×

3 ปีหลังการเคลื่อนไหวของ เกรตา ธันเบิร์ก ประชาคมโลกยังคงเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม

20.08.2021
  • LOADING...
Greta Thunberg

วันนี้ (20 สิงหาคม) เมื่อราว 3 ปีที่แล้ว เกรตา ธันเบิร์ก ได้รับการพูดถึงเป็นอย่างมากจากสื่อหลากหลายสำนักทั่วโลก หลังจากนักเคลื่อนไหวชาวสวีเดนวัยเพียง 15 ปีได้สร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้เยาวชนทั่วโลกตื่นตัวกับปัญหาโลกร้อน ด้วยการเป็นแกนนำจัดการชุมนุมนอกอาคารรัฐสภาสวีเดน เพื่อเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาตรการแก้ไขวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

เพราะสำหรับคนรุ่นใหม่ รวมถึงประชากรโลกทุกคน วิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่ส่งผลกระทบต่ออนาคตของเราอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แม้จะมีกระแสความตื่นตัวเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก แต่ 3 ปีนับจากที่ธันเบิร์กได้กลายเป็นกระบอกเสียงให้พวกเราฉุกคิดและเริ่มลงมือทำ ประชาคมโลกก็ยังคงเผชิญความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมประจำองค์การสหประชาชาติยืนยัน ผู้คนจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยโลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงขึ้นราว 1.1 องศาเซลเซียส หรือ 2 ฟาเรนไฮต์ นับตั้งแต่ช่วงที่มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม ช่วงศตรรษที่ 19 ที่ใช้ถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สเป็นพลังงานเชื้อเพลิง โดยมีการคาดการณ์ว่าอุณหภูมิเฉลี่ยจะเพิ่มสูง 1.5 องศาเซลเซียส ภายใน 20 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชากรโลกเกือบ 1 พันล้านคนได้รับผลกระทบจากคลื่นความร้อน หลายพื้นที่ประสบภาวะแห้งแล้งอย่างหนัก น้ำแข็งบริเวณขั้วโลกละลายลงอย่างรวดเร็ว

 

อีกทั้งจากรายงานล่าสุดของกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) เกี่ยวกับดัชนีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อเด็ก The Children’s Climate Risk Index (CCRI) ระบุว่า เด็กๆ ทุกคนบนโลกขณะนี้ต่างกำลังเผชิญปัญหาหรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อมอย่างน้อย 1 ประเด็นปัญหา โดยมีเด็กราว 850 ล้านราย หรือคิดเป็นราว 1 ใน 3 ของประชากรเด็กทั้งหมดทั่วโลก ต่างกำลังเผชิญปัญหาหรือได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือสิ่งแวดล้อม 4 ประเด็นปัญหาขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นคลื่นรังสีความร้อน ไซโคลน มลพิษทางอากาศ วิกฤตน้ำท่วม ภาวะภัยแล้ง ขาดแคลนน้ำ เป็นต้น 

 

รายงานดังกล่าวยังระบุอีกว่า เด็กราว 1 ล้านรายทั่วโลกอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูงมาก ซึ่งประเทศส่วนใหญ่อยู่ในแถบทวีปแอฟริกาและเอเชียใต้ ซึ่งมีอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันเพียงราว 9% ขณะที่ 10 ประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด รวมถึงจีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และญี่ปุ่น ที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รวมกันสูงเกือบ 70% เด็กๆ ในประเทศเหล่านี้กลับมีแนวโน้มเผชิญความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมต่ำ มีเพียงอินเดียเท่านั้นในกลุ่มนี้ที่ได้รับการจัดให้อยุ่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก มีดัชนี CCRI อยู่ที่ 7.4 

 

ขณะที่ในย่านอาเซียนมีเพียงเมียนมาและฟิลิปปินส์ที่ได้รับการจัดให้อยุ่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูงมาก ดัชนี CCRI อยู่ที่ 7.1 ส่วนประเทศไทยได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูง ดัชนี CCRI อยู่ที่ 6.2 โดยอาจถึงเวลาแล้วที่ทุกภาคส่วนในประชาคมโลกจะเล็งเห็นและลงมือแก้ไขวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมนี้อย่างจริงจัง

 

บทความที่เกี่ยวข้อง:

ย้อนชมคลิป: เกรตา ธันเบิร์ก ส่งข้อความถึงผู้นำโลก ให้จริงจังเรื่องสิ่งแวดล้อม ให้ลงมือทำดีกว่าเอาแต่พูด เพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co/greta-thunberg-environment-message/ 

 

ภาพ: Maja Hitij / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X