเผชิญกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างเพศ ซึ่งเป็นปัญหาที่ประเทศอีกหลายประเทศก็กำลังประสบอยู่เหมือนกัน
     คำถามที่สำคัญก็คือ ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงที่เราสามารถพบเห็นกันอยู่เป็นประจำนี้มันมาจากไหนกันแน่

 

เพราะผู้หญิงไม่เคยขอขึ้นเงินเดือน?
     คำอธิบายหนึ่งที่หลายคน ซึ่งส่วนใหญ่มักจะเป็นผู้ชายมักยกขึ้นมาใช้อธิบายว่าทำไมผู้หญิงได้รับเงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายก็คือ ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่เคยขอขึ้นเงินเดือนกับเจ้านาย ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่อยากทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและเจ้านายเสียหาย ไม่เหมือนกับผู้ชายทำงานส่วนใหญ่ ซึ่งไม่แคร์ในเรื่องพวกนี้เท่ากับผู้หญิง
     เป็นความจริงหรือที่ผู้หญิงส่วนใหญ่มีเงินเดือนน้อยกว่าเพราะพวกเธอไม่เคยขอเจ้านายขึ้นเงินเดือน?
     ในการพิสูจน์ เบนจามิน อาตซ์ จากมหาวิทยาลัย Wisconsin, อแมนดา กูดอลล์ จาก Cass Business School และแอนดรูว์ ออสวอลด์ จากมหาวิทยาลัย Warwick ได้นำข้อมูลของคนทำงานในประเทศออสเตรเลีย (Australian Workplace Relations Survey : AWRS) มาทำการวิจัยเพื่อใช้ในการตอบคำถาม


โดยใน AWRS มีคำถามที่ถามคนทำงานกว่า 4,600 คนว่า

  • คุณเคยลองเจรจาขอขึ้นเงินเดือนให้กับตัวคุณเองตั้งแต่เริ่มทำงานที่นี่ไหม
  • ทำไมคุณถึงไม่เคยลองเจรจาขอขึ้นเงินเดือนให้ตัวคุณเองตั้งแต่เริ่มทำงานที่นี่ … เพราะว่าคุณไม่อยากทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างคุณและเจ้านายเสียหรือเปล่า
  • ถ้าคุณเคยเจรจาขอขึ้นเงินเดือนให้กับตัวคุณเองตั้งแต่เริ่มทำงานที่นี่ การเจรจาในครั้งนั้นเป็นการเจรจาที่ประสบความสำเร็จหรือไม่

 

     พวกเขาทั้ง 3 พบว่า ผู้หญิงและผู้ชายเคยลองขอเจรจาขึ้นเงินเดือนให้กับตัวเองพอๆ กัน แต่โอกาสที่การเจรจาขอขึ้นเงินเดือนของผู้หญิงจะประสบความสำเร็จนั้นมีค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับผู้ชายที่มีตำแหน่ง หน้าที่ อายุ และการศึกษาพอๆ กันมาก
     ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขายังพบอีกว่า ผู้หญิงไม่ได้กลัวในเรื่องของการทำลายความสัมพันธ์ระหว่างตัวเองและเจ้านายไปกว่าผู้ชายเลย ถ้าเธอตัดสินใจขอเจ้านายตัวเองขึ้นเงินเดือน
     สรุปก็คือ อย่างน้อยในประเทศออสเตรเลีย มันไม่ได้เป็นความจริงเลยที่ผู้หญิงไม่ได้รับเงินเดือนที่เทียบเท่ากับผู้ชายที่มีศักยภาพเท่ากัน ด้วยสาเหตุที่ว่าผู้หญิง ‘เกรงใจ’ ที่จะขอเจ้านายขึ้นเงินเดือน
     ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าผู้หญิงส่วนใหญ่นั้นขอพอๆ กันกับผู้ชาย เพียงแต่ผู้หญิงขอแล้วแต่ ‘ไม่ได้’ เมื่อเทียบกันกับเวลาที่ผู้ชายขอเท่านั้นเอง
ส่วนสาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้คนไม่ขอเจรจาขึ้นเงินเดือนกับเจ้านายก็คือการใช้เวลาในที่ทำงานน้อยนั่นเอง ซึ่งไม่ได้เกี่ยวกับเพศของคนเลย
     คำถามที่สำคัญก็คือ แล้วประเทศไทยของเราเป็นเหมือนกันหรือเปล่า คำถามนี้ตัวผมเองก็ไม่มีคำตอบให้นะครับ มันอาจจะเป็นจริงก็ได้ที่ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างผู้ชายและผู้หญิงในประเทศของเราเกิดขึ้นเพราะสาเหตุอื่น แต่ผมก็อยากจะบอกกับเพื่อนๆ ที่เป็นผู้หญิงทำงานทั้งหลายว่า ถ้าคุณไม่เคยลองขอ คุณก็จะไม่มีทางรู้ได้นะครับว่าเจ้านายของคุณคิดกับคุณอย่างไร ไม่แน่ การขอขึ้นเงินเดือนของคุณอาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศของเราได้

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai 

อ้างอิง:

  • Artz, B., Goodall, A.H. and Oswald, A.J., 2016. Do Women Ask? IZA Discussion Paper No. 10183
  • Fang, Z. and Sakellariou, C., 2011. A case of sticky floors: Gender wage differentials in Thailand. Asian Economic Journal, 25(1), pp.35-54.
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X