×

เมื่อโลกร้อนส่งผลแล้ว เปิดรายงานล่าสุดว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ผู้นำ UN ชี้เป็น ‘สัญญาณฉุกเฉิน’ สำหรับมนุษยชาติ

10.08.2021
  • LOADING...
Climate Change

คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change-IPCC) เผยแพร่รายงานการประเมินครั้งที่ 6 ว่าด้วยความเข้าใจเชิงกายภาพของระบบภูมิอากาศและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทว่า หัวใจสำคัญจากรายงานในครั้งนี้ อาจสรุปได้เพียงประโยคสั้นๆ ว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นมาจากอิทธิพลของมนุษย์

 

รายงานฉบับนี้บอกอะไรเรา THE STANDARD หยิบยกประเด็นสำคัญส่วนหนึ่ง และปฏิกิริยาที่เกิดจากรายงานฉบับนี้มาสรุปไว้ที่นี่

 

  • ในรายงานฉบับสรุปความยาว 42 หน้า IPCC ข้อสรุปใหญ่ข้อแรกที่ระบุไว้ในส่วนว่าด้วยสถานะปัจจุบันของภูมิอากาศว่า “เห็นได้ชัดว่าอิทธิพลของมนุษย์ทำให้บรรยากาศ มหาสมุทร และพื้นดินอุ่นขึ้น มีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางและรวดเร็วในชั้นบรรยากาศ มหาสมุทร น้ำแข็งบนโลก และชีวมณฑล”

 

  • รายงานกล่าวถึงรายละเอียดไว้หลายประการ อาทิ การเพิ่มขึ้นของความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจก (Well-mixed Greenhouse Gases) ตั้งแต่ปี 1750 ซึ่งเกิดขึ้นโดยกิจกรรมของมนุษย์, การที่อุณหภูมิพื้นผิวโลกในทศวรรษ 2011-2020 สูงกว่าในปี 1850-1900 แล้วราว 1.09 องศาเซลเซียส, การสูญเสียธารน้ำแข็งจากเหตุที่มีการละลายมากกว่าการสะสมตัวของน้ำตั้งแต่ทศวรรษ 1990 และการลดลงของพื้นที่ทะเลน้ำแข็งอาร์กติกระหว่างปี 1979-1988 และ 2010-2019 ซึ่งอิทธิพลของมนุษย์มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเรื่องนี้, ระดับน้ำทะเลเฉลี่ยทั่วโลกที่เพิ่มขึ้น ซึ่งอิทธิพลของมนุษย์มีแนวโน้มอย่างมากที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่อย่างน้อยในปี 1971 เป็นต้น

 

  • อีกหนึ่งเรื่องที่น่าสนใจในรายงานนี้คือประโยคที่ว่า ‘เกือบจะแน่นอน’ ว่าอุณหภูมิที่ร้อนจัด (รวมถึงคลื่นความร้อน) ได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นทั่วภูมิภาคที่เป็นผืนดินส่วนใหญ่มาตั้งแต่ปี 1950 ขณะที่อุณหภูมิที่เย็นจัดและคลื่นความเย็นเกิดขึ้นด้วยความถี่และความรุนแรงที่ลดลง และยังระบุด้วยความเชื่อมั่นในระดับสูงว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้

 

  • จากข้อมูลในรายงานพบว่า คลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นโดยเฉลี่ยเพียงหนึ่งครั้งในทุกๆ 50 ปีกำลังมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นราวหนึ่งครั้งต่อทศวรรษ พายุหมุนเขตร้อนกำลังมีความรุนแรงมากขึ้น แผ่นดินส่วนใหญ่มีฝนตกมากขึ้นในหนึ่งปี ขณะที่ความแห้งแล้งทางการเกษตรและระบบนิเวศซึ่งเกิดขึ้นเฉลี่ยหนึ่งครั้งในรอบ 10 ปีในภูมิภาคแห้งแล้ง ปัจจุบันก็มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นบ่อยเป็น 1.7 เท่า

 

  • เมื่อมองไปยังอนาคต จากการประเมินหลักฐาน อุณหภูมิพื้นผิวของโลกจะยังคงสูงขึ้นต่อไปจนกระทั่งอย่างน้อยกลางศตวรรษ ไม่ว่าฉากทัศน์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นแบบใด (ปล่อยมากหรือน้อย) ก็ตาม และหากไม่มีการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ อย่างเข้มข้นในหลายทศวรรษที่กำลังจะมาถึง โลกจะร้อนขึ้นเกินกว่า 1.5 และ 2 องศาเซลเซียสในระหว่างศตวรรษนี้เทียบกับช่วงปี 1850-1900

 

  • อย่างไรก็ตาม โลกนี้อาจจะยังพอมีทางเลือกที่จะยับยั้งความเลวร้ายของสถานการณ์ เพราะหากโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอยู่ในระดับต่ำมาก อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกก็มีแนวโน้มจะร้อนขึ้น 1.5 องศาฯ ภายในปี 2040 และเพิ่มขึ้นเป็น 1.6 องศา ภายในปี 2060 และเมื่อมุ่งสู่จุดสิ้นสุดศตวรรษที่ 21 ก็มีความเป็นไปได้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวจะลดลงมาอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 1.5 องศาฯ ได้

 

  • รายงานยังระบุว่า การเปลี่ยนแปลงจำนวนมากในระบบภูมิอากาศมีความสัมพันธ์โดยตรงกับภาวะโลกร้อนที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการเพิ่มขึ้นของความถี่และความรุนแรงของอุณหภูมิที่ร้อนจัด คลื่นความร้อนทางทะเล ฝนที่ตกหนัก ความแห้งแล้งทางการเกษตรและระบบนิเวศในบางภูมิภาค สัดส่วนของพายุหมุนเขตร้อนกำลังแรง ตลอดจนการลดลงของน้ำแข็ง ปริมาณของพื้นที่ที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะ และพื้นที่แผ่นดินที่เยือกแข็งถาวรในทะเลอาร์กติก

 

  • ภายใต้ฉากทัศน์ของ IPCC ที่แม้จะระบุแนวโน้มที่ดีที่สุด ก็ยังระบุว่าทะเลน้ำแข็งบนมหาสมุทรอาร์กติกจะหายไปทั้งหมดในเดือนกันยายน (ซึ่งเป็นช่วงฤดูร้อน) อย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนปี 2050

 

  • ในกรณีที่มีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้น สิ่งดูดซับคาร์บอนในมหาสมุทรหรือบนแผ่นดินถูกคาดการณ์ว่าจะมีประสิทธิภาพลดลงในการชะลอการสะสมของคาร์บอนไดออกไซด์ในบรรยากาศ นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงหลายอย่างอันเนื่องมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอดีตและในอนาคตนั้นเป็นสิ่งที่ ‘ไม่สามารถย้อนกลับได้’ ในเวลาหลายศตวรรษถึงนับพันปี โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในมหาสมุทร แผ่นน้ำแข็ง และระดับน้ำทะเลทั่วโลก ส่วนหนึ่งของรายงานนี้ระบุด้วยความเชื่อมั่นในระดับสูงว่า ในระยะยาวแล้ว ระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นเป็นเวลาหลายร้อยปีถึงพันปีจากอุณหภูมิมหาสมุทรที่สูงขึ้นและการละลายของแผ่นน้ำแข็ง และจะยังคงสูงอยู่เป็นเวลาหลายพันปี

 

  • และจากมุมมองทางวิทยาศาสตร์กายภาพ การจำกัดภาวะโลกร้อนที่เกิดจากมนุษย์ให้อยู่ในระดับที่เฉพาะเจาะจงนั้นจำเป็นต้องมีการจำกัดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สะสม ให้ถึงขั้นของการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์เป็นอย่างน้อย พร้อมกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ลงอย่างมาก และหากปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำหรือต่ำมากจะนำไปสู่ผลลัพธ์ซึ่งสังเกตได้ต่อความเข้มข้นของก๊าซเรือนกระจกและละอองลอย ตลอดจนคุณภาพอากาศด้วย

 

  • รายงานฉบับนี้ถูกเผยแพร่ก่อนการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 หรือ COP26 ซึ่งเป็นการประชุมใหญ่ด้านสภาพภูมิอากาศของสหประชาชาติ ที่จะจัดขึ้นในเมืองกลาสโกว์ของสกอตแลนด์เพียง 3 เดือน ซึ่ง Reuters ระบุว่าชาติต่างๆ อยู่ภายใต้แรงกดดันที่จะให้คำมั่นในการดำเนินการด้านสภาพอากาศที่มีความทะเยอทะยานมากขึ้น ตลอดจนจัดหาเงินทุนจำนวนมากเพื่อการดำเนินการดังกล่าว

 

  • นักวิทยาศาสตร์หลายรายระบุว่า การคาดการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ของสภาพอากาศที่สุดขั้วในรายงานดังกล่าวตอกย้ำถึงความสำคัญของการควบคุมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้อยู่ในระดับที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีส ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายที่จะคงการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไว้ให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ และยังใช้ความพยายามที่จะคงการเพิ่มขึ้นดังกล่าวให้ต่ำกว่า 1.5 องศาเซลเซียสด้วย

 

  • มีปฏิกิริยาจากหลายฝ่ายต่อรายงานฉบับนี้ อาทิ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติระบุว่า รายงานฉบับนี้ถือเป็นสัญญาณฉุกเฉิน หรือ Code Red สำหรับมนุษยชาติ “รายงานฉบับนี้จะต้องทำให้เกิดจุดสิ้นสุดของการใช้ถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิล ก่อนที่พวกมันจะทำลายดาวเคราะห์ของเรา” เขาระบุในแถลงการณ์ ขณะที่ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ระบุว่า “เรารอไม่ได้ที่จะจัดการกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ สัญญาณต่างๆ นั้นชัดเจน วิทยาศาสตร์เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ และต้นทุนของการอยู่เฉยๆ ก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ”

 

ภาพ: Joe Raedle / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising