×

‘ปลูกข้าวโพดจบที่เผา’ ความเจริญของอุตสาหกรรมปศุสัตว์ แลกกับพื้นที่ป่า ‘PM2.5’ และสุขภาพของผู้คน

โดย THE STANDARD TEAM
28.12.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

20 MIN READ
  • ประเทศไทยโดยเฉพาะ ‘ภาคเหนือตอนบน’ ประสบปัญหาฝุ่นอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย หรือ ‘เชียงใหม่’ จังหวัดที่ถูกจัดให้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว และมาวันนี้ก็ถูกจัดให้เป็นเมืองที่มี ‘คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก’ 
  • กรีนพีซตั้งสมมติฐานว่า ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา การเพิ่มขึ้นของฝุ่นพิษเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการหายไปของพื้นที่ป่าในภาคเหนือตอนบนของไทยอย่างไร โดยได้ใช้ข้อมูลการวิเคราะห์พื้นที่ทางภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ปี 2545-2565 
  • คาดว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 29,000 คนในปี 2564 อันเนื่องมาจากมลพิษ PM2.5 ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเมื่อคิดต่อจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเสียชีวิตจาก PM2.5 สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมในประเทศไทยรวมกัน

เสียงลมหนาวแว่วเข้าหูปะทะผิวให้รู้สึกถึงรอยต่อจากฤดูฝน กำลังจะเข้าสู่ช่วงที่อากาศเย็นสบาย มองเห็นต้นไม้เขียวฉ่ำ ท้องฟ้าสดใส เมื่อผ่านช่วงปลายปีเลยไปจนถึงต้นปี สูดหายใจได้ไม่กี่ทีความขมุกขมัวอึมครึมก็ทำให้สายตาพร่าจาง หลายคนเริ่มไอ แสบจมูก หายใจลำบาก และใครบางคนอาจต้องจากไปก่อนวัยอันควร เพราะอากาศเย็นสบายนั้นเต็มไปด้วย PM2.5 ที่กำลังมีเพิ่มมากขึ้นทุกปี

 

ประเทศไทยโดยเฉพาะ ‘ภาคเหนือตอนบน’ ประสบปัญหาฝุ่นอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย หรือ ‘เชียงใหม่’ จังหวัดที่ถูกจัดให้เป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว และมาวันนี้ก็ถูกจัดให้เป็นเมืองที่มี ‘คุณภาพอากาศแย่ที่สุดในโลก’ เพราะเมื่อเดือนมีนาคม 2566 ดินแดนถิ่นเหนือปรากฏค่าฝุ่น PM2.5 กว่า 300-400 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ถือเป็นตัวเลขค่าฝุ่นรายชั่วโมงที่พุ่งสูงที่สุดในรอบหลายปีที่ผ่านมา 

 

 

ตัวเลขเหล่านี้เป็นสัญญาณเตือนการเพิ่มขึ้นของฝุ่นพิษในทุกๆ ปี ช่วงที่อากาศแห้งหรือบางฤดูที่ฝนแล้ง สถานการณ์ไม่ปกติเช่นนี้ส่งผลต่อการใช้ชีวิตกลางแจ้งของผู้คน และทำให้เกิดโรคร้ายต่างๆ ที่นำมาสู่การเสียชีวิตในเวลาต่อมา

 

ณ วันนี้ประเทศไทยมีฤดูที่เพิ่มเข้ามาคือ ร้อน ฝน หนาว และ ‘ฝุ่น’

 

ต้องตกอยู่ในฤดู ‘ติดฝุ่น’ 

 

ย้อนกลับไปช่วงปี 2562 ตามหน้ากระดานออนไลน์ เกือบทุกสำนักได้นำเสนอข่าวที่ทำให้ได้รู้จักชื่อของ PM2.5 (Particulate matter with diameter of less than 2.5 micron) หรือฝุ่นที่มีขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 25 เท่า และยังเล็กกว่าฝุ่น PM10 อีกหลายเท่า

 

ด้วยเหตุที่เล็กแสนเล็ก ทำให้ฝุ่นชนิดนี้ล่องลอยไปตามสายลม วิ่งเข้าสู่ร่างกายไปตามทางโพรงจมูกและมุ่งเข้าสู่เส้นเลือด อนุภาคเล็กๆ ที่เมื่อเราสูดรับมากขึ้นทุกปี ปริมาณที่ไม่อาจคำนวณได้เหล่านั้นนำไปสู่การสะสมอุดตัน จนที่สุดก็เกิดโรคต่างๆ สารพัด เช่น โรคหลอดเลือดในสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจขาดเลือด หัวใจวายเฉียบพลัน หลอดเลือดสมองตีบ มะเร็งปอด ฯลฯ และหากผู้คนได้หายใจเอา PM2.5 เข้าไปสะสมในร่างกายมากเข้า ก็มีความเสี่ยงสูงขึ้น 10% ที่จะมีอาการซึมเศร้าได้อีกด้วย

 

องค์การอนามัยโลก (WHO) แจ้งค่ามาตรฐานความอันตรายของฝุ่นละออง PM2.5 ในอากาศไว้ว่า ค่าเฉลี่ยรายวันตลอด 24 ชั่วโมง หากพบว่ามีฝุ่นเกินกว่า 25 มคก./ลบ.ม. ถือว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ส่วนประเทศไทยเองได้มีมาตรฐานกำหนดค่าฝุ่นโดยคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่บอกว่าค่าฝุ่น PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไปตลอด 24 ชั่วโมงจะต้องไม่เกิน 37.5 มคก./ลบ.ม. (จากเดิมต้องไม่เกิน 50 มคก./ลบ.ม.) จะเห็นได้ว่าประเทศไทยนั้นขยับค่ามาตรฐานไกลเกินกว่าจะปลอดภัยมาเป็นเวลานานแล้ว

 

ฤดูฝุ่น PM2.5 เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุที่ล้วนเชื่อมโยงสัมพันธ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ไล่ตั้งแต่ในเมืองใหญ่ที่มีการเผาไหม้จากเครื่องจักร การใช้รถยนต์ ขนส่งสาธารณะต่างๆ สายพานการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมาก และจากการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คน 

 

 

พื้นที่ต่างจังหวัดอย่างภาคเหนือที่พบฝุ่นมหาศาลนั้น เกิดจากการเผาเพื่อการทำเกษตรตามวิถีเฉกเช่นบรรพบุรุษทำมา เพียงแต่วันนี้วิถีนั้นถูกตรึงไว้ด้วยกลไกของผลิตผลที่เกษตรกรปลูกเพื่อนำไปสู่การใช้ประโยชน์กับอุตสาหกรรมปศุสัตว์เพื่อการค้าส่งออก เมื่อมีการผลิตสินค้าที่เพิ่มปริมาณ การขยายพื้นที่ปลูกก็มีมากขึ้นตามมาทวี ถึงคราวเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไป การเผาก็ดำเนินต่อ เป็นแหล่งกำเนิดฝุ่นที่ยังคงแก้ไม่ตก หาทางออกไม่ได้ และส่งผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกร รวมถึงประชาชนทั้งประเทศเพิ่มขึ้นทุกฤดูกาล

 

แม้จะเป็นฝุ่นขนาดเล็กที่มองไม่เห็น แต่เมื่อรวมตัวกันจะชัดเจนขึ้นคล้ายหมอกจางที่ห่มคลุมบรรยากาศเอาไว้ จนทำให้เราอาจมองไม่เห็นว่ามีสิ่งใดซ่อนอยู่

 

จากเกษตรพันธสัญญา สู่ความเจริญของอุตสาหกรรมปศุสัตว์

 

…ทางการเขาสั่งมาว่า ทางการเขาสั่งมาว่า 

ให้ชาวนาเลี้ยงเป็ดและสุกร 

ฝ่ายตาสีหัวคลอนถามว่าสุกรนั้นคืออะไร…

 

เนื้อร้องท่อนหนึ่งจากเพลง ‘ผู้ใหญ่ลี’ บันทึกช่วงเวลาการเกิดขึ้นของแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่หนึ่ง (พ.ศ. 2504-2509)

 

แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับนี้มีจุดหมายและนโยบายที่มุ่งตรงไปยังการเพิ่มประสิทธิภาพและปริมาณของพืชผลเกษตรกรรม ส่งเสริมการขยายอุตสาหกรรม รวมทั้งปรับปรุงระบบการขนส่งให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น 

 

ผ่านเวลามาจนถึงช่วงปี 2510 เกิดการค้าที่เติบโตขึ้นตามรูปแบบการลงทุนของแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ระบบเกษตรพันธสัญญา (Contract Farming)’ ในประเทศไทย จากที่พืชไร่ในตลาดโลกมีราคาสูง การส่งเสริมให้เกิดการผลิตเพื่อส่งออกจึงมีมากขึ้นเช่นกัน เกิดทางเลือกของเกษตรกรกับบริษัทที่จะตกลงร่วมกันทำตามสัญญา ผลิตเท่าไหนจ่ายเท่านั้นตามราคาที่คุยกันไว้

 

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่สุดเป็นช่วงราวปี 2518 บริษัทที่ผลิตอาหารสัตว์เป็นหลักในขณะนั้น ได้เริ่มต้นลงทุนเลี้ยงไก่ด้วยระบบฟาร์มในขนาดอุตสาหกรรมแบบครบวงจร ความเป็นไปได้นี้ก็ทำให้ธุรกิจผลิตอาหารสัตว์อื่นๆ หันมาลงทุนในลักษณะเดียวกัน

 

 

ระบบเกษตรพันธสัญญาเป็นข้อตกลงที่ดูเหมือนสองฝ่าย ทั้ง ‘บริษัท’ และ ‘เกษตรกร’ จะได้ประโยชน์ซึ่งกันและกัน แต่ความเป็นจริงแล้วเกษตรกรกลายเป็นผู้ถูกกระทำทุกอย่าง ตั้งแต่เป็นผู้ลงทุน ผู้แบกรับภาระต้นทุน ผู้ก่อสร้างโรงเรือน หรือถ้าต้องปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็ต้องเป็นผู้ที่เตรียมพื้นที่เอง ทั้งยังต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ ตัวยา ปุ๋ย จนถึงเก็บเกี่ยว เรียกว่าเป็นผู้ทำเองทุกกระบวนการ ท้ายที่สุดแล้ว นอกจากเกษตรกรจะต้องแบกรับต้นทุนต่างๆ ทั้งหมดเอง ก็ยังต้องรับมือกับต้นทุนทางสุขภาพของตัวเองด้วย ซึ่งแน่นอนว่าเกษตรกรไม่ได้ถูกรับรองความเสียหายหรือการเยียวยาใดๆ จากระบบเกษตรพันธสัญญานี้ 

 

ช่วงราวปี 2530 มีแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ฉบับที่ 6 เกิดขึ้น ได้เปลี่ยนจากการขายในประเทศนำไปสู่การส่งออก เพิ่มการผลิตปริมาณมากขึ้นไปอีก และเน้นเกษตรเชิงเดี่ยวซึ่งทำเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ และถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการส่งเสริมการเพาะปลูก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ หรือที่ถูกยกตำแหน่งให้เป็น ‘พืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ’ 

 

เกษตรกรต้องเดินหน้าต่อไปในทางที่ถูกยื่นให้เลือก เพราะเมื่ออุปสงค์เพิ่มขึ้น อุปทานของอาหารสัตว์ก็ตามมา การขยายตัวของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์กลายเป็นสิ่งจำเป็นอย่างเลี่ยงไม่ได้ ท้องฟ้าที่เคยสดใสจึงกลายเป็นมีกลิ่นควันและฝุ่นลอยอึงอวลมากผิดปกติ

 

“เราได้ยินความหายนะของฝุ่นตามคำบอกเล่าของคนท้องถิ่นที่ภาคเหนือ เขาบอกว่าในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาเห็นฝุ่นมาตลอด เราเลยพยายามจะสืบค้นกลับไป เพราะเนื่องจากหลักฐานในเชิงของรัฐหรือในเชิงประวัติศาสตร์นั้นไม่ได้มีว่าฝุ่นพิษทางภาคเหนือมันเชื่อมโยงกันกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้อย่างไร เราเลยต้องการหาคำตอบในจุดนี้เพื่อมาเติมเต็มสิ่งที่มันหายไปในข้อมูลของรัฐ” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ นักรณรงค์ด้านอาหารและเกษตรกรรมเชิงนิเวศจาก Greenpeace องค์กรด้านสิ่งแวดล้อม บอกเล่า

 

กรีนพีซจึงเริ่มตั้งสมมติฐานในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาว่าการเพิ่มขึ้นของฝุ่นพิษเชื่อมโยงกับการเพิ่มขึ้นของพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และการหายไปของพื้นที่ป่าในภาคเหนือตอนบนของไทยอย่างไร โดยได้ใช้ข้อมูลการวิเคราะห์พื้นที่ทางภาพถ่ายดาวเทียมตั้งแต่ปี 2545-2565 

 

อ้างอิง: เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และเกษตรพันธสัญญาในภาคเหนือของไทย โดย Greenpeace 

 

“ช่วงปี 2545 เอง ยังไม่ได้เห็นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในจำนวนมหาศาล และเมื่อเอาไปเทียบกับแผนภาพพื้นที่มลพิษ PM2.5 ความเข้มข้นของฝุ่นปีนั้นก็ยังไม่ได้มีความเข้มข้นอย่างมีนัยสำคัญอะไรเท่าไร หลังจากนั้นในช่วงปี 2547 เป็นต้นมา จะเห็นค่าเข้มข้นของ PM2.5 มากขึ้น และในขณะเดียวกันเราจะเห็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้นด้วย จนถึงในปี 2550 มันเพิ่มขึ้นจากปี 2545 มากถึง 4 เท่า จาก 600,000 ไร่ไปเป็นราวๆ 2,000,000 กว่าไร่” เธอสรุปตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ

 

การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์นั้นปลูกบนที่ราบสูงได้ ดูแลง่าย ใช้น้ำน้อย เก็บเกี่ยวผลผลิตเร็วไว และรัฐได้เพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรหลายทาง เช่น การประกันราคารับซื้อ มีดอกเบี้ยให้กู้ยืมสำหรับการปลูก หรือจนมาถึงในยุคของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ปี 2557-2566) ก็ยังมุ่งหน้าผลักดันโครงการ 4 ประสาน คือ รัฐ ธนาคาร บริษัท และเกษตรกร เพื่อสร้างโอกาสให้กับชาวนาที่เข้าร่วมโครงการได้มีสิทธิกู้ยืมเงินไปลงทุน หรือการสนับสนุนการปลูกข้าวโพดหลังฤดูทำนา เป็นนโยบายจูงใจต่างๆ ที่ล้วนเป็นส่วนสำคัญที่เอื้อให้อุตสาหกรรมปศุสัตว์เติบโตขึ้นก็ว่าได้

 

นอกจากนี้ ในช่วงปี 2547 ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการนำเกษตรพันธสัญญาไปใช้ยังประเทศเพื่อนบ้านใน ‘โครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง’ (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy: ACMECS) เน้นการส่งเสริมทางเศรษฐกิจในประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ประกอบไปด้วย ไทย มาเลเซีย สปป.ลาว เวียดนาม และกัมพูชา 

 

การเริ่มต้นส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคนี้ได้สร้างผลประโยชน์อย่างมาก เช่น การเอื้อให้บริษัทต่างๆ สามารถนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ในอัตรา 0% เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็มีผู้ประกอบการไทยรายแรกที่ริเริ่มลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรภายใต้ระบบเกษตรพันธสัญญากับเกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้าน

 

นักรณรงค์จากกรีนพีซเล่าต่อไปว่า ในช่วงปี 2549 ข้อมูลจากดาวเทียมได้แสดงค่าฝุ่นพิษในภาคเหนือให้เห็นว่ามีเพิ่มขึ้น กล่าวคือ ยิ่งปลูก ยิ่งเผา ยิ่งเกิดฝุ่นพิษ แต่การปลูก ‘ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์’ นั้น ยิ่งลงทุน ยิ่งได้กำไร และเป็นสิ่งที่รัฐหรืออุตสาหกรรมมุ่งเน้นเพื่อที่จะแก้ปัญหา ‘ความจน’ ให้กับเกษตรกร แต่เมื่อสำรวจกันถึงที่อยู่และดูข้อมูลหลายๆ อย่าง ก็พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบบเกษตรพันธสัญญาที่ส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่ใช่สิ่งที่ช่วยเกษตรกรอย่างแท้จริง แต่เป็นเสมือนสิ่งซ้ำเติมภาระหนี้สินเสียมากกว่า 

 

“เมื่อพ่อค้าคนกลางมารับซื้อถึงไร่ มันก็มีการหักค่าใช้จ่ายต่างๆ เกษตรกรจะไม่ได้รับราคาข้าวโพดตามที่ประกาศประกันราคาไว้ เพราะมีหักค่าเดินทาง ค่าขนส่งต่างๆ ให้เกษตรกรไม่ต้องลงไปขายในที่ราบเอง คือเป็นความไม่เป็นธรรมรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกษตรกรเองไม่สามารถหลุดพ้นจากวังวนหนี้สินของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้”

 

เกษตรกรในหมู่บ้านแห่งพื้นที่ราบสูงมีรายได้ต่อปีเฉลี่ยแล้วไม่ถึง 10,000 บาท ห่างไกลจากรายได้ของการส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่ช่างหอมหวนเกินบรรยายที่ 80,000 ล้านบาทต่อปี

 

แต่ใครรวยหรือใครจนไม่ใช่สิ่งน่าสนใจ เพราะที่น่าห่วงกว่าคือพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ขยายออกไปเป็นระดับภูมิภาค ทำให้เกษตรกรที่ยังมีหนี้ต้องใช้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเข้าสู่วงจรนี้เพื่อทำเกษตรต่อไป ขณะที่พื้นที่ปลูกขยายออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านผู้ร่วมลงนามในพันธสัญญา เกิดการเผาเพิ่มขึ้น ประเทศไทยโดยเฉพาะภาคเหนือตอนบนจึงเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่น PM2.5 มากที่สุดมานานเป็นทศวรรษ และดูเหมือนปัญหาเรื่องคุณภาพอากาศยังแก้ได้ไม่ถึงต้นตอของปัญหา

 

“กรีนพีซร่วมกันกับคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการทำข้อมูลจากดาวเทียม คือวิเคราะห์ภาพถ่ายดาวเทียมในพื้นที่ 3 ประเทศ มีภาคเหนือตอนบนของไทย รัฐฉาน และ สปป.ลาว ตอนเหนือ โดยเอาข้อมูล 3 ประเภท คือ จุดความร้อน (Burn Scar) คือพื้นที่เผาไหม้ในพื้นที่ต่างๆ ทั้งพื้นที่ปลูกข้าวโพดและพื้นที่ป่า นำความเข้มข้นของ PM2.5 รวมถึงการเปลี่ยนแปลงจากป่าไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมาวิเคราะห์

 

“พบว่าระหว่างปี 2558-2563 ราวๆ 5 ปี ในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง มันมีการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไปเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดมากถึง 10.6 ล้านไร่ และมันมีความเข้มข้นของ PM2.5 ที่เยอะมากระหว่างหลายๆ ประเทศ 

 

“นโยบายของไทยดูเคร่งครัดมากขึ้น ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนให้บริษัทของไทยไปขยายการลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้าน เราเห็นการเพิ่มขึ้นของฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่มาในภาคเหนือตอนบนของไทย เช่น ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่นั่นไม่มีจุดความร้อนเลย แต่กลับเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเรื่องฝุ่นพิษมากที่สุด

 

“เมื่อต้นปี 2566 ค่าเฉลี่ยต่อรายวัน 24 ชั่วโมง ฝุ่นจะอยู่ที่ราวๆ 400 มคก./ลบ.ม. ในขณะที่ถ้าเป็นรายชั่วโมงจะสูงถึง 900 มคก./ลบ.ม. ก็ยังมี ซึ่งมันไม่ควรจะมีตัวเลขนี้ในการวัดค่าฝุ่นด้วยซ้ำ อันนี้เห็นชัดเจนว่ามลพิษข้ามพรมแดนมันเพิ่มขึ้น” นักรณรงค์จากกรีนพีซสรุปสถานการณ์

 

การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในเขตภาคเหนือตอนบนของไทย (ปี 2545-2565) ทำให้พื้นที่ 8 จังหวัดในภาคเหนือตอนบนของไทยมีการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้นจาก 621,280 ไร่ เป็น 2,430,419 ไร่ (เพิ่มขึ้นกว่า 4 เท่า) – ข้อมูลจากงานวิจัยโดยกรีนพีซ

 

และ 1 ใน 8 พื้นที่ที่ว่านั้นคือบ้านของ ‘ปีจองอู’ 

 

ปลูกข้าวโพดจบที่การเผา ผลประโยชน์ที่แลกมาด้วยพื้นที่ป่าและต้นทุนสุขภาพของผู้คน

 

‘ปีจองอู’ เกิดปี 2535 ในดินแดนของบ้านแม่ม่อนจอง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เขาเป็นชาติพันธุ์ดาราอั้งที่วันนี้ได้สัญชาติมาในชื่อ ‘ปรัฐกร จองอู’

 

เขาเล่าว่าเดิมทีหมู่บ้านที่เกิดจะอยู่ลึกเข้าไปบริเวณป่าต้นน้ำ อาชีพหลักของคนในหมู่บ้านจะรับจ้างกับคนจีนฮ่อ ทำงานเก็บใบชา ใบเมี่ยง จากนั้นมีการสำรวจพื้นที่ของอุทยาน ราวปี 2532 ได้มีประกาศจากอุทยานให้ย้ายออกจากพื้นที่ต้นน้ำ ชาวหมู่บ้านจึงย้ายออกมาสร้างพื้นที่ทำกินกันใหม่และปลูกข้าวกันเป็นส่วนมาก มีบ้างบางส่วนที่ลงไปยังพื้นที่ราบเพื่อรับจ้างตัดถางหญ้าที่เชียงดาว

 

“ชาวบ้านเริ่มรู้จักข้าวโพดผ่านพ่อค้าคนกลาง หลังจากสัญญาการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เรียบร้อย ชาวบ้านต้องนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมมาซื้อเมล็ดพันธุ์ ซื้อปุ๋ย ซื้อยาฆ่าหญ้า ยาเร่งต่างๆ เตรียมแปลงปลูก ปรับหน้าดิน หย่อนเมล็ด เก็บเกี่ยว ไปจนถึงการส่งต่อผลผลิต ทางบริษัทเป็นคนกำหนดราคาให้หมดทุกอย่าง สมมติส่วนกลางรับซื้อสัก 10 บาท กว่าจะมาถึงชาวบ้านก็เหลือประมาณสัก 4-5 บาท ฉะนั้นเฉลี่ยแล้วก็จะหายไปประมาณ 50-60%”

 

ชาวบ้านปลูกข้าวไว้แค่กิน เพราะว่ามีราคาไม่มากพอจะเป็นรายได้ ส่วนข้าวโพดเป็นดั่งเงินก้อนที่สามารถกู้ยืมได้ ปีจองอูเปรียบเทียบให้ฟังว่า หนึ่งครอบครัวจะปลูกได้ประมาณ 10 กว่าไร่ เฉลี่ยรายได้ราว 50,000-60,000 บาท บางครอบครัวที่พื้นที่เยอะก็อาจได้ประมาณ 100,000 บาท

 

“พอถึงฤดูโม่ข้าวโพดเรียบร้อย ชาวบ้านก็เริ่มเคลียร์บิล พอเคลียร์บิลเสร็จ บางครอบครัวก็เหลือเต็มบิล บางครอบครัวก็ติดลบ บางครอบครัวก็เหลือบ้าง” ปีจองอูเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 

แม้ชาวบ้านจะรู้ดีแก่ใจว่าการปลูกข้าวโพดนั้นมีรายได้ที่ไม่สมเหตุสมผล นำมาซึ่งการเสื่อมสภาพของพื้นดินจากการใช้ยา และส่งผลต่อสุขภาพในช่วงฤดูเผา แต่ความเป็นอยู่ของผู้ที่ขาดโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาและไร้ซึ่งสัญชาติก็ทำให้ต้องจำยอมตามความเป็นไป

 

ปีจองอูเล่าความยากลำบากในการทำ ‘สัญชาติ’ ของคนบนที่สูงให้ฟังว่า กว่าจะทำสัญชาติมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักได้สักคนหนึ่ง จำเป็นต้องมีเงินจำนวนมากถึงหลักหมื่นหรือหลักแสน ซึ่งอาจจะเป็นเงินที่ต้องเก็บมาทั้งชีวิต ทั้งๆ ที่โดยความเป็นจริงแล้ว ข้อกฎหมายนี้สามารถยื่นตามกระบวนการได้และเสียค่าใช้จ่ายไม่เยอะ แต่กับชาวบ้านในหมู่บ้านของปีจองอูหรือกลุ่มชาติพันธุ์ชายขอบต่างๆ ต้องเสียค่าลายเซ็น ค่าใต้โต๊ะ ค่าน้ำลายสารพัด รวมๆ แล้วกว่าจะได้สัญชาติสักคนหนึ่งจึงเป็นเรื่องยากเย็นยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา

 

ปีจองอูยกตัวอย่างให้ฟังว่า พื้นที่อำเภอเชียงดาวมีประชากรอยู่ประมาณ 70,000 กว่าคน ซึ่งถ้านับคนที่ไม่มีสัญชาติและไม่มีสิทธิเลือกตั้ง รวมๆ แล้วมีประมาณ 30,000-40,000 กว่าคน เท่ากับว่ามีประชากรที่ไม่อยู่ในระบบ ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง และไม่สามารถใช้สิทธิพื้นฐานใดๆ ได้เลยอยู่ถึง 40% 

 

“ระบบของรัฐในประเทศไทยทำให้ชาวบ้านต้องทำอย่างนี้ เหตุผลที่หนึ่งคือมีชาวบ้านหลายๆ คนที่ไม่ได้มีสัญชาติ พวกเขาไม่สามารถออกไปทำงานข้างนอกได้ อันที่สองคือการที่ใครจะเข้าเรียนได้มันมีค่าใช้จ่าย ก็ย้อนกลับไปที่ว่า ในเมื่อพ่อแม่ไม่สามารถทำงานได้ก็ไม่สามารถส่งลูกเรียนได้ ฉะนั้นสิ่งที่ชาวบ้านต้องทำก็คือ ‘การเกษตร’ มันจะมีเกษตรอะไรสักกี่อย่างที่ชาวบ้านทำและสามารถมีพ่อค้าคนกลางมารับซื้อได้ มันมีแค่ข้าวโพดที่มีคนรับซื้อแน่นอน ซึ่งมันเป็นอาหารสัตว์ได้ เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็ไม่มีทางเลือก เขาเห็นตลาดตรงไหนก็จะทำสิ่งนั้น

 

“เราไม่มีโอกาสที่จะไปทำงานข้างนอกอยู่แล้ว มันก็ต้องทำการเกษตร สุดท้ายก็ต้องขยายพื้นที่ เพื่อทำอะไรที่มันมีรายได้ให้ได้เงินเร็วที่สุด เพื่อจะไปดำเนินการเรื่องเอกสาร ทำเรื่องสถานะทางบุคคลของพวกเรา 

 

 

“การปลูกข้าวโพดมันเร็วสุด ง่ายสุด และตอนนี้ก็เปลี่ยนวิธีการรับซื้อจากปกติที่หลังจากเก็บจะต้องนำไปพักไว้แล้วค่อยเอาไปโม่ ตอนนี้ขายได้ทั้งฝัก แก่ปุ๊บเด็ดไปขายได้เลย แถมยังมีราคากว่าเมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว 2-3 เท่า มีแนวโน้มว่าราคาลำไยจะตกต่ำกว่า เพราะฉะนั้นชาวบ้านก็จะต้องแห่ปลูกข้าวโพด สุดท้ายการปลูกข้าวโพดมันจะจบที่การเผา” ปีจองอูสรุปขั้นตอนการทำเกษตรตามระบบพันธสัญญา และอธิบายว่าเหตุที่เกษตรกรต้องเผาก็เพื่อให้เกิดปุ๋ยใช้บำรุงดินส่วนหนึ่ง นอกจากนี้ยังช่วยประหยัดต้นทุนแรงงาน ค่าใช้จ่าย และเวลาด้วย

 

ปีจองอูบอกว่า หากวันที่ฟ้าครึ้มหม่นด้วยความหนาแน่นของฝุ่นพิษ แม้แต่ยอดดอยหลวงเชียงดาวที่เคยสูงเด่นก็ยังถูกบดบังจนแยกไม่ออกว่านั่นหมอกหรือควัน ความไม่ปกติเช่นนี้คือความเดือดร้อน แต่เมื่อเวลาหมุนผ่านไปก็กลายเป็นเรื่องปกติ

 

 

“ชาวบ้านเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร จะไปซื้อหน้ากาก N95 จะเอาค่าใช้จ่ายตรงไหนไปจ่ายร้อยกว่าบาททุกวัน เครื่องฟอกอากาศนี่ไม่ต้องพูดถึง หาเลี้ยงตัวเองไปวันๆ ให้รอดก่อน เพราะเราไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากพอ” ปีจองอูสรุปความเป็นไปของชีวิตในฐานะชาวบ้านคนหนึ่ง

 

“ในหมู่บ้านม่อนจองมีคนเป็นมะเร็ง 2 คนแล้ว เสียชีวิตไป 1 คน และมีคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจอยู่อีกหลายคน และพวกเขาไม่ได้มีโอกาสไปตรวจสุขภาพประจำปี เราเห็นได้ชัดว่าคนแก่หลายคนมีการหายใจที่ลำบาก และเด็กๆ ก็เป็นภูมิแพ้กันบ่อยมากๆ

 

“อาจจะต้องตั้งคำถามไปที่รัฐส่วนหนึ่ง อาจจะต้องตั้งคำถามไปกับคนในพื้นที่อีกส่วนหนึ่งว่าเราใส่ใจมากพอแล้วหรือยัง เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเองใส่ใจมากพอหรือยัง อย่างเช่นไฟที่ไหม้ตามถนนจะต้องทำอย่างไร เป็นความรับผิดชอบของท้องถิ่น เป็นความรับผิดชอบของอุทยาน หรือว่าเป็นความรับผิดชอบของกรมป่าไม้ ตกลงใครรับผิดชอบเวลาเกิดเหตุไฟไหม้” ปีจองอูพูดด้วยความจริงใจที่อยากให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ 

 

กลายเป็นว่า ‘ดอยหลวงเชียงดาว’ พื้นที่ที่มีจำนวนป่าไม้เยอะติดอันดับต้นๆ ของประเทศ สถานที่ซึ่งเป็นปอดขนาดใหญ่ของเมือง กลับต้องจมอยู่ในบรรยากาศฝุ่นหนาๆ ที่ส่งผลร้ายแรงต่อสภาพแวดล้อม และนำไปสู่ปัญหาสุขภาพอื่นๆ ของนานาสิ่งมีชีวิต

 

“สุดท้ายแล้วทุกคนไม่ว่าจะเป็นคนชาติพันธุ์หรือคนพื้นราบ จะเป็นคนเชียงใหม่ คนเชียงดาว คนกรุงเทพฯ ก็จะเป็นเหยื่อของ PM2.5” ปีจองอูสรุปให้เห็นความจริงที่เป็นอยู่ของสถานการณ์ฝุ่นที่รุนแรงขึ้น

 

ฝุ่นจิ๋วตัวร้าย วิกฤตอันตราย และมะเร็งปอดครองเมือง 

 

15 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยสูญเสียพื้นที่ป่าราว 9 ล้านไร่ มาจากปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการทำลายป่าเพื่อขยายการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

 

คาดว่ามีผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร 29,000 คนในปี 2564 อันเนื่องมาจากมลพิษ PM2.5 ในจังหวัดต่างๆ ซึ่งเมื่อคิดต่อจำนวนประชากรแล้ว อัตราการเสียชีวิตจาก PM2.5 สูงกว่าอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน การใช้ยาเสพติด และการฆาตกรรมในประเทศไทยรวมกัน

 

โดยปี 2564 เช่นกัน ในรายงานของกระทรวงสาธารณสุขพบจำนวนผู้ป่วย (รายโรค) ที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในประเทศไทยสูงถึง 7,795,677 ราย

 

ตัวเลขปริมาณการนำเข้าเครื่องฟอกอากาศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยกรมควบคุมมลพิษบอกว่า จากปี 2559 ที่ 163,228 เครื่อง ก้าวกระโดดในปี 2561 ที่ 883,482 เครื่อง และในปี 2563 เพิ่มเป็น 6,258,280 เครื่อง

 

ข้อมูลและตัวเลขต่างๆ ข้างต้นค้นหาได้ไม่ยากนักในหน้ากูเกิล เพราะสถานการณ์ของฝุ่นพิษ PM2.5 เรียกได้ว่าเข้าขั้นวิกฤต หากกรมควบคุมมลพิษไม่กำหนดให้ PM2.5 เป็นตัววัดดัชนีคุณภาพของอากาศ หรือหากยังไม่ได้สัมผัสสูดดมด้วยตัวเอง เราทุกคนก็คงไม่ได้ตระหนักรู้ถึงภัยทางอากาศที่กำลังเกิดขึ้นนี้ 

 

 

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในไทยนั้นไม่ใช่เพียงผ่านมาปีสองปี เพราะมีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้รู้และได้รับผลกระทบมานานกว่าสิบปี หนึ่งในนั้นคือ ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ อาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคระบบการหายใจ เวชบำบัดวิกฤต (ICU) และโรคภูมิแพ้ทางระบบการหายใจ ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

 

“PM2.5 ทุกๆ 10 มคก./ลบ.ม. รายวันมันทำให้คนเชียงใหม่ตายเพิ่มขึ้น 1.6% ภายในหนึ่งสัปดาห์ถัดมาถ้าค่าฝุ่นมันไปถึงระดับ 200-300 มันจะตายเพิ่มอีกแค่ไหน แค่ 10 ยังตายเพิ่ม 100 ถ้า 16% ก็ 200 ถ้า 32% ก็ 400 มันตายเพิ่มขึ้น จากเคยตายวันละ 50 คน ก็จะกลายเป็น 80 คน และกระจายไปใน 25 อำเภอ แต่ละอำเภอได้รับซองขาว เราก็ใส่เงินเพิ่มขึ้นแบบไม่รู้สึกอะไรเพราะตายศพสองศพ แต่ถ้าเราเอาตัวเลขทั้งจังหวัด 25 อำเภอมารวมกันมันตายเพิ่มขึ้นเยอะนะ ถ้าเราไม่เอาข้อมูลต่างๆ มาวิเคราะห์ เราจะ Underrecognize” อาจารย์ประจำคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ บอกเล่าให้เห็นภาพความอันตรายที่เพิ่มขึ้นอย่างไม่มีทีท่าจะหยุดของฝุ่น PM2.5 

 

ศ.นพ.ชายชาญ ยกให้เชียงใหม่เป็นจังหวัดในฝัน คุ้นเคย และรู้สึกรักวิถีวัฒนธรรมผู้คน อยากลงหลักปักฐาน ไปจนถึงอยากฝากชีวิตหลังเกษียณ นอนมองฟ้า สูดกลิ่นดอกไม้ อยู่กับป่าเขาและอากาศสุดแสนบริสุทธิ์ 

 

จนมาถึงวันที่บนยอดดอยมีหมอกเวลากลางวัน นั่นคือความผิดปกติของธรรมชาติ และภาพฝันได้เปลี่ยนไป เพื่อสร้างความตระหนักของฝุ่น PM2.5 ให้ทุกคนได้รับรู้ อาจารย์หมอเริ่มเก็บข้อมูล อ่านงานวิจัยต่างประเทศเพื่อหาข้อเท็จจริง ปรับน้ำเสียงและข้อมูลยากๆ แบบนักวิชาการ มาลงมือเขียนบทหนังและเป็นผู้กำกับเรื่อง Smog In The City ให้ทุกคนที่ได้ดู ได้ฟัง จะได้เข้าใจและเข้าถึงปัญหาฝุ่นที่กำลังเกิดขึ้นรอบตัว 

 

จากปี 2518 ที่ได้เข้าเรียนปี 1 ที่เชียงใหม่ ภาพของอากาศที่เต็มไปด้วยความสดใสค่อยๆ เปลี่ยนสภาพกลายเป็นความขุ่นมัวตามแรงเผาในแต่ละปีจนถึงปัจจุบัน 

 

“ตอนนั้นผมก็ยังไม่เข้าใจเรื่องอุตสาหกรรมเกษตรชัดเจน จนกระทั่งมีข้อมูลออกมาเรื่อยๆ ว่าเพราะการเซ็นเกษตรพันธสัญญานั่นแหละเป็นจุดเปลี่ยน จุดที่ทำให้เกิดหมอกควันสะท้านเมือง ไม่ใช่เผาศพ ไม่ใช่ปิ้งย่าง ไม่ใช่ขายหมูปิ้ง ไม่ใช่แค่เผานาแปลงเล็ก ข้าวโพดบนดอย แม่งเป็นเขาหัวโล้นทั้งอำเภอ เราเห็นว่าเป็นการเผาป่าที่ไม่ใช่เกิดจากไฟธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการทำแนวกันไฟ มันเกิดจากการทำอุตสาหกรรมเกษตรบนพื้นที่ต้องห้าม

 

“เคยได้ยินว่าภูเขาหัวโล้น ทำไร่เลื่อนลอย เราไปที่แม่แจ่มถึงได้เห็นว่ามันไม่โล้นเปล่านะ มันโล้นถึงกะโหลก ถึงชั้นหิน คือมันไม่มีดินอยู่บนภูเขา หัวโล้นแบบเป็นหิน คือเราหัวล้านยังมีหนังหัว แต่นี่หนังหัวไม่มี เหลือแต่กะโหลก แม่งเศร้าใจ มันใช้เพาะปลูกอีกไม่ได้เลย พอปลูกไม่ได้ก็ย้ายดอยไปเรื่อยๆ” 

 

ศ.นพ.ชายชาญ เล่าต่อไปอีกว่า เกษตรพันธสัญญาเติบโตกว้างไกลขึ้น นำไปสู่การขยายพื้นที่ปลูกยังประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้การเผาเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นระดับภูมิภาค เป็นฝุ่นพิษข้ามพรมแดนที่ลอยตามลมกระจายไปถึงกรุงเทพฯ เห็นได้จากการที่ผู้คนออกมาโวยวาย สื่อต่างๆ กระหน่ำทำข่าว รัฐบาลต้องสั่งหยุดเรียน หยุดก่อสร้าง หยุดปล่อยควันดำ ฯลฯ 

 

“โรงพยาบาลเชียงดาวเป็นโรงพยาบาลอำเภอขนาดใหญ่ แต่ว่าไม่มีห้องพิเศษ ไม่มีห้องแอร์ ไม่มีเครื่องฟอกอากาศ คนไข้นอนรมฝุ่นควันกันตลอด ปรากฏว่าป่วยหนักจนต้องมานอนที่โรงพยาบาลตายเพิ่มขึ้น 15%

 

“ผมก็เลยคิดว่าถ้าทางกรุงเทพฯ เขาตื่นตัวอย่างนี้ เป็นโอกาสอันดีที่จะได้รับการแก้ไข ภาคเหนือตอนบนจะได้อานิสงส์ไปด้วย” 

 

แต่เมื่อลมพัดพาฝุ่นจางลง ปัญหาที่ดูเหมือนจะเป็นเรื่องใหญ่ก็กลับปลิดปลิวหายไป และพบเจอฤดูฝุ่นที่หนักขึ้นกลับมาวนเวียนซ้ำไปปีแล้วปีเล่า จนสะสมและส่งผลเสียต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของทุกชีวิตทั่วสารทิศ 

 

ศ.นพ.ชายชาญ ยังชี้ให้เห็นตัวเลขราวปี 2559 ว่ามีงานวิจัยที่องค์การอนามัยโลกได้ระบุถึง 5 โรคจาก PM2.5 ที่ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 80% ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมองและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด 60% อีก 18-20% เป็นปอดอักเสบและถุงลมโป่งพองกำเริบ และหอบหืดประมาณ 10% แต่พอเคลื่อนไปถึงปี 2562 กลับได้พบโรคเพิ่มขึ้นเป็น 13 โรค ซึ่งโรคส่วนใหญ่ก็ยังเป็นโรคหลอดเลือดสมอง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปอดอักเสบ มะเร็งปอด ถุงลมโป่งพองกำเริบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และยังพบการเสียชีวิตเฉียบพลันในวัยเด็ก รวมถึงมีการเสียชีวิตของแม่และเด็กตอนคลอดเพิ่มขึ้น 

 

 

จากประสบการณ์ 15 ปีแรกของการทำงาน อาจารย์บอกเล่าว่า ผู้ป่วยมะเร็งปอดล้วนแต่เป็นผู้สูบบุหรี่ แต่อีก 15 ปีหลังของการทำงาน เขาพบว่าผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งปอดได้เช่นกัน ตัวเลขการสูบบุหรี่ของคนเหนือนั้นมีสัดส่วนที่น้อยกว่าคนใต้ แต่คนใต้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดน้อยกว่าคนเชียงใหม่หลายเท่า ทั้งนี้ ภาคเหนือก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีผู้ป่วยด้วยมะเร็งปอดเยอะเป็นสองเท่าของภูมิภาคอื่นๆ ในประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่มาจาก PM2.5 อย่างชัดเจน

 

เช่นกันกับ ว่าที่ ร.ต. กิตติศักดิ์ ฝั้นปันวงศ์ อาจารย์พิเศษ วิทยาลัยเทคนิคเชียงใหม่ ผู้ซึ่งไม่เคยสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต วันนี้เขาได้กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 4 หรือ ‘ระยะสุดท้าย’ 

 

“จำได้ว่าตอนนั้นมีอาการไอ ไอต่อเนื่องเป็นเดือน มันไม่หาย ไม่ทุเลาลง ผมซื้อยามากินเองก็ไม่หาย หลังจากนั้นก็มีเสมหะปนเลือดออกมา ตัวเหลือง น้ำหนักลดลงไปจาก 60 กิโลกรัม เหลืออยู่ 54 กิโลกรัม ก็ไปปรึกษาคุณหมอ ตอนนั้นคุณหมอยังไม่ฟันธง มันมีความเป็นไปได้หลายอย่าง มันเข้าข่ายของอาการวัณโรค อยู่ในเงื่อนไขหลายข้อ ไอ จาม มีเสมหะปนเลือด มีน้ำขังในปอด กินข้าวไม่อร่อย มีความรู้สึกเบื่ออาหาร

 

“ประมาณสัก 2-3 สัปดาห์ พอไปหาคุณหมอต่อเนื่อง คุณหมอก็เอ็กซเรย์ปอด ปรากฏว่ามีน้ำอยู่ในปอด ตอนนั้นก็ไปเจาะปอดด้านหลังเอาน้ำออก มันก็ทุเลาลง อาการก็ดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่หายนะ ได้ยามากิน กินไปพักหนึ่งคุณหมอก็ส่งตัวไป MRI ไปเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ ทีนี้ผลก็ออกมาเลย ตามที่คาดเดา รอผลเอ็กซเรย์ประมาณ 3 สัปดาห์ ผลออกมาคือเป็นมะเร็งปอด ตอนนั้นคิดว่าคงจะได้ผ่าตัดก้อนเนื้อ คุณหมอเขาบอกว่าไม่ต้องคิด เพราะมันลุกลามในระยะที่ 4 แล้ว ก็ลองแหย่ถามคุณหมอดูว่ามะเร็งมีกี่ระยะ เขาก็บอกว่ามี 4 ระยะ

 

“ตอนได้ฟังผลคิดอะไรไม่ออก หูมันอื้อไปหมดแล้ว มันช็อก ทั้งผม ทั้งภรรยา วันนั้นก็ไม่พูดไม่คุยกับใครเลย กับภรรยาก็ไม่พูด ยังช็อกอยู่ ยังทำใจไม่ได้ ยังไม่รู้จะพูดอะไร” ว่าที่ ร.ต. กิตติศักดิ์ บอกเล่า

 

ว่าที่ ร.ต. กิตติศักดิ์ สนใจเรื่องรถจักรยานยนต์มาตั้งแต่วัยเยาว์ และตั้งใจเล่าเรียนในระดับ ปวช.-ปวส. เพื่อมาทำงานเป็นช่างยนต์ที่มุ่งมั่น จนได้เป็นอาจารย์ในจังหวัดลำปาง และย้ายมาใช้ชีวิตอยู่กับคนรักในบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ 

 

“ผมเป็นภูมิแพ้อยู่แล้ว เมื่อไอ จาม ระคายเคืองตา ถ้ามีอาการพวกนี้ขึ้นมา รู้เลยว่าวันนั้นฝุ่นจะเยอะ”

 

ว่าที่ ร.ต. กิตติศักดิ์ คิดว่าสภาพแวดล้อมต่อวิถีชีวิตของเขาล้วนมีผลทำให้เขาป่วยเป็นโรคมะเร็งปอด ทั้งการทำงานที่ต้องสัมผัสเครื่องยนต์ อยู่กับควันรถ สูดดมน้ำมัน รวมถึงสารเคมีต่างๆ มาเป็นระยะเวลายาวนาน และอีกส่วนสำคัญของความเสี่ยงที่ทำให้เป็นมะเร็งปอด เขาคาดว่าน่าจะมาจากสภาพอากาศในเชียงใหม่ ส่วนเรื่องพันธุกรรม เขาเล่าว่าไม่มีประวัติใครในบ้านเป็นมะเร็งมาก่อน

 

“ผมอยู่ในระยะที่ 4 วิธีหนึ่งที่รักษาได้คือคีโม แต่มันจะมีเอฟเฟกต์ค่อนข้างเยอะ ผมเกรงว่ามันจะกระทบต่อการทำงาน ถ้ามันกระทบต่อการทำงาน เราไม่สามารถที่จะไปปฏิบัติงานได้ ก็จะส่งผลต่อเรื่องของรายได้ 

 

“มันยังมีภาระอีกหลายอย่างที่ผมสร้างขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นบ้าน รถที่จะต้องผ่อน ก็คุยกับแฟนว่าแนวทางต่อจากนี้จะเป็นอย่างไร จะทำอย่างไร ไม่อยากทิ้งภาระที่มีค่อนข้างเยอะให้เขา และตอนนี้มันก็จะต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มในเรื่องของยารักษา ค่อนข้างที่จะแพง”

 

เนื่องจากยารักษาโรคที่เขาเผชิญมีราคาแพง คุณหมอผู้ดูแลจึงใช้วิธีให้เขาได้เข้าร่วมโครงการวิจัย แต่โรคที่เขาต้องแบกรับไว้ไม่ตรงกับตัวยาของงานวิจัย ยาฟรีที่จะมาใช้ช่วยผ่อนเบาจากความป่วยไข้ก็หมดสิทธิไป หมอจึงแนะนำให้เขาใช้ยาพุ่งเป้าตัวดังกล่าว เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย เขาเริ่มกลับมากินข้าวได้ หายใจสะดวก และจนถึงปัจจุบันเขากินยาเพื่อรักษาตัวเองมาเป็นเวลาราว 8 เดือนแล้ว

 

“เราไม่ได้เป็นข้าราชการ แต่เป็นพนักงานราชการก็ต้องใช้สิทธิประกันสังคม สิทธิประกันสังคมไม่สามารถเบิกค่ายาตัวนี้ได้เลย ต้องซื้อเอง กล่องหนึ่งก็มีอยู่ประมาณ 50 แคปซูล วันหนึ่งเราต้องกินอยู่ 2 แคปซูล เอา 544 บาท x 30 วัน กล่องหนึ่งก็ตกอยู่เกือบๆ 30,000 บาท แต่เงินเดือนเรามีประมาณ 20,000 บาท ค่าบ้านกับค่ารถก็หมดแล้ว ต้องหารายได้พิเศษทำเพิ่ม” เขาเล่าถึงโชคชะตาด้วยเสียงหัวเราะ

 

“รายได้มันก็คงไม่เยอะไปกว่านี้แล้ว เพราะเราทำตามกำลังที่เราทำได้ จะหักโหมรับงานมาเยอะๆ เหมือนเมื่อก่อนก็ไม่ได้แล้ว สภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวย อีกทางก็คือยอมรับความเป็นจริง ถ้าซื้อยาไม่ไหวก็ต้องหยุดและยอมรับสภาพไป 

 

“ด้วยสภาพร่างกายที่เป็นแบบนี้ คงยากที่จะย้ายหรือไปหาที่อยู่ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานที่ต้องทำอยู่ตรงนี้เป็นประจำ ทางครอบครัว ภรรยาก็จะต้องรับผิดชอบดูแลทางบ้าน ถ้าเป็นสภาพร่างกายปกติดีก็อาจจะย้ายที่ได้อยู่ แต่ตอนนี้ก็ต้องหาวิธีการเรียนรู้ที่จะอยู่กับมัน”

 

10 กรกฎาคม 2566 ศาลปกครองเชียงใหม่พิพากษา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ฐานละเลยต่อหน้าที่การแก้ปัญหาฝุ่น 2.5

 

11 กรกฎาคม 2566 รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ ออกมาชี้แจงว่า ประยุทธ์ได้สั่งการแก้ปัญหาไปแล้วกว่า 30 ครั้ง 

 

จะเห็นได้ว่าจากการปลูกสู่การขยายพื้นที่ เกิดการเผาเพิ่มขึ้น ตามมาด้วยฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพความเป็นอยู่ของผู้คนทุกท้องถิ่น ทุกมุมเมือง และทุกหมู่บ้านในดินแดนที่ห่างไกล สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นนี้ ทางเดียวที่ประชาชนทำได้คือต้องช่วยเหลือตัวเองและยอมรับกับสภาพความเป็นอยู่ เพราะมันช่างยากเกินไปที่จะหาผู้รับผิดชอบหรือแก้ไขปัญหาได้ 

 

ใช่หรือไม่?

 

ต้องมีอะไรผิดพลาดตรงไหน? จะหาใครรับผิดชอบ? ทางออกจากฝุ่นอยู่ที่ใด? 

 

ในปี 2565 ประเทศไทยส่งออกเนื้อไก่มากเป็นอันดับ 3 ของโลก และเป็นที่ 1 ของเอเชีย สรุปการส่งออกเนื้อไก่รวมถึงผลผลิตทางเกษตรทั้งหมดแล้วเป็นเงิน 139,301 ล้านบาท 

 

“เรามีปอดไว้ให้เลี้ยงไก่หรือเปล่า” เป็นคำถามจากชาวบ้านในจังหวัดเชียงราย

 

แม้ตัวเลขการส่งออกเนื้อไก่จะติดอันดับต้นๆ ของโลก แต่ย้อนกลับมาดูสภาพความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิตต่างๆ ของทั้งเกษตรกรและผู้อยู่อาศัยในประเทศ กลับพบว่ากำลังถูกคุกคามจากมหันตภัยฝุ่นพิษที่ไม่มีทีท่าว่าจะลดจำนวนลง และมันมีเพิ่มขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

 

โดยที่ผ่านมามีพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 ตามมาตรา 41 ได้ระบุไว้ว่า 

 

ในกรณีที่การผลิตผลิตผลหรือบริการทางการเกษตรในระบบเกษตรพันธสัญญาก่อให้เกิดผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน อันเนื่องมาจากการใช้ปัจจัยการผลิต หรือกระบวนการผลิตภายใต้เงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกำหนด ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายเพื่อการนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าผลกระทบนั้นเกิดขึ้นจากเหตุสุดวิสัย หรือเป็นการกระทำหรือละเว้นการกระทำของเกษตรกรในการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนหรือเงื่อนไขที่ผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรกำหนดค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหาย 

 

ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจทางการเกษตรมีหน้าที่ต้องรับผิดตามวรรค (1) หมายความรวมถึงค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ทางราชการต้องรับภาระจ่ายจริงในการขจัดมลพิษหรือฟื้นฟูคุณภาพสิ่งแวดล้อม…

 

แม้ระเบียบจะว่าไว้เช่นนั้น แต่จากที่กรีนพีซได้ลงพื้นที่ไปสำรวจความเป็นอยู่ของเกษตรกรก็พบปัญหาว่า การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบระบบเกษตรพันธสัญญานั้นเป็นสัญญาที่ไม่เป็นทางการ บ้างก็ทำด้วยวาจา หรือหากมีสัญญาแบบลายลักษณ์อักษร เกษตรกรก็อาจไม่ได้รับสัญญาคู่ฉบับเพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐาน ช่องโหว่และความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นในระบบเกษตรพันธสัญญาต่างๆ เช่นนี้ ทำให้ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ไม่สามารถเอาผิดกับบริษัทได้ ส่งผลให้ไม่มีผู้ใดมารับผิดชอบสุขภาพของเกษตรกร เมื่อถึงเวลาเจ็บป่วยจากสารเคมีและสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมก็ไม่มีผู้ใดจะมาดูแลได้

 

ในงานวิจัยของกรีนพีซชื่อว่า ‘เติบโตบนความสูญเสีย: ผลวิเคราะห์ดาวเทียม 20 ปีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และอิทธิพลของนโยบายรัฐ’ ทำให้มองเห็นว่า ภายใต้สถานการณ์การเผาและขยายพื้นที่ปลูกภายในประเทศไปจนถึงการขยายข้ามพรมแดน กรีนพีซมองว่า พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา พ.ศ. 2560 สามารถนำมาใช้เพื่อขยายความรับผิดชอบของบริษัทและผู้ประกอบการ เมื่อเกิดความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นจากเกษตรกรรมเชิงเดี่ยวได้

 

เช่น จัดให้มี ‘การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการพร้อมระบุแปลงปลูก’ และเพิ่มข้อกำหนดใน ‘มาตรฐานสัญญา’ ซึ่งจะเป็นการรับประกันว่าความเสี่ยงของเกษตรกรจะถูกกระจายอย่างเป็นธรรม รวมถึงกำหนดมาตรการเอาผิดผู้ประกอบการตามกฎหมายต่อมลพิษที่ก่อขึ้นในกรณีที่สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่

 

หรือ ‘การระบุที่ดินแปลงปลูก และการตรวจสอบย้อนกลับ’ เพื่อแสดงความโปร่งใสต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในห่วงโซ่อุปทานได้ และที่ผ่านมากระบวนการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จำนวนมากเพื่ออุตสาหกรรมในระบบเกษตรพันธสัญญามีการใช้สารเคมีอันตราย และใช้ยากำจัดศัตรูพืชจำนวนมากในทุกขั้นตอนการผลิต ก่อให้เกิดปัญหาสารเคมีตกค้างปนเปื้อน ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อม 

 

และที่ผ่านมาไม่ว่าจะสัญญาแบบวาจาหรือสัญญาด้วยเอกสาร ไม่เคยปรากฏว่าบริษัทอุตสาหกรรมจะมีการประเมินผลกระทบทางสุขภาพและสิ่งแวดล้อมต่อเกษตรกรและพื้นที่ ก่อนที่จะลงมือเพาะปลูก 

 

รวมถึงกรณีการปลูกในพื้นที่ไม่เหมาะสม เช่น พื้นที่ป่า หรือพบสารเคมีอันตรายตกค้างในดินและแหล่งน้ำสาธารณะ รวมถึงการก่อมลพิษทางอากาศจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดทั้งขั้นตอนการเตรียมปลูกและเก็บเกี่ยว ซึ่งประเด็นนี้ยังขาดหายไปทั้งใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา และกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั่วไป เพื่อที่จะกำหนดข้อกฎหมายให้ผู้ประกอบการได้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในปัจจุบัน

 

อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์จึงเป็นส่วนสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตสิ่งแวดล้อมและส่งผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศ เป็นวัฏจักรการเผาตั้งแต่ปลูกจนเก็บเกี่ยวผลผลิต สะท้อนให้เห็นปัญหามลพิษทางอากาศของภาคเหนือตอนบนของไทยและอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่เชื่อมโยงกับการสนับสนุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ผ่านโครงการสนับสนุนของรัฐควบคู่กับเกษตรพันธสัญญา

 

วิกฤตทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่ปรากฏชัดขึ้นมาตั้งแต่ราวปี 2547 เป็นต้นมา ทั้งป่าไม้ที่หายไปและหมอกควันพิษข้ามพรมแดน ต่างเกี่ยวข้องอย่างมีนัยสำคัญกับการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายใต้นโยบายการสนับสนุนของรัฐที่ไม่ได้สร้างความเป็นธรรม และยังมีส่วนสร้างผลกระทบทางสังคมทั้งต่อเกษตรกร ชนพื้นเมือง รวมถึงผู้บริโภค โดยที่มีอุตสาหกรรมเป็นผู้ได้ผลประโยชน์สูงสุดจากสิ่งเหล่านี้

 

“ระบบอาหารที่ยั่งยืน เป็นธรรม เน้นการผลิตและบริโภคพืชผัก คือทางออกภายใต้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียส รัฐต้องลงมืออย่างเร่งด่วนเพื่อรับมือกับผลกระทบจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และให้อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์มีส่วนต่อการรับผิดชอบการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น” ข้อเสนอแนะจากงานวิจัยของกรีนพีซระบุ 

 

ส่วนเกษตรกรอย่างปีจองอูเสนอว่า “การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ผมมองว่าทุกๆ ภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม มันไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่ มันไม่ใช่แค่รัฐ มันไม่ใช่แค่ชาวบ้าน ทุกๆ คนเลยที่ยังอยู่ ไม่ว่าจะส่วนไหนของประเทศ 

 

“แต่หลักๆ รัฐเป็นผู้มีอำนาจในการกำหนดทิศทางของประเทศ อย่างน้อยที่สุด รัฐควรจะมีแอ็กชันในการดูแลปัญหาเรื่อง PM2.5 ให้มากกว่านี้ อาจจะต้องกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่นที่ไม่ใช่กระจายไปแค่ภาระ และต้องจัดสรรงบประมาณให้ทั่วถึง ใส่ใจมากกว่านี้” 

 

ส่วน ศ.นพ.ชายชาญ โพธิรัตน์ ในฐานะแพทย์และนักวิชาการผู้พยายามขับเคลื่อนผลักดันให้เรื่องฝุ่น PM2.5 เป็นวาระแห่งชาติ ได้เสนอว่า

 

“ผมรู้แล้วว่าถ้าเราควบคุม PM2.5 ให้ดี ประเทศจะเจริญ GDP จะเพิ่มขึ้น คนจะมีประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น หนี้สินครัวเรือนจะน้อยลง รัฐบาลจะจ่าย Health Care Cost และ Indirect Cost น้อยลง จะเหลืองบไปพัฒนาบำรุงประเทศได้มากขึ้น

 

“ก่อนผมตาย เชียงใหม่จะเป็นเมืองที่ฟ้าใสอย่างยั่งยืน ไม่รู้ว่าฝันหรือตั้งเป้าหมายมากไปไหม แต่ว่าเราอยากเห็นเหตุการณ์อย่างนั้นกลับมาในบั้นปลายของชีวิตอีกครั้งหนึ่ง มันอาจจะไม่ใช่ความต้องการเพื่อตัวเราอย่างเดียว แต่เพื่อคนรุ่นต่อๆ ไปที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข” 

 

เมื่อลมหนาวหวนมาอีกครั้ง เราต่างวาดหวังถึงวันที่ท้องฟ้าสดใส เมฆขาวลอยเบียดกันไปตามสายลมที่ทำให้รู้สึกสดชื่น มีชีวิตชีวา มองเห็นพื้นที่ป่าไม้เขียวชุ่มฉ่ำใจ ผู้คนทำกิจกรรมกลางแจ้งได้เต็มประสิทธิภาพ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีใครต้องเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และประเทศไทยจะกลับเป็นปกติด้วยฤดูกาลร้อน ฝน หนาว ดังเดิม

 

แด่อากาศบริสุทธิ์

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X