×

ถอดรหัส GULF ลุยซื้อหุ้น KBANK เป็น 5.23% มีโอกาสซื้อหุ้นเพิ่มอีกจนมีอำนาจควบคุม สร้าง Synergy ต่อยอดธุรกิจครบวงจร

19.05.2025
  • LOADING...

เริ่มเห็นการขยับครั้งใหญ่ของ บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF อีกครั้ง หลังทยอยเข้าซื้อหุ้นของธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK และยังมีการคาดการณ์ว่ามีโอกาสจะเห็นการซื้อหุ้นเพิ่มได้อีกจนมีอำนาจควบคุม

 

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) รายงานแบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ (แบบ 246-2) ของ ธนาคารกสิกรไทย หรือ KBANK โดยพบว่า GULF แจ้งว่าได้เข้าซื้อหุ้น KBANK จำนวน 12.51 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 0.53% โดยทำธุรกรรมผ่านบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) บัวหลวง เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 ที่ราคาหุ้นละ 164 บาท คิดเป็นเงินลงทุนรวม 2,051.64 ล้านบาท

 

ภายหลังวันทำรายการดังกล่าว จะทำให้ GULF มีสัดส่วนการถือหุ้นเพิ่มเป็น 123.93 ล้านหุ้น หรือ คิดเป็นสัดส่วน 5.23% จากเดิมที่ถือหุ้นจำนวน 111.42 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 4.70%

 

แบบรายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ (แบบ 246-2) ของ สำนักงาน ก.ล.ต. รายงานข้อมูลธุรกรรมการที่ GGUL ซื้อหุ้น KBANK เพิ่ม

 

GULF ซื้อ KBANK กำลังบอกถึงกลยุทธ์อะไร?

 

ด้าน สุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก วิเคราะห์ว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เป็นที่ฮือฮาอีกครั้งว่า หลัง GULF มีการงานว่าได้ทีมีการซื้อหุ้นของ KBANK เพิ่ม ต่อเนื่องจากเพียง 3.25% ด้วยจำนวนหุ้น 123.93 ล้านหุ้น ด้วยการเพิ่มจำนวนหุ้น 12.51 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 0.53% ส่งผลให้ปัจจุบัน GULF ถือหุ้นขยับจากอันดับ 4 มาเป็นอันดับ 3 ณ วันนี้ หลังจากที่ครั้งก่อนในเดือนเมษายน 2567 เคยเข้าถือหุ้น 20.54 ล้านหุ้น หรือสัดส่วน 0.84% ใน KBANK ก่อนจะขายออกไป

 

อะไร คือ จุดประสงค์ที่ GULF เข้าถือ KBANK?

 

เชื่อว่า ว่า การเข้าถือหุ้น KBANK ของ GULF ครั้งนี้ “ไม่ธรรมดา” แน่นอน เพราะ

 

เหตุผลที่ 1: เป็นการเข้าถือหุ้น KBANK อย่างต่อเนื่อง โดยทุกการเคลื่อนไหวของ GULF จะซ่อนเหตุผลเชิงกลยุทธ์เสมอ เช่นที่เคยทำกับ บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ INTUCH ที่เริ่มจากเหตุผลเพียงเพราะราคา INTUCH ต่ำจนน่าสนใจในการลงทุน แต่พัฒนากลายเป็นการเข้าซื้อกิจการและการควบรวมในที่สุด

 

แม้ GULF ประกาศว่า การถือหุ้นใน KBANK ครั้งนี้เช่นเดียวกับครั้งก่อน คือ มีจุดประสงค์เพื่อการซื้อขายและรับเงินปันผลเท่านั้น แต่หากพิจารณาดูจะเห็นว่า Intuch มี

 

  • สินทรัพย์หลัก คือ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ในฐานะ Mobile Operator อันดับ 1 ของประเทศไทย

 

  • บมจ.ไทยคม หรือ THCOM ที่มีดาวเทียมมากมาย

 

แล้ว KBANK มีอะไร?

 

  • ฐานลูกค้าใหญ่และระบบ fintech ที่ดีเป็นอันดับต้นๆ ของไทย

 

  • บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต หรือ MTL ที่มีกำไรและทรัพย์สินมากมาย

 

โดยมูลค่าหุ้น 5.23% ใน KBANK ของ GULF ปัจจุบัน มีมูลค่าราว 2 หมื่นล้านบาท จากมูลค่าตลาดของ KBANK ที่ 3.87 แสนล้านบาท

 

เหตุผลที่ 2: ความสามารถในการเข้าควบคุม

 

แม้การเข้าถือหุ้นในธนาคารไทย มีข้อจำกัด อุปสรรคมากมาย จากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แต่หากเราดูพัฒนาการที่ผ่านมา มีความน่าสนใจว่า มีการเตรียมพร้อมไว้ก่อนใช่หรือไม่

 

ย้อนกลับไปในเดือนเมษายน 2567 เมื่อ GULF เข้าซื้อหุ้น KBANK จำนวน 20.54 ล้านหุ้น (0.87%) มูลค่า 2.55 หมื่นบาท ซึ่งมีเหตุบังเอิญในขณะนั้นว่า มีการลดจำนวนกรรมการบริหาร (บอร์ดบริหาร) KBANK ลงจาก 18 คนเหลือ 15 คน

 

โดยมีการปรับลดกรรมการ ทั้งที่ไม่เป็นผู้บริหารและที่เป็นผู้บริหารลง 6 คน ทำให้เหลือ 12 คน ก่อนที่จะมีการคัดเลือกเพิ่มเติมเข้ามาอีก 3 คน เป็นไม่เกิน 15 คน โดยมีกรรมการอิสระมากกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งหมด

 

ที่น่าสังเกตคือ 2 ใน 6 คนที่ลาออกนั้น เป็นตระกูลล่ำซำ 2 คน คือ “สาระ ล่ำซำ” และ “สุรัช ล่ำซำ” ทำให้เหลือแค่ “สุจิตพรรณ ล่ำซำ” ซึ่งมีสถานะเป็นอาของ “บัณฑูร ล่ำซำ” เป็น “ล่ำซำ” เพียงคนเดียวที่นั่งอยู่ในบอร์ด Kbank หลังจาก “ล่ำซำ” ในสายธุรกิจประกัน และ “ล่ำซำ” ในสายล็อกซเล่ย์ที่ลาออกไป

 

ดังนั้น GULF หาก “ตั้งใจ” จะเข้าควบคุมการบริหารใน KBANK จะต้องทำผ่านการควบคุมผู้ถือหุ้น ที่จะโหวตอนุมัติเลือกกรรมการบริษัท (บอร์ด) ของ KBANK

 

ผู้เข้าประชุมผู้ถือหุ้น KBANK ครั้งล่าสุด

 

  • การประชุมสามัญผู้ถือหุ้น KBANK วันที่ 9 เมษายน 2568 มีเสียงลงคะแนน 1,333 ล้านเสียง

 

  • การประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น KBANK วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 มีเสียงลงคะแนน 1,423 ล้านเสียง

 

โดยหากต้องการการควบคุมแบบปกติ จะต้องได้เสียงโหวตมากกว่า 711.5 ล้านหุ้น (มี 50% ของ 1,423 ล้านหุ้น) ซึ่ง KBANK มีจำนวนหุ้นทั้งหมด 2,369 ล้านหุ้น

 

แต่ GULF ต้องการหุ้นเพียงราว 711.5 ล้านหุ้น จาก 2,369 ล้านหุ้น หรือราว 30% ของ หุ้น KBANK ทั้งหมดเท่านั้น ก็มีโอกาสได้ควบคุมเสียงส่วนใหญ่ในการแต่งตั้งกรรมการ KBANK ได้แล้ว

 

ปัจจุบัน GULF ถือหุ้นใน KBANK แล้ว 5.23% นั่นหมายถึง GULF ยังต้องซื้อหุ้นเพิ่มอีก 24.77% ซึ่งต้องใช้เงินซื้อหุ้นราว 1 แสนล้านบาท

 

อย่างไรก็ดี GULF ถือหุ้นมากกว่า 25% จะทำให้ GULF ต้องทำ Mandatory Tender Offer รับซื้อหุ้น KBANK ทั้งหมด จะต้องใช้เงินอีกมากมาย

 

แต่อาจจะใช้เงินน้อยกว่านี้มาก ถ้าผู้ถือหุ้นที่เหลือส่วนใหญ่ไม่คัดค้านและไม่ขายหุ้นให้ GULF

 

ย้อนรอยเส้นทาง GULF เข้า take control หุ้น INTUCH

 

  • มิถุนายน 2563: ซื้อหุ้นใน INTUCH 4.59% ด้วยเหตุผล “ต้องการเงินปันผล”
  • สิงหาคม 2563: ซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มเป็น 7.99%
  • ตุลาคม 2563: ซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มเป็น 10.0%
  • มกราคม 2564: ซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มเป็น 15.0%
  • เมษายน 22564: ซื้อหุ้น INTUCH เพิ่มเป็น 18.93%

 

และในที่สุด คำเฉลยจึงออกมา GULF ทำ Tender Offer หุ้น INTUCH และถือ 42.25% ใน INTUCH โดยการเข้าควบคุม ADVANC / THCOM ผ่านการเข้าควบคุม INTUCH ใช้เวลาเพียง 10 เดือน

 

เหตุผลที่ 3: GULF ใช้ประโยชน์จาก balance sheet ที่แข็งแกร่งของ INTUCH เพื่อเข้าซื้อหุ้น KBANK

 

ในการเข้าประชุมนักวิเคราะห์หลายครั้งที่ผ่านมา คำถามหนึ่งที่ผมและหลายๆ คน

 

สงสัย แต่ถามแล้วยังไม่ได้คำตอบ คือ “GULF จะใช้ประโยชน์จากความสามารถในการกู้เงินเพิ่มได้อีกมาก หลังการควบรวมกับ INTUCH?”

 

งบการเงินของ GULF ไตรมาส 1/2568 ก่อนควบรวมกิจการกับ INTUCH มีข้อมูลการเงินที่น่าสนใจ ดังนี้

 

  • มีสินทรัพย์ 5.23 แสนล้านบาท
  • เงินสด 5.34 หมื่นล้านบาท
  • หนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย 3.39 แสนล้านบาท 
  • อัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิ ต่อส่วนของผู้ถือหุ้น 1.96 เท่า

 

โดยจะเห็นว่า แม้ไม่มีการช่วยเหลือจาก INTUCH แต่ GULF ยังมีเงินสดพอที่จะซื้อ KBANK ให้ถึงระดับสูงกว่า 10% แต่หาก GULF จะซื้อมากกว่านั้น GULF สามารถ ทำได้ดังนี้

 

  1. กู้เงินเพิ่ม
  2. นำกระแสเงินสดจากการดำเนินงานของ GULF และปันผลจาก ADVANC, THCOM และจาก KBANK เพื่อเข้าซื้อหุ้น KBANK เพิ่มนั่นเอง 

 

โดยคาดว่า กระแสเงินสดที่ GULF จะได้ในแต่ละปี จะสูงกว่าหมื่นล้านบาท แต่เชื่อว่าการกู้เงิน โดยเฉพาะการใช้ bridge loan หรือหนี้ระยะสั้นมาก มาซื้อหุ้น KBANK

 

เหตุผลที่ 4: ใครถือหุ้นมากใน KBANK?

แน่นอน หากจะมองว่าในโครงสร้างผู้ถือหุ้นใหญ่ 20 อันดับแรกของ KBANK ก็ไม่มีชื่อตระกูล “ล่ำซำ” ที่ถือโดยตรงก็ไม่มี จะถือผ่านนอมินีหรือไม่ ไม่แน่ใจ แต่ ณ วันที่ 18 เมษายน 2568 มีดังนี้

 

โครงสร้างรายชื่อผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KBANK ณ วันที่ 18 เมษายน 2568

 

เปิดข้อน่าสังเกตของโครงสร้างผู้ถือหุ้น KBANK จะเห็นว่า

 

  1. เมื่อรวมจำนวนการถือหุ้นทั้ง 16 อันดับ ยังได้เพียง 53% (จำนวนหุ้นกระจายตัวมาก)

 

  1. เกือบทุกชื่อ ยกเว้นประกันสังคม, GULF, กองทุนวายุภักษ์ 1 ล้วนเป็นชื่อนอมินี ที่ผู้ถือหุ้นตัวจริง อาจเป็นใครก็ได้

 

  1. นอกจาก GULF แล้ว แทบไม่มีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนการถือหุ้นเลยใน 1 เดือนที่ผ่านมา

 

ดังนั้น หากต้องการรวบอำนาจในการบริหาร KBANK จึงไม่ใช่เรื่องยาก แต่อุปสรรคจริงอยู่ที่จะทำอย่างไรเพื่อให้แบงก์ชาติอนุมัติมากกว่า

 

เหตุผลที่ 5: ความลงตัวในเชิงกลยุทธ์ และการเติบโตที่ชัดเจน

 

การที่ GULF เพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในธนาคารนั้น แสดงถึงความสนใจทางกลยุทธ์ ที่สอดคล้องลงตัวกับธุรกิจของ GULF ที่หลังควบรวมกับ INTUCH แล้วหวนกลับมาเทรดอีกครั้งด้วยชื่อเดิม ในต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มีมูลค่าตลาดถึงระดับราว 1 ล้านล้านบาทขึ้น และมีกำไรมากกว่าปีละ 2 หมื่นล้านบาท

 

5.1 การต่อยอดธุรกิจโทรคมนาคมและไฟฟ้า KBANK คือ ธนาคารใหญ่ไทยเพียงบริษัทเดียวใน 5 ธนาคาร ( KBANK, SCB, KTB, BBL, BAY) ที่ GULF มีโอกาสเข้าถือหุ้น และมีธุรกิจที่สอดคล้องกับธุรกิจเดิมของ GULF มากที่สุด

 

เพราะการที่ KBANK มี Big data, payment gateway, digital platform, start-up VC, technology ที่อยู่ภายใต้ KTBG ที่นำโดยคุณกระทิง พูนผล เทียบกับ SCBX BBL KTB หรือแม้แต่ BAY ที่ไม่ได้มีธุรกิจด้านเทคและดิจิทัลมากเท่ากับ Kbank

 

5.2 ธุรกิจธนาคาร เช่น micro lending, virtual banking จำเป็นต้องมีเทคโนโลยีที่พร้อม (blockchain ของ Binance, Payment gateway, banking platform ของ KBANK) บวกกับ Big data ลูกค้าของ KBANK กับ ADVANC ที่สามารถใช้ประโยชน์จากเครือข่ายสื่อสารทั้งบนดิน อากาศ ดาวเทียมและ data center อีกทั้งรองรับด้วยระบบไฟฟ้าและพลังงานที่ครบครันของ Gulf ทำให้การต่อยอดเพื่อเติบโต เป็นไปได้มากและรวดเร็ว

 

เหตุผลที่ 6: KBANK คือธนาคารใหญ่เพียงแห่งเดียวที่ GULF อาจสามารถเข้าเพิ่มการควบคุมได้ เพื่อสร้าง Synergy ต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่นเดียวกับที่ Gulf เข้าซื้อ INTUCH, ADVANC, THCOM ที่เมื่อเปลี่ยนสถานะจากบริษัทต่างชาติมาเป็นบริษัทไทยแล้ว สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเติบโตได้มากขึ้น

 

สำหรับ KBANK การที่เมื่อเปลี่ยนสถานะจากธนาคารที่ต่างชาติเป็นเจ้าของ กลายมาเป็นธนาคารที่คนไทย โดย GULF เป็นเจ้าของ จะทำให้การสร้างมูลค่าและผลตอบแทนจาก “know who” + “know how” มีประสิทธิภาพสูงสุด ตามปรัชญาธุรกิจของ Gulf

 

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับ SCBX, BAY, KTB ที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ เป็นอุปสรรคในการสร้างอำนาจควบคุมบริษัท ส่วน BBL ไม่มีศักยภาพด้านเทคโนโลยี ไม่ใช่ตัวเลือกเช่นกัน

 

เหตุผลที่ 7: ปันผลสูง 

 

เพราะ KBANK มีการจ่ายเงินปันผลสูงถึง 12.5 บาทต่อหุ้น ในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ทำให้หาก GULF ถือหุ้น KBANK เพียงราว 6 เดือนช่วงมกราคม-มิถุนายน 2568 จะได้ปันผลสูงถึง 16.6%

 

อีกทั้งกระแสเงินสด การเกื้อกูลกันในด้านเครดิต เครดิตเรตติ้ง การบริหารการเงิน และอื่นๆ อีกมาก ที่ GULF + KBANK สามารถช่วยเหลือกันด้านการเงิน การเติบโตในอนาคต

 

สุวัฒน์ สินสาฎก กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โกลเบล็ก

 

เหตุผลที่ 8: การเข้าถือหุ้น บริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (MTL)

 

โดยเมืองไทยประกันชีวิต มีสินทรัพย์ซ่อนเร้นที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งKBANK ถือหุ้น 51% ใน Holding ที่ถือหุ้น 75% ในบริษัท เมืองไทยประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (MTL)

 

ปี 2567 MTL มีตัวเลขทางการเงินที่สำคัญ ดังนี้

 

  • สินทรัพย์ 6.43 แสนล้านบาท
  • รายได้ 9.18 หมื่นล้านบาท
  • กำไร 5,606 ล้านบาท

 

ประเด็นน่าสนใจมากว่า

 

KBANK และ MTL ถูกก่อตั้งโดยตระกูลล่ำซำ แต่ปัจจุบันตระกูลล่ำซำ ลดบทบาทใน KBANK มาก

 

แต่สำหรับ MTL ถูกก่อตั้งโดยตระกูลล่ำซำเช่นกัน แต่ยังคงมีผู้บริหารเป็นตระกูลล่ำซำอยู่หลายท่าน

 

ดังนั้น การเข้าถือหุ้น KBANK ของ GULF นั้น ดูคล้ายกับการเข้าถือหุ้นใน INTUCH

 

  • GULF ถือ INTUCH ราว 40% แต่มีอำนาจควบคุม ADVANC และถือ 40.4% โดย INTUCH, 19% โดย Singtel
  • GULF ถือหุ้น KBANK 5.23% (เป็น ?) ที่ถือหุ้น 38% (51% ใน 75%) ใน MTL

 

อย่างไรก็ตาม หาก GULF ต้องการที่จะเข้าควบคุมธนาคาร จะต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบเนื่องจาก KBANK เป็นธนาคาร ภายใต้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

 

  • การถือหุ้น 5%: ไม่ต้องการการอนุมัติจาก ธปท. แต่การถือหุ้นในสัดส่วนนี้อาจส่งผลกระทบต่อเพดานการปล่อยสินเชื่อ เนื่องจากการให้สินเชื่อจาก KBANK แก่ GULF จะถือเป็นธุรกรรมกับบริษัทที่เกี่ยวข้องกัน

 

  • การถือหุ้น 10%: ต้องได้รับการอนุมัติจาก ธปท. โดยจะมีการประเมินทางการเงินอย่างละเอียด การประเมินการกำกับดูแล และการตรวจสอบประสบการณ์ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

 

  • การถือหุ้น 25%: ธปท. จะถือว่า GULF เป็นผู้ถือหุ้นหลัก ส่งผลให้ GULF ต้องถูกกำกับการควบคุมด้านกฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น

 

  • การถือหุ้นเกิน 50%: จะต้องได้รับการอนุมัติจากทั้งธปท. และกระทรวงการคลัง

 

หากดูกลยุทธ์ในอดีตที่ GULF ใช้กับ INTUCH คือ ไม่จำเป็นต้องถือหุ้นมาก แต่ “มากพอที่จะสร้างอำนาจควบคุมได้” โดยในกรณี ADVANC และ THCOM ใช้การถือหุ้นผ่าน Intuch

 

ดังนั้น คาดว่ากรณีของ GULF อาจเข้าถือหุ้นใน KBANK ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมกันราว 10.01-24.99% ดังนี้

 

  • ถือมากกว่า 10% เพื่อให้มากเพียงพอเป็นอันดับ 1 หรือ 2 (อันดับ 1 NVDR 15.4%, อันดับ 2 State Street 7.5%)

 

  • ถือน้อยกว่า 25% เพราะจะได้ไม่ถูกกำกับควบคุมโดย ธปท.

 

  • ถือ 7-10% เพราะมากกว่าอันดับ 2 และมีอำนาจแต่งตั้งบอร์ด เพราะผู้ถือหุ้น KBANK กระจายตัวสูงและเกือบทั้งหมด เป็นการถือแทนแบบนอมินี ดังนั้น GULF อาจไม่จำเป็นต้องถือหุ้นมากกว่า 10% ใน KBANK ก็เพียงพอต่อการสร้างอำนาจต่อรองควบคุมได้แล้ว

 

GULF+ ADVANC + KBANK = GULF of Thailand

 

ย้อนรอยในปี 2563 เมื่อ GULF เพิ่มทุน 32,000 ล้านบาท THB32b ทำให้ GULF สามารถกู้เพิ่มขึ้นได้ราว 1 แสนล้านบาท และสามารถเดินหน้าเข้าซื้อหุ้น INTUCH ได้นั่นเอง

 

แต่ครั้งนี้ หาก GULF เพิ่มการเข้าซื้อหุ้น KBANK จาก 3.25% เป็น 10% คาดว่าต้องใช้เงินราว 1 แสนล้านบาท แต่หลังการควบรวมกับ INTUCH แล้ว GULF จะสามารถกู้เพิ่มได้อีก 5 แสนล้านบาท กลายเป็นกู้ได้ทั้งสิ้น 7-8 แสนล้านบาท

 

ดังนั้น การ ระดมเงินลงทุน (Funding) จึงไม่ใช่ปัญหา มีเพียงอุปสรรคด้านกฎระเบียบในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นใน KBANK เท่านั้น ที่ขวางหน้า GULF ไว้

 

แต่เชื่อว่า GULF น่าจะสามารถเข้าถือหุ้นเพิ่มใน KBANK ได้

 

โดยคาดว่า หลังการเข้าถือหุ้นใหญ่ใน KBANK แล้ว (10-24.99%) GULF ยังมีความสามารถในการกู้ยืมอีกมาก ดังนั้นมีความเป็นไปได้สูงมากที่ GULF จะ

 

1.เข้าซื้อกิจการอื่นๆ ที่สามารถต่อยอด/ส่งเสริม ธุรกิจของ GULF of Thailand ได้ เพราะที่ราคาหุ้นปัจจุบันของ SET ราคาหุ้นส่วนใหญ่ในตลาด มีมูลค่าที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยคาดว่าจะเป็นกลุ่มเทคโนโลยี การเงิน

 

2.ลงทุนขยายธุรกิจไฟฟ้าทั้ง fossil และ renewable ทั้งในและต่างประเทศ และในกิจการโครงสร้างพื้นฐาน โดยเน้นการสร้างในประเทศ (greenfield) และซื้อกิจการในต่างประเทศ (M&A)

 

GULF of Thailand จ่อขึ้นแท่นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่กลุ่มที่ 4 ของไทย

 

GULF of Thailand (GULF +ADVANC + KBANK) คาดว่า ในอนาคตอันใกล้ จะขึ้นมาเป็นกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่กลุ่มที่ 4 ของไทย เคียงข้างกับ

 

  • กลุ่มคุณเจริญ (BJC /AWC) มีธุรกิจกลุ่ม Hotel/Office/Mall (HOM) property growth

 

  • กลุ่มซีพี (CPALL/CPAXT/CPF/TRUE) มีธุรกิจกลุ่ม Retail/Food/Telecom product/service growth

 

  • กลุ่มเซ็นทรัล (CPN/CRC/CENTEL) มีธุรกิจกลุ่ม HOM property growth

 

  • กลุ่มกัลฟ์ (GULF/ADVANC/KBANK/THCOM) มีธุรกิจกลุ่ม power/telecom/banking service growth 

 

คำถามทิ้งท้ายให้ชวนคิด

 

  • ตระกูล “ล่ำซำ” อาจมาถึงจุดสิ้นสุดการบริหาร KBANK และ อาจรวมถึง MTL?
  • คิดว่า กลุ่มไหนแข็งแกร่งและมีโอกาสเติบโตมากกว่ากันครับ ระหว่าง GUlF CP Central Thaibev ?
  • การที่ Gulf รุกคืบเข้าไปในธุรกิจธนาคาร ดีหรือไม่?
  • การที่ไทยจะมีกลุ่มทุนใหญ่กลุ่มที่ 4 ดีต่อประเทศ ต่อคนไทยหรือไม่?
  • หุ้น Gulf หลังควบรวมแล้ว ควรถือต่อหรือไม่ และควรมีราคาเหมาะสมเท่าไร?
  •  สารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ GULF เพิ่งไปพบปะกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯทรัมป์ที่กาตาร์ อะไร คือนัย?
  • การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้น จะเป็นความเสี่ยง หรือโอกาสให้กับ GULF?

 

บรรยากาศการพบปะพูดคุยกันระหว่าง โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับ สารัชถ์ รัตนาวะดี รองประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 1 ของ บมจ.กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ ที่กาตาร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising