×

กูรูเตือนเศรษฐกิจไทยเสี่ยง ‘ก้าวไม่พ้นเหว’ ในปีหน้า แนะถนอมเงินทุนสำรองรับมือวิกฤตโลกถดถอย

04.10.2022
  • LOADING...
เศรษฐกิจไทย

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวในงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 หัวข้อเศรษฐกิจไทย..ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก ว่าปี 2566 จะเป็นปีที่มีความท้าทายทางเศรษฐกิจสูงกว่าในปีนี้ โดยสิ่งที่ต้องติดตาม คือการเดินหน้าปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง ทำให้ภาวะเศรษฐกิจของโลกจะเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Global Recession) ซึ่งจะมีความรุนแรงและชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า และจะส่งผลกระทบมาถึงไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

 

“เราเริ่มเห็นผลกระทบที่เกิดขึ้นบ้างแล้วในตอนนี้ ผ่านตัวเลขส่งออกที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่องในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา จะเห็นว่า Recession เพิ่งเริ่มต้นส่งออกก็มีปัญหาแล้ว หากดูจากดัชนีภาคการผลิต PMI ของทั้งสหรัฐฯ, EU และจีน ที่ออกมาแย่หมด ผลกระทบต่อการส่งออกในปีหน้าจะรุนแรงขึ้น ซึ่งหากมองไปที่เครื่องยนต์ตัวอื่นของไทย จะเห็นว่าการบริโภคในประเทศก็เริ่มจะนิ่งๆ ไม่ขยับแล้วเช่นกัน เหลือเพียงภาคการท่องเที่ยวที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญ จึงมีโอกาสที่ในปีหน้าเราอาจจะก้าวไม่พ้นเหว” กอบศักดิ์กล่าว


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


กอบศักดิ์ ระบุว่า ขณะนี้ Fed ส่งสัญญาณชัดเจนว่าจะต่อสู้กับเงินเฟ้ออย่างเต็มที่ โดยมีความเป็นไปได้ที่ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐฯ อาจถูกปรับขึ้นไปสูงถึง 5% ทำให้โอกาสที่จะเกิดภาวะถดถอยมีสูงมาก อย่างไรก็ดี ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะยังพอประคองตัวไปได้ แต่ต้องให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยวและต้องเตรียมความพร้อมรับวิกฤตที่จะเกิดขึ้นกับกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (EM) ด้วยการถนอมเงินทุนสำรองเอาไว้สำหรับใช้ดูแลความผันผวนในปีหน้า

 

“ขณะนี้วิกฤตในกลุ่มประเทศ EM กำลังก่อตัว เราเห็นตัวอย่างแล้วในศรีลังกา เมียนมา ยิ่ง Fed ขึ้นดอกเบี้ยสูงปัญหาจะยิ่งลุกลาม เงินเฟ้อในหลายประเทศจะรุนแรงขึ้น สกุลเงินจะอ่อนค่า หนี้ที่อยู่ในสกุลดอลลาร์จะมีมูลค่าสูงขึ้น เราต้องไม่ทำตัวให้เป็นเหยื่อ เราต้องถนอมเงินสำรองเอาไว้ใช้เมื่อจำเป็นในปีหน้า เงินบาทอาจยอมให้อ่อนได้เพราะอย่างน้อยก็ส่งผลบวกกับเกษตรกร ผู้ส่งออกสินค้าไทย และต้องพยายามดึง FDI เข้ามาให้ได้” กอบศักดิ์กล่าว

 

ด้าน ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า ประเด็นที่น่ากังวลสำหรับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ คือการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันขาดดุลบัญชีเดินสะพัด 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งหากยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเศรษฐกิจไทยอาจจะมีปัญหาตามมาได้ 

 

“การจะทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก เราจะต้องมีเงินทุนไหลเข้ามาชดเชย แต่ส่วนต่างดอกเบี้ยระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่ห่างกันอย่างในปัจจุบัน ยังมองไม่ออกว่าเงินจะไหลเข้ามาอย่างไร หากจะพึ่งการท่องเที่ยวจำนวนนักท่องเที่ยวจะต้องเพิ่มขึ้นเป็น 1.5-2 ล้านรายต่อเดือน เราจึงจะไม่ขาดดุล” ศุภวุฒิกล่าว

 

ศุภวุฒิกล่าวอีกว่า โดยส่วนตัวมองว่าช่วงไตรมาส 2 ปี 2566 จะเป็นช่วงที่น่าเป็นห่วงสำหรับเศรษฐกิจไทย เพราะจะเป็นช่วงโลว์ซีซันของการท่องเที่ยว หากไทยยังมีปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเงินบาทจะอ่อนลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันในช่วงนั้นยังเป็นช่วงที่จะมีการเลือกตั้งใหญ่ ทำให้ไม่มีรัฐบาล เปรียบเสมือนประเทศขาดยามเฝ้า นอกจากนี้ในระยะยาวไทยยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญกับความท้าทายในด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมของโลกอีกด้วย

 

“เดือนที่ผ่านมา EU ได้ผ่านกฎหมายห้ามนำเข้าสินค้า 14 ประเภท ทั้งพืชและเนื้อสัตว์จากประเทศที่รุกล้ำป่า ซึ่งหากรวมกับมาตรการภาษีคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ CBAM ไทยอาจได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เพราะเรายังไม่ตื่นตัวเรื่องนี้เท่าที่ควร ในระยะยาวเราจึงมีโจทย์ที่ต้องปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจรออยู่อีก” ศุภวุฒิกล่าว

 

ขณะที่ เกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน เนื่องจากพึ่งพาการท่องเที่ยวสูง อย่างไรก็ดี ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ 3.1% และในปีหน้าจะขยายตัวที่ 4.3% ตามการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะกลับสู่จุดก่อนวิกฤตโควิดได้ในช่วงปี 2568

 

อย่างไรก็ดี ในระยะยาวเศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะต้องเผชิญกับปัญหาภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศสูงเป็นอันดับ 9 ของโลก โดยธนาคารโลกประเมินว่า ไทยอาจต้องใช้งบประมาณสูงราว 4-6% ของ GDP เพื่อลงทุนในการบรรเทาผลกระทบซึ่งเป็นระดับใกล้เคียงกับเวียดนาม โดยปัญหาความเสี่ยงด้านน้ำท่วมยังอาจส่งผลกระทบต่อแผนการยกระดับประเทศสู่การเป็นฮับสำหรับผลิตรถยนต์ EV

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X