หลังจบเกมที่อาร์เซนอลถอนแค้นเบรนท์ฟอร์ดได้ที่สนามจีเทคคอมมิวนิตี้สเตเดียม ในเกมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกนัดที่ผ่านมา หนึ่งในนักเตะกันเนอร์สที่ใช้เวลาเนิ่นนานที่สุดในการขอบคุณแฟนบอลกูนเนอร์สคือ กรานิต ชากา
กรานิต ชากา คนเดียวกับที่เคยแทบจะไม่เผาผีกับแฟนบอลมาแล้วเมื่อเกือบ 3 ปีก่อน (อ่านเรื่องเก่าได้นะครับที่ ‘เมื่อนักฟุตบอลตกเป็นเหยื่อการ Bully’) วันนี้เขากลายมาเป็นนักเตะขวัญใจแฟนๆ อีกครั้ง
เรื่องนี้ให้สารภาพกันตรงๆ ผมเองขนาดทำงานมายาวนานพอสมควรเกือบ 20 ปี (จนน้องๆ บอกว่า “ผมอ่านผลงานพี่มาตั้งแต่เด็ก!”) ก็ไม่ได้คาดได้คิดว่ากองกลางชาวสวิสจะกลับมาจากจุดนั้นได้
ว่ากันตามตรง ชากาก็เคยเกือบจะย้ายออกจากอาร์เซนอลอยู่แล้วครับ ในช่วงหลังจากเหตุการณ์ความวุ่นวายในเกมพรีเมียร์ลีกนัดที่อาร์เซนอลเสมอกับคริสตัล พาเลซ 2-2 ซึ่งเจ้าตัวเกิดบันดาลโทสะโต้ตอบแฟนบอลที่ผิดหวังผลงานและตะโกนด่าด้วยการแสดงท่าทียียวน สบถด่า ขว้างเสื้อทิ้ง และเดินกลับเข้าห้องแต่งตัวทันที
เหตุการณ์หลังจากนั้นคือ การที่เจ้าตัวถอดใจคิดจะย้ายออกจากทีมแล้ว ตามถ้อยคำของเจ้าตัวที่เล่าผ่าน The Player’s Tribune
ชากาเล่าแบบนี้ครับ “ผมเก็บกระเป๋าแล้ว พาสปอร์ตก็พร้อมแล้ว ผมพอแล้วกับอาร์เซนอล ตอนนั้นมีข้อเสนอเข้ามา แล้วสิ่งที่เหลือคือแค่ผมเซ็นเอกสารเท่านั้น ผมคุยกับลีโอนิตา ภรรยา และเราก็ตัดสินใจว่าเราจะไป”
กัปตันทีมอาร์เซนอลในเวลานั้นบอกว่า ถึงตอนนี้เขายังหลับตาและจำภาพแฟนบอลที่ด่าทอเขาจากบนอัฒจันทร์ได้
“มันไม่ใช่ว่าพวกเขาไม่ชอบผม” ชากาบอก “มันต่างออกไปเลย มันคือความเกลียดชัง ความเกลียดชังที่แท้จริง”
สำหรับคนที่ยอมรับว่าตัวเองเป็นพวกจิตใจอ่อนไหวอย่างชากา เรื่องนี้จึงเกินกว่าที่เขาจะรับมือได้
อย่างไรก็ดี วันเวลาผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่างเปลี่ยนแปลง ชากายังคงอยู่กับอาร์เซนอล หลังจากที่ มิเกล อาร์เตตา ในฐานะนายใหญ่ และ เอดู ในฐานะผู้อำนวยการสโมสร พยายามโน้มน้าวไม่ให้ย้ายออกไป (หนึ่งในข้อเสนอคือการไปร่วมทีมโรมากับ โชเซ มูรินโญ)
ตำแหน่งปลอกแขนกัปตันทีมหลุดจากเขาไปนานแล้วตั้งแต่เหตุการณ์ครั้งนั้น แต่ทุกวันนี้ชากาคือหนึ่งใน Leader ของทีมที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด
ไม่ใช่แค่กับนักเตะภายในทีม แต่รวมถึงแฟนฟุตบอลด้วย
การกลับมาของชากาจึงเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาที่น่าสนใจว่า ทุกอย่างมันเปลี่ยนแปลงเหมือนขึ้นสะพานยูเทิร์นแบบนี้ได้อย่างไร?
ให้ลองพิจารณาแล้วก็มาจากหลายองค์ประกอบที่หลอมรวมเข้าด้วยกันครับ
อย่างแรก ชากาโชคดีที่มีผู้จัดการทีมอย่างอาร์เตตา ซึ่งไม่ได้เพียงแค่ ‘เข้าใจ’ แต่ยัง ‘เชื่อใจ’ ด้วย
อาร์เตตาเชื่อใจในความสามารถของชากา และมองขาดว่ากองกลางคนนี้ไม่ใช่นักฟุตบอลที่ไม่ดีอะไร ในทางตรงกันข้าม แค่เป็นคนอารมณ์รุนแรง ฉุนเฉียว (และมีขาดสติบ่อยครั้ง จนมีงานอดิเรกเป็นการสะสมใบแดง-ใบเหลือง)
เมื่ออายุมากขึ้น ประสบการณ์มากขึ้น ถึงจุดหนึ่งชากาก็เหมือนภูเขาไฟที่เริ่มสงบ มันยังคงระอุอยู่ข้างใน แต่ควบคุมได้ดีขึ้น สิ่งที่มีเพิ่มเติมคือความนิ่งและความแข็งแกร่ง ไม่ใช่แค่เรื่องของการเล่นในสนาม แต่รวมถึงจิตใจด้วย
นักข่าวเคยถามอาร์เตตาว่าประทับใจชากาตรงไหน? คำตอบคือ “ความสม่ำเสมอ” ก่อนจะอธิบายต่อว่า ไม่ว่าจะเจอช่วงเวลาที่ยากลำบากขนาดไหน ชากายังคงทุ่มเทเหมือนเดิม ถ่อมตัว และพยายามที่จะทำให้ดีขึ้นในทุกวัน
สิ่งเหล่านี้เองที่เป็นองค์ประกอบอย่างที่ 2 ที่ทำให้นอกจากจะชนะใจอาร์เตตาได้แล้ว ก็ค่อยๆ เอาชนะใจแฟนๆ ได้ด้วย
มันง่ายมากสำหรับนักฟุตบอลสักคนที่จะพูดว่า “พอกันที” หากต้องตกอยู่ในสถานการณ์ที่ชากาเผชิญในช่วงเวลานั้น แต่เมื่อตัดสินใจแล้วที่จะสู้ต่อ เขาก็พิสูจน์ให้เห็นถึงธาตุทรหดที่จะผ่านช่วงเวลาของความรู้สึกอันเลวร้ายไปให้ได้
เรียกได้ว่าหากเรามองเรื่องนี้ว่าเป็นชัยชนะของชากา ชัยชนะก็มาตั้งแต่วันที่เขาชนะใจตัวเองได้แล้ว
และเสียงร้องเพลงเชียร์จากแฟนๆ ที่มีให้ มันยิ่งทำให้หัวใจของเขาพองโตขึ้นไปอีก
“ลองดูแฟนๆ ร้องเพลงให้กับเขา มันยิ่งทำให้เขารู้สึกมากยิ่งขึ้น มันทำให้เขายิ่งพยายามมากกว่าเดิม ผมดีใจกับเขาด้วย เพราะในความคิดของผม เขาสมควรที่จะได้รับสิ่งนี้”
สิ่งนี้ในความหมายของอาร์เตตาก็คือ ‘ความรัก’ นั่นเอง
ในฤดูกาลนี้อาร์เซนอลเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมทุกตำแหน่ง ทุกคน แต่หนึ่งในคนที่โดดเด่นสม่ำเสมอทุกนัดคือชากา ที่ดูเหมือนจะยกระดับการเล่นขึ้นไปอีกขั้นในบทบาทใหม่จากการที่กุนซือชาวสเปนพยายามปรับจูนทีมให้ดีขึ้น ซึ่งเริ่มลองของมาตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของฤดูกาลที่แล้ว
บทใหม่ของชากาในเวลานี้เปลี่ยนจากการยืนเป็น Deep-Lying Midfielder มาเป็นบท ‘หมายเลข 8’ ที่ยืนทางซ้ายร่วมกับ มาร์ติน โอเดการ์ด (หรือในเกมกับเบรนท์ฟอร์ดที่ ฟาบิโอ วิเอรา ได้ลงแทนกัปตันชาวนอร์เวย์ที่บาดเจ็บ)
อาร์เตตาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้น่าสนใจครับว่า “บางครั้งเราต้องพานักเตะออกมาจากคอมฟอร์ตโซนของพวกเขาเอง เปิดประตูบานใหม่ๆ เพื่อลองดูว่าทีมจะตอบสนองอย่างไรและคู่แข่งจะตอบสนองอย่างไร”
ในช่วงแรกชากาก็ดูลำบากกับบทใหม่ ไม่นับวันที่ โธมัส ปาร์เตย์ บาดเจ็บ ทำให้สุดท้ายต้องถอนตัวลงไปเล่นเหมือนเดิม แต่เวลานี้เขาปรับตัวกับบทใหม่ที่ได้รับอนุญาตให้ทำเกมขึ้นหน้าเองมากขึ้น
ลงมาต่ำเพื่อจ่ายบอลน้อยลง แต่ออกบอลสร้างสรรค์เกมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
การยินดีที่จะปรับเปลี่ยนและเรียนรู้คือเรื่องที่ 3 ที่ทำให้ชากากลับมาได้อีกครั้งอย่างสง่างาม และทุกอย่างสวยงามเมื่อเหล่ากูนเนอร์สเองก็เริ่มปรับเปลี่ยนความคิดและสายตาที่มองมายังกองกลางคนนี้ ก่อนจะพบว่าถึงจะเฟอะฟะบ้าง หุนหันบ้าง ผิดและพลาดบ้าง แต่นี่คือคนที่อยู่กับทีมทั้งๆ ที่ตัวเองคือ ‘จำเลย’ ตัวแทนความล้มเหลวของอาร์เซนอลในช่วงก่อนหน้านี้
ชากาคือมิดฟิลด์หัวใจหินแกรนิตที่พวกเขาควรยกหัวใจให้
ย้อนกลับไปฤดูกาลที่แล้ว ในเกมที่กลับมาพบกับเบรนท์ฟอร์ดที่เอมิเรตส์สเตเดียม อเล็กซองด์ ลากาแซตต์ พยายามส่งปลอกแขนกัปตันทีมให้กับชากา หลังโดนเปลี่ยนตัวออกในช่วงท้ายเกม
มิดฟิลด์ชาวสวิสปฏิเสธ และบอกว่า “ผมยังไม่พร้อม”
แต่ในเกมที่จีเทคคอมมิวนิตี้ เมื่อโอเดการ์ดไม่สามารถลงสนามได้ ทำให้ชากาได้รับมอบหมายให้สวมปลอกแขนกัปตันทีมอีกครั้ง
คราวนี้เขาพร้อมแล้วสำหรับมัน และชัยชนะ 3-0 ในเกมนั้นคือหนึ่งในช่วงเวลาที่เขาบอกว่า “เป็นวันที่แสนพิเศษ” อย่างแท้จริงของชีวิต
และนั่นคือเรื่องราวของการ ‘คัมแบ็ก’ ที่สวยงามที่สุดครั้งหนึ่งในเกมลูกหนังที่สอนอะไรหลายอย่างได้ดีทีเดียว 🙂