ผมร่วงเป็นปัญหาที่ว่ากันว่าทุกคนต้องเจอในช่วงหนึ่งของชีวิต บางคนถ้าร่วงมากจนถึงขั้นคนทั่วไปเห็นหนังศีรษะเป็นพื้นที่มากเรียกว่า ‘หัวล้าน’ ส่วนใหญ่ผู้ชายและผู้หญิงมักมีสาเหตุแตกต่างกันออกไป แต่ไม่ว่าใครเจอปัญหาก็ล้วนแล้วแต่สะเทือนใจทั้งนั้นล่ะครับ เพราะผู้ชายและผู้หญิงจะดูดีหรือไม่ ส่วนหนึ่งก็ขึ้นอยู่กับทรงผม ความแตกต่างอยู่ที่ส่วนใหญ่ผู้ชายมักจะมาหาหมอเมื่อเป็นมากแล้ว ทำให้รักษาลำบาก ในขณะที่ฝ่ายหญิงจะรีบมา ทำให้รักษาได้เร็วกว่า
ผมร่วงเป็นกำๆ ทุกวันผิดปกติไหม
เรามาเข้าใจธรรมชาติของเส้นผมก่อน แต่ละเผ่าพันธุ์มีจำนวนผมบนศีรษะไม่เท่ากัน ชาวไทยส่วนใหญ่เป็นเชื้อสายเอเชียตะวันออก มีจำนวนเส้นผมประมาณ 80,000-140,000 เส้นบนหนังศีรษะ เส้นผมแต่ละเส้นจะอยู่ในวัยไม่เท่ากัน แบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ เส้นผมวัยละอ่อนค่อยๆ โต (ตั้งแต่งอกจนยาว 1-7 ปี) เส้นผมวัยกลางคน (ช่วงเตรียมพร้อมสู่วัยดึก กินระยะเวลา 10 วัน) และเส้นผมวัยดึก (ช่วงผมผลัดหลุดแล้วรอการงอกใหม่ เป็นเวลา 3 เดือนที่ไม่มีผม) หลังครบวงจรนี้รูขุมขนก็จะเริ่มสร้างผมใหม่
บนศีรษะของคนเราจึงประกอบไปด้วยประชากรทั้ง 3 วัยนี้ผสมผสานกัน เส้นผมแต่ละเส้นเมื่อเติบโตไปเรื่อยๆ ถึงวัยก็ต้องร่วงตามธรรมชาติ และโดยทั่วไปเส้นผมนั้นจะงอกประมาณ 1 เซนติเมตร ทุก 1 เดือน (30 วัน) สำหรับบางคนอาจงอกเร็วหรือช้ากว่านี้ ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่การสระผมทุกวันทำให้ผมร่วงได้มากกว่าปกติ เช่นเดียวกับการมัดผม ดึงรั้งผม ทำสีผม หรือกัดผมด้วยสารเคมี เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงได้มากกว่าปกติ
ร่วงเท่าไรถึงไม่โอเค
วิธีทดสอบผมร่วงด้วยตนเองที่แพทย์แนะนำมีหลายวิธีมาก สำหรับผมจะแนะนำวิธีที่ค่อนข้างง่าย สามารถทำได้ที่บ้าน อย่างการเก็บจำนวนผมที่ร่วงตลอด 24 ชั่วโมงในแต่ละวันนาน 1 สัปดาห์ การเก็บนั้นต้องรวบรวมผมที่ร่วงระหว่างอาบน้ำ สระผม และผมที่ร่วงติดหวีมาด้วย เก็บกระจุกผมทั้งหมดนั้นใส่ถุงพลาสติก แบ่งเป็นรายวัน เช่น ถุงเก็บผมที่ร่วงสำหรับวันจันทร์ อังคาร พุธ พฤหัสบดี ศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ และเมื่อทำอย่างนี้ครบ 7 ถุง ให้เอากระจุกผมร่วงนั้นมาเปรียบเทียบกัน ถ้าร่วงมากขึ้นในแต่ละวันก็เรียกได้ว่า ‘มีภาวะผมร่วง’ ที่เป็นปัญหาแน่นอน
แต่ถ้าร่วงเท่าๆ กัน ให้นับจำนวนเส้นผมว่ามากกว่า 100 เส้นหรือไม่ ถ้ามากกว่า แสดงว่าร่วงมากกว่าปกติ แต่หากผมร่วงจำนวนน้อยกว่า 100 เส้นต่อวันเท่ากันทุกวัน ก็อาจเป็นภาวะปกติก็เป็นได้ สำหรับตัวเลข 100 เป็นเลขที่แพทย์นิยมใช้เป็นจุดตัดว่าร่วงมากหรือร่วงน้อย ถ้าพบว่าร่วงมากกว่าปกติให้รีบพบแพทย์ แต่ไม่ได้มีงานวิจัยยืนยันชัดเจนว่าใช้ได้ทุกกรณี ตัวเลขนี้จึงถือเป็นค่านิยมของสังคมแพทย์เองมากกว่า
นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังมีการทดสอบเส้นผมเรียกว่า Hair pull test ซึ่งเป็นการทดสอบที่มักทำโดยแพทย์ กล่าวคือเมื่อพบผู้ป่วย แพทย์จะกำผมของผู้ป่วยหนึ่งกระจุกและกระตุกเบาๆ หากผมร่วงมากกว่า 10% ก็แปลว่ามีภาวะผมร่วงจริง เช่น กำจุกผมประมาณ 60 เส้น กระตุกแล้วมีผมหลุดติดมือมามากว่า 6 เส้น ก็แปลว่ามีภาวะผมร่วง วิธีนี้จะใช้ได้ดีหากผู้ป่วยไม่ได้สระผมมาก่อนอย่างน้อย 1 วัน
สำหรับผู้ชายและหญิงที่ผมร่วงเฉียบพลัน ส่วนหนึ่งเกิดจากภาวะเจ็บป่วยกะทันหันหรือมีเรื่องร้ายแรงเกิดขึ้นกับชีวิต เช่น ญาติหรือคนรักเสียชีวิต ส่งผลต่อการขาดเลือดกะทันหันของเส้นผม ทำให้ผมร่วงได้ใน 3 เดือนต่อมา เวลาแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยเรื่องผมร่วงจึงมักซักย้อนหลังไปราว 3 เดือนก่อนหน้าว่ามีเหตุการณ์ทำนองนั้นหรือไม่ ผู้ป่วยบางรายจะพบประวัติชัดเจน เช่น ภายใน 3 เดือนก่อนหน้าเกิดรถล้ม อุบัติเหตุ ต้องนอนโรงพยาบาลเฉียบพลัน ฯลฯ
อย่าปล่อยให้ผมร่วงลอยนวล
คำแนะนำสำหรับการดูแลเส้นผมทั่วไปคือสระผมสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง โดยใช้แชมพูที่มีเครื่องหมายรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่าสระผมบ่อยจนเกินไป ควรใช้แชมพูที่มีสมดุลกรดด่างไม่แรงจนเกินไป พยายามหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีรุนแรงที่จะทำอันตรายต่อเส้นผม ไม่ดัดผมหรือใช้ความร้อนสูงกับผมบ่อย ส่วนการหมักผมด้วยสูตรนม สมุนไพรต่างๆ น้ำผึ้ง มะกรูด อัญชัน ฯลฯ ถือว่าทำได้ ค่อนข้างปลอดภัย เพราะเป็นการใช้ภายนอก ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้แก่หนังศีรษะ และกระตุ้นการไหลเวียนเลือดบริเวณหนังศีรษะ การใช้ครีมนวดบำรุงถือว่าดี การรับประทานวิตามินและอาหารเสริมบำรุงเส้นผม เช่น วิตามินบีรวม แคลเซียม สังกะสี วิตามินรวม ฯลฯ พวกนี้ก็ช่วยได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนที่มีปัญหาผมแตกปลายอันเกิดจากขาดสารอาหารจำพวกวิตามินและเกลือแร่ครับ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- Hair Loss: Common Causes and Treatment. Phillips TG, Slomiany WP, Allison R. Am Fam Physician. 2017 Sep 15;96(6):371-378.
- Fitzpatrick’s Dermatology in General Medicine, 8e Lowell A. Goldsmith, Stephen I. Katz, Barbara A. Gilchrest, Amy S. Paller, David J. Leffell, Klaus Wolff
- Hair Evaluation Methods: Merits and Demerits Rachita Dhurat and Punit Saraogi Int J Trichology. 2009 Jul-Dec; 1(2): 108–119.