×

มองการปรับตัวของ ‘ร้านโชห่วย’ อยู่ให้รอดในวิกฤตโควิด-19

23.07.2020
  • LOADING...

เมื่อเอ่ยถึง ‘โชห่วย’ แน่นอนว่าทุกคนย่อมรู้จักกันเป็นอย่างดี เพราะนี่คือธุรกิจค้าปลีกรายย่อยที่เป็นฐานรากสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่วันนี้ด้วยการขยายตัวของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งไฮเปอร์มาร์เก็ต หรือร้านสะดวกซื้อ ที่ขยายเข้าไปสู่ตรอก ซอย และพื้นที่ต่างจังหวัดมากขึ้น ตลอดจนพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดคำถามหนึ่งตามมาคือ ร้านโชห่วยในปี 2020 ยังอยู่ได้ไหม 

 

“ท่ามกลางกระแสการแข่งขันที่รุนแรงของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ที่เข้ามา เราพบว่าปัญหาหลักๆ ของธุรกิจประเภทนี้หนีไม่พ้น พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ขาดคนรุ่นใหม่สืบทอดกิจการ ขาดความรู้ในการจัดการร้านค้าปลีก” วีระชัย ตู้วชิรกุล ผู้จัดการอาวุโส แม็คโคร 4.0 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) ผู้รับผิดชอบดูแลโครงการมิตรแท้โชห่วย ซึ่งมีประสบการณ์ออกเยี่ยม พูดคุยกับร้านค้าปลีกรายย่อยทั่วประเทศมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10,000 ร้านค้า ได้เล่าถึงสถานการณ์ของร้านโชห่วยบนเวทีเสวนา ‘ยุทธศาสตร์ค้าปลีกวิถีใหม่ ฝ่าโควิด-1’ ของสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

 

วงจรชีวิตของโชห่วย ตั้งแต่เริ่มเติบโต ประสบความสำเร็จหรือกำลังจะตาย วีระชัย ยอมรับว่าพบเจอมาแล้วทุกรูปแบบ ปัจจุบันข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุจำนวนร้านโชห่วยในประเทศไทยปัจจุบันมี 500,000 ร้านค้า

 

จากประสบการณ์ของวีระชัย คนมักเข้าใจ ‘โชห่วย’ ผิด ธุรกิจนี้เป็นเหมือนพีระมิด มีกลุ่มฐานล่างสุด กลุ่มตรงกลาง และด้านบน ในกลุ่มโชห่วยฐานล่างสุดนั้นสร้างรายได้ต่อวันหลักพันถึงหลักหมื่น สูงสุดที่เคยเจอ (ไม่รวมค้าส่งที่บางรายทำอยู่) มีรายได้วันละ 30,000-40,000 บาท เท่ากับว่าเขามียอดขายต่อเดือนประมาณ 1 ล้านบาท ซึ่งกำไรในธุรกิจโชห่วยคือ 15% ถ้ามิกซ์มาร์จิ้น หรือผสมผสานสินค้าที่ทำกำไรได้ดี กำไรสามารถไปได้ถึง 20%

 

“เวลาเจอปัญหาจากการทำธุรกิจโชห่วย ก็เหมือนกับการเดินทางไปเจอสี่แยก คุณจะเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เดินหน้า หรือถอยหลัง ทุกอย่างขึ้นกับการปรับตัวของคุณ!”

 

หลายคนมองว่าธุรกิจโชห่วยเป็นธุรกิจทางเลือก แต่จริงๆ แล้วก็เป็นธุรกิจทางรอด ที่อยู่รอดและอยู่รวยได้เช่นกัน ในยุคที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง โชห่วยหรือร้านค้าปลีกรายย่อยต้องทำความเข้าใจพฤติกรรมลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นลูกค้าคุ้นชินกับดิจิทัลสแกน อีเพย์เมนต์ สมาร์ทโฟน ต้องยอมรับว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐทำให้คนพยายามใช้ดิจิทัล พอช่วงโควิด-19 ทุกคนปรับตัวใช้อีเพย์เมนต์ หรือเกือบ 100% ของคนในชุมชนใช้สมาร์ทโฟนหมดแล้ว โชห่วยจึงต้องปรับตัวรองรับ ลูกค้าไม่ได้มีเงินสดแค่ในกระเป๋า แต่มีอยู่ในมือถือ วิธีการเพิ่มรายได้ให้ร้านก็คือ เปิดช่องทางการรับเงินที่มาในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดกระแสทำอาหารกินเองในครอบครัวมากขึ้น แม็คโครเห็นเทรนด์นี้ชัดเจน จึงส่งเสริมให้โชห่วยปรับพื้นที่ขายสินค้าแช่แข็งผ่าน ‘ครัวชุมชน’ ซึ่งบริการสินค้าเนื้อสัตว์แช่แข็งขนาดแพ็กประมาณสองขีด หรือ 200 กรัม ตอบโจทย์ความต้องการ นอกจากมีกำไรสูงแล้ว ยังทำให้เกิดความมั่นคงด้านอาหารในชุมชน เป็นกลยุทธ์ที่ทำให้โชห่วยกลายเป็นร้านในดวงใจ

 

โชห่วยยังต้องใส่ใจในสุขภาพความปลอดภัยและคุณภาพของสินค้า ด้วยการเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ มองหาสินค้าใหม่ให้เข้ากับชีวิตวิถีใหม่ที่เกิดขึ้น จากเดิมขายน้ำตาล น้ำปลา ขนม ก็มาเป็นสินค้าเกี่ยวกับความสะอาด ยารักษาโรค  ต้องผสมผสานสินค้าให้เหมาะสม จะช่วยเพิ่มกำไรได้ 

 

“การจัดการสต๊อกสินค้าก็เป็นหัวใจที่โชห่วยต้องนึกถึงและใส่ใจเสมอ ไม่น่าเชื่อว่าสต๊อกสินค้ากลายเป็นปัญหายอดฮิตที่เราพบ ต่อให้สินค้าดี แต่จัดเก็บไม่ดี ก็ทำให้สินค้าล้นอยู่หลังร้าน บางครั้งไม่รู้ว่าหมดอายุ จึงแนะนำให้จัดเก็บสต๊อกให้น้อยที่สุด มีหลายร้านที่เราเข้าไปช่วยพัฒนา พบสินค้าหลังร้านหมดอายุเป็นจำนวนมาก หากคิดเป็นตัวเงิน มูลค่าเป็นหมื่นก็เคยเจอ ที่สำคัญต้องทิ้งทั้งหมด ซึ่งนั่นคือเงิน คือต้นทุนของคุณ”

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมคนหันมาสนใจติดตามข่าวสารโซเชียลมีเดียมากขึ้น คนในชุมชนติดตามใกล้ชิดเช่นกัน สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก็คือ โชห่วยมีเฟซบุ๊กเพจ มีไลน์ออฟฟิเชียล เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับลูกค้าในชุมชน สร้างสรรค์ทางเลือกในการสร้างรายได้แบบใหม่

 

“โชห่วยไทยผมว่าเขาปรับตัวได้นะ เริ่มจากอะไรที่ง่าย ใช้ได้เร็ว เชื่อมโยงสิ่งที่มีอยู่มาพัฒนาร้าน อย่างบริการเดลิเวอรี บริการสั่งสินค้า อัปเดตสินค้าใหม่ๆ ผ่านไลน์  เฟซบุ๊ก โชห่วยต้องเป็นทุกสิ่งทุกอย่างในชุมชน เชื่อมโยงการขนส่งในชุมชน ใช้เทคโนโลยีมาสร้างสรรค์ธุรกิจให้เกิดความเข้มแข็ง โดยลงทุนให้น้อยที่สุด”

 

วีระชัยย้ำว่า โชห่วยต้องรู้จักลูกค้าในชุมชน และปรับตัวตามความต้องการของลูกค้าให้เท่าทัน เช่นเดียวกับยุคนี้ที่การมีอาหารพร้อมทาน (Ready to eat) หรือวัตถุดิบแช่แข็งไว้รองรับกระแสคนซื้อของใกล้บ้าน คงจะเป็นกระแสแบบนี้ไปอีกนาน และเพิ่มโอกาสให้โชห่วยมีทางเลือกขายสินค้าใหม่ๆ ผ่านครัวชุมชน โดยล่าสุดนั้นทางแม็คโครได้เปิดบริการไลน์แอปพลิเคชัน เป็นช่องทางให้คำปรึกษา เสริมความเข้มข้นจากเดิมที่มีพร้อมสรรพใน www.โชห่วยไทย.com อีกด้วย 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising