บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) รายงานผลดำเนินงานไตรมาส 4/63 โดยมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) รวม 1,239 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 85% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)
สาเหตุหลักมาจากการรับรู้ผลการดำเนินงานของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 465 เมกะวัตต์ ที่ประเทศเยอรมนี ในไตรมาส 4/63 เป็นไตรมาสแรก หลังจากที่ GULF ได้เข้าซื้อหุ้น 50% ในเดือนกันยายน 2563
นอกจากนี้ยังได้รับอานิสงส์จากโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล กัลฟ์ จะนะ กรีน (GCG) กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 25 เมกะวัตต์ ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในเดือนมีนาคม 2563
สำหรับในปี 2563 GULF มีรายได้รวม (Total Revenue) เท่ากับ 35,833 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7% จากปี 2562 และมี Core Profit เท่ากับ 4,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จาก 3,509 ล้านบาทในปีก่อน โดยปัจจัยหลักคือการรับรู้กำไรจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเล BKR2 กำไรของโครงการโรงไฟฟ้าชีวมวล GCG และรับรู้กำไรเต็มปีของโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศเวียดนาม จำนวน 119 เมกะวัตต์ ประกอบกับต้นทุนค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลงจาก 272.90 บาท/ล้านบีทียูในปี 2562 เป็น 244.51 บาท/ล้านบีทียูในปี 2563
ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยลดลงในอัตราที่น้อยกว่า จาก (0.1160) บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2562 เป็น (0.1188) บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมงในปี 2563 ส่งผลให้อัตรากำไรขั้นต้นจากการขาย (Gross Profit Margin) สูงขึ้น จาก 23.9% ในปี 2652 เป็น 27.6% ในปี 2563
ทั้งนี้ กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP 7 โรงภายใต้กลุ่ม GJP ยังมีปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. เพิ่มขึ้น เนื่องจากในปี 2562 มีการหยุดซ่อมบำรุงหลัก (Major Overhaul) ของโรงไฟฟ้า SPP จำนวน 6 โครงการ ในขณะที่ปี 2563 มีโรงไฟฟ้า SPP หยุดซ่อมบำรุงหลักเพียง 1 โครงการ ในส่วนของกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP 12 โรงภายใต้กลุ่ม GMP มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้ กฟผ. เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากปี 2563 เป็นปีแรกที่โครงการ 12 SPPs ทั้งหมดภายใต้กลุ่ม GMP ขายไฟฟ้าครบเต็มปีหลังจากทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2560-2562
อย่างไรก็ตาม กลุ่ม GJP และ GMP มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้ลูกค้าอุตสาหกรรมลดลงเล็กน้อยในปี 2563 เมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากลูกค้าบางส่วนได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เช่นกลุ่มยานยนต์และกลุ่มสิ่งทอ ในขณะที่ลูกค้ากลุ่มอาหารและเครื่องดื่มและกลุ่มบรรจุภัณฑ์มีความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในช่วงดังกล่าว จึงทำให้บริษัทได้รับผลกระทบอย่างจำกัดจากโควิด-19 ซึ่งปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นตัวสู่ระดับปกติแล้วในช่วงปลายปี 2563 ปัจจุบันบริษัทขายไฟฟ้าให้ กฟผ. ในสัดส่วน 88% และขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมเพียง 12%
นอกจากนี้ กำไรในปี 2563 ที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการที่บริษัทได้รับเงินปันผลจากการลงทุนใน INTUCH จำนวน 295 ล้านบาท และ SPCG จำนวน 142 ล้านบาทอีกด้วย
ในส่วนของกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่สำหรับปี 2563 เท่ากับ 4,282 ล้านบาท ลดลง 12.4% จากปีก่อน เนื่องจากรับรู้ผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของบริษัทแต่อย่างใด
ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) อยู่ที่ 1.47 เท่า เมื่อเทียบกับข้อกำหนดสิทธิสำหรับหุ้นกู้ (Bond Covenant) ที่ 3.50 เท่า เนื่องจากในเดือนกันยายน 2563 บริษัทได้มีการเพิ่มทุน จำนวน 32,000 ล้านบาท โดยเสนอขายหุ้นสามัญที่ออกใหม่ให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Rights Offering) ซึ่งทำให้บริษัทมีศักยภาพในการขยายการลงทุนในอนาคตได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท
ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน คาดการณ์ว่ารายได้ปี 2564 จะเติบโตประมาณ 50% จากปี 2563 เนื่องมาจากการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโรงไฟฟ้า IPP 2,650 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ GSRC หน่วยที่ 1 และ 2 ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 1,325 เมกะวัตต์ โดยจะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนมีนาคมและตุลาคม 2564
อีกทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมในทะเลที่ประเทศเวียดนาม (Mekong Wind) ระยะที่ 1-3 มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 128 เมกะวัตต์ จะเริ่มจำหน่ายไฟฟ้าในเดือนพฤษภาคมและตุลาคม 2564 และโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ประเทศโอมาน จำนวน 326 เมกะวัตต์ (DIPWP) ระยะที่ 1 ที่มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 40 เมกะวัตต์ จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปีนี้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ GULF มีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งเพิ่มขึ้น จาก 6,409 เมกะวัตต์ในปี 2653 เป็น 7,903 เมกะวัตต์ในปี 2564
นอกจากนี้ในปี 2564 บริษัทจะเริ่มรับรู้กำไรเต็มปีจากโครงการโรงไฟฟ้าลมในทะเล BKR2 และโครงการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติ PTT NGD ที่บริษัทได้เข้าซื้อในสัดส่วน 40% ในเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา ประกอบกับรับรู้เงินปันผลที่เพิ่มขึ้นจากการลงทุนในหุ้น INTUCH อีกด้วย
ยุพาพินกล่าวด้วยว่า คณะกรรมการบริษัทยังได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 เพื่อพิจารณาอนุมัติการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานของบริษัทประจำปี สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ในอัตราหุ้นละ 0.38 บาท หรือคิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิเท่ากับ 88% โดยกำหนดรายชื่อผู้ถือหุ้นที่มีสิทธิรับเงินปันผล (Record Date) ในวันที่ 8 มีนาคม 2564 และกำหนดจ่ายเงินปันผลในวันที่ 28 เมษายน 2564 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ จะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 5 มีนาคม 2564 และกำหนดประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2564 ในวันที่ 9 เมษายน 2564