วันนี้ (9 มิถุนายน) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคก้าวไกล แถลงข่าวเปิดเผยแนวทางการต่อสู้คดีของพรรคก้าวไกล สืบเนื่องจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ยื่นคำร้องขอให้ยุบพรรคก้าวไกลและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคต่อศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2567
โดยพิธาได้ยก 9 ข้อต่อสู้คดีใน 3 แนวทางคือ เรื่องเขตอำนาจและกระบวนการ เรื่องข้อเท็จจริง และเรื่องสัดส่วนโทษ โดยระบุได้ 3 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย
การยื่นคำร้องของ กกต. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
มาตรา 93 ของ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง กำหนดว่า ในการยื่นคำร้องจำเป็นต้องให้โอกาสผู้ถูกร้องรับทราบข้อเท็จจริงอย่างเพียงพอ มีโอกาสโต้แย้ง แสดงหลักฐานของตน ก่อนที่จะมีการรวมรายงานข้อเท็จจริงให้นายทะเบียนพิจารณา
คำวินิจฉัยเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2567 ไม่ผูกพันกับคดีนี้
เมื่อเทียบคดีนี้กับคดีเมื่อวันที่ 31 มกราคม ไม่ถือว่าเป็นข้อหาเดียวกัน และระดับโทษต่างกัน มาตรฐานในการพิจารณาคดีจึงต้องมีความเข้มข้นต่างกัน
โทษยุบพรรคต้องเป็นมาตรการสุดท้าย
โทษการยุบพรรคจะต้องใช้อย่างระมัดระวัง เป็นมาตรการสุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือกอื่นเท่านั้น ที่ผ่านมา กกต. ยกคำร้องยุบพรรคก้าวไกลมาโดยตลอด และการสั่งให้ยุติการกระทำก็เพียงพอแล้ว
พิธายังเชื่อว่า เจตนาและการกระทำในการเข้าชื่อแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้เป็นไปเพื่อล้มล้างการปกครอง และไม่อาจเป็นปฏิปักษ์ การกระทำอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเป็นนายประกัน ก็ถือเป็นการกระทำโดยทั่วไป เป็นเรื่องรายบุคคลที่ถูกขยุ้มรวมกัน และไม่ได้เป็นมติของพรรค ต้องแยกความเป็นนิติบุคคลกับปัจเจกบุคคลออกจากกัน
“ยืนยันว่าไม่มีข้อกฎหมายที่จะสามารถเอาผิดทั้ง 44 สส. ที่เข้าชื่อแก้ไขกฎหมาย และไม่มีมาตรการเร่งด่วนที่จะใช้การตัดสิทธิ” พิธาระบุ
พิธายังเน้นย้ำว่า หลักฐานที่มาหักล้างการยื่นแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้มีเจตนาล้มล้างการปกครอง แต่มีเจตนาเพื่อต้องการรักษาพระราชฐานะและพระราชอำนาจ ให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่สูงกว่าการเมือง