×

ย้อนประวัติศาสตร์ 200 ปี เชื่อมสัมพันธ์ไทย สหรัฐฯ กับนิทรรศการ Great and Good Friends ที่หาชมได้ยาก

27.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • นิทรรศการ ‘ของขวัญแห่งมิตรภาพ’ หรือ ‘Great and Good Friends’ เป็นการฉลองครบรอบ 200 ปีของความสัมพันธ์ระหว่างอาณาจักรไทยและสหรัฐอเมริกา ที่มีการเชื่อมสัมพันธ์ผ่านการแลกเปลี่ยนของขวัญไมตรีแก่กันตั้งแต่สมัยก่อน โดยเราจะได้ชมของขวัญแห่งมิตรภาพในประวัติศาสตร์ทั้ง 79 ชุดที่หาดูได้ยากจากทั้งสองประเทศ ตั้งแต่จดหมายฉบับแรกที่สองประเทศจรดปากกาถึงกัน

นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ หรือ Great and Good Friends จัดขึ้นที่พิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในเขตพระบรมมหาราชวัง เป็นการจัดแสดงของขวัญที่พระมหากษัตริย์ไทยพระราชทานแก่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแด่พระมหากษัตริย์ไทยมาตลอด 200 ปี โดยนำมาจัดแสดงให้ได้ชมเพื่อรับรู้ถึงความสัมพันธ์ที่มีมาอย่างยาวนานของทั้ง 2 ประเทศ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ ศตวรรษแรก และศตวรรษที่ 2 ของความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ

 

สมุดจิ๋วเกี่ยวกับนิทรรศการบริเวณทางเข้า

 

จดหมายฉบับแรก

เมื่อเดินเข้ามาในส่วนนิทรรศการ สิ่งแรกที่เห็นคือจดหมายฉบับแรกที่ทั้ง 2 ประเทศร่างเพื่อติดต่อหากันเมื่อปีครั้งปี พ.ศ. 2361 ซึ่งถูกค้นพบเมื่อไม่นานมานี้เอง โดยจดหมายฉบับนี้ถูกเก็บรักษาไว้ในหอสมุดรัฐสภาสหรัฐอเมริกา  

 

จดหมายเขียนเป็นภาษาโปรตุเกส จาก ดิศ บุนนาค

ถึงประธานาธิบดีเจมส์ มอนโร เมื่อปี พ.ศ. ๒๓๖๑

 

หลังการติดต่อกันระหว่างสองประเทศ จึงเกิดการทำสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์ แม้สนธิสัญญาที่นิทรรศการจะถูกแบ่งเป็น 3 ส่วนเพื่อจัดแสดง แต่ของจริงจะติดกันเป็นแผ่นยาวขนาด 3 เมตรครึ่ง เขียนด้วยภาษาถึง 4 ภาษา คือ ไทย อังกฤษ จีน และโปรตุเกส ทำให้ไทยเป็นชาติแรกในทวีปเอเชียที่สหรัฐอเมริกาทำสนธิสัญญาด้วย ซึ่งการเขียนด้วยกันถึง 4 ภาษานี้ THE STANDARD ถาม เทรเวอร์ เมอร์เรียน (Trevor Merrion) นักโบราณคดีและหนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้ถึงเหตุผลของการใช้ถึง 4 ภาษาด้วยกัน ซึ่งเขาเผยว่าอาจเป็นไปได้ว่ามีการแปลจดหมายภาษาไทยเป็นโปรตุเกส จากนั้นจึงแปลโปรตุเกสเป็นจีน แล้วจีนเป็นภาษาอังกฤษในท้ายที่สุด แสดงถึงเจตนารมณ์และความตั้งใจในการติดต่อสื่อสารหากันของทั้งสองชาติ

 

ภาพศาลานิทรรศการสยาม ในงาน World’s Columbian Exposition

เมืองชิคาโก้ รัฐอิลลินอยส์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๖

 

นอกจากการติดต่อและทำสนธิสัญญา ประเทศไทยหรือสยามในเวลานั้นก็มีการแลกเปลี่ยนของขวัญแห่งไมตรีที่มีเอกลักษณ์และความงามแบบสมัยก่อนให้แก่ประเทศสหรัฐฯ เพื่อสร้างสัมพันธ์ทางการทูต รวมถึงการเข้าร่วมเวิลด์แฟร์ ณ ประเทศสหรัฐฯ หลายครั้ง เพื่อเผยแพร่วัฒนธรรมสยามให้เป็นที่รู้จักแก่สายตาชาวโลก ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศพัฒนาขึ้น

 

รูปฉลองพระองค์ครุย เป็นเสื้อคลุมปักทองที่มอบให้แก่ผู้ที่มีตำแหน่งสำคัญในต่างประเทศ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการทูต

 

เสื่อจันทบูรรูปสุนัข

ของขวัญล้ำค่าทางประวัติศาสตร์แต่ละชิ้นถูกเก็บไว้ในสถาบันสมิธโซเนียนของอเมริกา และได้รับการอนุรักษ์ดูแลอย่างดี เพื่อคงสภาพของแต่ละชิ้นให้มีอายุได้นานแม้จะเป็นของเก่ามีอายุมาก อาทิ เสื่อจันทบูรทอรูปสุนัขที่ทอขึ้นในปีจอนั้นมีความเปราะบางตามกาลเวลา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของสถาบันต้องใช้เวลาหลายเดือนเพื่อทำให้เสื่อผืนนี้กลับมามีสภาพเดิมได้มากที่สุด ในนิทรรศการยังมีวิดีโอให้ชมขั้นตอนการดูแลเสื่อผืนนี้ด้วย

 

(บน) เสื่อ ‘จันทบูร’ ทอรูปสุนัข ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แก่สถาบันสมิธโซเนียน เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๔๗,

(ล่าง) ขันถมเงิน ของขวัญพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

แก่ประธานาธิบดีเฮอร์เบิร์ต ฮูเวอร์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๗๔

 

นิทรรศการห้องแรกจัดแสดงของขวัญแลกเปลี่ยนในช่วง 100 ปีแรก ซึ่งเราจะได้เห็นความแตกต่างระหว่างทั้งสองห้องผ่านสิ่งของที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและวัฒนธรรม โดยของบางชิ้นอาจไม่ใช่เพียงเพื่อเจริญความสัมพันธ์เท่านั้น แต่เป็นเครื่องหมายยุติสงครามด้วย

 

จดหมายจาก อับราฮัม ลินคอล์น ที่ปฏิเสธการรับช้างจากกษัตริย์ไทย

และกล่องบุหรี่ ของขวัญแห่งสันติภาพ ที่รัฐบาลไทยแอบมอบให้แก่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เพื่อแสดงเจตจำนงไม่ต้องการก่อสงครามตามที่โดนบีบบังคับ

 

“นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันลึกซึ้งและยาวนาน ระหว่างประชาชนชาวอเมริกันและประชาชนชาวไทย โดยประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในเพื่อนคนแรกๆ ของสหรัฐอเมริกาในยุคต้นๆ และของขวัญเหล่านี้ช่วยยึดเหนี่ยวมิตรภาพของเราได้อย่างไรตลอดสิบชั่วอายุคน” กลิน เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยกล่าวถึงนิทรรศการ

 

นอกเหนือจากสิ่งของแสดงไมตรีจิต ก็มีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกที่เสด็จพระราชดำเนินเยือนสหรัฐอเมริกา ทำให้หนังสือพิมพ์หลายฉบับ รวมถึงนิตยสารไทม์ ตีพิมพ์ข่าวการเสด็จพระราชดำเนินเยือนของพระองค์ ทำให้สยามประเทศเป็นที่รู้จักแก่สหรัฐอเมริกา

 

(บน) นิตยสารไทม์ ฉบับที่ ๑๖ เมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๔,

(ล่าง) ดาบญี่ปุ่นประทับตราอินทรีที่ทำขึ้นในไทย

 

รวมถึงดาบญี่ปุ่นที่มอบให้กับอเมริกาที่เข้าใจกันว่าทำในญี่ปุ่น แต่ผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่นเผยว่ามีส่วนผสมของนิกเกิลซึ่งคาดการณ์ว่าทำขึ้นในอาณาจักรไทย ทั้งยังมีตรานกอินทรีประทับอยู่ที่ด้ามดาบ ตลอดจนภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่ว่ากันว่านายทาวน์ เซนต์ ทูตสหรัฐขณะนั้นได้มาเป็นเครื่องบรรณาการ ทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงโปรดปรานเรื่องราวของชาติอเมริกามากในขณะนั้น ซึ่งภาพดังกล่าวคาดว่าเป็นฝีมือการวาดโดยศิลปินที่มีชื่อเสียงอย่าง เรมบรันต์ พีล (Rembrandt Peale)

 

(บน) ภาพเหมือนประธานาธิบดีจอร์จ วอชิงตัน ที่ประธานาธิบดีแฟรงกลิน เพียร์ซ ทูลเกล้าฯ ถวายแด่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๙,

(ล่าง) ลีโอเนียล แฮมป์ตัน (Lionel Hampton) หัวหน้าวงแจ๊ซกล่าวถึงในหลวงรัชกาลที่ ๙ แห่งราชอาณาจักรไทย

 

ซึ่งวิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ (William Bradford Smith) ของหนึ่งในภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้บอกกับเราว่า ตลอดเวลา 2 ศตรรษที่ผ่านมา ของขวัญพระราชทานมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยของขวัญบรรณาการจากช่วง ค.ศ. 1856-1876) จำพวกเครื่องถมทองนั้น บอกเล่าเรื่องราวถึงฐานานุศักดิ์ของคนในวังหลวง ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ได้มีสถาบันกษัตริย์ ดังนั้นจึงได้รับพระราชทานของขวัญสำหรับขุนนางชั้นสูงแทน แทนที่ของขวัญสำหรับราชวงศ์ดังเช่นที่มอบให้กับทางราชวงศ์อังกฤษ นั่นเป็นที่มาของเครื่องถมทองแต่ละชิ้น ซึ่งแต่ละอย่างมีการใช้งานต่างๆ กัน นอกจากนั้นหากลองสังเกตลายบนสิ่งของที่จัดแสดง เราจะเห็นลวดลายสัตว์ต่างๆ บนของขวัญมากมาย ซึ่งภัณฑารักษ์บอกกับเราว่าโดยมากขึ้นกับปีนักษัตรที่กษัตริย์ไทยโปรดเกล้าฯ ถวายให้กับอเมริกานั่นเอง

 

เทรเวอร์ เมอร์เรียน และวิลเลียม แบรดฟอร์ด สมิธ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการนี้

 

นิทรรศการห้องที่ 2 จัดแบ่งถึงอีกศตวรรษของพัฒนาการความสัมพันธ์ของไทยและสหรัฐฯ โดยสังเกตได้ถึงวิวัฒนาการของทั้งสองประเทศควบคู่กันไปด้วย อาทิ ของขวัญที่เริ่มมีการใช้วัสดุใหม่ๆ เข้ามาผลิต เช่น เครื่องถมทอง หรือเครื่องทองเหลืองต่างๆ นอกจากนั้นยังรวมถึงเรื่องราวของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่เสด็จเยือนนครนิวยอร์กในปี พ.ศ. 2503

 

เครื่องถมทองในยุคสมัยใหม่

 

นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ ‘Great and Good Friends’ สะท้อนให้เห็นเอกลักษณ์ วัฒนธรรม และความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศตั้งแต่กาลก่อนจวบปัจจุบัน เราจะได้ชมเรื่องราวจากอดีตผ่านสิ่งของล้ำค่าทางประวัติศาสตร์ที่หาโอกาสชมได้ยากถึง 79 ชิ้น นิทรรศการนี้จึงเป็นอีกเรื่องราวที่มีคุณค่าแก่การจดจำ เพื่อให้ผู้ที่มาชมได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีการผูกสัมพันธ์กันมายาวนาน

 

 

ชมนิทรรศการเสมือนจริงได้ผ่านกูเกิล

บริเวณทางเข้านิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพยังมีแว่นตาชมนิทรรศการเสมือนจริงจากกูเกิลให้ได้แวะชม ซึ่งหากใครไม่อยากหอบร่างมาถึงบริเวณพระบรมมหาราชวัง ยังสามารถดาวน์โหลดฟีเจอร์ใหม่แกะกล่องล่าสุดของกูเกิลอย่าง Google Arts & Culture ผ่านทางแอปสโตร์และกูเกิลเพลย์มาเปิดชมนิทรรศการประวัติศาสตร์นี้กันได้อีกด้วย

 

Photos: วรรษมน ไตรยศักดา, Courtesy of United States Embassy

FYI
  • ชื่อนิทรรศการ ‘Great and Good Friends’ มาจากคำเกริ่นหัวจดหมายฉบับหนึ่งจาก อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกาส่งถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพื่ออธิบายถึงเหตุผลที่อเมริกาปฏิเสธการรับช้างไทยเป็นของขวัญพิเศษจากพระองค์
  • นิทรรศการของขวัญแห่งมิตรภาพ (Great and Good Friends) เปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวันที่พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 21 มีนาคม-30 มิถุนายน 2561 ตั้งแต่เวลา 9.00-16.30 น.
  • อัตราค่าเข้าชมสำหรับผู้ใหญ่ 150 บาท และนักเรียน นิสิตนักศึกษาที่แสดงบัตร 50 บาท เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปีเข้าชมฟรี โดยจำหน่ายบัตรถึงเวลา 15.30 น.
  • ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ทางเว็บไซต์ www.greatandgoodfriends.com
  • แผนที่ 

 

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising