บทสรุปของการประชุม G7 ที่เมืองฮิโรชิมา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา นอกจากจะแสดงจุดยืนในการสนับสนุนยูเครนเพื่อต่อสู้กับรัสเซียแล้ว บรรดาผู้นำกลุ่ม G7 ยังได้เห็นชอบที่จะลดการพึ่งพาประเทศใดประเทศหนึ่งในการผลิตแต่เพียงอย่างเดียวอีกด้วย ถือเป็นการส่งสารเตือนไปยังจีนโดยตรงว่า ผู้นำกลุ่ม G7 กำลังเพ่งเล็งไปที่ประเทศจีน โดยบรรดาผู้นำเน้นย้ำว่า การพึ่งพาซัพพลายเชนเพียงแหล่งเดียวทำให้เกิดการขู่เข็ญและบีบบังคับทางเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ร่วมหลังการประชุมสุดยอด G7 กล่าวว่า “แนวทางนโยบายของ G7 ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อทำร้ายจีน และไม่ได้พยายามที่จะขัดขวางความก้าวหน้าและการพัฒนาทางเศรษฐกิจของจีน แต่ในขณะเดียวกัน G7 ก็ตระหนักดีว่าความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องลดความเสี่ยงและกระจายความเสี่ยง”
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- บทสรุปประชุมซัมมิต G7 ผู้นำตกลงอะไรกันบ้าง
- ไบเดน’ ลั่นความสัมพันธ์สหรัฐฯ-จีนจะดีขึ้นในไม่ช้า เผยผู้นำระดับสูงของทั้ง 2 ฝ่ายเตรียมพบปะกัน
- รัสเซีย-จีนโต้ G7 มองเป็นภัยคุกคาม ชี้หลงระเริงในความยิ่งใหญ่-ขวางสันติภาพระหว่างประเทศ
- จีนเรียกทูตญี่ปุ่นเข้าพบ ประท้วงปมร่วมมือสมาชิก G7 ป้ายสี-แทรกแซงกิจการภายในจีน
นอกจากนี้ ที่ประชุม G7 ยังได้เรียกร้องให้จีนกดดันพันธมิตรทางยุทธศาสตร์อย่างรัสเซียให้ยุติสงครามกับยูเครน และแก้ไขข้อพิพาทดินแดนอย่างสันติกับทางไต้หวัน ก่อนย้ำว่าความร่วมมือกับจีนเป็นสิ่งจำเป็นเนื่องจากมีบทบาทและขนาดเศรษฐกิจระดับโลก
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ทำให้จีนไม่พอใจอย่างมาก และทำให้กระทรวงการต่างประเทศจีนตอบโต้ด้วยการเรียกตัวเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเข้าพบเพื่อประท้วงต่อกรณี ‘ประเด็นเพ่งเล็งเกี่ยวกับจีน’ ในการประชุมกลุ่ม G7 โดย ซุนเว่ยตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าวว่า ญี่ปุ่นร่วมมือกับชาติอื่นๆ ในการประชุมกลุ่ม G7 ในกิจกรรมและการแถลงการณ์ร่วมเพื่อสาดโคลนและโจมตีจีน แทรกแซงกิจการภายในจีนอย่างร้ายแรง ละเมิดหลักการพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และเจตนารมณ์ของเอกสารทางการเมืองทั้ง 4 ฉบับระหว่างจีนและญี่ปุ่น
ซุนย้ำว่า การกระทำของญี่ปุ่นเป็นอันตรายต่ออำนาจอธิปไตย ความมั่นคง และผลประโยชน์ด้านการพัฒนาของจีน และจีนรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่งและขอต่อต้านอย่างถึงที่สุดต่อการกระทำดังกล่าว รวมถึงระบุให้ญี่ปุ่นควรแก้ไขความเข้าใจที่มีต่อจีนเสียใหม่ เข้าใจระบบเอกราชเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Autonomy) และส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีอย่างมั่นคงอย่างแท้จริงด้วยทัศนคติที่สร้างสรรค์
นอกจากนี้ จีนยังมีคำสั่งให้บริษัทต่างๆ หยุดซื้อชิปจาก Micron ผู้ผลิตชิปสัญชาติอเมริกัน
ด้านนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ท่าทีของ G7 ที่มีต่อจีนไม่ต่างอะไรจากความพยายามกดดันจีนด้วยการโดดเดี่ยวจีนจากโลก ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้และอันตรายมาก (Impossible and Dangerous)
Giuliano Noci รองอธิการบดีด้านจีนแห่ง Politecnico di Milano (Vice-Rector for China for Politecnico di Milano) ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีโทรทัศน์ CNBC ว่า ตลาดจีนมีบทบาทอย่างมากต่อห่วงโซ่อุปทานโลก ดังนั้น จึงเป็นเรื่องยากที่จะแยกจีนออกจากระบบอย่างสิ้นเชิง และเป็นที่ชัดเจนว่าการโดดเดี่ยวจีนจะไม่เพียงเป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ในแง่หนึ่งเท่านั้น แต่ยังเป็นอันตรายอีกด้วย
Noci กล่าวว่า การกระจายห่วงโซ่อุปทานให้หลากหลายเป็นการลดความเสี่ยงที่ดีแน่นอน แต่ไม่ควรจะถูกนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการทำลายความสัมพันธ์กับจีน ก่อนชี้ให้เห็นถึงข้อมูลเชิงสถิติที่จีนถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่ของสหรัฐฯ และทุกประเทศในกลุ่ม G7 ดังนั้นการโดดเดี่ยวจีน ย่อมไม่ต่างอะไรจากการทุ่มหินลงเท้าของตนเอง คือทำให้ตนเองเจ็บตัวตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกเปราะบาง
Noci ย้ำว่า โลกขณะนี้ กำลังก้าวข้ามโลกขั้วเดียว ซึ่งมีสหรัฐฯ เข้าสู่โลกสองขั้วหรือโลกหลายขั้ว ดังนั้น การสร้างมิตรย่อมดีกว่าการสร้างศัตรู
อ้างอิง: