×

5 ยอดฝีมือด้านดนตรีสุดอับโชคบนเวที Grammy Awards

โดย AdizxA
31.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • นี่คือ 5 ศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อ Grammy Awards มากที่สุด แต่ไม่เคยกลับบ้านในฐานะผู้ชนะแม้แต่ครั้งเดียว ที่น่าสนใจคือ พวกเขาเหล่านี้ต่างล้วนเป็นยอดฝีมือในแนวทางของตนเองทั้งสิ้น
  • Morten Lindberg ได้เปิดใจต่อสื่อในบ้านเกิดแบบคนเข้าใจโลกว่า ปีนี้ก็คงแห้วเหมือนเดิม เพราะเขามองว่า Grammy Awards คือรางวัลของคนอเมริกัน ที่มอบให้คนอเมริกัน เป็นเรื่องยากที่โปรดิวเซอร์จากนอร์เวย์และร่วมงานกับศิลปินนอร์เวย์เป็นหลักจะคว้าเกียรติยศสูงสุดของวงการดนตรีอเมริกันได้

สำหรับศิลปินทั่วไป การได้เสนอชื่อชิง Grammy Awards สักครั้ง น่าจะสร้างความภูมิใจที่สุดในชีวิตแล้ว แต่ก็มีศิลปินอีกกลุ่มหนึ่งที่มองการถูกเสนอชื่อแต่ละครั้งเป็นเรื่องน่าหงุดหงิด เพราะไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ปี ผลงานที่พวกเขาทุ่มเทสร้างสรรค์ก็ไม่เคยได้รับการพิจารณาให้ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้เสียที

 

และนี่ก็คือ 5 ศิลปินที่ได้รับการเสนอชื่อ Grammy Awards มากที่สุด แต่ไม่เคยกลับบ้านในฐานะผู้ชนะแม้แต่ครั้งเดียว ที่น่าสนใจคือ พวกเขาเหล่านี้ต่างล้วนเป็นยอดฝีมือในแนวทางของตนเองทั้งสิ้น

 

 

Morten Lindberg พ่อมด Sound Engineer จากนอร์เวย์

สถิติเข้าชิง 26 ครั้ง ชนะ 0

 

Oops!… We Did It Again! คือข้อความที่โปรดิวเซอร์และ Sound Engineer วัย 48 ปี โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กเมื่อปลายปีก่อน หลังได้รับแจ้งว่าผลงานที่เขาโปรดิวซ์ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล Grammy Awards ถึง 2 อัลบั้ม ในสาขา Best Immersive Audio Album ทำให้เขาสะสมแต้มการชิง Grammys เพิ่มเป็น 26 ครั้ง

 

การถูกเสนอชื่อ 26 ครั้ง จาก 26 ปีในสายอาชีพ คือใบรับประกันคุณภาพของ Morten Lindberg ได้อย่างดี เพราะเขาคือขาใหญ่แห่งวงการดนตรีคลาสสิกนอร์เวย์ สร้างชื่อจากการผลิตอัลบั้มเสียงคุณภาพเยี่ยม หนึ่งในเทคนิคส่วนตัวของเขาคือ การนำคณะนักดนตรีและนักร้องประสานเสียงไปบันทึกเสียงยังสถานที่ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์หรือฮอลล์จัดคอนเสิร์ต เพื่อเพิ่มมิติเสียงในแบบที่หาไม่ได้จากการบันทึกในห้องอัดทั่วไป การให้ความสำคัญจนถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เช่นนี้ ทำให้ผลงานของศิลปินนอร์วีเจียนที่เกิดจากการร่วมงานกับ Morten Lindberg เป็นที่ยอมรับระดับนานาชาติถึงคุณภาพการบันทึกเสียงอันยอดเยี่ยม

 

แต่ทำไม…เขาถึงยังไม่เคยชนะสักที

 

 

ตั้งแต่ปี 2009 ถึงปัจจุบัน Morten Lindberg มีชื่อชิง Grammy Awards ต่อเนื่องทุกปี แต่แพ้ตลอด

 

สาขาที่เขาเป็นขาประจำก็คือ Best Immersive Audio Album (เปลี่ยนชื่อจาก Best Surround Sound Album ในปีนี้) ความเคี่ยวของสาขานี้คือ เป็นรางวัลไม่กี่สาขาที่ Grammys เปิดให้อัลบั้มของศิลปินคลาสสิกและ non-classical มาแข่งกันเอง บ่อยครั้งที่ Morten Lindberg ต้องพ่ายแพ้ให้กับอัลบั้มของศิลปินดังจากสาย non-classical ทั้ง พอล แม็กคาร์ตนีย์, บียอนเซ่ และ โรเจอร์ วอเตอร์ส

 

ในปีที่เขาไม่ต้องแข่งกับซูเปอร์สตาร์ เขาก็ยังหาชัยชนะไม่เจอ เพราะในปี 2017 และ 2018 รางวัลก็ตกเป็นของศิลปินแนวคลาสสิกและนักดนตรีสายแจ๊สอยู่ดี

 

การที่ปีนี้ Morten Lindberg ได้ชิงคนเดียวถึง 2 ชุด ไม่รับประกันว่าการรอคอยของเขาจะสิ้นสุดลง เพราะ 2 ปีที่ผ่านมา เขาได้ชิงสาขาเดียว 2 ชุดมา 2 ปีซ้อน แถมงานปี 2016 เขาส่งอัลบั้มเข้าชิงคนเดียวถึง 3 ชุด แต่ก็กลับบ้านมือเปล่าเช่นเดิม

 

แถมปีนี้โอกาสไม่ใช่จะง่าย เพราะเขามีคู่แข่งสายโหดจากฝั่ง non-classical อย่าง อลัน พาร์สันส์ วิศวกรเสียงระดับ ‘หัตถ์เทวะ’ ที่เคยฝากฝีมือเอาไว้ในอัลบั้ม Abbey Road ของ The Beatles และ Dark Side of the Moon ของ Pink Floyd โดยปีนี้กลับมาเข้าชิงจากอัลบั้ม Eye in the Sky – 35th Anniversary Edition งานที่ดังที่สุดของวง The Alan Parsons Project

 

 

หลังรู้ว่าตัวเองได้รับการเสนอชื่ออีกครั้ง Morten Lindberg ได้เปิดใจต่อสื่อในบ้านเกิดแบบคนเข้าใจโลกว่า ปีนี้ก็คงแห้วเหมือนเดิม เพราะเขามองว่า Grammy Awards คือรางวัลของคนอเมริกัน ที่มอบให้คนอเมริกัน เป็นเรื่องยากที่โปรดิวเซอร์จากนอร์เวย์และร่วมงานกับศิลปินนอร์เวย์เป็นหลักจะคว้าเกียรติยศสูงสุดของวงการดนตรีอเมริกันได้ แต่เขาก็ยังมองโลกในแง่ดีว่า การถูกเสนอชื่อแต่ละครั้งเป็นเหมือนการเพิ่มพูนความมั่นใจให้กับเขา ยิ่งไปกว่านั้น ล่าสุด Grammy Awards ยังเสนอชื่อให้เขาเป็นสมาชิกของ The Recording Academy อีกด้วย

 

…แต่หาก Morten Lindberg ล้างอาถรรพ์ได้สำเร็จในปีนี้ ตำแหน่งราชาไร้มงกุฎของเขาจะถูกสืบทอดไปยัง 2 ยอดศิลปินผิวสีของวงการเพลงอเมริกัน

 

 

Brian McKnight และ Snoop Dogg

สถิติเข้าชิง 17 ครั้ง ชนะ 0 เท่ากัน

 

จูงมือกันเข้ามาอยู่ในอันดับที่ 2 ร่วม ในตำแหน่งนักดนตรีอับโชคบนเวที Grammy Awards ได้แก่ ยอดแรปเปอร์ Snoop Dogg และนักร้องอาร์แอนด์บีเสียงหวาน Brian McKnight ที่ต่างก็ส่งผลงานเข้าชิงต่อเนื่องถึง 17 ครั้ง แต่กลับบ้านมือเปล่าทุกครั้งเช่นกัน

 

ปีที่ Brian McKnight ใกล้เคียงกับการเป็นผู้ชนะมากที่สุด เกิดขึ้นในปี 2002 เมื่อผลงานจากอัลบั้ม Superhero ส่งให้เขามีชื่อเข้าชิง Grammy Awards ถึง 4 สาขา แต่ก็ต้องแพ้ให้กับผลงานของคลื่นลูกใหม่ในเวลานั้นอย่าง อลิเชีย คียส์, Usher และแก๊ง Lady Marmalade โดยหลังจากเข้าชิงครั้งล่าสุดในปี 2005 เขาก็ไม่เคยได้รับการเสนอชื่ออีกเลย แม้จะออกอัลบั้มต่อมาอีกหลายชุดก็ตาม

 

 

โอกาสยังเปิดกว้างกว่าสำหรับ Snoop Dogg เพราะบ่อยครั้งที่การเสนอชื่อของเขา เกิดจากผลงานที่ไปฟีเจอริงกับศิลปินดังรายอื่นๆ ทั้งตอนไปช่วยงานลูกพี่ Dr. Dre สมัยเข้าวงการใหม่ๆ ส่วนช่วงหลังก็เข้าชิงจากเพลงที่ไปโชว์สกิลแรปขั้นเทพให้กับศิลปินรุ่นน้อง ทั้ง เคที เพอร์รี และ วิซ คาลิฟา โดย 2 ปีก่อน การรอคอยของ Snoop Dogg เกือบสิ้นสุดลง เมื่อเขามีชื่อเป็นหนึ่งในศิลปินจาก To Pimp a Butterfly สุดยอดแรปอัลบั้มของ เคนดริก ลามาร์ ตัวเต็ง Album of the Year ของปีนั้น แต่สุดท้ายก็ชวดอีก เมื่อรางวัลนั้นตกเป็นของ 1989 อัลบั้มสุดฮิตของนางฟ้าวงการเพลง เทย์เลอร์ สวิฟต์ แทน

 

 

Joe Satriani และ Björk

สถิติเข้าชิง 15 ครั้ง ชนะ 0

 

รายแรกคือปรมาจารย์กีตาร์ไฟฟ้าระดับ Top Guitar Virtuoso มีลูกศิษย์ลูกหาเป็นเทพกีตาร์มากมาย ทั้ง 3 มือกีตาร์ของ 3 สุดยอดวงแทรชเมทัล Metallica (เคิร์ก แฮมเม็ต), Testament (อเล็กซ์ สโคลนิก) และ Exodus (ริก ฮูโนลต์) รวมถึงยอดมนุษย์กีตาร์ที่ทุกคนยกย่องอย่าง Steve Vai

 

ขณะที่ Steve Vai คว้า Grammy Awards มาแล้วถึง 3 ครั้ง จากการเข้าชิง 15 ครั้ง แต่บุคคลที่เปรียบดั่งโยดาผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาให้เขากลายเป็นเจไดแห่งกีตาร์ กลับยังไม่เคยประสบความสำเร็จเช่นนั้น แม้ว่าจะเคยเข้าชิงด้วยสุดยอดเพลงกีตาร์ที่ถึงพร้อมด้วยความคิดสร้างสรรค์และเทคนิค ไม่ว่าจะเป็น Surfing with the Alien, Flying in a Blue Dream, The Extremist, Summer Song รวมถึงการเข้าชิงอีก 3 ครั้งจากหนึ่งในเพลงบรรเลงกีตาร์ที่ไพเราะที่สุดตลอดกาล Always With Me, Always With You

 

ดูจากรายชื่อเพลงของ Joe Satriani แล้ว ก็ไม่รู้ว่า Grammy Awards ต้องการจะให้ Joe Satriani พิสูจน์อะไรอีก เพราะมาตรฐานที่ Joe Satriani สร้างเอาไว้กับงานของเขาไม่มีทางด้อยไปกว่าผลงานของผู้ชนะ Grammy Awards คนไหนๆ อย่างแน่นอน

 

 

คนสุดท้ายในลิสต์อันดับผู้เข้าชิงที่อับโชคที่สุดบนเวที Grammy Awards ก็คือศิลปินหญิงผู้เป็นหัวหอกแห่งวงการเพลงอัลเทอร์เนทีฟร็อก นางพญาอาว็องการ์ดจากดินแดนน้ำแข็ง นักร้องสาวที่ชาวไอซ์แลนด์ภูมิใจที่สุด ‘Björk’

 

สาขาที่ Björk เป็นขาประจำของเวทีนี้คือ Best Alternative Music Album ที่เธอมีชื่อเข้าชิงต่อเนื่องถึง 8 จาก 10 ชุด

 

อัลบั้มแรกที่ Björk ส่งเข้าประกวดในสาขานี้คือ Post ผลงานปี 1995 นับเป็นชุดแรกที่ Björk ค้นพบสำเนียงดนตรีของตนเอง จากการผสมผสาน Electronic Music และ Dance Music อย่างลงตัว จนสื่อหลายสำนักยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดอัลบั้มของปีนั้น

 

แต่คู่แข่งปีแรกที่ Björk ต้องเผชิญคือคู่ต่อสู้ที่เธอไม่มีวันชนะ เมื่อรางวัลตกเป็นของ MTV Unplugged in New York ของ Nirvana อัลบั้มชุกแรกของสุดยอดวงกรันจ์ที่วางจำหน่ายหลังการเสียชีวิตของ เคิร์ต โคเบน

 

แม้ชุดนั้นจะเป็นแค่บันทึกการแสดง แต่มองได้ว่าการมอบรางวัลดังกล่าวเป็นการแก้ตัวของ Grammy Awards หลังจากเคยมองข้ามผลงานของ Nirvana มาแล้วถึง 2 ครั้ง จากการเสนอชื่อ Nevermind และ In Utero ให้เข้าชิงในสาขานี้ แต่กลับมอบรางวัลให้กับผลงานของวงรุ่นพี่อย่าง R.E.M. และ U2 เสียแทน

 

 

2 ปีต่อมา Björk กลับมาด้วยผลงานที่แสดงให้เห็นว่าเธอได้บรรลุศาสตร์และศิลป์ของการให้กำเนิดอัลบั้ม Electronic Music อันเยี่ยมยอดไร้กาลเวลา กับ Homogenic ผลงานที่อุดมไปด้วยดนตรีที่ถึงพร้อมด้วยความคิดสร้างสรรค์และเต็มเปี่ยมด้วยจิตวิญญาณ

 

แต่อุปสรรคเดียวที่ขวางเธอจากความสำเร็จ ก็เพราะปีนั้นคือปี 1998 ที่อาจเรียกได้ว่า เป็นปีที่มาตรฐานของผู้ท้าชิงรางวัล Best Alternative Music Album แข็งแกร่งที่สุดเท่าที่เคยมีมา

 

 

ผู้ท้าชิง 2 รายแรกได้แก่ Dig Your Own Hole และ The Fat of the Land สองอัลบั้มที่ดีที่สุดจากสองวง Electronica ที่ดีที่สุดอย่าง Chemical Brothers และ Prodigy ที่มาท้าชิงอีกชุดได้แก่ Earthling อัลบั้มที่เปรียบเสมือนการกลับมาเยือนโลกมนุษย์ของเจ้าชายแห่งดาวอังคาร เดวิด โบวี่    

 

แต่ผลงานที่คว้ารางวัลในปีนั้นได้แก่อัลบั้มที่จะกำหนดทิศทางดนตรีวงการเพลงอัลเทอร์เนทีฟร็อกตลอดสองทศวรรษต่อจากนั้น นั่นก็คือ OK Computer มาสเตอร์พีซอัลบั้มของ Radiohead ซึ่งยอดวงจากเมืองออกซ์ฟอร์ดยังกลับมาย้ำความสำเร็จในสาขาเดียวกันนี้ใน 3 ปีต่อมา กับงานที่สมบูรณ์แบบไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอย่าง Kid A

 

 

เข้าสู่ยุค 2000 มิติทางดนตรีของ Björk ยิ่งขยายขอบเขตมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ความโชคร้ายในการออกอัลบั้มชนกับศิลปินดังยังคงตามหลอกหลอนนักร้องสาวไม่จบสิ้น ทั้งตอนที่ Vespertine อัลบั้มอิเล็กทรอนิกส์สุดอีโรติกของเธอต้องพ่ายให้กับ Parachutes อัลบั้มเปิดตัวของวงร็อกขวัญใจมหาชน Coldplay, Medúlla อัลบั้มสุดแหวกแนวที่เสียงดนตรีทั้งชุดสร้างจากเสียงร้องของมนุษย์ ก็ต้องแพ้ให้กับ A Ghost is Born ผลงานในยุครุ่งเรืองของ Wilco วงร็อกจากชิคาโก ขณะที่ Volta งานอาว็องการ์ดสุดล้ำก็ต้องเสียตำแหน่งผู้ชนะให้กับ Icky Thump อัลบั้มสุดท้ายของดูโอ้สุดดัง White Stripes อีกเช่นเคย

 

มาถึงยุค 2010 Björk ได้สั่งสมบารมีจนมีสถานะดั่งนางพญาแห่งวงการเพลงอัลเทอร์เนทีฟผู้ไม่เคยหันเหทิศทางดนตรีไปตามกระแสนิยมเหมือนศิลปินร่วมอุดมการณ์รายอื่นๆ แต่ Grammy Awards ก็ยังไม่คิดว่าผลงานของเธอดีพอที่จะคว้ารางวัลจากพวกเขา แถมในช่วงหลังมานี้เธอต้องพ่ายแพ้ให้กับศิลปินรุ่นน้องแบบค้านสายตามากขึ้นทุกปี อย่างในปี 2013 Björk เข้าชิงจาก Biophilia สุดยอดคอนเซปต์อัลบั้มที่ออกมาพร้อมกับการผลิตแอปพลิเคชัน งานนิทรรศการศิลปะ และการอบรมเชิงปฏิบัติการ ซึ่งเนื้อหาเชื่อมโยงกับบทเพลงในอัลบั้มอย่างแยบยล แม้จะทุ่มสุดตัว แต่สุดท้ายเธอก็ต้องแพ้ให้กับอัลบั้มของ Gotye เจ้าของเพลงดัง Somebody That I Used to Know

 

ส่วน Vulnicura งานชุดก่อนที่นักร้องสาวกลั่นกรองความเจ็บปวดจากชีวิตคู่ที่ล่มสลายได้อย่างสะเทือนอารมณ์ แต่นั่นก็ยังไม่ดีพอในสายตาของกรรมการเวที Grammy Awards เมื่อพวกเขาเลือกที่จะมอบรางวัลให้กับ Alabama Shakes วงที่เปรียบเสมือนลูกรักของ Grammys หลังคว้า Grammy Awards มาแล้ว 4 ครั้ง จากการเข้าชิงเพียง 9 ครั้ง รวมถึงในสาขา Best Alternative Music Album ที่พวกเขาเอาชนะ Björk มาได้ ทั้งๆ ที่เพลงส่วนใหญ่ในชุดนั้นเป็นแนวบลูส์ร็อก และห่างไกลจากการเป็นดนตรีทางเลือกอย่าง Alternative Music ไปหลายขุม

 

 

ปีนี้ Björk กลับมาท้าชิงรางวัลสาขา Best Alternative Music Album อีกครั้งกับ Utopia อัลบั้มที่เล่าถึงดินแดนในอุดมคติ ที่เทคโนโลยีและธรรมชาติอยู่ร่วมกันอย่างสันติ โดยใช้เสียงอิเล็กทรอนิกส์เป็นตัวแทนของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ ส่วนเสียงฟลุตเป็นตัวแทนความสงบนิ่งของธรรมชาติ เสมือนการสร้างอาณาจักรแห่งเสียงดนตรีที่มอบประสบการณ์ที่ดีแก่ผู้ฟังตั้งแต่เพลงแรกจนถึงเสียงสุดท้าย

 

แม้จะเป็นหนึ่งในอัลบั้มที่ทรงคุณค่าที่สุดของ Björk แต่โอกาสที่เธอจะยุติฝันร้ายในงาน Grammy Awards ก็อาจจะยังไม่สำเร็จในปีนี้ เพราะผู้ท้าชิงในสาขา Best Alternative Music Album ปีนี้ต่างเป็นยอดศิลปินระดับพระกาฬทั้งสิ้น ทั้งรุ่นใหญ่อย่าง David Byrne อดีตหัวหน้าวง Talking Heads ที่คืนวงการเพลงอีกครั้งในรอบ 14 ปี กับ American Utopia, Beck เพื่อนร่วมรุ่นยุค 90 ที่พิสูจน์ว่าเขายังเป็นนักเขียนเพลงที่มีเรื่องราวคู่ควรแก่การบอกเล่าอีกมากมายใน Colors, รุ่นน้องเช่นวง Arctic Monkeys กับการเติบโตทางดนตรีครั้งสำคัญใน Tranquility Base Hotel & Casino รวมถึงศิลปินสาวที่กำลังร้อนแรงสุดๆ อย่าง St. Vincent ก็พร้อมกลับมาทวงความสำเร็จในสาขานี้อีกครั้งจาก Masseduction อัลบั้มสุดฮิตของเธอ

 

 

หากไม่นับ Arctic Monkeys ที่ดูจะอ่อนพรรษาที่สุดในผู้ท้าชิงทั้ง 5 ราย คู่แข่งที่เหลือของ Björk อีก 3 คน ต่างมีประสบการณ์คว้ารางวัล Grammy Awards มาแล้วทั้งสิ้น

 

งานนี้ก็ต้องลุ้นว่า Björk จะสามารถยุติฝันร้ายบนเวที Grammy Awards ให้สำเร็จลงในปีนี้เลย หรือจะต้องเก็บเอาความเจ็บปวดของผู้แพ้ไปเป็นเชื้อไฟสำหรับผลิตอัลบั้มเพื่อกลับมาเข้าชิงอีกครั้ง และอีกครั้ง และอีกครั้ง

 

Grammy Awards ครั้งที่ 61 จะประกาศผลในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ตามเวลาท้องถิ่น หรือเช้าวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ตามเวลาในประเทศไทย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X