หลายคนคงจะคุ้นกับคำว่า การลงทุนแบบ ESG ซึ่งก็คือการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งที่เราลงทุนไปนั้น ผู้เป็นเจ้าของธุรกิจได้นำไปลงทุนโดยคำนึงถึงสิ่งเหล่านั้นจริงๆ การตั้งคำถามของนักลงทุนและสังคมจึงเกิดขึ้น จนกลายเป็นที่มาของคำว่า ‘การฟอกเขียว’
การฟอกเขียว หรือ Greenwashing คือ การทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดด้วยการโฆษณาสินค้าหรือองค์กรให้มีภาพลักษณ์ว่ารับผิดชอบต่อสังคม โดยการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หรือสามารถแปลตรงตัวได้ว่า คือการฟอกตัวเองให้ดูสะอาด โปร่งใส รักโลก ใส่ใจธรรมชาติ ทั้งๆ ที่เรื่องจริงไม่ได้ทำอะไรแบบนั้นเลย เพียงแค่อยากอยู่ในกระแส และอยากขายของได้เท่านั้น
โดยจุดเริ่มต้นของ ‘การฟอกเขียว’ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2523-2533 คือการที่บริษัทหรือองค์กรเน้นการลงทุนไปกับการตลาด เพื่อปรับภาพลักษณ์ขององค์กรว่ามีนโยบายและแนวทางที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และพร้อมที่จะดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หากแต่เนื้อแท้แล้ว (จากการถูกตรวจสอบและวิพากษ์โดยภาคประชาสังคม) อาจเป็นเพียงคำอวดอ้างมากกว่าที่จะยืนหยัดอยู่บนความซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค ที่ส่วนหนึ่งตั้งใจปรับพฤติกรรมหันมาใช้และสนับสนุนสินค้าและบริการที่ตระหนักถึงความยั่งยืนอย่างแท้จริง
จนกระทั่งเมื่อไม่นานมานี้ ผู้คนเริ่มกังวลถึงสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ทำให้สายตาทั้งหลายจับจ้องไปที่บริษัทที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารของหลายๆ บริษัทจึงจำเป็นต้องเลือกระหว่างการเปลี่ยนแปลงวิถีธุรกิจอย่างจริงจัง หรือจ่ายเงินทำประชาสัมพันธ์ใหม่ แต่หลายบริษัทกลับหันไปทางเลือกทางหลัง ยกตัวอย่างเช่น บางบริษัทผู้ผลิตที่กล่าวอ้างว่าบรรจุภัณฑ์พลาสติกของตนสามารถรีไซเคิลได้ แต่ไม่ได้บอกว่ารีไซเคิลไม่ได้ทั้งหมด หรือบางบริษัทอ้างแม้กระทั่งบอกว่าย่อยสลายได้ แต่ที่จริงแล้วกลายเป็นแค่คำโฆษณาที่ทำให้สินค้าของตัวเองดูรักโลกขึ้น เพื่อเจาะกลุ่มคนรักษ์โลกและกอบโกยกำไรเพียงเท่านั้น โดยไม่แสดงความรับผิดชอบใดๆ ต่อผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้น ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงที่ว่า ผู้บริโภคอาจจะถอดใจจากการสนับสนุนความยั่งยืนไปเสียก่อน เพราะเกิดความไม่เชื่อใจกับการฟอกเขียวของภาคธุรกิจ จนกลับไปเลือกทางเลือกธุรกิจที่ทำแบบเดิมๆ เหมือนที่เคยเป็นมา (Business as Usual) เพราะไม่มีความแตกต่างกัน จุดนี้ยิ่งเป็นอันตรายต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และบ่อนทำลายแก่นแท้ของ ESG
นอกจากนี้ ในส่วนของกระแสการลงทุนอย่างยั่งยืนที่มีการเติบโตที่รวดเร็ว ทำให้มี Sustainable Funds เกิดขึ้นจำนวนมาก แต่ก็อาจเกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนว่า กองทุนเหล่านั้นช่วยส่งเสริมเรื่องสิ่งแวดล้อมและสังคมได้จริงหรือไม่ ภาวะฟอกเขียวหรือ Greenwashing อาจเกิดขึ้นได้หากเงินลงทุนเหล่านั้นไม่ได้ไปช่วยให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้อย่างแท้จริง
นักลงทุนจึงควรหมั่นศึกษาข้อมูลการลงทุน โดยทำความเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และแนวทางการลงทุนของกองทุนนั้นๆ ว่าเป็นอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกันระหว่างผู้ลงทุนและนโยบายการลงทุนของกองทุน นอกจากนี้ หน่วยงานต่างๆ ก็เริ่มเข้ามากำกับดูแลด้านนี้มากขึ้นเพื่อไม่ให้ผู้ลงทุนต้องเผชิญกับ Greenwashing โดยกำหนดให้กองทุนต่างๆ มีการเปิดเผยข้อมูลทางด้าน ESG ให้เป็นสาธารณะอย่างชัดเจนและตรวจสอบได้
นอกจาก Greenwashing ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว ในด้านของสังคมเองนั้นก็มีการคำนึงถึงด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการรณรงค์สิทธิสตรีและสิทธิของชุมชนความหลากหลายทางเพศ หรือที่เราคุ้นหูว่ากลุ่ม LGBTQIA+ มักจะเกิดสิ่งที่เรียกว่า ‘Pinkwashing’ หรือ ‘การฟอกชมพู’ ซึ่งมักเป็นการใช้คำพูดหรือโฆษณาใดๆ ให้ดูภาพลักษณ์ดี โดยสื่อว่าองค์กรหรือกิจการเหล่านั้นส่งเสริมสิทธิทางเพศ พร้อมกับสร้างกระแสของตลาดสินค้าและบริการประเภทต่างๆ ว่าเปิดรับคนทุกเพศหรือเป็นมิตรต่อคนทุกเพศ แต่ในทางกลับกัน หลักการในการส่งเสริมสิทธิสตรีและ LGBTQIA+ กลับไม่ถูกนำไปผลักดันผ่านทางกฎหมายภายในประเทศ รวมทั้งนโยบายและการปฏิบัติภายในองค์กรหรือที่ทำงานอย่างที่ควรจะเป็น
อย่างไรก็ตาม การฟอกความยั่งยืนไม่ได้จบเพียงแค่เรื่องของสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่านั้น ยังมีการฟอกที่แยบยลกว่านั้น นั่นก็คือ ‘Bluewashing’ หรือ ‘การฟอกน้ำเงิน’ ซึ่งเป็นการกระทำของธุรกิจที่อาศัยการเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนกับองค์การสหประชาชาติ (UN) ผ่านทาง UN Global Compact โดยสนับสนุนหุ้นส่วนการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงจากภาคประชาสังคม ภาคเอกชน องค์การระหว่างประเทศ และภาครัฐ เพื่อทำให้เห็นภาพลักษณ์ถึงความมุ่งมั่นที่จะร่วมขบวนเพื่อเคลื่อนไปสู่ความยั่งยืน โดยที่แนวปฏิบัติอาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แม้จะประทับโลโก้ความเป็นหุ้นส่วนกับ UN ก็ตาม
ดังนั้น หน้าที่ของผู้บริโภคอย่างเราคือควรศึกษาข้อมูลให้ดีก่อนลงทุนหรือใช้ผลิตภัณฑ์นั้นๆ เพื่อจะได้ไม่สร้างผลกระทบต่อโลกเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัว และหนึ่งสิ่งที่เราทุกคนสามารถทำได้ง่ายๆ ที่จะช่วยปลดเปลื้องการฟอกเขียว ก็คือการกล่าวถึงการฟอกเขียวของบริษัทที่หมกเม็ดเหล่านั้นให้เป็นวงกว้าง เพราะยิ่งมีคนขยี้มากเท่าไร การฟอกเขียวก็จะยิ่งลอกมากเท่านั้น
อ้างอิง:
- https://www.greenpeace.org/thailand/story/21162/golden-age-of-greenwash-th/
- https://www.abtmarkets.com/abt-blog/green-blue-pink-and-social-corporate-washing
- https://theconversation.com/the-rise-of-pride-marketing-and-the-curse-of-pink-washing-30925
- https://www.dw.com/en/blue-wash-instead-of-human-rights/a-15108305
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP