×

เปิดกลยุทธ์ Cloud Kitchen ดัน Grab Food โต 110 เท่าใน 1 ปี 4 ล้านออร์เดอร์ใน 4 เดือน

01.05.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • แกร็บฟู้ด (Grab Food) เป็นธุรกิจที่มีการเติบโตสูงสุดในบรรดาบริการทั้งหมดของแกร็บ ประเทศไทย โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ตัวเลขการเติบโตอยู่ที่ 110 เท่า จาก 3 ล้านออร์เดอร์ใน 1 ปี กลายเป็น 4 ล้านออร์เดอร์ใน 4 เดือน
  • ปัจจัยสำคัญหลัก 3 ประการ ที่ทำให้บริการส่งอาหารของแกร็บประสบความสำเร็จมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว​ ฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่สั่งสมมาตั้งแต่เร่ิมให้บริการการเดินทาง และพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและคนขับที่มีจำนวนมากเป็นลำดับต้นๆ ของผู้ให้บริการในกลุ่มนี้
  • ในอนาคต แกร็บเล็งจะนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาแก้ปัญหาระยะทางการจัดส่งอาหารที่ปัจจุบันยังจำกัดอยู่ที่ 5 กิโลเมตร เช่น การสร้างคลาวด์คิทเชน เพื่อเป็น Hub ครัวกลางรวมร้านอาหารเด็ดๆ มาไว้ในที่เดียวกัน

ไม่กี่เดือนก่อนหน้านี้ เราพบพฤติกรรมการใช้บริการธุรกิจส่งอาหาร (Food Delivery) ของคนรอบตัว ที่ชวนให้ฉงนสงสัยอยู่พอสมควร เพราะข้าวมันไก่จากร้านดังที่เพื่อนร่วมงานรุ่นพี่สั่งผ่านแอปพลิเคชันให้มาส่งถึงที่นั้น อยู่ห่างจากออฟฟิศของเราออกไปแค่ไม่ถึง 500 เมตร! ก่อนจะให้เหตุผลกับเราว่า “ค่าส่งแค่ 10 บาท ทำไมต้องเสียเวลาเดินตากแดดออกไปซื้อเองด้วยล่ะ”

 

เราเชื่อว่า ผู้ใช้งานบริการส่งอาหารแกร็บฟู้ด (Grab Food) โดยแกร็บส่วนใหญ่ในวันนี้ก็คงจะคิดเห็นไม่ต่างจากรุ่นพี่คนดังกล่าว นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้บริการส่งอาหารกลายเป็นหมวดธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในบรรดาธุรกิจทั้งหมดของแกร็บในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา โดยมีตัวเลขการเติบโตที่ 110 เท่า

 

จากยอดการจัดส่งอาหารที่ 3 ล้านออร์เดอร์ตลอดท้ังปี 2018 พุ่งเป็น 4 ล้านออร์เดอร์ในแค่ 4 เดือนแรกของปี 2019 ทั้งๆ ที่พวกเขาเพิ่งเริ่มต้นธุรกิจส่งอาหารอย่างเป็นทางการได้แค่ 1 ปี 2 เดือนเท่านั้น (แกร็บฟู้ดเริ่มต้นให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018) เรียกว่าเป็น Rising Star ของแพลตฟอร์มผู้ให้บริการจากสิงคโปร์อย่างแท้จริง

 

ในมุมของผู้ใช้บริการและผู้ที่สังเกตการณ์อยู่ไม่ห่าง เราพบว่า โมเดลการให้บริการของแกร็บฟู้ดน่าสนใจมาก เพราะแม้จะมีข้อจำกัดในด้านระยะทางการส่งอาหารที่ตีกรอบรัศมีแค่ 5 กิโลเมตร แต่สุดท้ายแล้วมันกลับเป็นปัจจัยที่ทำให้พวกเขานำส่งอาหารถึงมือลูกค้าได้ในระยะเวลาแค่ 30 นาที แถมค่าส่งก็ยังถูกกว่าการเดินทางไปที่ร้านด้วยตัวเองเสียอีก

 

THE STANDARD เดินทางมายังออฟฟิศของแกร็บ ประเทศไทย ย่านสุขุมวิท คุยกับ ธรินทร์ ธนียวัน กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เพื่อให้เขาบอกเล่าถึงแนวคิดเบื้องหลังความสำเร็จของแกร็บฟู้ด ภาพรวมอุตสาหกรรมตลาดฟู้ดเดลิเวอรีไปจนถึงนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะถูกนำเข้ามาใช้กับการให้บริการในอนาคตอันใกล้

 

พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ฐานลูกค้าขนาดใหญ่ และพาร์ตเนอร์ที่แข็งแกร่ง 3 ปัจจัยหลักที่ทำให้แกร็บฟู้ดโตแบบหยุดไม่อยู่

จากสถิติการเติบโตที่ 110 เท่า และปริมาณออร์เดอร์การสั่งอาหารที่เพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องในทุกๆ วัน ทั้งหมดล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่า แกร็บฟู้ดคือภาคธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดแซงทุกผลิตภัณฑ์บริการในปัจจุบันของแกร็บไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ไม่ว่าจะเป็นตลาดในประเทศไทยหรือทุกประเทศในอาเซียนที่แกร็บฟู้ดให้บริการ

 

ถึงขนาดที่ผู้บริหารแกร็บยังยอมรับด้วยตัวเองว่า ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ตัวเขาก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อนด้วยซ้ำ!

 

 

มองให้ลึกลงไปถึง Key Success ของแกร็บฟู้ด ธรินทร์บอกเราว่า ปัจจัยสำคัญ 3 ข้อใหญ่ๆ ที่ส่งผลให้บริการส่งอาหารของพวกเขาก้าวขึ้นมาครองส่วนแบ่งตลาดในประเทศได้มากกว่าครึ่งหนึ่ง เป็นผลมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว​ ฐานลูกค้าขนาดใหญ่ที่แกร็บสั่งสมมาตั้งแต่เร่ิมให้บริการการเดินทาง และพาร์ตเนอร์ร้านอาหารและคนขับที่น่าจะมีจำนวนมากเป็นลำดับต้นๆ ในกลุ่มผู้ให้บริการทั้งหมด

 

“ถ้ามองจากปัจจัยภายนอก เหตุผลสำคัญลำดับแรกที่ทำให้แกร็บฟู้ดเติบโตได้อย่างรวดเร็วก็เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสักประมาณ 3 ปีที่แล้ว นั่นคือช่วงเวลาที่การซื้อขายสินค้าและการส่งของของธุรกิจอีคอมเมิร์ซบูม แต่ปัจจุบันในวันที่คนไทยส่วนใหญ่มีสมาร์ทโฟนเป็น ‘ศูนย์กลางการใช้ชีวิต’ ประกอบกับสภาพการจราจรบนท้องถนนที่ย่ำแย่ ก็ทำให้ธุรกิจสั่งอาหารและบริการออนดีมานด์อื่นๆ ติดตลาดได้เร็ว ไม่ต้องไปลำบากเสียเวลาต่อคิวที่ร้าน ก็สามารถสั่งอาหารมาส่งถึงที่ได้ทันที แถมค่าส่งก็ถูก มีโค้ดส่วนลดโปรโมชันต่างๆ ให้อีก

 

“ตัวแกร็บเองเราดำเนินธุรกิจในไทยมากว่า 5 ปี มีฐานลูกค้ากว่าล้านราย เมื่อตั้งเป้าไว้ว่า อยากเป็น Every Day Application ก็ต้องมีบริการต่างๆ ที่ครอบคลุมการใช้ชีวิตประจำวันของลูกค้าให้ได้ ในกรณีที่เปิดตัวบริการใหม่ๆ ขึ้นมา การที่เรามีฐานผู้ใช้งานกว่าล้านคนอยู่แล้ว จึงช่วยให้การ Cross Sale ไปยังผลิตภัณฑ์อื่นๆ ทำได้ง่าย

 

“ในฝั่งพาร์ตเนอร์คนขับที่เราสร้างขึ้นมาตลอดระยะเวลาของการให้บริการที่ ณ วันนี้มีมากกว่า 150,000 ราย ก็เป็นข้อได้เปรียบเหนือผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ เพราะยิ่งมีจำนวนคนขับเยอะ ก็ยิ่งทำให้การรับออร์เดอร์และส่งอาหารถึงมือลูกค้าทำได้เร็วขึ้นภายในระยะเวลาไม่ถึง 30 นาที เช่นเดียวกับพาร์ตเนอร์ร้านอาหารบนแกร็บฟู้ดที่มีมากกว่า 10,000 รายในหลากหลายประเภท ซึ่งการทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์เหล่านี้เป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญและใส่ใจมากๆ”

 

หนึ่งในผลลัพธ์ที่เกิดจากการทำงานใกล้ชิดกับพาร์ตเนอร์อยู่ตลอดเวลาคือ การที่แกร็บฟู้ดมักจะมีโปรโมชันส่วนลดและดีลพิเศษใหม่ๆ เกิดขึ้นในทุกๆ สัปดาห์ เช่น แคมเปญอาหารประเภทไก่ทอด อาหารช่วงเทศกาลตรุษจีน อาหารญี่ปุ่น ชานมไข่มุก หรือส่วนลด 15-30% ซึ่งกลายเป็นการกระตุ้นตลาดและทราฟฟิกการสั่งอาหารที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

 

 

เอาลูกค้าเป็นโจทย์ตั้ง แล้วมองให้ออกว่าเขาต้องการอะไร

ขึ้นชื่อว่า ‘บริการ’ ถ้าสุดท้ายแล้วไม่มีคนใช้ ผู้ให้บริการก็คงต้องพับเสื่อเก็บ แล้วมานั่งย้อนทบทวนความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งก็จะดีกว่า หากผู้ให้บริการสามารถตีโจทย์แตกครองความนิยมของผู้บริโภคได้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มให้บริการอย่างเต็มรูปแบบ

 

สำหรับแกร็บเอง ธรินทร์ยอมรับว่า ในวันที่เริ่มให้บริการแกร็บฟู้ดใหม่ๆ อย่างเป็นทางการเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2018 บริการของพวกเขาถือเป็นน้องใหม่ป้ายแดงในสังเวียน เพราะในเวลานั้นก็มีผู้ให้บริการส่งอาหารเจ้าอื่นๆ ที่ลงมาจับตลาดอยู่ก่อนแล้ว แต่วิสัยทัศน์และกลยุทธ์หลักที่แกร็บยึดถือมาตั้งแต่ต้นคือ สร้างผลิตภัณฑ์เพื่อเติมเต็มความต้องการของผู้บริโภคทุกคนให้ได้ โดยเอาลูกค้าเป็นโจทย์ตั้งต้นในการดีไซน์รูปแบบการให้บริการ

 

เช่น ความต้องการของลูกค้าที่ใช้บริการสั่งอาหารรูปแบบนี้ก็หนีไม่พ้น ต้องการความสะดวก อาหารต้องได้เร็ว มีร้านอาหารให้เลือกหลากหลายประเภท ค่าส่งถูก และมีโปรโมชันส่วนลดพิเศษเด็ดๆ ออกมาอยู่เสมอ

 

“อันดับแรกเราต้องเข้าใจก่อนว่า ลูกค้าที่จะสั่งอาหารผ่านบริการของเรา เขาต้องการอะไร อย่างแกร็บฟู้ดจะให้ความสำคัญกับการส่งอาหารลูกค้าภายในระยะเวลา 30 นาทีมาก นั่นจึงทำให้เราต้องมาวางแผนว่าจะจัดซัพพลายอย่างไร ต้องกระจายพาร์ตเนอร์คนขับในตำแหน่งใดมากเป็นพิเศษ รวมถึงการวางระยะทางจัดส่งอาหารจากจุดที่สั่งไม่เกินรัศมี 5 กิโลเมตร และการออกโปรโมชันต่างๆ ออกมา ซึ่งเป็นสิ่งที่จะขาดไม่ได้อยู่แล้ว ฉะนั้น สำหรับเราจึงมองว่า ความพึงพอใจของลูกค้าต้องมาเป็นอันดับแรก

 

“ฝั่งพาร์ตเนอร์ที่เราทำงานด้วย ไม่ว่าจะเป็นคนขับหรือร้านอาหาร แกร็บก็จะต้องแน่ใจให้ได้ว่า ทุกฝ่ายมีความพร้อม อย่างพี่ๆ คนขับก็ต้องพร้อมที่จะส่งอาหาร มีจำนวนคนขับที่เหมาะสม และมีอุปกรณ์ในการจัดส่งอาหารที่ถูกสุขลักษณะอนามัย ส่วนร้านอาหารบางรายที่ไม่เคยมีประสบการณ์ทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ส่งอาหารมาก่อน เราก็ต้องอธิบายให้ความรู้เขาว่า กระบวนการมันเป็นอย่างไร แล้วลูกค้าต้องการอะไร”

 

ธรินทร์ยังบอกอีกด้วยว่า การมีทราฟฟิกออร์เดอร์อาหารหลั่งไหลเข้ามาในระบบหลังบ้านของแกร็บฟู้ดเป็นจำนวนมาก ก็ถือเป็นอีกหนึ่งความได้เปรียบของแกร็บ เพราะพวกเขาสามารถนำข้อมูลชุดดังกล่าวไปต่อยอดจัดแคมเปญโปรโมชันให้เหมาะสมกับผู้ใช้งานตามแต่ช่วงเวลาและโอกาสได้อีกด้วย

 

ส่วนค่าส่ง 10 บาท ซึ่ง ณ วันนี้ถือว่าเป็นค่าบริการส่งอาหารที่น่าจะถูกสุดในท้องตลาด ผู้บริหารแกร็บบอกว่า เป็นไปตามกลไกตลาด ซึ่งแน่นอนว่า ช่วงแรกๆ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็จำเป็นจะต้องกระตุ้นตลาด เพื่อให้เกิดการตื่นตัว และมีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมากตามปกติอยู่แล้ว แต่ต่อไปในอนาคต ค่าบริการอาจจะมีการปรับเพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ขึ้นอยู่กับกลไกตลาดและปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ (เช่น อาจจะให้บริการในระยะทางที่มากกว่า 5 กิโลเมตร)

 

 

‘treble Win’ ไม่ใช่แค่ผู้ใช้บริการที่ได้ประโยชน์ แพลตฟอร์ม ร้านอาหาร และคนขับก็ต้องได้รับประโยชน์เหมือนกัน

การทำธุรกิจ เมื่อมีผู้ประกอบการหรือตัวละครมากกว่า 1 ราย เข้ามาเกี่ยวข้อง หากจะเดินต่อไปในเส้นทางนี้ได้อย่างมั่นคง การรักษาสมดุลและสร้างสายสัมพันธ์อันดีระหว่างพาร์ตเนอร์พันธมิตรทางธุรกิจแต่ละเจ้า ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการทุกรายจะมองข้ามไม่ได้เป็นอันขาด

 

“หนึ่งในวิสัยทัศน์ของแกร็บในการดำเนินธุรกิจแกร็บฟู้ดคือ พัฒนาช่องทางที่จะช่วยให้ร้านค้าและผู้ประกอบการระดับเล็กได้รับประโยชน์จากแพลตฟอร์มที่เราพัฒนาขึ้นมา

 

“อย่างในอดีต ถ้าผู้ประกอบการร้านอาหารอยากจะเปิดร้านอาหารขึ้นมาสักแห่ง แล้วต้องขยายสาขา ก็ต้องใช้เงินลงทุนที่สูง เพื่อทุ่มกับการทำร้านและการประชาสัมพันธ์ ผลลัพธ์ที่ได้กลับคืนมาจะดีหรือเปล่าก็คาดการณ์ไม่ได้ แต่ปัจจุบันแพลตฟอร์มของแกร็บสามารถเชื่อมโยงผู้ใช้งานเป็นล้านๆ คน ให้เขาถึงกันได้ ช่วยให้ร้านอาหารถูกเห็นได้ง่ายขึ้นโดยไม่ต้องไปขยายสาขาเพิ่ม แถมยังช่วยให้พวกเขามียอดขายเพิ่มขึ้นได้ด้วย

 

“ทุกวันนี้ถ้าไปดูยอดขายโดยเฉลี่ยต่อร้านของร้านอาหาร (Same Store Sale) ในประเทศไทยจะพบว่า ตัวเลขมันไม่ได้เติบโตเพิ่มขึ้นเยอะเลยนะ เพิ่มแค่หลักเดียว หรืออย่างมากก็แค่ 10% นั่นแปลว่า ถ้าคุณต้องมานั่งเพิ่มยอดขายจากออฟไลน์ โดยไม่ไปเพิ่มช่องทางอื่นเลยมันจะเติบโตได้น้อย แต่เมื่อคิดจะขยายสาขาหรือเริ่มบริการส่งอาหารด้วยตัวเอง ต้นทุนค่าดำเนินการมันก็สูงมาก พอมีแพลตฟอร์มแบบแกร็บเกิดขึ้นมา มันก็ช่วยแก้ปัญหานี้ได้ เราสร้างทุกอย่างขึ้นมาเป็นระบบนิเวศเดียวกัน เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร”

 

อีกข้อสังเกตที่เราพบว่าเป็นเสน่ห์ของบริการส่งอาหารแกร็บฟู้ดคือ หลายครั้งที่เราเรียกใช้บริการส่งอาหารของพวกเขา ผู้ส่งมักจะมาด้วยกันเป็นคู่ชาย-หญิง ซึ่งก็พอจะเดาได้ไม่ยากว่าเป็นคู่รักกัน และก็เดาได้อีกไม่ยากเช่นกันว่าทั้งคู่ช่วยกันทำมาหากินสร้างรายได้ ฝ่ายชายขับรถ ฝ่ายหญิงลงไปสั่งอาหารและนำมาส่งให้ถึงมือลูกค้า สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ชี้ให้เห็นว่า แพลตฟอร์มของแกร็บช่วยสร้างประโยชน์ให้กับพาร์ตเนอร์ขนาดไหน

 

“ทุกๆ บริการที่เราเพิ่มลงไปในแกร็บ เพื่อให้เป็น Every Day Application เพราะเราต้องการฟีดงานเพิ่มให้กับพาร์ตเนอร์คนขับของเรา เมื่อก่อนพวกเขาอาจจะแค่รับ-ส่งผู้โดยสาร ช่วงเวลาที่ทำงานก็อาจจะมีแค่ 2 ช่วง คือเช้าและเย็น (ช่วงที่คนเดินทางไปทำงานและเลิกงาน) แต่ยิ่งเราบริการใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมาก็จะสามารถช่วยให้พวกเขาหารายได้เพิ่มขึ้นได้ด้วย”

 

 

คลาวด์คิทเชน นวัตกรรมจากแกร็บฟู้ดที่เตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้

ถึงการจำกัดระยะทางให้บริการส่งอาหารในรัศมี 5 กิโลเมตร จากจุดที่ผู้ใช้บริการสั่งอาหาร จะเป็นข้อได้เปรียบที่ทำให้แกร็บฟู้ดสามารถนำส่งอาหารได้รวดเร็วทันใจ และมีค่าใช้บริการถูก แต่ในอีกมุมหนึ่งมันก็กลายเป็น Pain Point ที่ทำให้ผู้ใช้งานไม่สามารถสั่งอาหารจานเด็ดที่อยู่ไกลเกินระยะทางที่กำหนดได้ เรื่องนี้ธรินทร์ยอมรับว่า แกร็บเองก็กำลังพัฒนาทางออกที่ลงตัวอยู่ รวมถึงอาจจะเป็นไปได้ที่ในอนาคตอันใกล้นี้ พวกเขาจะเปิดตัวนวัตกรรมอย่าง ‘คลาวด์คิทเชน’ ขึ้นมา

 

“จริงๆ แล้ว ระยะทาง 5 กิโลเมตร ณ ปัจจุบันก็ถือว่าค่อนข้างครอบคลุมนะ แต่ถ้ามองในอีกมุมหนึ่ง ก็จะมีกรณีของผู้ใช้งานที่อาศัยในย่านดอนเมือง แล้วอยากกินอาหารจากร้านในย่านเยาวราช แต่ไม่สามารถทำได้ ซึ่งเราก็ต้องมาคำนวณดูกันว่า ถ้าขยายระยะทางการให้บริการแล้ว คนขับต้องขับไกลขึ้น เขาจะไหวไหม ร้านค้าต้องปรับตัวอย่างไร ค่าส่งแพงขึ้น รออาหารนานขึ้น ผู้ใช้บริการจะรับได้ไหม มันมีปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ที่เราต้องคำนึงถึง

 

“ผมเชื่อว่า มันต้องมีโมเดลการแก้ปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นมา อาจจะเป็น ‘คลาวด์คิทเชน (Cloud Kitchen)’ หรือครัวกลาง (Centralized Kitchen) ที่เป็นครัวใหญ่ ซึ่งรวบรวมเอาผู้ประกอบการร้านอาหารร้านยอดนิยมหลายๆ เจ้ามาไว้ในที่เดียวกัน แล้วทำอาหารกระจายส่งอย่างเดียว เช่น เอาร้านดังๆ ที่อยู่ในเยาวราชมารวมในที่เดียว อาจจะไปตั้งบริเวณแจ้งวัฒนะ หรือที่ที่มีผู้ใช้งานเป็นจำนวนมาก

 

“การแก้ปัญหาข้อจำกัดระยะทางในการส่งอาหาร ถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการธุรกิจแบบแกร็บต้องเริ่มคิดให้ได้ ตีโจทย์ให้แตกว่าจะลดช่องว่างการเสียโอกาสนี้ได้อย่างไร และเร็วๆ นี้ก็น่าจะได้เห็นคลาวด์คิทเชนของแกร็บกัน เรามีแผนจะเริ่มทดลองในอนาคตอันใกล้ และเชื่อว่า น่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน เพราะตัวร้านอาหารเองก็ไม่ต้องไปลงทุนขยายสาขาใหม่ด้วยตัวเอง พาร์ตเนอร์คนขับก็รู้ว่าต้องมารับอาหารจากสถานที่เดียวเป็นหลัก”

 

สำหรับคอนเซปต์ของคลาวด์คิทเชนจะทำหน้าที่คล้าย Hub ในการเป็นครัวกลางทำอาหาร เพื่อรองรับการส่งเดลิเวอรีโดยเฉพาะ ซึ่งในบริบทของเชนร้านอาหารแฟรนไชส์อย่างพิซซ่าหรือฟาสต์ฟู้ด อาจจะไม่ใช่เรื่องที่แปลกใหม่อะไร แต่สำหรับผู้ให้บริการส่งอาหาร นี่อาจจะเป็น Game Changer ที่ทำให้แกร็บกุมความได้เปรียบเหนือผู้เล่นรายอื่นๆ

 

 

ตลาดธุรกิจส่งอาหารโตเร็ว ใครจะเป็นเบอร์หนึ่งได้ ทุนต้องหนา ระบบนิเวศต้องพร้อม

แม้จะไม่มีข้อมูลตัวเลขการสำรวจตลาดธุรกิจส่งอาหารในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ แต่ในฐานะผู้ประกอบการที่อยู่ในตลาดโดยตรง ธรินทร์มองว่า ภาพรวมอุตสาหกรรมธุรกิจส่งอาหาร ถือเป็นตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก มากเสียจนแม้แต่ผู้เล่นในสังเวียนนี้ก็ยังไม่สามารถคาดการณ์อะไรล่วงหน้าได้เลยด้วยซ้ำ

 

แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการธุรกิจส่งอาหารก้าวเดินได้อย่างมั่นคง นอกจากการตอบโจทย์ผู้บริโภคและพาร์ตเนอร์ได้ถูกจุดแล้ว เงินทุนและความพร้อมของระบบนิเวศบนแพลตฟอร์มก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้กัน

 

“ผมมองว่า ภาพรวมตลาด ณ ตอนนี้เป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก อะไรๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แต่เชื่อว่า สเกลขนาดนี้ผู้เล่นรายอื่นน่าจะแซงเราได้ยาก อย่างทุกวันนี้จำนวนผู้ใช้บริการแกร็บฟู้ดยังไม่เท่ากับจำนวนผู้ใช้บริการการเดินทางของเราเลย นั่นแสดงว่า โอกาสในการ Cross Sale ของเรายังมีอีกเยอะ

 

“3-5 ปีต่อจากนี้ ตลาดธุรกิจส่งอาหารจะโตไปไกลกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันแน่นอน สถานการณ์ของมันค่อนข้างคล้ายกับในยุคที่อีคอมเมิร์ซเพิ่งบูมใหม่ๆ ช่วงแรกร้านค้าส่วนใหญ่อาจจะยังไม่เชื่อมั่น แต่วันนี้ถามว่ามีผู้ประกอบการรายไหนอยากจะเปิดหน้าร้านขยายสาขาบ้าง อาจจะมีแต่ก็น้อย ส่วนใหญ่ผมเชื่อว่า ทุกคนเห็นตรงกันว่า ขายผ่านอีคอมเมิร์ซน่าจะดีกว่า คอนเซปต์ของตลาดฟู้ดเดลิเวอรีก็เหมือนกัน

 

“เงินทุนถือเป็นปัจจัยสำคัญในการยืนระยะทำธุรกิจให้ได้มั่นคง การจะกระตุ้นตลาดให้คนหันมาเริ่มใช้บริการของคุณจำเป็นต้องอาศัยเงินทุน ต่อมาระบบนิเวศก็ต้องพร้อม มีฐานลูกค้าจำนวนมาก มีพาร์ตเนอร์คนขับ และร้านอาหารที่ครอบคลุม ถ้าไม่มีหรือไม่สามารถสร้างทั้ง 3 อย่างนี้ได้ในระยะเวลาอันสั้น ถือว่าลำบากมาก เพราะว่าสุดท้ายแล้ว ผู้ให้บริการที่มีบริการที่ดี มีตัวเลือกร้านอาหารและแคมเปญต่างๆ ที่ครบครัน ก็จะได้เปรียบเหนือผู้ให้บริการเจ้าอื่นๆ ซึ่งตอนนี้แกร็บก็อยู่ในจุดที่ดีมาก”

 

อาจจะยังเร็วไปที่จะบอกว่าแกร็บฟู้ดประสบความสำเร็จแบบทิ้งห่างคู่แข่งไปจนไม่เห็นฝุ่น แต่ภาพรวมการเติบโต ณ วันนี้ก็ถือว่าน่าจับตามาก โดยเฉพาะแผนการต่อไปที่จะขยายพื้นที่การให้บริการเพิ่มให้ได้อีกอย่างน้อย 6 จังหวัดภายในปี 2019 รวมถึงการสร้างคลาวด์คิทเชนขึ้นมา และเมื่อถึงเวลานั้น เราคงจะได้ทราบกันว่า แกร็บฟู้ดยืนหนึ่งในสังเวียนธุรกิจส่งอาหารนี้ได้มั่นคงแค่ไหน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising