×

จับตากระแส Green Finance กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์การเงินโลก เมื่อแบงก์ยักษ์ 450 แห่ง พร้อมทุ่มเงินเพื่อบรรลุเป้า Net Zero ในปี 2050

06.11.2021
  • LOADING...
Green Finance

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • สถาบันการเงินใหญ่กว่า 450 แห่งทั่วโลก ภายใต้ชื่อกลุ่ม GFANZ ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ประกาศจุดยืนพร้อมช่วยให้โลกบรรลุเป้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ ‘Net Zero’ ภายในปี 2050
  • สมาชิกของ GFANZ ต้องกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวในการลดการปล่อยคาร์บอนในสัดส่วนที่เป็นธรรม และต้องเร่งลดการสนับสนุนทางการเงินให้กับโครงการที่ใช้พลังงานฟอสซิลภายในปี 2030
  • กระแส Green Finance ที่รุนแรงขึ้นทั่วโลก เนื่องจากสถาบันการเงินจะมีแรงกดดันจากเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเชื่อว่าผลิตภัณฑ์การเงินที่อิงกับการอนุรักษ์ เช่น สินเชื่อสีเขียวหรือหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมออกสู่ตลาดในวงกว้างขึ้น

ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 26 หรือ UN Climate Change Conference of the Parties (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เกิดปรากฏการณ์ใหญ่ในแวดวงการเงิน เมื่อสถาบันการเงินยักษ์ใหญ่กว่า 450 แห่ง ซึ่งประกอบด้วย ธนาคาร กองทุน บริษัทประกัน และหน่วยงานกำกับจากหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งมีสินทรัพย์รวมกันมากกว่า 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ได้ร่วมกันให้คำมั่นสัญญาที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและช่วยให้โลกบรรลุเป้าในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ หรือ ‘Net Zero’ ภายในปี 2050

 

โดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ซึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อ Glasgow Finance Alliance for Net Zero (GFANZ) ได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะผนวกเอาแผนงานต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก เข้ามาเป็นหัวใจของการดำเนินธุรกิจของตนเองควบคู่ไปกับการหาแนวร่วมมาร่วมสนับสนุนผลักดันแนวทางการลงทุนในธุรกิจที่มีเป้าหมายรักษาสิ่งแวดล้อม

 

ก่อนหน้านี้ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายได้ประเมินเอาไว้ว่า การที่โลกจะบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์และควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส อาจต้องใช้เม็ดเงินจากภาคเอกชนสูงถึง 100 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วง 30 ปีนับจากนี้ หรือเฉลี่ย 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี เพื่อลงทุนด้านพลังงานสะอาด

 

ดังนั้นการที่สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ที่มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 130 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ แสดงจุดยืนที่จะเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมเป้าหมายนี้ควบคู่ไปกับการพยายามผลักดันผ่านการใช้งบประมาณและการกำหนดนโยบายของภาครัฐ ย่อมสะท้อนถึงภูมิทัศน์การเงินโลกที่จะกำลังเปลี่ยนไปนับจากนี้

 

COP26

 

“โครงสร้างของระบบการเงินโลกจะถูกเปลี่ยนเพื่อให้โลกบรรลุเป้าหมาย Net Zero เราพร้อมที่จะนำเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาเป็นปัจจัยในทุกการตัดสินใจทางการเงินและธุรกิจ” มาร์ก คาร์นีย์ ผู้แทนพิเศษองค์การสหประชาชาติด้านปัญหาสภาพภูมิอากาศ ผู้จัดตั้งกลุ่ม GFANZ ระบุในการประชุม

 

ภายใต้ข้อตกลงดังกล่าว สถาบันการเงินซึ่งเป็นสมาชิกของ GFANZ จะต้องยอมรับเงื่อนไขที่เรียกว่า ‘Race to Zero Criteria’ หรือไกด์ไลน์ที่จะนำไปสู่ Net Zero ในปี 2050 ซึ่งอ้างอิงหลักทางวิทยาศาสตร์ และจะต้องกำหนดเป้าหมายระยะสั้นและระยะยาวในการลดการปล่อยคาร์บอนในสัดส่วนที่เป็นธรรม โดยสมาชิกยังต้องเร่งลดการส่งเสริมธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานฟอสซิลภายในปี 2030 อีกด้วย

 

ก่อนการประชุม COP26 สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่ในวอลล์สตรีทอย่าง JPMorgan และ Goldman Sachs ไม่ได้แสดงความสนใจจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ GFANZ แต่คาร์นีย์ ซึ่งเป็นอดีตผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดา และเป็นที่ยอมรับอย่างสูงทั้งจากภาครัฐและเอกชน ก็สามารถโน้มน้าวใจสถาบันการเงินขนาดใหญ่เหล่านี้ได้ในที่สุด

 

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายยังมองว่าการลงนามภายใต้ข้อตกลงของ GFANZ ยังถือเป็นเพียงจุดเริ่มต้นและสถาบันการเงินบางส่วนอาจต้องการใช้การเข้าร่วม GFANZ ในการฟอกเขียวตัวเองเท่านั้น

 

เบคกี้ จาร์วิส นักกลยุทธ์ด้านการธนาคารของ The Bank on our Future Campaign Network ระบุว่า ปัจจุบันสถาบันการเงินที่เข้าร่วม GFANZ ยังมีการส่งเสริมเป้าหมายรักษาสิ่งแวดล้อมและ Net Zero ในสัดส่วนเพียงแค่ 35% ของสินทรัพย์ทั้งหมดเท่านั้น ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินหลายแห่งก็ยังมีแผนสนับสนุนทางการเงินแก่ธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิลเพิ่มขึ้น ซึ่งร่วมถึง Brookfield บริษัทจัดการสินทรัพย์ที่คาร์นีย์เป็นรองประธานอยู่เองด้วย

 

นอกจากนี้ยังมีคำถามในแง่ที่ว่า หากสถาบันการเงินปล่อยเงินกู้ให้กับบริษัทแล้วบริษัทเกิดล้มเหลวไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายความยั่งยืนจะเกิดอะไรขึ้น และการปล่อยกู้ดังกล่าวจะถูกนับรวมเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายเงินทุนสนับสนุนของกลุ่ม GFANZ หรือไม่

 

มาร์ก คัมปาเนล ผู้ก่อตั้ง Carbon Tracker Initiative ซึ่งเป็นหนึ่งในที่ปรึกษาของ GFANZ ระบุว่า แม้ว่าสินทรัพย์ทั้งหมดของสมาชิก GFANZ ในปัจจุบันจะยังไม่เชื่อมโยงกับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ และการควบคุมอุณหภูมิโลกทั้งหมดและ GFANZ ยังถูกวิจารณ์โดยกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมว่ายังปล่อยให้สมาชิกให้การสนับสนุนทางการเงินแก่โครงการพลังงานฟอสซิลอยู่ แต่ความทะเยอทะยานของกลุ่มคือการเชื่อมโยงทั้งหมดเข้าด้วยกันและเอาปัจจัยเรื่องสิ่งแวดล้อมเข้ามาประกอบการตัดสินใจทางธุรกิจในอนาคต

 

“ในอนาคตสถาบันการเงินที่ยังเกี่ยวข้องกับการปล่อยกู้ให้โครงการพลังงานฟอสซิลใหม่จะไม่สามารถบอกว่าตัวเองอยู่ในเส้นทางสู่ Net Zero ได้” คัมปาเนลกล่าว

 

ริชาร์ด บรู๊ค ผู้อำนวยการของ Stand.Earth กล่าวว่า ถ้าสถาบันการเงินยังไม่หยุดให้เงินทุนกับธุรกิจถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ การควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้เพิ่มขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเชียส จะเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ โดยในเดือนที่ผ่านมา The Financial Times ได้เปิดโปงว่าได้มีสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของ GFANZ เลือกที่จะไม่ปฏิบัติตามโรดแมปของ International Energy Agency ที่ต้องการให้สถาบันการเงินลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหยุดสนับสนุนเงินทุนให้โครงการสำรวจถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซใหม่ในปีนี้

 

COP26

 

JPMorgan หนึ่งในยักษ์ใหญ่ทางการเงินที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกของ GFANZ ในเดือนที่ผ่านมา จะมีเวลาอีกราว 18 เดือน ในการกำหนดแผนลดการสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง โดยหลายฝ่ายคาดหวังให้ เจมี ไดมอน ผู้บริหารใหญ่ของ JPMorgan ประกาศถอนการสนับสนุนเงินทุนให้กับธุรกิจถ่านหินภายในปี 2030 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปีเดียวกัน

 

ล่าสุดทางกลุ่ม GFANZ ได้แต่งตั้งให้ ไมเคิล บลูมเบิร์ก อดีตผู้ว่าการรัฐนิวยอร์ก ขึ้นเป็นประธานกลุ่มร่วมกับ มาร์ก คาร์นีย์ และให้ แมรี ชาร์ปิโร อดีตประธานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ นั่งเป็นรองประธาน โดยกลุ่ม GFANZ จะมีการรายงานความคืบหน้าของการดำเนินการของสมาชิกให้คณะกรรมการด้านความมั่นคงทางการเงินของกลุ่ม G20 ทราบเป็นระยะ

 

การร่วมมือของสถาบันการเงินใหญ่ของโลกจำนวนมากในด้านสิ่งแวดล้อมครั้งนี้ น่าจะสะท้อนชัดเจนว่าเรื่อง Green Finance ที่เป็นกระแสในโลกมาระยะหนึ่งแล้วจะทวีความรุนแรงมากขึ้น การสนับสนุนทางการเงินในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานหมุนเวียน ยานยนต์ไฟฟ้า และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจะมีเพิ่มขึ้น สวนทางกับธุรกิจที่ใช้พลังงานฟอสซิล ที่จะพบความยากลำบากในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนสำหรับการเปิดโครงการใหม่ๆ

 

แรงกดดันที่สถาบันการเงินต่างๆ จะต้องบรรลุเป้าหมายเรื่อง Net Zero จะทำให้มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินสีเขียว เช่น สินเชื่อสีเขียวอัตราดอกเบี้ยพิเศษหรือหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมออกสู่ตลาดในวงกว้างขึ้น ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องเร่งปรับตัวและโมเดลธุรกิจให้สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ใหม่ๆ ที่เชื่อมโยงกับการอนุรักษ์โลกที่คาดว่าจะมีความชัดเจนมากขึ้นออกมาในอีกไม่นาน

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X