×

ภารกิจลดก๊าซเรือนกระจก หลายประเทศสอบตก ไทย-สิงคโปร์รั้งท้าย

29.09.2021
  • LOADING...
Greenhouse Gas

greenhouse gas

 

จากรายงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (IPCC) ฉบับล่าสุด คาดการณ์ว่า โลกมีแนวโน้มที่จะร้อนขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2040 ความพยายามเดิมที่เคยตั้งไว้ว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อาจไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 หรือ 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับก่อนยุคอุตสาหกรรม เป็นสัญญาณเตือนภัยสีแดง (Code Red) ที่บ่งชี้ว่ามนุษยชาติเหลือเวลาอีกไม่มากแล้วในการหันมาแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

 

ทุกประเทศในประชาคมโลกที่ให้สัตยาบันเป็นภาคี ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) จำเป็นจะต้องปรับแนวทางและนำเสนอแผน ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs) ต่อองค์การสหประชาชาติ เพื่อชี้แจงว่าแต่ละประเทศจะดำเนินมาตรการต่างๆ อย่างไร เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่ปัญหาภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

NewClimate Institute องค์กรที่สนับสนุนการวางแผนงานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงวิธีการนำแนวทางไปปฏิบัติ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองโคโลญจน์ ประเทศเยอรมนี ได้เฝ้าติดตามและประเมินผลงานของแต่ละประเทศ โดยพิจารณาจากแนวนโยบายและการลงมือปฏิบัติ รวมถึงเป้าหมายที่วางไว้ โดยรายงาน Climate Action Tracker (CAT) ฉบับอัปเดตล่าสุด เดือนกันยายน 2021 ที่ประเมินผลงานภาพรวมของ 36 ประเทศ และ 1 องค์การระหว่างประเทศ จากทุกทวีปทั่วโลก และจัดประเทศเหล่านั้นออกเป็น 5 กลุ่ม พบว่า

 

แกมเบียเป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับการประเมินผลงานภาพรวมอยู่ในกลุ่มที่มีแนวทางสอดคล้องกับความตกลงปารีส ที่พยายามจะควบคุมอุณหภูมิโลกให้สูงไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส (1.5°C Paris Agreement Compatible) ขณะที่คอสตาริกา เอธิโอเปีย เคนยา โมร็อกโก เนปาล ไนจีเรีย และสหราชอาณาจักร มีผลงานภาพรวมอยู่ในกลุ่มที่เกือบจะมีแนวทางและเป้าหมายเพียงพอ (Almost Sufficient) ในการขับเคลื่อนประเทศไปในทิศทางที่สอดคล้องกับความตกลงปารีส โดยประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่มีเพียงส่วนน้อยที่จะให้ความสำคัญกับประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง บ่อยครั้งที่ต้องการการสนับสนุนทางการเงิน เพื่อให้เกิดการเดินหน้าที่เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

 

ส่วนสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป เยอรมนี ญี่ปุ่น และอื่นๆ อีก 5 ประเทศ ได้รับการประเมินให้อยู่ในกลุ่มที่ยังไม่มีแนวทางและเป้าหมายเพียงพอ (Insufficient) ที่จะขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายใหญ่ของความตกลงปารีส ขณะที่จีน อินเดีย แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และเพื่อนบ้านในอาเซียนอย่างอินโดนีเซียและเวียดนาม รวมถึงประเทศอื่นๆ อีก 8 ประเทศ ได้รับการจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่ยังไม่มีแนวทางและเป้าหมายเพียงพออย่างมาก (Highly Insufficient) ในการที่จะบรรลุเป้าตามที่ได้วางไว้

 

ขณะที่ไทย ซึ่งเป็น 1 ใน 4 ประเทศ (ไนจีเรีย อิหร่าน และโคลอมเบีย) ที่ได้รับการประเมินและจัดกลุ่มใน CAT เป็นครั้งแรกในปีนี้ อยู่กลุ่มประเทศที่ผลงานภาพรวมไม่มีแนวทางและเป้าหมายเพียงพอขั้นวิกฤต (Critically Insufficient) ร่วมกับอิหร่าน รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย และสิงคโปร์ 

 

โดยรัฐบาลของประเทศเหล่านี้มีผลงานในด้านนี้ไม่ดีนัก หากรัฐบาลของประเทศเหล่านี้ปฏิบัติตามแนวนโยบายหรือแผนงานเดิมต่อไป อาจเพิ่มโอกาสให้อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงเกิน 4 องศาเซลเซียสได้ในที่สุด แม้ประเทศเหล่านี้ส่วนใหญ่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ แต่เป้าหมายดังกล่าวก็เป็นเป้าหมายที่ยังสะท้อนความกระตือรือร้นและทะเยอทะยานไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเร่งปรับแนวทางและเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สอดคล้องกับความตกลงปารีสและมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 

 

ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising