×

Grace Coddington สไตลิสต์วัย 77 ปี ที่ยังคงเป็นที่หนึ่งในวงการแฟชั่น

31.05.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ตอนเกรซอายุ 18 ปี เธอตัดสินใจย้ายไปลอนดอน และสมัครการประกวดหานางแบบหน้าใหม่ของนิตยสารโว้ก อังกฤษ ซึ่งเธอก็ชนะในหมวดของ ‘Young Model’ และต่อมาสายอาชีพการเป็นนางแบบของเธอก็เริ่มขึ้นในช่วงปลายยุค 50s
  • ในปี 1988 แอนนา วินทัวร์ ได้ขึ้นมาเป็นบรรณาธิการของโว้ก อเมริกา ซึ่งเธอได้ชวนให้เกรซมาร่วมงานด้วยในฐานะหนึ่งในบรรณาธิการแฟชั่น ก่อนที่ในปี 1995 จะเลื่อนมาเป็นครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์
  • มาในปี 2009 ชื่อเสียงของเกรซก็เข้าสู่กระแสหลักอย่างมหาศาล หลังจากสารคดี The September Issue ของผู้กำกับ อาร์. เจ. คัตเลอร์ เข้าฉาย ต่อมาในปี 2012 เธอได้เขียนหนังสือชีวประวัติชื่อ ‘Grace’ ที่ค่ายหนัง A24 ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปแล้ว
  • เมื่อต้นปี 2016 เกรซได้ประกาศว่าจะขออำลาตำแหน่งครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ของนิตยสารโว้ก อเมริกา หลังทำงานมา 28 ปี แต่เธอก็ยังทำงานเป็นฟรีแลนซ์ให้ในตำแหน่ง Creative Director at Large

 

โปรเจกต์ ‘Travelling With Grace Coddington’ ถ่ายโดย อาเธอร์ เอลกอร์ต

 

 

 

 

ภาพถ่ายแฟชั่นในนิตยสารมีบทบาทและพลังมากกว่าแค่อยากขายของ พอคนพลิกหน้าไปเรื่อยๆ ภาพเล่านี้ได้บอกบริบทของสังคมในช่วงนั้นๆ แสดงความก้าวหน้าเชิงความคิดสร้างสรรค์ ทำให้สิ่งที่คนเคยจินตนาการไว้เกิดขึ้นจริงบนหน้ากระดาษ สร้างแรงบันดาลใจไม่มากก็น้อย และช่วยสร้างชื่อเสียงให้คนที่เป็นส่วนหนึ่งของการรังสรรค์ภาพนั้นขึ้นมา ซึ่งบทบาทของสไตลิสต์ ถึงแม้จะชอบถูกตีค่าว่าสำคัญน้อยกว่าช่างภาพ แต่เรากลับเชื่อว่ามีส่วนสำคัญเท่ากันและจะขาดไม่ได้ โดยเฉพาะกับ เกรซ คอดดิงตัน ผู้หญิงผมแดงวัย 77 ปีที่เป็นตัวอย่างที่ชี้ชัดให้เห็นถึงสิ่งนี้ และยังคงทำให้เห็นกับผลงานเธอทุกวันนี้ที่กำลังก้าวสู่ทศวรรษที่ 5 ในสายอาชีพสไตลิสต์

 

Pamela Rosalind Grace Coddington เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน ปี 1941 บนเกาะแองเกิลซีย์ ทางตอนเหนือของประเทศเวลส์ ช่วงต้นของสงครามโลกครั้งที่สอง โดยครอบครัวประกอบกิจการโรงแรม 42 ห้องนอนชื่อ Tre-Arddur Bay Hotel ชีวิตในวัยเด็กของเกรซเปี่ยมล้นด้วยจินตนาการเพื่อสร้างความบันเทิงให้ตัวเอง เช่นการไปวิ่งเล่นในป่า ปีนโขดหิน และมีเรือใบเล็กๆ ชื่อ Argo ที่เธอจะพายเป็นชั่วโมงๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้แฝงด้วยความโรแมนติก ที่ต่อมามีอิทธิพลในงานของเธอในฐานะสไตลิสต์เป็นอย่างมาก

 

พอเกรซเป็นวัยรุ่น เธอก็เริ่มสนใจโลกของแฟชั่นจากการต้องซื้อนิตยสารโว้กทุกเดือน โดยเธอต้องนั่งรถไฟไปยังตัวเมืองโฮลีเฮด ที่ห่างจากบ้านเธอราวชั่วโมงหนึ่งเพื่อไปซื้อนิตยสารที่แม้จะวางขายที่เมืองนี้ช้ากว่าที่อื่นถึงสามเดือน โดยนิตยสารแฟชั่นอย่างโว้กในสมัยนั้นเปรียบเสมือนช่องทางให้เยาวชนได้มีโอกาสสัมผัสแสงสีเสียงของเมืองใหญ่ เพราะเหตุผลนี้พอเกรซอายุ 18 ปีเธอก็ตัดสินใจย้ายไปลอนดอน ไปเข้าคอร์สฝึกเป็นนางแบบที่สถาบัน Cherry Marshall’s Modelling School และสมัครการประกวดหานางแบบหน้าใหม่ของนิตยสารโว้ก อังกฤษในปีเดียวกัน ซึ่งเธอก็ชนะในหมวดของ ‘Young Model’ และต่อมาสายอาชีพการเป็นนางแบบของเธอก็เริ่มขึ้นในช่วงปลายยุค 50s

 

เกรซสมัยยังอยู่นิตยสารโว้ก อังกฤษ

 

ประมาณสองปีหลังจากที่เกรซเริ่มทำงานเป็นนางแบบ เธอประสบอุบัติเหตุครั้งร้ายแรง หลังแฟนของเธอในตอนนั้นขับรถผ่าไฟแดงที่ย่าน Eaton Square ในลอนดอนและมีรถตู้พุ่งชนเข้าใส่ ซึ่งทำให้เปลือกตาด้านซ้ายเป็นแผลลึก และต้องทำศัลยกรรมมากกว่าห้าครั้งเพื่อให้ใบหน้าของเธอกลับมาปกติ

 

สองปีหลังจากอุบัติเหตุ เกรซก็กลับมาทำงานและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากในทศวรรษ 60s ที่เรียกกันว่า ‘Swinging Sixties’ ซึ่งเป็นยุคที่เยาวชนอังกฤษขับเคลื่อนสังคมในทุกภาคส่วนของวัฒนธรรม โดยเกรซได้ขึ้นปกนิตยสาร ทั้ง Harper’s Bazaar, Elle และ Vogue ที่เธอใฝ่ฝันมาตั้งแต่เด็ก

 

แต่จะรู้กันดีว่าเส้นทางชีวิตการเป็นนางแบบในอุตสาหกรรมแฟชั่นถือว่าสั้นมาก และพอเข้าใกล้อายุประมาณ 30 นางแบบหลายคนก็ต้องผันตัวเองไปทำอย่างอื่น สำหรับเกรซ เธอตัดสินใจไปสมัครเป็นบรรณาธิการแฟชั่นระดับจูเนียร์ที่นิตยสารโว้ก อังกฤษในช่วงที่ เบียทริซ มิลเลอร์ (Beatrix Miller) เป็นบรรณาธิการบริหาร ซึ่งเธอก็ได้รับเลือกและทำงานที่นิตยสารยาวนานถึง 19 ปี โดยแฟชั่นเซตแรกของเธอคือการร่วมงานกับช่างภาพระดับตำนานอย่าง นอร์แมน พาร์กินสัน (Norman Parkinson) ซึ่งในสมัยนั้นสไตลิสต์ที่ทำงานในนิตยสารแฟชั่นถือว่าโชคดี เพราะมีเวลาสร้างสรรค์ผลงานหนึ่งชิ้นตามใจชอบ บางครั้งไปถ่ายแบบต่างประเทศหลายอาทิตย์ หรือถ้าถ่ายแบบในสตูดิโอธรรมดาก็มีเวลาสามถึงสี่วัน ซึ่งต่างกับสมัยนี้เป็นอย่างมากที่หลายอย่างกลายเป็นเชิงพาณิชย์ และมีเรื่องของงบประมาณและเวลามาเกี่ยวข้อง

 

เกรซในบทบาทนางแบบในนิตยสารโว้ก ถ่ายโดย เอริก โบแมน, สตีเวน ไมเซล และ เฮลมุท นิวตัน

 

มาในปี 1985 แอนนา วินทัวร์ ได้ขึ้นมาเป็นบรรณาธิการบริหารต่อจาก เบียทริซ มิลเลอร์ ซึ่งเกรซเองก็ได้สัมภาษณ์สำหรับตำแหน่งนี้เช่นกัน แต่เธอรู้ว่าตัวเองไม่เหมาะสม และได้เสนอหัวหน้าที่บริษัท Conde Nast ให้เลือกแอนนา อย่างไรก็ดี ช่วงปี 1986 เมื่อ แคลวิน ไคลน์ ดีไซเนอร์ชาวอเมริกันชวนเกรซไปทำงานที่นิวยอร์กในตำแน่ง Design Director ที่แบรนด์ Calvin Klein ซึ่งเธอก็ยอมข้ามน้ำข้ามทะเลมาร่วมงานด้วย เพราะรู้สึกว่าตัวเองต้องก้าวไกลในอาชีพมากกว่านี้ และแถมแฟนของเธอ Didier Malige ช่างผมชื่อดังชาวฝรั่งเศสก็ใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น ซึ่งทั้งคู่ก็ยังคบหากันอยู่ทุกวันนี้ แม้จะไม่ได้แต่งงานกัน แต่เกรซเคยแต่งงานมาแล้วก่อนหน้านี้สองครั้งกับไมเคิล โชว์ เจ้าของร้านอาหารตำนาน Mr.Chow และ วิลลี คริสตี ช่างภาพชาวอังกฤษ

 

ในปี 1988 แอนนา วินทัวร์ ได้รับเลือกให้เป็นบรรณาธิการบริหารนิตยสารโว้ก อเมริกาต่อจาก เกรซ มิราเบลลา ซึ่งตอนนั้นเกรซก็เริ่มรู้สึกว่างานที่แบรนด์ Calvin Klein ไม่เหมาะกับเธอ และอยากกลับไปทำงานสไตลิ่งในนิตยสาร เกรซเลยตัดสินใจโทรหาผู้ช่วยของแอนนาเพื่อจะแสดงความยินดีและถามว่า “เธอคิดว่าแอนนาสนใจจะทำงานกับฉันอีกไหม” ซึ่งผู้ช่วยก็โอนสายให้แอนนาพูดกับเกรซประโยคเดียวว่า “เจอกันที่ร้านอาหาร Da Silvano หกโมงเย็นคืนนี้” คืนวันศุกร์คืนนั้นทั้งสองได้เจอกัน และพอมาถึงเช้าวันจันทร์ เกรซก็มาทำงานที่โว้ก อเมริกา ณ ตึก 4 Times Square ฐานะหนึ่งในบรรณาธิการแฟชั่น ก่อนที่ในปี 1995 จะเลื่อนมาเป็นครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ต่อจาก อังเดร ลีออน ทอลลี ที่ขยับตำแหน่งขึ้นไปเป็น Editor-at-Large

 

แอนนา วินทัวร์, เกรซ และ อังเดร ลีออน ทอลลี

แฟชั่นเซต ‘A Meeting of Minds’ ในนิตยสาร i-D ปี 2017 ถ่ายโดย ทิม วอล์กเกอร์ และเสื้อผ้าทั้งหมดของ Maison Margiela By John Galliano

 

ความสัมพันธ์ระหว่างเกรซและแอนนาถือว่าเป็นเพื่อนร่วมงานที่เข้าใจลิมิตของกันและกัน ไม่มีการพูดหวานใส่กัน เกรซรู้ว่าแอนนาเป็นคนที่ทำงานตรงไปตรงมา มีระเบียบวินัยสูงมาก และเป็นคนไม่แสดงอารมณ์ แต่เกรซก็เป็นคนที่ถึงแม้มีความอ่อนโยนสูง แต่เธอก็มีความเอาแต่ใจสูง และแอนนาก็ยอมเธอเสมอมา แอนนาเคยพูดที่งานวันเกิดครบรอบ 70 ปีของเกรซว่า “เกรซคือหัวใจของนิตยสารโว้ก…และเธอคือหนึ่งคนที่ทำให้ฉันตื่นเต้นที่จะมาทำงานในทุกๆ วัน” นี่เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่าแอนนาไม่ได้เป็นราชินีน้ำแข็งตามภาพลักษณ์ที่คนกล่าวหา

 

ที่โว้ก อเมริกา เกรซได้ทำงานกับช่างภาพแฟชั่นแถวหน้าเกือบทุกคนก็ว่าได้ อาทิ สตีเวน ไมเซล, อาเทอร์ เอลกอร์ต, เคร็ก แมคดีน, ไอร์วิง เพนน์, เมิร์ต & มาร์คัส, มาริโอ เทสติโน และ บรูซ เวเบอร์ ที่ทั้งคู่ได้ทำงานด้วยกันมาตั้งแต่ยุคโว้ก อังกฤษในช่วงปี 80s ส่วนช่างภาพสาว แอนนี่ เลโบวิตซ์ ก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะในปี 2003 เธอได้ถ่ายแฟชั่นเซตที่ได้แรงบันดาลใจจากนิยาย Alice in Wonderland ที่เป็นผลงานชิ้นเอกของเกรซ โดยได้นางแบบซูเปอร์โมเดล นาตาเลีย โวเดียโนว่า มาเป็นอลิซ ส่วนตัวละครอื่นๆ ก็เป็นดีไซเนอร์แถวหน้า ทั้ง มาร์ค จาค็อบส์, จอห์น กัลลิอาโน, ทอม ฟอร์ด, คริสเตียน ลาครัวซ์ และ คาร์ล ลาเกอร์เฟลด์ เป็นต้น

 

แฟชั่นเซต ‘Alice in Wonderland’ ในโว้ก อเมริกา ปี 2003 ถ่ายโดย แอนนี่ เลโบวิตซ์

 

มาในปี 2009 บทบาทและชื่อเสียงของเกรซก็เข้าสู่กระแสหลักอย่างมหาศาล หลังจากสารคดี The September Issue ของผู้กำกับ อาร์. เจ. คัตเลอร์ เข้าฉาย หนังเล่าเรื่องราวการทำเล่มเดือนกันยายนของโว้ก ที่เปรียบเสมือนคำภีร์ไบเบิลของวงการแฟชั่น สารคดีเรื่องนี้สะท้อนให้เห็นถึงความรัก ความศรัทธา และความมุ่งมั่นในการทำงาน และเธอก็เปรียบเหมือนหยินกับหยางของนิตยสารคู่กันมากับ แอนนา วินทัวร์

 

เพราะความสำเร็จของสารคดี The September Issue เกรซก็ได้เขียนหนังสือชีวประวัติของตัวเองในปี 2012 ชื่อ ‘Grace’ ได้รับเสียงชื่นชมเป็นอย่างมาก และต่อมาค่ายหนัง A24 ก็ได้ซื้อลิขสิทธิ์ไปทำหนัง นอกจากนี้ เธอยังมีหนังสือรวบรวมผลงานชื่อ Grace: Thirty Years of Fashion at Vogue ที่กลายเป็นหนังสืออีกหนึ่งเล่มที่คนรักแฟชั่นต้องมีไว้ประดับบ้าน

 

เมื่อต้นปี 2016 เกรซได้ประกาศว่าจะขอหยุดเป็นพนักงานประจำ และอำลาตำแหน่งครีเอทีฟ ไดเรกเตอร์ของนิตยสารโว้ก อเมริกา หลังทำงานมา 28 ปี แต่เธอก็ยังทำงานเป็นฟรีแลนซ์ให้ในตำแหน่ง Creative Director at Large และทำแฟชั่นเซตสี่ครั้งต่อปี ส่วนโปรเจกต์ที่เธอได้ทำหลังจากมาทำฟรีแลนซ์ก็มีทั้งสไตล์แคมเปญของแบรนด์เครื่องประดับ Tiffany & Co., ออกน้ำหอมกับ COMME des GARÇONS, ทำแฟชั่นเซตให้กับโว้ก อังกฤษ บ้านแรกของเธอภายใต้การดูแลของ เอ็ดเวิร์ด เอ็นนินฟูล และล่าสุดร่วมงานกับ Louis Vuitton ภายใต้การดูแลของ นิโคลัส เกสกุลิเยร์ สำหรับคอลเล็กชัน Cruise 2019 ที่ได้นำพวกภาพวาดการ์ตูนแมวของเธอไปพิมพ์ลายบนเสื้อผ้าและกระเป๋า

 

ผลงานสไตลิ่งของเกรซที่นิตยสารโว้ก อเมริกา ตลอด 28 ปี ถ่ายโดย ทิม วอล์กเกอร์, บรูซ เวเบอร์, เมิร์ต & มาร์คัส, สตีเวน ไมเซล และ แอนนี่ เลโบวิตซ์ (เรียงจากบน)

 

ผ่านมาเกือบ 60 ปีในวงการ เกรซได้กลายเป็นแรงบันดาลใจและตัวอย่างสำคัญของบุคคลที่รักศาสตร์และศิลปะของวงการแฟชั่นอย่างถึงที่สุด จะใช้คำว่า ‘ถวายตัว’ ก็คงไม่ผิด ทุกวันนี้ด้วยวัย 77 ปี เกรซยังคงไปแฟชั่นวีกทุกซีซัน ใส่ชุดสีดำเบสิกตั้งแต่หัวจรดเท้า และท่ามกลางคนที่นั่งแถวหน้าและหยิบมือถือขึ้นมาถ่ายรูปอัปโหลดภาพบนโซเชียลมีเดียทันที เกรซก็ยังคงนั่งสเกตช์ วาดรูปทุกลุคที่เธอชอบในหนังสือตัวเองเพื่อจะจำว่าอยากถ่ายเสี้อผ้าชุดไหน เธอเลือกที่จะไม่วิ่งตามใครหรือจะไปแต่งตัวแข่งกับใครเพื่อคว้าสปอตไลต์ เพราะสำหรับเธอแล้ว นั่นมันไม่ใช่ ‘วงการแฟชั่น’ ในอุดมคติ

 

ในยุคที่วงการแฟชั่นกำลังแปรปรวน เปลี่ยนแปลงทุกวินาที และมีผู้เล่นที่เข้าออกตลอดเวลา เกรซยังคงไม่ไปไหน และทำให้เห็นว่าถึงแม้อายุเธอจะเดินหน้าต่อไป ผลงานของเธอก็จะเดินตามไปด้วย และเมื่อวันที่เราคิดว่าเธอคงพอแล้ว เธอก็อาจจะเพิ่งเริ่มต้น

 

“Fashion isn’t just frocks. It’s how we do our houses, our gardens, it’s what we eat and drink.”- Grace Coddington

 

แคมเปญ Calvin Klein, นิตยสาร i-D และหนังสือรวบรวมภาพ Grace: Thirty Years of Fashion at Vogue

 

https://www.instagram.com/p/BjXrRtFFgvZ/

https://instagram.com/p/BY1C2tfAi3t/

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X