×

กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ จากเด็กพูดติดอ่าง สู่ผู้บุกเบิกอาณาจักรธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ไม่เคยหยุดมองหาโอกาส [Advertorail]

โดย THE STANDARD TEAM
14.02.2019
  • LOADING...
Gunkul Dhumrongpiyawut

กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ เป็นหนึ่งในคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เล็งเห็นศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเมื่อหลายสิบปีก่อน

 

จากเด็กพูดติดอ่างที่มีพัฒนาการช้ากว่าเพื่อน เขาหยุดเรียนหนังสือตอนอายุ 10 ขวบกว่า แล้วหันมาทำกิจการจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือช่างตั้งแต่เด็ก ได้เรียนรู้การทำงานและซึมซับการทำธุรกิจ จนสามารถเปิดบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ของตนเองด้วยวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น

 

แม้จะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ที่เน้นซื้อมาขายไป แต่เขาก็ไม่เคยหยุดมองหาโอกาสใหม่ๆ และท้าทายตัวเองด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมเสมอ แทนที่จะรอคอยความพร้อม เขากลับเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ แค่ ‘ลงมือทำ’

 

เขาเคยเกือบล้มละลาย เพราะเป็นหนี้สูงถึง 300 ล้านบาท แต่กลับพาบริษัทลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง จนกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจครบวงจรด้านอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและระบบพลังงานทดแทนแถวหน้าของประเทศในปัจจุบัน

 

และนี่คือเรื่องราวของผู้บริหารที่ไม่เคย ‘ยอมแพ้’

 

Gunkul Dhumrongpiyawut

 

ทราบมาว่าชีวิตในวัยเด็กของคุณค่อนข้างลำบากพอสมควร คุณข้ามผ่านจุดนั้นมาได้อย่างไร

ผมเป็นเด็กที่มีพัฒนาการช้า เริ่มพูดได้ตอนอายุ 7-8 ขวบ แต่พูดช้า เลยยังไม่ได้เรียนหนังสือ ตอนอายุ 9 ขวบ พ่อพาผมไปหาหมอที่โรงพยาบาลมิชชั่น และต้องรักษาแบบโบราณด้วยการนอนบนน้ำแข็ง และเจาะไขสันหลัง พออาการดีขึ้นแล้ว ผมได้เข้าเรียนชั้น ป.1 ที่โรงเรียนจีน ตอนนั้นโตกว่าเด็กอื่นๆ ในชั้นเรียนพอขึ้น ป.5 ผมตัดสินใจหยุดเรียนมาอยู่บ้านขายของแทน ตอนนั้นครอบครัวย้ายไปอยู่แถวราชวัตร ก็เริ่มเปิดร้านขายของฮาร์ดแวร์ ประเภทเครื่องมือช่าง สายไฟ และหลอดไฟต่างๆ พอเห็นคนรับซ่อมไส้เตารีดมาซื้อเหล็กบ่อยๆ ก็คิดว่า ทำไมเราไม่ทำแบบนั้นบ้าง เลยลองแกะของออกมาดู และทำเอง แล้วเริ่มรับซ่อมเตารีด จากที่ขายแผ่นเหล็กได้เงินแค่ 8 บาท ก็เพิ่มมูลค่าเป็น 125 บาท นั่นเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ได้ลองคิดอะไรใหม่ๆ ต่อมาก็เริ่มรับเหมาติดตั้งสายไฟตามบ้านให้กับคนที่มาซื้อของกับเรา พอคิดแล้วเราก็ทำเลย

 

ทำไมต้องคิดแล้วทำเลย ไม่กลัวความเสี่ยง?

มันไม่เคยมีความพร้อม ตอนนั้นผมไม่มีความรู้เรื่องการเดินสายไฟเลย แต่ก็ลองทำเอง ผมคิดว่าเราต้องเรียนรู้ทุกอย่างด้วยตัวเองก่อน จะได้รู้ว่าทำได้หรือไม่ได้ ทำไม่ได้เพราะอะไร เรื่องไหนยากไป ค่อยให้คนอื่นมาช่วย ตอนรับจ้างเปลี่ยนสายไฟบ้านครั้งแรก คัตเอาต์เกิดระเบิด ผมก็ไม่ยอมแพ้ ผมกลับไปคุยกับช่างติดตั้งมืออาชีพ ยอมขาดทุน จ้างให้เขาไปซ่อมราคา 200 บาท ถึงจะแพงกว่าค่ารับเหมาทั้งบ้านที่ทำ แต่ก็ยอม เพราะถือว่าเป็นค่าวิชา เขาก็บอกว่า เราต่อสายผิด ไฟฟ้าเลยลัดวงจร ผมก็เลยจีบให้เขามาทำงานด้วยกัน ตอนนั้นผมอายุ 14-15 ปี มีความฝันว่า อยากมีเงินสัก 4 ล้านบาท เพราะตอนนั้นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารอยู่ที่ 20% ถ้าผมฝาก 4 ล้าน จะได้ดอกเบี้ยปีละ 8 แสนบาท ก็คิดต่อว่า จะทำอย่างไรให้ได้เงิน 4 ล้านบาท นี่เป็นจุดตั้งต้นความคิด พออายุ 16-17 ปี ก็เริ่มเข้าไปคุยกับเจ้าหน้าที่การไฟฟ้า แต่เขาไม่อยากคุยกับเรา

เขาไล่กลับทุกวัน เราก็ไปทุกวัน

เราต้องทำทุกวันจนเคยชิน จะได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าเมื่อวาน

มีวิธีโน้มน้าวเขาอย่างไรบ้าง

ไปทุกวันครับ เขาไล่กลับทุกวัน เราก็ยังไปทุกวัน ในความคิดผม อะไรที่เราทำไม่ได้ เราก็ต้องทำทุกวันจนเคยชิน จะได้รู้ว่าอะไรคือสิ่งที่เราทำได้ดีกว่าเดิม ผมอยู่กับการไฟฟ้าเกือบ 2 ปี ถึงรู้ว่าเขาจะรับซื้ออะไรบ้าง แต่ปัญหาคือ เราจะเข้าไปขายสินค้าให้กับเขาได้อย่างไร เพราะสมัยก่อน การไฟฟ้านำเข้าอุปกรณ์ไฟฟ้าแรงสูงทั้งหมดจากต่างประเทศ ยกเว้นเสาไฟฟ้าที่เป็นเสาไม้ ขนาดน็อตร้อยเสาไม้ก็ต้องนำเข้า เพราะต้องใช้เหล็กที่ไม่เป็นสนิม หรือเรียกว่าเหล็กชุบกัลวาไนซ์ ซึ่งยังไม่มีในเมืองไทย เราก็อยากหาซื้ออุปกรณ์เหล่านี้มาขาย แต่พูดภาษาอังกฤษไม่เป็น จนได้เพื่อนมาช่วยหาและติดต่อซื้อสินค้า พอเรามีสินค้าที่ถูกสเปกแล้ว เขาก็รับซื้อ กว่าจะขายล็อตแรกให้กับการไฟฟ้าได้ ผมใช้เวลาค้นคว้านาน 4-5 ปี รวมเวลาที่รอผู้ผลิตแต่ละเจ้าตอบกลับด้วย ปรากฏว่า ล็อตแรกเราได้กำไรเป็นแสน ดีใจมาก และคิดว่ามันคุ้มค่าเหนื่อย เราเรียนรู้ว่ากว่าจะมาทำแต่ละอย่างได้นั้น เราต้องเอาใจเราไปใส่ใจเขา เวลาจะหาคนมาช่วย มันต้องใช้ความอดทน ไม่ใช่ไปบอกว่าเราอยากได้อะไร เพราะมันไม่ใช่เรื่องของเขา วันนี้ไม่ได้ก็อย่าเพิ่งถอย พรุ่งนี้ค่อยมาใหม่ วันนี้ไม่ได้ก็กลับไปคิดว่าต้องทำอย่างไร

 

Gunkul Dhumrongpiyawut

 

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้หันมาทำธุรกิจผลิตไฟฟ้าด้วย

กว่าจะข้ามผ่านแต่ละจุดมาได้ เราใช้เวลาหลายปีนะครับ ช่วงที่เราขายสินค้าให้กับการไฟฟ้า ก็มีคู่แข่งเข้ามาเรื่อยๆ จนมาถึงจุดที่เราต้องเปิดโรงงาน เพราะสมัยก่อน คนที่นำเสนอสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยก็จะได้รับสิทธิพิเศษ ผมเลยตัดสินใจสร้างโรงงานทั้งที่ไม่รู้วิธีเลย เริ่มจากซื้อที่ดิน สร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร จะทำสินค้าอะไรก็ต้องเลือกทำ ดังนั้น กว่าจะผลิตสินค้าแต่ละตัวได้ เราล้มลุกคลุกคลานมามาก ทั้งเรื่อง QC กับเรื่องคน เราต้องรู้ว่าจะซื้อใจเขาได้อย่างไร พอแยกมาเปิดบริษัทของตัวเองตอนอายุ 29 ปี และขยายธุรกิจไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเจอวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งในปี 2539-2540 ยิ่งค่าเงินบาทอ่อน ยอดหนี้ก็ยิ่งเพิ่ม ตอนนั้นเราเป็นหนี้ธนาคารประมาณ 300 ล้านบาท หรือ 13-14 ล้านเหรียญสหรัฐ ยอดหนี้เพิ่มอีกเท่าตัว จากค่าเงินบาทที่อ่อนตัว ผมต้องเอาที่ดินที่ซื้อมาทั้งชีวิตไปจำนอง เพื่อเอาเงินมาจ่ายธนาคาร แล้วเป็นหนี้หลักทรัพย์แทน 2-3 ปีต่อมา รัฐบาลประกาศยุบบริษัทไฟแนน์ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือเจ้าหนี้ของเรา หนี้สินทั้งหมดเลยถูกโอนไปที่ธนาคารแห่งประเทศไทย เขาออกจดหมายให้เราชำระหนี้ภายใน 30 วัน รวมดอกเบี้ย 35% ถ้าผิดนัดอีกก็เท่าตัว ตอนนั้นผมเกือบจะซึมเศร้าอยู่เหมือนกัน

ถ้าล้มตอนนั้น ทุกอย่างจะกลายเป็นศูนย์หมด

ทำไมคุณจึงมั่นใจว่าจะผ่านจุดนั้นไปได้

เพราะว่าเราขายของได้ทุกปี เมื่อก่อนบริษัทเราทำกำไรได้สูง 30-40% เฉลี่ยปีละ 100 ล้านได้ ยอดประกอบการแต่ละปีก็ไม่น้อย เพื่อนแนะนำให้ผมไปเข้าแผนฟื้นฟูเพื่อผ่อนผันการชำระหนี้ ถึงจะอยู่รอดได้ แต่ถ้าแบงก์ชาติค้านกลับ เราก็เจ๊ง เพราะเขาคิดว่าเราไม่มีเงินพอ แต่สุดท้ายศาลก็เมตตาให้โอกาสเราฟื้นฟูกิจการ โดยขอเวลาชำระหนี้ 8 ปี จ่ายปีละร้อยล้าน ธุรกิจเราเริ่มฟื้นตัวในปี 2548 และผ่อนชำระหนี้แบงก์ชาติได้ทั้งหมดภายใน 4 ปี หลังจากนั้นเราเรียนรู้ว่าต้องไม่ผิดซ้ำเรื่องเดิมอีก ถ้าอยากจะเติบโต ก็ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ นั่นคือเป้าหมายต่อไปของเรา

 

สิ่งที่ช่วยผลักดันให้คุณไม่ยอมแพ้ในตอนนั้นคืออะไร

ถ้าล้มตอนนั้น ทุกอย่างจะกลายเป็นศูนย์หมด ต้องเริ่มต้นใหม่ ตอนนั้นเชื่อว่า สามารถทำได้ เราทำธุรกิจ ตั้งใจทำ เราสามารถมีเงินมาคืนเงินกู้ได้

 

Gunkul Dhumrongpiyawut

 

คุณก้าวเข้าสู่วงการพลังงานทดแทนอย่างไร

เราได้ไปติดตั้งกังหันลม 2 ต้นแรก บริเวณเขายายเที่ยง ให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แล้วเห็นมิเตอร์มันวิ่งทุกวัน โรงงานไฟฟ้าทำงานทุกวัน ไม่มีวันหยุด และใช้คนน้อยมากเมื่อเทียบกับโรงงานเรา พอย้อนกลับมาดูธุรกิจโรงงานของตัวเอง เลยจุดประกายไอเดียขึ้นมาว่า อยากจะเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า อยากลงทุนในพลังงานทดแทน ซึ่งตอนแรกที่ลงทุนไปก็ต้องบอกก่อนว่าเราไม่ได้มีความพร้อม ทั้งเรื่องเงิน และประสบการณ์ตรง แต่ตัดสินใจลงมือทำ เพราะเชื่อว่าเราสามารถทำให้สิ่งนี้เกิดขึ้นได้จริง

 

Gunkul Dhumrongpiyawut

ถ้าคุณไม่เชื่อว่าทำได้ คุณอย่าทำเลย ถ้าคุณไม่เชื่อ ยังไงก็ทำไม่ได้

เคล็ดลับการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จสำหรับคุณคืออะไร

เราต้องหาโอกาสใหม่ๆ อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ถ้าเราอยากทำต้องตั้งใจ ไม่ว่ามันจะยากขนาดไหน มันจะยากแค่ครั้งแรกเท่านั้น ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ทำไปเรื่อยๆ การทำทุกวันซ้ำๆ จะทำให้เกิดความชำนาญ และเราต้องเชื่อว่าเราทำได้ ทุกคนมีความกลัวหมด เป็นเรื่องปกติ แต่ความกลัวมันกลัวคนกล้า กล้าที่จะลงมือทำทั้งๆ ที่ใจก็ยังกลัวอยู่บ้าง

 

ถ้าคุณไม่เชื่อว่าทำได้ คุณอย่าทำเลย ถ้าไม่เชื่อ ยังไงก็ทำไม่ได้ ต้องทำทุกวัน เชื่อในตัวเอง แล้วก็ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน

ต่อไปธุรกิจพลังงานจะเหมือนกับสื่อ ปัจจุบันคนสามารถผลิตสื่อได้เองหมด

ถ้าเราไม่ปรับตัวเปลี่ยนตามสถานการณ์ เราจะจมปลักอยู่ในอดีต เราต้องมองไปข้างหน้า ว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร

มองความท้าทายในอนาคตอย่างไรบ้าง

บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) เราอยู่ในธุรกิจพลังงานไฟฟ้า เราทำธุรกิจแบบครบวงจร ทั้งการผลิต จัดจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ดำเนินงานวิศวกรรมไฟฟ้า ก่อสร้างสายส่งไฟฟ้า สถานีไฟฟ้า ระบบไฟฟ้า และระบบพลังงานทดแทนโซลาร์และกังหันลม เรารับงานใหม่ Area ใหม่เรื่อยๆ เช่น ไมโครกริด (Microgrid) คือระบบไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟแบบอิสระด้วยตัวเอง ผลิต และใช้ไฟเอง

 

ตอนนี้ผมมองว่าธุรกิจไฟฟ้าในประเทศไทยกำลังจะเปลี่ยนไปจากเดิม เมื่อก่อนคุณไม่เคยเชื่อเลยว่า คุณจะสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองได้ ตอนนี้ถ้าใช้โซลาร์เซลล์ คุณก็สามารถผลิตเองใช้เอง และยังขายได้ด้วยที่บ้านหรือโรงงานคุณ เพราะไฟฟ้าเป็นปัจจัยสี่ที่อาจดูเหมือนเป็นสิ่งไกลตัว แต่กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าจะเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกวัน เราจะไม่เป็นเพียงแค่คนใช้ไฟ เราจะสามารถผลิต เก็บกัก ใช้ และซื้อขายไฟกันเองได้ เช่น การซื้อขายไฟฟ้าพลังงานโซลาร์บนบล็อกเชน นี่คือสิ่งที่เราสามารถจับต้องซื้อขายไฟฟ้ากันได้ ต่อไปธุรกิจพลังงานก็จะเหมือนสื่อ ปัจจุบันคนสามารถผลิตสื่อได้เองหมด ใครจะไปคิดว่าทีวีจะได้รับความนิยมน้อยลง สิบปีที่แล้วไม่มีใครคิดว่าช่องฟรีทีวีจะมีปัญหา เพราะฉะนั้นถ้าเราไม่ปรับตัวเปลี่ยนตามสถานการณ์ เราจะจมปลักอยู่ในอดีต เราต้องมองไปข้างหน้าว่าสถานการณ์จะเป็นอย่างไร แล้วปรับตัวตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ขยายมองหาโอกาสไปเรื่อยๆ ส่วนบล็อกเชน ตอนนี้เรากำลังอยู่ในช่วงทดลองภายในบริษัท ต้องรอให้มันเสถียรก่อน เราสามารถหาคนที่ทำได้ เราสามารถลงทุนได้ทุกอย่าง ถ้าเรามั่นใจ เราต้องเชื่อก่อนว่าถ้าเราทำแล้วมันจะดี

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X