×

ทำกำไรเป็นเรื่องรอง GrabFood อัดโปรโมชันต่อเนื่อง หวังยอดขายในร้านและผู้ใช้ใหม่โต 1 เท่า

09.09.2020
  • LOADING...

ถึง GrabFood จะเปิดตัวในเมืองไทยได้เพียง 2 ปีกว่าๆ แต่วันนี้ GrabFood อ้างว่า ตัวเองนั้นขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของ Food Delivery มา 1 ปีกว่าๆ แล้ว โดยอ้างอิงผลการสำรวจของ Kantar ที่ระบุว่า ในหมวดของ Food Delivery มีคนใช้ GrabFood อยู่มากกว่า 56% 

 

ทว่าแม้จะสามารถไต่เต้าขึ้นมาเป็นผู้นำตลาดได้ แต่ก็ต้องแลกมากับอาการบาดเจ็บทางธุรกิจ ซึ่งวันนี้ GrabFood ยังไม่อยู่ในจุดที่ทำกำไรเสียที โดยมีปัจจัยหลักมาจากการ ‘อัดโปรโมชัน’ ที่ต้องแข่งกันดึงดูดลูกค้าจากคู่แข่ง ซึ่ง GrabFood ระบุว่า มีการทำโปรโมชันทุกวัน 365 วัน ไม่มีวันหยุด

 

“วันนี้เรายังไม่นึกถึงเรื่องทำกำไร เรื่องรายได้เป็นเรื่องรอง แต่สิ่งสำคัญที่เราต้องทำในวันนี้คือการทำให้ลูกค้า ร้านค้า และคนขับมีความพึงพอใจสูงที่สุด” จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด แกร็บ ประเทศไทย กล่าว

 

ล่าสุด GrabFood ได้มีการจัดแคมเปญ ‘Free Your Hunger’ ซึ่งถูกระบุว่า เป็นแคมเปญใหญ่ที่สุดของปี เพราะมีร้านค้าเข้าร่วมมากที่สุด และให้ลดทั้งค่าส่ง ค่าอาหาร และโปรโมชันต่างๆ กว่า 30,000 ดีล มากที่สุดของปี 

 

โดย GrabFood วางเป้าหมายจากแคมเปญนี้ 3 เรื่อง ได้แก่ เพิ่มยอดขายให้กับร้านค้าที่อยู่บนแพลตฟอร์มและเข้าร่วมแคมเปญนี้โดยประมาณ 1 เท่า อ้างอิงจากข้อมูลของแคมเปญก่อน, เพิ่มผู้ใช้บริการรายใหม่ (New User) 1 เท่าตัว และช่วยทำให้ Most Often Used Brand (MOUB) เพิ่มจากจาก 56% เป็น 60%

 

ลึกๆ แล้วการทุ่มอัดแคมเปญในครั้งนี้ส่วนหนึ่งต้องการชดเชยรายได้ที่หายไปในช่วงที่เกิดการระบาดของโรคโควิด-19 เพราะในช่วงนั้นรายได้จากธุรกิจคนส่งลดลง 90% โดยส่วนหนึ่ง 20-30% ของรายได้มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยว 

 

ขณะเดียวกันในส่วนของ GrabFood ได้รับอานิสงส์จากการระบาดในครั้งนี้ โดยมีร้านที่สมัครเข้าร่วมแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น 2.5 เท่า ปัจจุบันมีร้านค้าทั้งหมด 80,000 ร้านค้า, ผู้ใช้ใหม่เติบโต 3 เท่า จำนวนออร์เดอร์เติบโตขึ้น 30% และส่วนคนขับในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน มีคนขับสมัครใหม่กว่า 40,000 คน

 

 

จากการคาดการณ์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) โรคโควิด-19 อาจจะอยู่กับเราไปถึง 18 เดือน ธุรกิจส่งคนของ Grab กว่าจะฟื้นตัวขึ้นได้เหมือนช่วงเวลาปกติก็อาจจะต้องใช้เวลา สำหรับในส่วนของธุรกิจ Food Delivery นั้น แม้ว่าด้วยนิสัยและวัฒนธรรมของคนไทยที่ยังชอบเข้าสังคม ผู้คนก็ยังโหยหาการออกจากบ้าน การรับประทานอาหารนอกบ้าน แต่ GrabFood คิดว่าการสั่งอาหารผ่านแอปพลิเคชันจะยังเป็นที่นิยมอยู่ จึงคิดว่าธุรกิจ Food Delivery จะยังคงเติบโตต่อไปในสถานการณ์ New Normal 

 

“สิ่งที่เรากำลังเผชิญกันอยู่นี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่แปลกใหม่สำหรับพวกเราทุกคน ซึ่งความท้าทายก็คือความไม่แน่นอนนั่นเอง แต่นั่นก็เท่ากับว่าเราต้องจับตามองถึงสถานการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด

 

“ความท้าทายในการคงไว้ซึ่งลูกค้า Food Delivery อย่างแรกคือการคงไว้ซึ่งความหลากหลายของอาหาร ส่วนที่สองคือการคงไว้ซึ่ง Reliability เช่น ความสะอาด ความรวดเร็วในการให้บริการ และปัจจัยที่สามก็คือเรื่องราคาที่สมเหตุสมผล ถ้ามีผู้เล่นในตลาดเยอะ ก็คงมีการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ท้าทายเหมือนกัน”

 

จากผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทยพบว่า ในช่วงครึ่งปีแรก 2563 มีจำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึงประมาณ 150% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน พร้อมกับคาดว่าแนวโน้มตลาด Food Delivery หลังวิกฤตโควิด-19 ระบาดหนักยังคง ‘เติบโต’ แต่การแข่งขันจะ ‘ร้อนแรง’ ยิ่งขึ้นกว่าเดิม จากการเข้ามาของผู้เล่นหน้าใหม่และอัดโปรโมชันอย่างหนัก 

 

ซึ่งความนิยมในการใช้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก จะดึงดูดให้ผู้ให้บริการรายใหม่ทั้งต่างชาติและไทยเข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น โดยมาจากกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน รวมถึงผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรม ซึ่งจะสร้างความตื่นตัวและส่งผลต่อธุรกิจ Food Delivery ในหลากหลายมิติ

 

ปัจจุบันธุรกิจ Food Delivery ในไทยมีมูลค่าตลาดรวมที่ 35,000 ล้านบาท (อ้างอิงจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย) และธุรกิจนี้ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ธุรกิจนี้มีการขยายตัวต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10-14% ซึ่งเติบโตสูงกว่าธุรกิจร้านอาหารเองที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 3-4% ต่อปี

 

ขณะเดียวกัน GrabFood ยังเปรียบเทียบโอกาสของ Food Delivery กับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นบริการออนไลน์เหมือนกัน แต่ฝ่ายหลังมีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่ง Food Delivery ก็มีโอกาสแตะไปถึงจุดนั้นได้ไม่ยาก เพราะแต่ละวันคนไทยกินถึง 7 มื้อด้วยกัน เมื่อเทียบกับโอกาสในการช้อปสินค้าในอีคอมเมิร์ซ ยังน้อยกว่าการสั่งอาหารเสียอีก

 

“ในความเป็นจริงแล้ว GrabFood มองว่าตัวเลขของตลาด Food Delivery ในไทยน่าจะมูลค่าตัวเลขมากกว่านี้ เนื่องจากมูลค่าของ GrabFood เองก็มีมูลค่าเทียบเท่าทั้งตลาดแล้ว”

 

ดังนั้นในปัจจุบันคงต้องยอมรับว่ามีอัตราการแข่งขันที่สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ เนื่องจากมีผู้เล่นในหลากหลายธุรกิจได้เริ่มลงมาแข่งขันในตลาด Food Delivery กันมากขึ้น เพราะมองเห็นโอกาสและการเติบโตในการลงทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งเป็นผลดีต่อผู้บริโภคมากกว่าผลเสีย 

 

“สำหรับ แกร็บ ประเทศไทย มองว่าการแข่งขันของตลาด Food Delivery ถือเป็นผลดีต่อตลาดและผู้บริโภค ซึ่งแต่ละเจ้ามีโมเดลในการทำธุรกิจไม่เหมือนกัน และสุดท้ายคนที่จะเป็นผู้ตัดสินคือผู้บริโภค” 

 

ทั้งนี้ในปีที่ผ่านมาทุกบริการของ Grab มีการใช้งานกว่า 160 ล้านครั้งในทุกธุรกิจ เฉพาะในส่วนของ GrabFood มีคนขับทั้งสิ้น 100,000 ราย มียอดสั่งซื้อต่อออร์เดอร์เฉลี่ย 100-200 บาท 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X