×

‘แกร็บ ไฟแนนเชียล’ เล็งขยายสินเชื่อไปยังกลุ่มร้านอาหารระดับกลาง พร้อมเปิดตัวสินเชื่อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปีหลัง

15.07.2022
  • LOADING...
แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป

แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป โชว์แผนธุรกิจครึ่งปีหลัง เตรียมขยายบริการสินเชื่อไปยังกลุ่มร้านอาหารระดับกลางภายในไตรมาส 3 พร้อมเปิดตัวสินเชื่อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในครึ่งปีหลัง ตั้งเป้ามีพาร์ตเนอร์คนขับที่ใช้ยานพาหนะ EV 10% ภายในปี 2026

 

วรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการ แกร็บ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ Grab มีแผนจะขยายบริการทางการเงินให้ครอบคลุมฐานของร้านอาหารบนแพลตฟอร์มให้มากยิ่งขึ้น โดยในช่วงไตรมาสที่ 3 นี้ บริษัทจะเริ่มให้บริการสินเชื่อเงินสดแก่กลุ่มร้านอาหารระดับกลาง คาเฟ่ และร้านอาหารที่เป็น Chain Restaurant เพิ่มเติมจากปัจจุบัน ที่ยังเน้นให้บริการกลุ่มร้านอาหารขนาดเล็กหรือสตรีทฟู้ด


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


“เราเริ่มเข้ามาทำสินเชื่อกลุ่มร้านอาหารได้ 18 เดือนแล้ว จุดเริ่มต้นเกิดจากการสำรวจร้านอาหารบนแพลตฟอร์มในช่วงโควิด ซึ่งเราพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาขาดกระแสเงินสด และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินในระบบได้ เพราะสถาบันการเงินมองว่าเป็นกลุ่มเสี่ยง ขณะที่เรามองว่าเรามีข้อมูลจากระบบเรตติ้ง และรายได้บนแพลตฟอร์มที่สามารถนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ เราจึงมองเห็นโอกาสที่จะเข้ามาช่วยคนกลุ่มนี้” วรฉัตรกล่าว

 

วรฉัตรกล่าวว่า ปัจจุบันสินเชื่อเงินสดของ Grab ที่ปล่อยให้กับกลุ่มร้านอาหารสตรีทฟู้ด เป็นผลิตภัณฑ์เดียวกับสินเชื่อที่ปล่อยให้กับกลุ่มไรเดอร์และคนขับบนแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ให้วงเงินตั้งแต่ 5,000 บาทไปจนถึงสูงสุด 100,000 บาท คิดดอกเบี้ยที่ 33% ต่อปี โดยให้ระยะเวลาการผ่อนประมาณ 4 เดือน

 

“เราใช้วิธีหักเงินรายวันบนแพลตฟอร์ม ทำให้ยอดการผ่อนน้อยลง และความเสี่ยงต่ำ สำหรับดอกเบี้ยที่ 33% ต่อปี เมื่อมาคำนวณในระยะเวลา 4 เดือนจะอยู่ที่ 11% เท่านั้น และเมื่อนำมาคำนวณแบบลดต้นลดดอกรายวันจะให้ทำให้ผู้กู้จ่ายดอกเบี้ยจริงแค่ 8-9% ต่อปี เท่ากับกู้ 1 หมื่นบาทจะจ่ายดอกเบี้ยแค่ 800-900 บาท ซึ่งถูกกว่าเงินกู้นอกระบบมาก” วรฉัตรกล่าว

 

วรฉัตรกล่าวว่า ในปีที่ผ่านมา Grab มีการปล่อยสินเชื่อทั้งในส่วนของร้านอาหาร และคนขับรวมกันราว 3,000 ล้านบาท โดยในกลุ่มคนขับมีวงเงินกู้เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 6,000-7,000 บาท ส่วนกลุ่มร้านอาหารมีวงเงินเฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท ขณะที่หนี้เสียหรือ NPL ในภาพรวมอยู่ที่ต่ำกว่า 2% 

 

วรฉัตรกล่าวอีกว่า ในไตรมาส 3 นี้ บริษัทมีแผนจะขยายบริการสินเชื่อเงินสดเพิ่มเติมไปยังกลุ่มร้านอาหารระดับกลาง คาเฟ่ และร้านอาหารที่เป็น Chain Restaurant ซึ่งคิดเป็น 35% ของร้านอาหารบนแพลตฟอร์มทั้งหมด โดยขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการพัฒนา Machine Learning เพื่อนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยง

 

“ในช่วงโควิดเราได้เข้าไปคุยกับร้านอาหารกลุ่มนี้เช่นกัน ซึ่งหลายรายที่แม้จะเป็นร้านที่เป็นที่รู้จักกันดี ได้สะท้อนให้ฟังว่าเขามีปัญหาในการเข้าถึงสินเชื่อ และต้องการวงเงินเช่นกัน ตอนนี้เรากำลังพิจารณาวงเงินและดอกเบี้ยที่เหมาะสมสำหรับลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งเบื้องต้นวงเงินกู้คงต้องขยับขึ้นเป็นหลักล้านบาท ส่วนดอกเบี้ยก็ต้องลดต่ำลงมา แต่ยังใช้วิธีหักรายวันเหมือนเดิม” วรฉัตรกล่าว

 

นอกจากสินเชื่อสำหรับกลุ่มร้านอาหารระดับกลางแล้ว วรฉัตรกล่าวว่า ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ Grab ยังมีแผนจะเปิดตัว ‘สินเชื่อรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อพาร์ตเนอร์คนขับ’ เพื่อต่อยอดจากสินเชื่อรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้ทำไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเชื่อว่าการขยายฐานสินเชื่อมายังกลุ่มรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าในครั้งนี้ จะช่วยให้​​บริษัทบรรลุการประกาศเป้าหมายระยะยาวคือ การมีพาร์ตเนอร์คนขับที่ใช้ยานพาหนะ EV ให้ได้ 10% ภายในปี 2026

 

ทั้งนี้ วรฉัตรระบุว่า แม้ว่าธุรกิจสินเชื่อของ Grab ในปีนี้มีแนวโน้มจะเติบโตได้ดีขึ้นจากการขยายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แต่บริษัทไม่ได้วางเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อเอาไว้แต่อย่างใด เนื่องจากเป้าหมายหลักของบริษัทคือการพัฒนา Financial Inclusion เพื่อช่วยให้ร้านอาหารและคนขับที่อยู่ใน Ecosystem เข้าถึงบริการการเงินในระบบได้มากขึ้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising