×

ส.ก. ตั้งกระทู้ถามสดในที่ประชุมสภากทม. ถึงความคืบหน้าชำระหนี้ค่ารถไฟฟ้าสายสีเขียว หวั่นภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดย THE STANDARD TEAM
17.07.2025
  • LOADING...
สมาชิกสภากรุงเทพมหานครอภิปรายประเด็นหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว

วานนี้ (16 กรกฎาคม) การประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 3) พ.ศ. 2568 ที่ ห้องประชุมสภากรุงเทพมหานคร อาคารไอราวัตพัฒนา นภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร(ส.ก.) เขตบางกอกน้อย เสนอญัตติขอให้กรุงเทพมหานครรายงานความคืบหน้าการดำเนินการชำระหนี้ ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในส่วนที่ค้างชำระ

 

นภาพล กล่าวว่า จนถึงตอนนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงที่มีภาระหนี้ตั้งแต่ กทม. เข้ามาดำเนินการมีหนี้ที่ค้างชำระค่อนข้างมาก ถึงจะมีการจ่ายบางส่วนไปแล้ว ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า จะนำไปพิจารณาว่าการเร่งรัดจ่ายหนี้เพื่อลดภาระดอกเบี้ย 5.4 ล้านบาท/วัน จะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะต้องดำเนินการด้วยความรอบคอบ เบื้องต้นจะทยอยจ่ายทีละงวด

 

นภาพล ชี้แจงว่า หนี้ของเรานั้น ก้อนแรกที่เราชำระไปแล้วตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด จำนวน 14,476,884,201.60 บาท ต่อมาหนี้ก้อนที่ 2 ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ที่ยังไม่ชำระถูกศาลสั่งฟ้องอยู่ตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2564 – ตุลาคม 2565 ขณะนี้ต้องชำระเงินต้น 10,127 ล้านบาท ดอกเบี้ย 8% รวมต้องชำระ 12,345 ล้านบาท 

 

ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 (พฤศจิกายน 2565 – ธันวาคม 2567) ที่ถึงกำหนดแล้วแต่ยังไม่ได้ฟ้อง มีหนี้ค้างชำระอยู่ 14,235 ล้านบาท รวมดอกเบี้ย 15,499 ล้านบาท และหนี้ในอนาคตจากประมาณการค่าจ้าง 6,248 ล้านบาท หากไม่ชำระตามสัญญาจะต้องเสียดอกเบี้ย 8% เช่นกัน ส่วนภาระดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนมกราคม 2568 จนถึงปัจจุบัน รวมทั้งหมด 1,066,515,222 บาท หากเรายังไม่ชำระหนี้นั้นดอกเบี้ยจะทวีคูณขึ้นไปอีก 

 

นภาพล กล่าวว่า ประเด็นยอดหนี้ดอกเบี้ยศาลปกครองสูงสุด พิพากษาว่าเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ถูกฟ้องที่ 2 ไม่ชำระหนี้ ผู้ถูกฟ้องที่ 2 ตกเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้แล้วโดยมิพักต้องเตือน ดังนั้นการคำนวณดอกเบี้ยจึงเริ่มคำนวณถัดจากวันที่ 20 ของเดือน ถัดไป ผู้ฟ้องมีสิทธิที่จะคิดดอกเบี้ยนับแต่วันที่กำหนดในสัญญาเงื่อนไขในการขอพิจารณาคดีใหม่ตามกฎหมายปกครอง ซึ่งเป็นดุลยพินิจของศาลที่จะรับหรือไม่รับคำร้อง 

 

ส่วนเงื่อนไขการจะขอพิจารณาคดีใหม่ได้นั้น ต้องมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญซึ่งอาจทำให้ผลของคำพิพากษาเปลี่ยนไป เช่น มีเอกสารหลักฐานใหม่ที่เป็นสาระสำคัญ ซึ่งไม่สามารถนำมาแสดงต่อศาลได้ในครั้งแรก หรือมีข้อผิดพลาดในการพิจารณาคดี หรือมีการทุจริตในการพิจารณาคดีของศาล ศาลจะพิจารณาคำร้องขอพิจารณาคดีใหม่โดยละเอียด หากเห็นว่ามีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีข้อเท็จจริงใหม่ที่สำคัญ ศาลอาจมีคำสั่งให้รับคดีขึ้น พิจารณาคดีใหม่ได้ แต่หากเห็นว่าไม่มีเหตุผลเพียงพอ ศาลก็จะยกคำร้อง

 

นภาพล กล่าวว่า คำถามคือหนี้ที่เกิดขึ้นจากสัญญาทั้งสองฉบับที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าชอบด้วยกฎหมาย ประกอบกับทาง กทม. ได้ชำระหนี้ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด และได้นำค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ 1 มาชำระค่า O&M หลังจาก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐแล้ว แสดงว่า กทม. ยอมรับว่าสัญญาที่มีอยู่ชอบด้วยกฎหมาย แต่หากเห็นว่าไม่ถูกต้องก็ไม่สามารถจ่ายได้ เหตุใดทาง กทม. จึงไม่เสนอของบประมาณเพื่อชำระหนี้ในส่วนต่อขยายที่ 1 ทั้งหมด

 

ส่วนหนี้ค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงส่วนต่อขยายที่ 2 กทม. ชำระหนี้ให้ BTS ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ก็จะเห็นได้ชัดว่า กทม. รับว่าสัญญาดังกล่าวชอบด้วยกฎหมายเช่นกัน อีกทั้งส่วนต่อขยายที่ 2 ก็ไม่มีปัญหาเรื่องการถูกป.ป.ช. ชี้มูลแต่อย่างใด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ออกประกาศเรื่องการกำหนดค่าโดยสาร ส่วนต่อขยายที่ 2 โดยกำหนดในอัตราคงที่ 15 บาท ตลอดสาย ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2567 ทำให้มีรายได้จากการจัดเก็บค่าโดยสารที่ผู้รับจ้าง (BTS) ส่งให้กรุงเทพมหานครประมาณเดือนละ 100 ล้านถึงปัจจุบันประมาณ 1,800 ล้านบาท เงินค่าโดยสารที่เก็บได้มีเหตุผลใดไม่นำมาชำระค่าจ้างเดินรถและค่าซ่อมบำรุงจะได้ลดภาระดอกเบี้ย

 

ในเรื่องการแก้ไขปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียว นายนภาพล กล่าวว่า ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครต้องคิดให้ดีว่าหากสู้จนแพ้คดีอีกครั้ง ซึ่งไม่แน่ว่าจะจบในปีนี้หรือไม่ และต่อไปอาจจะมีคดีใหม่เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ดอกเบี้ยวันละ 4.5 ล้านบาท กับดอกเบี้ยที่เกิดในปัจจุบัน ในอนาคตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  หากปล่อยไว้เช่นนี้ กทม. เสียหาย

 

ด้านสุทธิชัย วีรกุลสุนทร ส.ก. เขตจอมทอง กล่าวว่า  สัญญาที่ กทม. จ้างบริษัทบีทีเอสเดินรถ เงินค่าโดยสารที่ได้มาสามารถนำไปใช้ในกิจการเดินรถเท่านั้น และหากการจัดเก็บค่าโดยสารไม่พอ ต้องตั้งงบประมาณมาจ่ายให้ครบ ขณะนี้ปัญหาคือจัดเก็บค่าโดยสารไม่พอและไม่ได้ขอจัดสรรงบประมาณมาให้ครบ ทำให้ภาระหนี้เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 

 

“น่าเป็นห่วงว่ากทม.ได้จ่ายค่าจ้างเดินรถให้BTSหรือยัง ถ้าBTSขาดสภาพคล่อง ไม่มีงบในการเดินรถ จะทำอย่างไร ประกอบกับดอกเบี้ยที่ยังคงเดินอยู่ทุกวันนี้เป็นจำนวนที่สูงน่ากลัวมาก จึงขอให้ฝ่ายบริหารเร่งดำเนินการ”สุทธิชัย กล่าว

 

ด้านชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ชี้แจงว่าไม่ได้ละเลย ที่ผ่านมาเราชำระหนี้ไป 38,000 ล้านบาทแล้ว ต้องย้ำว่าเหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนที่พวกเราเข้ามา ดังนั้นการไม่จ่ายเงินเลยต่อเนื่องมา ส่วนข้อมูลที่มีการอภิปรายมาก็ขอให้บันทึกในรายงานการประชุมเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการพิจารณาในอนาคต และต่อไปก็ต้องมีคนเข้ามาสอบสวนละเอียด 

 

เบื้องต้นเข้าใจว่าได้มีการชำระไปแล้ว 2 ส่วน เราพยายามลดหนี้ แต่ก็ต้องระวังเพราะยังมีคดีอยู่ในศาล อาจจะถูกอ้างได้ว่าสัญญามีผล ส่วนสัญญาจะเป็นโมฆะหรือไม่ เราไม่มีอำนาจตัดสิน เพราะหลายเรื่องมีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง ที่ผ่านมาเราไปเจรจาก่อนและเร่งจ่ายเงินซึ่งเราก็ทำ เราไม่ได้หยุดนิ่งมีการทำหนังสือหลายๆ หน่วยงาน ยืนยันว่าไม่ได้นิ่งเฉยแต่จะต้องทำทุกอย่างให้รอบคอบ

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising