×

เมื่อนักฟุตบอลตกเป็นเหยื่อการ Bully

01.11.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • พฤติกรรมของ กรานิต ชากา ที่แสดงต่อแฟนบอลชาวกูนเนอร์ส ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลายเป็นสิ่งที่ทำให้แฟนบอลส่วนใหญ่ไม่พอใจ พร้อมตั้งคำถามว่า ชายผู้นี้มีความเหมาะสมกับตำแหน่ง ‘กัปตันทีม’ หรือไม่
  • ล่าสุด ชากาออกจดหมายอธิบายถึงสาเหตุที่สบถใส่จังหวะที่โดนเปลี่ยนตัวออก ซึ่งเข้าใจอารมณ์ของแฟนบอล แต่ดูเหมือนอารมณ์ที่แฟนบอลบางส่วนจะแสดงออกด้วยการ Bully ใส่ชากา โดยเฉพาะในโซเชียล ที่ดูจะเลยเถิดไปมาก ถึงขั้นขู่คุกคามครอบครัวของกัปตันทีมอาร์เซนอล ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นเลย

มันเป็นภาพที่เจ็บปวดนะครับสำหรับเกมฟุตบอล เมื่อสิ่งที่นักฟุตบอลคนหนึ่งที่เป็นถึงกัปตันทีมถูกโห่ไล่จากแฟนบอลของตัวเองอย่างป่าเถื่อน ในขณะที่แฟนบอล ซึ่งเป็นผู้ที่ให้การสนับสนุนทีมอย่างจริงจังมาโดยตลอด ได้รับการตอบแทนด้วยท่าทียียวน คำสบถด่า การถอดเสื้อทิ้ง และการเดินเข้าห้องแต่งตัวทันที โดยไม่คิดจะหวนกลับมาเป็นกำลังใจให้ทีมอีก

 

ไม่รู้ว่าใครจะเจ็บมากกว่ากัน ระหว่าง กรานิต ชากา กับแฟนบอลชาวกูนเนอร์ส

 

บางทีอาจจะเจ็บพอๆ กัน

 

เรื่องที่เกิดขึ้นในเกมพรีเมียร์ลีกระหว่างอาร์เซนอลและคริสตัล พาเลซ ซึ่งจบลงด้วยการเสมอกัน 2-2 กลายเป็นหนึ่งในประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ในหลากมิติ หลายมุมมองครับ

 

แน่นอนว่าสิ่งแรกที่มีการพูดถึงกันคือ ปฏิกิริยาตอบโต้ของกัปตันทีมอาร์เซนอลว่าเขากระทำเกินไปหรือไม่?

 

ถ้าถามผมในฐานะคนที่ตามเกมฟุตบอลมานาน ก็พอจะบอกได้ทันทีครับว่าเกินไป

 

ในฐานะของกัปตันทีม ของคนที่เป็นผู้นำ ของคนที่เป็นเหมือนตัวแทนของสโมสร จะหนักจะเบา ชากาควรจะอดทนและเก็บความรู้สึกของตัวเองให้ได้มากกว่านี้

 

สำหรับนักฟุตบอล ไม่มีประโยชน์อันใดจะไปโต้ตอบกับแฟนบอลให้เสียบรรยากาศ พูดกันแบบตรงๆ ไม่อ้อมค้อม คนหลายหมื่นคนในสนามฟุตบอลวันนั้นคือ ‘นายจ้างทางอ้อม’ คือคนที่ช่วยจ่ายเงินเดือนจำนวนมากมายมหาศาลให้ทั้งๆ ที่พวกเขามีรายได้น้อยกว่าหลักหลายร้อยหลายพันเท่า

 

และถ้าจะให้พูดจริงๆ ในเชิงกีฬาแล้ว ระหว่างแฟนบอลกับนักฟุตบอลและสโมสร ความสัมพันธ์ของมันลึกซึ้งกว่านั้นมาก

 

 

ทุกท่าทีที่มีต่อกัน จึงควรคิดให้รอบคอบ เพราะความรู้สึกนั้นเปราะบาง และบางครั้งหากมีรอยปริร้าวเพียงเล็กน้อย การจะผสานกลับมาให้เป็นเนื้อเดียวกันเหมือนเดิมนั้นเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก

 

เพียงแต่ในการกระทำของชากา ก็ไม่ใช่ว่าจะไร้ที่มาที่ไป

 

หลังเหตุการณ์ผ่านมาราว 4 วัน ในที่สุดกองกลางชาวสวิสได้เปิดใจถึงเหตุการณ์ดังกล่าว และผมคิดว่า เราทุกคนไม่ว่าจะเป็นแฟนอาร์เซนอล หรือเป็นแฟนฟุตบอลหรือไม่ ก็ควรรับฟังอย่างเปิดใจ

 

ในถ้อยแถลงของชากา ซึ่งบอกเล่าผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเอง สาระสำคัญอยู่ที่การที่ชากาเปิดเผยความรู้สึกของเขาเป็นครั้งแรกว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เขาถูกแฟนฟุตบอล ‘กระทำ’ อย่างร้ายกาจมาโดยตลอด

 

โดยเฉพาะบนช่องโซเชียลมีเดียที่เล่นกันเลยเถิดไปมาก

 

ลำพังหากจะดุจะด่าตัวเขาที่ทำผลงานได้ไม่เป็นที่น่าพอใจ คงไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือ การที่มีแฟนบอลชั่วร้ายบางส่วนที่ ‘ล้ำเส้น’ ไปถึงครอบครัว

 

การที่ได้อ่าน พบข้อความว่า ‘จะฆ่าเมียแก’ หรือ ‘ขอให้ลูกแกเป็นมะเร็ง’ มันไม่ใช่เรื่องที่น่าอภิรมย์อยู่แล้วครับ และมันยังทำให้สิ่งที่ตามมาหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นความรู้สึกวิตกกังวลต่อความปลอดภัยของสมาชิกครอบครัว หรือความรู้สึกกับแฟนบอลที่ไม่สนิทใจกันเหมือนดังเคย

 

สุดท้ายก็นำไปสู่ความเศร้าที่กัดกินหัวใจไปทีละน้อย

 

และเมื่อมันเหลือน้อยเต็มที ชากาก็ไม่สามารถกักเก็บความโกรธแค้นได้อีก และตอบโต้ด้วยการบันดาลโทสะออกมาในสนาม

 

 

เรื่องนี้มันชวนให้คิดอยู่ไม่น้อยครับ และผมเชื่อว่า หลังจากนี้กรณีนี้คงจะเป็นกรณีศึกษาที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเข้ามาควบคุมจัดการดูแล

 

เพราะในเกมฟุตบอล ประเด็นการกลั่นแกล้งทางสังคม (Bully) นั้นมีมาช้านาน จนแทบจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมลูกหนัง

 

ว่ากันตามตรง ก็หนักข้อไม่แพ้เรื่องของการเหยียดสีผิว (Racism) ที่มีการต่อสู้อย่างหนักตลอดช่วงระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา

 

แฟนบอลคุ้นชินกับวัฒนธรรมในการด่าทอนักฟุตบอลในสนามอย่างเสียๆ หายๆ โดยไม่ได้จำเพาะเจาะจงว่าจะด่าเฉพาะนักฟุตบอลทีมคู่ต่อสู้ด้วย

 

บางครั้งนักเตะของทีมที่เชียร์ก็สามารถด่าได้ และด่าได้เจ็บไม่แพ้กันด้วย

 

นักฟุตบอลเองส่วนใหญ่ก็คุ้นชินกับเรื่องพวกนี้ และส่วนใหญ่ผมเชื่อว่า สามารถทนรับกับสิ่งเหล่านี้ได้ เพียงแต่หัวใจของคนเรานั้นแข็งแกร่งไม่เท่ากัน

 

ความอดทนย่อมมีขีดจำกัด และเมื่อถึงจุดที่ไม่สามารถทนได้อีกต่อไป มันจะนำไปสู่เหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำทั้งสิ้นครับ

 

เขียนถึงตรงนี้ผมอดคิดถึงกรณี ‘กังฟูคิก’ ของ เอริก คันโตนา ตำนานศิลปินลูกหนังของทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่กระโดดเตะใส่ แมทธิว ฮิวจ์ส แฟนบอลคริสตัล พาเลซ ที่ตะโกนด่าสมาชิกครอบครัวของดาวเตะชาวฝรั่งเศส

 

 

หรือแม้แต่ ซีเนดีน ซีดาน นักฟุตบอลผู้ยิ่งใหญ่เอง ก็ไม่สามารถอดทนต่อการเหยียดหยามของเพื่อนนักเตะด้วยกันเองอย่าง มาร์โก มาเตรัซซี ได้จนตอบโต้ด้วยการ ‘โหม่ง’ ใส่ในเกมที่สำคัญที่สุดในชีวิต กับนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก ซึ่งเป็นเกมนัดสุดท้ายในชีวิตของเขา

 

ดังนั้นผมคิดว่า กรณีนี้แฟนบอลอาร์เซนอลเองก็ผิด และผิดไม่ได้น้อยไปกว่ากันด้วย (ความจริงไม่ใช่แค่ชากาที่โดน แต่ยังมีเหตุการณ์ที่ ปิแอร์ เอเมอริค โอบาเมยอง ถูกแฟนบอลรุมด่าในระหว่างที่รถติดไฟแดงในลอนดอน ซึ่งก็น่าชังไม่แพ้กัน) 

 

พวกเขาอาจจะลืมไปว่า นักฟุตบอลเองก็เป็นปุถุชนธรรมดา โกรธได้ เสียใจเป็น

 

แล้วแบบนี้ทั้งสองฝ่ายควรจะทำอย่างไรต่อไป?

 

ผมเองยังไม่แน่ใจว่าการออกมาเปิดใจและกล่าวคำขอโทษอย่างเป็นทางการของชากาต่อเหตุการณ์นี้ จะช่วยให้อะไรๆ มันดีขึ้นหรือไม่ในทันที

 

เพราะเท่าที่ได้เห็นความเห็นชาวเน็ต (ส่วนใหญ่ก็เป็นแฟนอาร์เซนอล) มีทั้งเห็นใจและเห็นต่าง

 

แต่อย่างน้อยในถ้อยคำปิดท้ายของชากา ผมว่ามันฟังขึ้นอยู่นะครับ กับการที่อยากให้ทุกคนนั้นกลับมาในจุดที่ต่างเคารพต่อกัน และนึกให้ออกว่า ทำไมเราถึงเริ่มตกหลุมรักเกมฟุตบอล

 

คงไม่มีใครตกหลุมรักเกมฟุตบอล เพราะได้ด่านักฟุตบอลในสนามแบบไม่ต้องแคร์ใครหรอกครับ แบบนั้นก็โรคจิตไป

 

 

ในทางตรงกันข้าม ผมก็เข้าใจแฟนปืนใหญ่อยู่ครับว่าพวกเขาเองก็คงไม่ได้อยากจะตะโกนด่าใครให้เสียปาก (และเสียใจ) เหมือนกัน หากนักฟุตบอลนั้นเล่นอย่างทุ่มเทมากเท่ากับที่พวกเขามอบหัวใจให้ทีม

 

เพราะปฏิเสธไม่ได้เหมือนกันว่า ความอดทนของแฟนบอลนั้นหมดลงจากผลงานที่ยอมรับไม่ไหวจริงๆ พวกเขาไม่ได้ผิดหวังแค่วันเดียว แต่ผิดหวังกับทีมมาเป็นระยะเวลาร่วมเดือน ร่วมปี ร่วมทศวรรษ

 

ทุกคนรู้ความหมายของคำว่า Supporters แต่เมื่อทีมเล่นได้น่าหดหู่ขนาดนี้ จะให้เชียร์แบบไม่ลืมหูลืมตาก็อาจจะยากเกินไป

 

ดังนั้น ทางที่ดีที่สุดคือ การพบกันคนละครึ่งทาง

 

นักฟุตบอลเองก็ต้องทุ่มเทให้มากกว่านี้ เล่นสู้เพื่อทีมให้มากกว่าที่เคยทำ ทุ่มเทให้คุ้มค่ากับเสียงเชียร์และกำลังใจ

 

แฟนบอลเองก็อาจจะต้องใจเย็นลงสักหน่อย เห็นใจกันมากขึ้น และควรตระหนักว่า การแสดงความเห็นบนโซเชียลมีเดียนั้นสามารถทำร้ายจิตใจกันได้ง่ายมากกว่าที่เราคิด

 

บนโลกใบนี้มีความสูญเสียจากเรื่องนี้มาแล้วมากมายครับ ไม่ว่าจะกับบุคคลมีชื่อเสียงหรือคนธรรมดา

 

แอบหวังว่า หากชากากลับมาลงสนามในนามอาร์เซนอลอีกครั้ง โดยไม่ว่าจะสวมปลอกแขนกัปตันหรือไม่ เขาจะได้รับเสียงปรบมือให้กำลังใจจากแฟนๆ บนอัฒจันทร์ 

 

ทุกคนจะได้ ‘มูฟออน’ และเดินเคียงกันไปสู่วันข้างหน้าที่ดีกว่าเดิมครับ

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

FYI
  • หลังเหตุการณ์อื้อฉาว เธียร์รี อองรี เป็นหนึ่งในสองนักเตะระดับตำนาน ที่ไปเยี่ยมชากาในห้องแต่งตัว และหลังจากนั้นมีอดีตนักเตะ รวมถึงตัวของ อูไน เอเมรี ที่ไปเยี่ยมสตาร์ชาวสวิสถึงที่บ้านด้วย
  • ชากาไม่ได้เป็นแค่กัปตันทีมอาร์เซนอล แต่เป็นกัปตันทีมชาติด้วย
  • ตำแหน่งกัปตันทีมของชากาได้มาจากการที่ อูไน เอเมรี ผู้จัดการทีมให้ นักฟุตบอลโหวตกันเองภายในทีม โดยชากาเป็นคนที่เพื่อนนักเตะชื่นชอบและชื่นชมมากที่สุด
  • ในอดีต อาร์เซนอลเคยปลดกัปตันทีมกลางอากาศมาแล้ว ในรายของ วิลเลียม กัลลาส ปราการหลังชาวฝรั่งเศส เมื่อปี 2008 หลังแฉเรื่องในห้องแต่งตัวผ่านสื่อ
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising