ช่วงเวลาประมาณ 08.00 น. ของวันที่ 9 ธันวาคม ตามเวลาประเทศไทย ดาวหางฮัลเลย์ได้เดินทางไปถึงจุดไกลสุดของวงโคจรรอบดวงอาทิตย์ ก่อนเริ่มต้นการเดินทางนานกว่า 37 ปี เพื่อมุ่งหน้ากลับเข้ามาสู่ระบบสุริยะชั้นในอีกครั้ง
ดาวหางฮัลเลย์เป็นดาวหางที่มีคาบการโคจร 1 รอบ ประมาณ 75 ปี และเป็นดาวหางคาบการโคจรสั้น หรือน้อยกว่า 200 ปีเพียงดวงเดียวในปัจจุบัน ที่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าบนโลกของเรา และเป็นดาวหางเพียงดวงเดียวที่จะกลับมาให้เห็นได้มากถึง 2 ครั้งในช่วงชีวิตของมนุษย์
ครั้งล่าสุดที่ดาวหางฮัลเลย์โคจรเข้ามาใกล้โลกเกิดขึ้นในปี 1986 โดยเดินทางมาถึงจุด Perihelion หรือจุดใกล้ดวงอาทิตย์สุดในวงโคจร เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ก่อนค่อยๆ มุ่งหน้าออกไปยังจุด Aphelion ด้วยระยะห่างจากดวงอาทิตย์ประมาณ 35.14 หน่วยดาราศาสตร์ หรือราว 5,200 ล้านกิโลเมตร เมื่อช่วงเช้าวันนี้
นั่นทำให้ตำแหน่งปัจจุบันของดาวหางฮัลเลย์อยู่ไกลดวงอาทิตย์มากกว่าวงโคจรของดาวเนปจูน แต่ยังใกล้กว่าตำแหน่งของดาวพลูโต โดยมีความเร็วสัมพัทธ์ต่ำสุดที่จุด Aphelion ที่ประมาณ 0.91 กิโลเมตรต่อวินาที ก่อนจะเริ่มต้นการเดินทางนาน 37 ปี เพื่อมุ่งหน้ากลับมายังระบบสุริยะชั้นในอีกครั้ง
ดาวหางฮัลเลย์จะกลับมาใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดครั้งถัดไปในวันที่ 28 กรกฎาคม 2061 โดยจะเป็นช่วงเวลาที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นด้วยตาเปล่าได้ ก่อนเดินทางกลับสู่อวกาศลึกไปอีกครั้ง และจะวนกลับเข้ามาอีกในวันที่ 27 มีนาคม 2134
แม้ระหว่างนี้ดาวหางฮัลเลย์ยังไม่มาปรากฏให้เห็น แต่ผู้คนบนโลกสามารถรับชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกอีต้า-อควอริดส์ และฝนดาวตกโอไรออนิดส์ ที่เกิดขึ้นในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและกลางเดือนตุลาคมของทุกปี ซึ่งเป็นปรากฏการณ์จากสายธารเศษฝุ่นของดาวหางฮัลเลย์ที่ได้ทิ้งไว้ในวงโคจร ซึ่งโลกของเราจะเคลื่อนตัดผ่านบริเวณดังกล่าว 2 ครั้งต่อปี ทำให้เกิดเป็นฝนดาวตกที่สวยงามระหว่างรอการกลับมาของดาวหางฮัลเลย์
อ้างอิง: