×

ดีล GULF ควบ INTUCH เสี่ยงฉุดเครดิตเรตติ้ง AIS หลัง Fitch Ratings ประกาศนำอันดับเครดิต AIS สู่เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบแล้ว!

24.07.2024
  • LOADING...

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ Fitch Ratings ประกาศนำอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AAA(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันที่ ‘AAA(tha)’ ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ AWN เข้าสู่เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative)

 

เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา Fitch Ratings ได้นำอันดับเครดิตดังกล่าวเข้าสู่เครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ หลังจากที่บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2567 ถึงแผนที่จะควบรวมกิจการกับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ AIS คือบริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) และจัดตั้งบริษัทใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ โดยมีผู้เกี่ยวข้องหลักคือ INTUCH, GULF และบริษัท สิงคโปร์ เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด หรือ Singtel จะเป็นผู้เสนอซื้อหุ้นทั้งหมดของ AIS (Tender Offer) ก่อนการควบรวมกิจการ ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวต้องผ่านการขออนุมัติจากผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ของบริษัทที่เกี่ยวข้อง

 

โดยเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative) สะท้อนถึงความเสี่ยงที่บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการอาจมีอำนาจควบคุม AIS หลังจากการเสนอซื้อหุ้น โดยสถานะทางเครดิตของบริษัทแม่ที่มีอำนาจควบคุมที่อาจอ่อนแอกว่า AIS อย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลให้อันดับเครดิตของ AIS ถูกปรับลดลงได้หลายระดับ ตามหลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูกของ Fitch Ratings (Parents and Subsidiary Linkage Rating Criteria) ปัจจุบันอันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงสถานะทางเครดิตโดยลำพังของบริษัท (Standalone Credit Profile)

 

Fitch Ratings คาดว่าจะมีการนำอันดับเครดิตออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ เมื่อการเสนอซื้อหุ้นเสร็จสิ้นและโครงสร้างการถือหุ้นของ AIS มีความชัดเจน ซึ่งอาจใช้เวลานานกว่า 6 เดือน

 

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

 

การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการถือหุ้นที่อาจเกิดขึ้น: การเสนอซื้อหุ้นอาจส่งผลให้โครงสร้างการถือหุ้นของ AIS เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมีอำนาจควบคุม AIS โดย Fitch Ratings จะใช้เกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก เพื่อประเมินความสัมพันธ์ระหว่าง AIS และบริษัทแม่ ซึ่ง Fitch Ratings คาดว่าจะมีสถานะทางเครดิตที่อ่อนแอกว่า AIS โดย Fitch Ratings คาดว่าจะพิจารณาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและการควบคุม (Access and Control) ของบริษัทแม่ต่อ AIS จะอยู่ในลักษณะกึ่งเปิด (Porous) หรือเปิด (Open) และกลไกการป้องกันทางกฎหมาย (Legal Ring-fencing) จะอยู่ในลักษณะเปิด (Open)

 

ดังนั้นอันดับเครดิตของ AIS จะถูกจำกัดที่สถานะทางเครดิตของกลุ่มบริษัทแม่ หรืออาจสูงกว่าได้หนึ่งระดับ ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวอาจนำไปสู่การปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หลายระดับ

 

บริษัทแม่ที่มีสถานะอ่อนแอกว่า: Fitch Ratings เชื่อว่าบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการจะมีสถานะทางเครดิตที่อ่อนแอกว่าสถานะเครดิตโดยลำพังของ AIS ซึ่ง Fitch Ratings คาดว่าอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA net Leverage) ของบริษัทใหม่ (ซึ่งรวมงบการเงินของ AIS และหนี้ที่เกิดขึ้นจากการเสนอซื้อหุ้น) จะอยู่ที่ประมาณ 4-5 เท่า ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนหนี้สินของ AIS ณ ปัจจุบันที่ระดับประมาณ 1.5 เท่าอย่างมีนัยสำคัญ

 

อย่างไรก็ตาม การรวม INTUCH และ AIS เข้ากับบริษัทใหม่จะทำให้มีการกระจายตัวที่ดีขึ้นของกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ครอบคลุมทั้งธุรกิจโทรคมนาคมและพลังงาน

 

สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ AIS ที่มีความแข็งแกร่ง: สถานะทางเครดิตโดยลำพังของ AIS ยังคงสะท้อนถึงสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีส่วนแบ่งรายได้จากการให้บริการประมาณร้อยละ 48 การเข้าซื้อกิจการของบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการบรอดแบนด์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย ได้สนับสนุนการกระจายตัวของแหล่งที่มาของรายได้ของ AIS ไปสู่บริการที่ไม่ใช่โทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้สถานะทางการตลาดของบริษัทแข็งแกร่งขึ้นและสนับสนุนการเติบโตของรายได้และความมั่นคงของกำไรในระยะกลาง Fitch Ratings คาดว่า AIS จะรักษาสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งด้วยอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ประมาณ 1.5 เท่าในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า (2566: 1.5 เท่า)

 

สภาวะการแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น: Fitch Ratings เชื่อว่าอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับประโยชน์จากการแข่งขันด้านราคาที่เป็นเหตุเป็นผลมากขึ้นในประเทศไทย ซึ่งจะสนับสนุนรายได้เฉลี่ยต่อผู้ใช้บริการและการเติบโตของรายได้ของ AIS ทั้งนี้อุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทยเริ่มมีสัญญาณการเติบโตที่แข็งแกร่งขึ้นจากการแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้นหลังจากการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้เสร็จสิ้นในปี 2566 ผู้ประกอบการมุ่งเน้นไปที่การทำกำไรมากกว่าการเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด และค่อยๆ ปรับลดการเสนอแพ็กเกจข้อมูลแบบไม่จำกัด

 

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

 

อันดับเครดิตของ AIS มีความแข็งแกร่งกว่าอันดับเครดิตของบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) หรือ ThaiBev ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้นำในตลาดสุราและเบียร์ในประเทศไทย เวียดนาม และเมียนมา



AIS และ ThaiBev มีสถานะทางธุรกิจในระดับใกล้เคียงกัน เนื่องจากบริษัททั้งสองเป็นผู้นำในธุรกิจที่ตนดำเนินการอยู่  AIS มีการกระจายตัวของธุรกิจในด้านภูมิภาคที่น้อยกว่า ThaiBev แต่อันดับเครดิตภายในประเทศของ AIS อยู่ในระดับสูงกว่า ThaiBev อยู่สองอันดับ เนื่องจาก AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า

 

อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ AIS อยู่ในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. ซึ่งมีอันดับเครดิตที่ ‘AAA(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ ซึ่งเป็นผู้ดำเนินธุรกิจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติแบบครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย AIS มีสถานะทางธุรกิจที่อ่อนแอกว่า ปตท. เล็กน้อย โดย ปตท. มีขนาดธุรกิจที่ใหญ่กว่า และมีการกระจายตัวของธุรกิจมากกว่า AIS ซึ่งช่วยลดทอน ความผันผวนที่เกิดจากธุรกิจย่อยแต่ละธุรกิจ ในขณะที่ธุรกิจโทรคมนาคมของ AIS มีความผันผวนน้อยกว่า นอกจากนี้ AIS มีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่งกว่า โดยมีอัตราส่วน EBITDA Net Leverage อยู่ที่ระดับประมาณ 1.5 เท่า เมื่อเทียบกับ ปตท. ที่ระดับ 2.0 เท่า

 

สมมติฐานที่สำคัญ

 

สมมติฐานที่สำคัญของ Fitch Ratings ที่ใช้ในการประมาณการ

  • รายได้จากการให้บริการเติบโตประมาณร้อยละ 3 ต่อปีในปี 2567 และ 2568 เนื่องจากเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้นและสภาวะการแข่งขันที่ปรับตัวดีขึ้น
  • Operating EBITDA Margin ที่ลดลงเหลือร้อยละ 38 ในปี 2567 (ปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 40.7) หลังจากการเข้าซื้อกิจการบรอดแบนด์ที่มีอัตราส่วนกำไรต่อรายได้ที่ต่ำกว่า
  • เงินลงทุนในการขยายโครงข่ายอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อปีในปี 2567 (ปี 2566 อยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านบาท)
  • จ่ายเงินปันผลในอัตราร้อยละ 95 ของกำไร

 

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตของ AIS และ AWN

 

ปัจจัยบวก

 

Fitch Ratings อาจยกเลิกเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบและประกาศคงอันดับเครดิต หากการควบกิจการไม่ถูกดำเนินต่อ การเสนอซื้อหุ้นถูกยกเลิก หรือหากบริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมิได้มีอำนาจควบคุม AIS

 

ปัจจัยลบ

 

Fitch Ratings อาจปรับลดอันดับเครดิตของ AIS หากการเสนอซื้อหุ้นส่งผลให้บริษัทใหม่ที่เกิดจากการควบรวมกิจการมีอำนาจควบคุม AIS โดยอันดับเครดิตของ AIS จะขึ้นอยู่กับการพิจารณาสถานะทางเครดิตของกลุ่มบริษัทแม่และกลไกการป้องกันทางกฎหมาย (Legal Ring-fencing) หากมี รวมถึงพิจารณาเรื่องความสามารถในการเข้าถึงและการควบคุม (Access and Control) ของบริษัทแม่ต่อ AIS ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดอันดับความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทแม่และบริษัทลูก (Parents and Subsidiary Rating Linkage Criteria)

 

สภาพคล่องและโครงสร้างหนี้

 

AIS มีหนี้จำนวน 5.5 หมื่นล้านบาทที่จะถึงกำหนดชำระภายใน 12 เดือนนับตั้งแต่สิ้นเดือนมีนาคม 2567 โดยจำนวน 3.7 หมื่นล้านบาทเป็นเงินกู้ระยะสั้นชั่วคราว (Bridging Loan) เพื่อสนับสนุนการเข้าซื้อกิจการ TTTBB ในปี 2566

 

โดย Fitch Ratings คาดว่า AIS จะกู้ระยะยาวหรือออกหุ้นกู้ภายในประเทศเพื่อชำระหนี้ดังกล่าว โดยหนี้ที่เหลือ 1.8 หมื่นล้านบาทที่ถึงกำหนดชำระน่าจะรองรับด้วยเงินสดจำนวน 2.33 หมื่นล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2567 สภาพคล่องของ AIS ยังได้รับการสนับสนุนจากความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ภายในประเทศ เนื่องจากสถานะทางเครดิตที่แข็งแกร่งของบริษัท

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising