×

ทำไมต้องเมาแล้วขับ? ถอดรหัสวิธีคิดของคนเมาผ่านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม

04.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นักเศรษฐศาสตร์ 3 คนจากมหาวิทยาลัยดุ๊กในสหรัฐอเมริกา – Frank A. Sloan, Lindsey M. Eldred และ Yanzhi Xu ได้วิเคราะห์ข้อมูลของคนที่ดื่มเเล้วขับในอเมริกาพบว่า คนที่เมาเเล้วขับไม่ได้มีความสามารถทางด้านความคิดน้อยไปกว่าคนธรรมดาทั่วไป เเต่มักจะเชื่อว่าความทรงจำของตัวเองไม่ค่อยดี และแย่กว่าความสามารถในการจำของคนธรรมดาทั่วไป
  • คนที่เมาเเล้วขับมากกว่า 5 ครั้งในปีก่อนที่จะถูกสัมภาษณ์ มักจะให้น้ำหนักกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาชอบความสุขทันที (instant gratification) ส่วนเรื่องร้ายๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขาในอนาคตพวกเขากลับเเทบไม่ได้คิดถึงมันเลย
  • ผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งบอกว่าคนที่เมาเเล้วขับมักมีความคิดที่ผิดว่าตัวเองไม่เมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าความเมาทำให้ความสามารถในการประเมินความเมาของตัวเองถดถอยลงไปเยอะมาก

     เคยสงสัยกันไหมครับว่าคนที่เมาเเล้วขับรถนั้นเป็นคนเเบบไหน ทำไมเขาจึงเมาเเล้วขับกันทั้งๆ ที่รู้ว่ามันอันตรายต่อตัวเองเเละคนที่ใช้รถใช้ถนนอื่นๆ เป็นเพราะว่าคนที่เมาเเล้วขับนั้นมักจะมีไอคิวที่ต่ำกว่าคนทั่วไปหรือเปล่า หรือเป็นเพราะว่าพวกเขาไม่รู้จักกฎหมายที่ห้ามเมาเเล้วขับ หรือเป็นเพราะเหตุผลอื่นที่คนเรามักจะคิดไม่ถึงกัน

     ในการพิสูจน์ว่าคุณสมบัติอะไรเป็นคุณสมบัติที่สำคัญที่ทำให้คนที่เมาเเล้วขับเเตกต่างจากคนอื่นๆ ทั่วไป นักเศรษฐศาสตร์ 3 คนจากมหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke) ในสหรัฐอเมริกา – Frank A. Sloan, Lindsey M. Eldred และ Yanzhi Xu – ได้ลงมือทำการวิเคราะห์ข้อมูลของคนที่ดื่มเเล้วขับในอเมริกา (ข้อมูลที่มีชื่อว่า the Survey of Alcohol and Driving) เเละพบว่า

 

คนที่เมาเเล้วขับไม่ได้มีความสามารถทางด้านความคิดน้อยไปกว่าคนธรรมดาทั่วไป

     โดยเฉลี่ยเเล้ว คนที่เมาเเล้วขับสามารถตอบคำถามเลข คำถามสถิติ เเละคำถามความรู้ทั่วไป – อย่างเช่น “ถ้าคุณมีเงินในธนาคารอยู่ $200 เเล้วคุณได้ดอกเบี้ยปีละ 10% คุณจะมีเงินฝากเท่าไหร่ตอนปลายปี” เเละ “ใครเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนปัจจุบันของคุณ” – ดีพอๆ กันกับคนธรรมดาคนอื่นๆ ทั่วไป เเต่คนที่เมาเเล้วขับมักจะเชื่อว่าความทรงจำของตัวเองไม่ค่อยดี เเละโดยเฉลี่ยเเล้วเเย่กว่าความสามารถในการจำของคนธรรมดาทั่วไป

 

คนที่เมาจะมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายห้ามเมาเเล้วขับมากกว่า เมื่อเทียบกับคนธรรมดาทั่วไป

     ทั้งนี้คงจะเป็นเพราะว่าคนที่เมาเเล้วขับถูกจับเเละปรับมากกว่าคนที่เมาเเต่ไม่ได้ขับ ซึ่งหมายความว่าการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายกับคนกลุ่มนี้มากขึ้นก็คงจะช่วยอะไรไม่ได้มาก

 

คนที่เมาเเล้วขับมักจะเป็นคนที่วางเเผนไม่เก่งหรือเป็นคนที่ไม่ชอบวางเเผนเลย (poor planner) เเละเป็นคนที่หุนหันพลันแล่นมากกว่าคนธรรมดาทั่วไป
     คนที่เมาเเล้วขับ โดยเฉพาะคนที่เมาเเล้วขับมากกว่า 5 ครั้งในปีก่อนที่จะถูกสัมภาษณ์ มักจะให้น้ำหนักกับปัจจุบันมากกว่าอนาคต พูดง่ายๆ ก็คือพวกเขาชอบความสุขทันที (instant gratification) ส่วนเรื่องร้ายๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเขาในอนาคตพวกเขากลับเเทบไม่ได้คิดถึงมันเลย (ส่วนหนึ่งก็เพราะว่าสำหรับคนพวกนี้อนาคตมันช่างดูไกลเสียเหลือเกิน ถ้าสุขวันนี้ได้ก็สุขก่อนดีกว่า ส่วนเรื่องร้ายๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตก็ไม่จำเป็นต้องคิดถึงมัน)
     เเล้วผลการวิจัยของพวกเขาทั้งสามมีนัยสำคัญกับนโยบายห้ามเมาเเล้วขับอย่างไรบ้าง
     อย่างเเรกเลยก็คือนโยบายที่เกี่ยวกับการศึกษาอาจจะช่วยอะไรได้ไม่มากนัก เพราะคนที่เมาเเล้วขับไม่ได้มีความฉลาดมากน้อยไปกว่าคนอื่นๆ ที่ไม่ได้เมาเเล้วขับสักเท่าไหร่นัก เเต่ด้วยความที่ว่าคนเมาเเล้วขับมักจะให้น้ำหนักกับความสุขในปัจจุบันมากกว่าความสุขในอนาคตมากเสียจนเกินไป (นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอย่างเราเรียกพฤติกรรมนั้นว่า time-inconsistency) เราจึงจำเป็นที่จะต้องทำให้การลงโทษคนที่เมาเเล้วขับ (เเละจำเป็นที่จะต้องเป็นการลงโทษที่ค่อนข้างรุนแรงด้วย ไม่ใช่เเค่ปรับอย่างเดียว) เกิดขึ้นทันทีที่ถูกจับเเทนที่จะต้องมีการรอการลงอาญาไปเรื่อยๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าคนกลุ่มนี้ไม่ค่อยเเคร์อนาคตของเขาสักเท่าไหร่ การลงอาญาก็คงจะไม่ค่อยมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนพฤติกรรมของคนกลุ่มนี้มากนัก
     เเละสำหรับคนที่รู้ตัวว่าเป็นคนที่ชอบเมาเเล้วขับ เเต่ใจจริงคือไม่อยากจะเมาเเล้วขับเเต่ห้ามตัวเองไม่ค่อยได้ล่ะก็ การวางเเผนว่าจะกลับบ้านยังไงก่อนที่จะออกไปดื่มกับเพื่อนๆ นั้นเป็นกลยุทธ์ที่ดีที่สุดที่จะป้องกันไม่ให้ตัวเองทำร้ายตัวเองเเละคนอื่นรอบข้างจากการเมาเเล้วขับนะครับ (เเต่ก็ต้องใช้ความพยายามหน่อย เพราะคนที่เมาเเล้วขับมักจะวางเเผนไม่ค่อยเก่งกัน)

     ผมขอปิดท้ายบทความนี้ด้วยผลการวิจัยอีกชิ้นหนึ่งนั่นก็คือ คนที่เมาเเล้วขับมักมีความคิดที่ผิดว่าตัวเองไม่เมา ทั้งนี้ก็เพราะว่าความเมาทำให้ความสามารถในการประเมินความเมาของตัวเองถดถอยลงไปเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้าเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เห็นคนรักคนสนิทดื่มเหล้าเเล้วพยายามจะขับรถกลับบ้านเองด้วยเหตุผลที่ว่า “ไม่เมาหรอก ไม่ต้องห่วง ผมรู้ตัวของผมเองว่าลิมิตของผมอยู่ตรงไหน” โอกาสที่คนคนนั้นเขาเมาจริงๆ มันสูงมากนะครับ

     
Stay safe บนท้องถนนนะครับผม

ภาพประกอบ: Pichamon Wannasan

อ่านเพิ่มเติม:

  • Sloan, F.A., Eldred, L.M. and Xu, Y., 2014. The behavioral economics of drunk driving. Journal of health economics, 35, pp.64-81.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X