×

กนง. นัดประชุม 18 พ.ย. นี้ จับตาแผนรับมือ ‘เงินบาทแข็ง’

17.11.2020
  • LOADING...
กนง. นัดประชุม 18 พ.ย. นี้ จับตาแผนรับมือ ‘เงินบาทแข็ง’

ในวันพรุ่งนี้ (18 พฤศจิกายน) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะประชุมร่วมกัน ซึ่งถือเป็นการประชุมครั้งที่ 7 ในรอบปี 2563 โดยตลาดคาดการณ์ว่า การประชุม กนง. ในครั้งนี้ ที่ประชุมน่าจะยังมีมติให้ ‘คง’ ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% 

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องติดตามจากการประชุมครั้งนี้ คือท่าทีของ กนง.​ ที่มีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะข้างหน้า หลังจากที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3/63 แม้จะฟื้นตัวได้ดีกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ระยะข้างหน้าแล้ว การฟื้นตัวมีแนวโน้มชะลอลง 

 

นอกจากนี้ การที่เงินบาทกลับมาแข็งค่าเร็ว โดยล่าสุดเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 30.16 บาทต่อดอลลาร์ อาจเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในภาคการส่งออก ซึ่งภาคการส่งออกในระยะข้างหน้าก็ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม จากการที่หลายประเทศในยุโรปเริ่มกลับมาใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

 

อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า การประชุม กนง. รอบนี้ เชื่อว่าที่ประชุมคงให้น้ำหนักกับเรื่อง ‘อัตราแลกเปลี่ยน’ ที่มากกว่าเรื่อง ‘ดอกเบี้ยนโยบาย’ สาเหตุเพราะเงินบาทในช่วงนี้แข็งค่าค่อนข้างเร็ว ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อภาคการส่งออก โดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ที่ต้องอาศัยค่าเงินในการแข่งขัน

 

“เชื่อว่ารอบนี้คงไม่ได้คุยเรื่องดอกเบี้ยนโยบายมากนัก เพราะดอกเบี้ยเราค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว และ กนง. ก็คงอยากเก็บกระสุนเอาไว้ใช้ยามจำเป็น ในกรณีที่เศรษฐกิจระยะข้างหน้าต่ำกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ แต่ประเด็นที่เขาหยิบมาคุยกัน น่าจะเป็นเรื่องค่าเงินบาท และคงดูเรื่องซอฟต์โลน เพื่อให้เงินไหลเข้าสู่ภาคธุรกิจเอสเอ็มอี หรือรายย่อยให้มากขึ้น อันนี้ถือเป็นโจทย์สำคัญของแบงก์ชาติที่มากกว่าเรื่องดอกเบี้ยนโยบาย”

 

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ​เกียรตินาคินภัทร กล่าวว่า สัญญาณที่ถูกส่งออกมาจาก ธปท. ในขณะนี้ คือภาพเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้ค่อนข้างดี จึงน่าจะชัดเจนว่า การประชุม กนง. ​ครั้งนี้ ที่ประชุมจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่น่าห่วงคือ การที่ภาครัฐและ ธปท. มีความเห็นในทิศทางที่สอดคล้องกันว่า เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวได้ดีต่อเนื่อง ทำให้การออกมาตรการเพื่อดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติมอาจไม่ได้จำเป็นมากนัก ซึ่งกรณีนี้นอกจากจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าแล้ว ยังทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นด้วย

 

“เรากำลังเผชิญกับเงินบาทที่แข็งค่าอย่างรวดเร็ว จากการที่ต่างประเทศพิมพ์เงินออกมาจำนวนมาก ซึ่งเงินบางส่วนไหลเข้ามาในประเทศไทยทำให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น ดังนั้นถ้าเราไม่ทำอะไรเลย แบงก์ชาติก็จะต้องเข้าแทรกแซงค่าเงินบาทอย่างนี้ไปเรื่อยๆ”

 

พิพัฒน์บอกด้วยว่า วิธีการจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลง ภาครัฐจำเป็นต้องฉีดเงินเข้าสู่ระบบมากขึ้น ผ่านการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทแล้ว ยังช่วยให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นด้วย 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง. น่าจะคงดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% ในการประชุมครั้งนี้ หลังจากที่ตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3/63 ดีกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์เอาไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม การแข็งค่าอย่างรวดเร็วของเงินบาทนับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ กนง. จะให้ความสำคัญมากขึ้นในการประชุมรอบนี้ เพราะอาจมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

ทั้งนี้ สัญญาณจากการประชุมนักวิเคราะห์ล่าสุดเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ธปท. ห่วงถึงแรงกดดันจากเงินบาทที่แข็งค่า ซึ่งเป็นแนวโน้มที่ยากจะหลีกเลี่ยง และอยู่ระหว่างเตรียมมาตรการเพื่อสร้างความสมดุลให้กับกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย 

 

โดยเฉพาะการเพิ่มความยืดหยุ่นในการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศ และการผ่อนคลายเกณฑ์การเปิดบัญชีที่เป็นเงินตราต่างประเทศให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ซึ่งมาตรการเหล่านี้คงดำเนินการควบคู่ไปกับการดูแลเสถียรภาพของค่าเงินบาท เพื่อลดความผันผวน และศึกษาความเหมาะสมของมาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในระยะต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X