หากพูดถึงบริษัทเทคที่น่าจับตามองมากที่สุดในเวลานี้ หนึ่งในนั้นคงหนีไม่พ้น Grab หรือที่เรารู้จักกันในแอปฯ บริการเรียกรถ หรือ Ride-Hailing ที่ครองใจนักเดินทางอย่างล้นหลามทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ที่บอกว่าน่าจับตาไม่ใช่เพราะการควบรวมกิจการกับ Uber ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งตอกย้ำความมุ่งมั่นที่จะเป็นเบอร์หนึ่งของบริการ Ride-Hailing หรือ Ride-Sharing ในภูมิภาคนี้เท่านั้น แต่ Grab กำลังปรับโฉมเพื่อฉีกการรับรู้แบบเดิมๆ ของผู้บริโภค จากแอปฯ บริการเรียกรถสู่โอเพ่นแพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ เพื่อก้าวเป็น ‘ซูเปอร์แอปฯ’ สำหรับทุกวันของผู้บริโภค (Everyday App) รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยจุดเด่นของเทคโนโลยี APIs (Application Programming Interface) ที่เปิดทางให้พันธมิตรทางธุรกิจสามารถเชื่อมต่อการทำงานระหว่าง Grab และบริการของพาร์ตเนอร์ได้อย่างไร้รอยต่อ
ในงานเปิดตัว Grab Platform ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคมที่ผ่านมา Grab ได้เผยกลยุทธ์โอเพ่นแพลตฟอร์มสู่เป้าหมายการเป็น ‘ซูเปอร์แอปฯ’ แบบครบวงจรที่ผู้บริโภคสามารถเปิดใช้งานได้ทุกวันเพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ในทุกที่ทุกเวลา เพราะนอกจากบริการ Ride-Hailing และ Ride-Sharing ซึ่งเป็นจุดแข็งที่เราทราบกันดีอยู่แล้ว Grab ยังจับมือกับสตาร์ทอัพผู้ให้บริการขนส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตออนไลน์อันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่าง HappyFresh เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายแก่พ่อบ้านแม่บ้านโดยไม่ต้องเดินทางไปจับจ่ายซื้ออาหารสดหรือของใช้ด้วยตัวเองอีกต่อไป เพราะหลังจากนี้ผู้ใช้ในสิงคโปร์และอินโดนีเซียจะสามารถใช้บริการ Grab Platform ในการเรียกส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแบบออนดีมานด์ด้วย GrabFresh ที่สะดวกสบายแค่ปลายนิ้วสัมผัสบนแอปพลิเคชัน Grab โดยจะเริ่มเปิดให้ใช้ในรูปแบบเบตาในสิงคโปร์และจาการ์ตาในเดือนกรกฎาคมนี้
ส่วนประเทศอื่นๆ ยังต้องอดใจรออีกสักนิด โดย Grab มีแผนเปิดตัว GrabFresh ในไทยและมาเลเซียภายในสิ้นปีนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคจะเปิดให้บริการในอนาคตอันใกล้นี้
นอกจาก HappyFresh แล้ว Grab ยังประกาศพร้อมทำงานร่วมกับพันธมิตรชั้นนำในประเทศนั้นๆ เช่นเดียวกัน โดยจะโฟกัสไปที่ความต้องการของผู้บริโภคเป็นหลัก ซึ่งพันธมิตรจะสามารถเชื่อมต่อบริการของพวกเขากับ Grab Platform รวมถึงสามารถขยายขอบเขตการให้บริการของพวกเขาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยฐานข้อมูลผู้ใช้ของ Grab และเครือข่ายช่องทางการขนส่งที่แข็งแกร่งของ Grab Platform ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันหลากหลายในรูปแบบ APIs ทั้งการจัดส่งสินค้าและการชำระเงินออนไลน์
เป็นมากกว่าแอปฯ เรียกรถ กับโอกาสทางเศรษฐกิจที่เปิดกว้าง
ในยุคที่กระแส Digital Disruption ถาโถมทุกภาคอุตสาหกรรมอย่างหนักหน่วง บรรดาบริษัทเทคต่างๆ จำเป็นต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาเพื่อความอยู่รอดทางธุรกิจ โดยหนึ่งในกลยุทธ์การปรับตัวคือการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกขณะ ที่ Grab ก็เช่นกัน การคงความเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด Ride Hailing อาจไม่เพียงพอในยุคที่การแข่งขันทวีความเข้มข้น มีผู้เล่นมากราย และเส้นแบ่งกั้นธุรกิจมีความพร่ามัว
สำหรับ Grab นอกจากบริการเรียกรถแล้ว บริษัทยังมุ่งเน้นไปที่บริการส่งอาหารจากร้านค้าชั้นนำ หรือที่รู้จักในชื่อ GrabFood, ธุรกิจโลจิสติกส์ และบริการทางการเงิน หรือ ‘ฟินเทค’ ด้วย
Grab โชว์ตัวเลขที่น่าทึ่งว่าธุรกิจบริการการเดินทางของ Grab มีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วด้วยยอดการใช้บริการรวม (Gross Merchandise Volume – GMV) เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา เช่นเดียวกับธุรกิจใหม่ของ Grab อย่าง GrabFood ก็ขยายการให้บริการจาก 2 ประเทศจนครอบคลุมเพิ่มอีก 6 ประเทศ และมียอดขายรวมโตถึง 9 เท่าในช่วงเวลาเดียวกัน ส่วนยอดการใช้จ่ายผ่าน Grab Financial ระหว่างเดือนมกราคมถึงพฤษภาคม 2018 เพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า โดยในปัจจุบัน Grab Financial ได้ขึ้นแท่นแพลตฟอร์มการชำระเงินผ่านมือถือระดับชั้นนำในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ด้วยศักยภาพในการดำเนินงานที่โดดเด่นของ Grab ผู้บริหารจึงเล็งเห็นความสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับผู้เล่นรายอื่นๆ ด้วยฐานข้อมูลลูกค้าและเทคโนโลยีอันล้ำหน้า บวกความเชี่ยวชาญในตลาดอาเซียนของ Grab โดยพันธมิตรจะสามารถเข้าถึงลูกค้ากว่า 1 ล้านคนต่อวันด้วย Grab Platform ขณะเดียวกันลูกค้าหรือผู้ใช้ก็จะได้รับโอกาสเข้าถึงแหล่งรายได้สำหรับผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยและธุรกิจขนาดเล็ก
ด้วยเหตุนี้บรรดาบริษัทสตาร์ทอัพต่างๆ จึงไม่อาจละทิ้งโอกาสที่จะจับมือกับ Grab ซึ่ง HappyFresh ก็เป็นหนึ่งในนั้น
แอนโทนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้ง Grab มองว่า Grab Platform จะขยายโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ผู้ใช้ทุกคนในระดับที่มากกว่าที่เราจะสามารถขยายได้ด้วยตัวเอง ส่วน GrabFresh ที่เพิ่งเปิดตัวไปจะมอบความยืดหยุ่นและความสะดวกสบายในการส่งสินค้าถึงประตูบ้านภายใน 1 ชั่วโมงหรือตามเวลาที่ต้องการ
“ธุรกิจการส่งสินค้าเครื่องอุปโภคบริโภคภายในบ้านยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” กิลเลม ซาการ์ร่า ซีอีโอ HappyFresh กล่าว “จากผลสำรวจพบว่า 70% ของผู้ซื้อสินค้าและของใช้ในบ้านผ่านแอปพลิเคชันมีพฤติกรรมสั่งซื้ออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง และมักจะซื้อจากร้านค้าที่มีความคุ้นเคย ดังนั้นสิ่งที่ลูกค้ากลุ่มนี้ต้องการคือสินค้าพร้อมส่งในเวลาที่ต้องการ ส่วน GrabFresh นั้นมีสินค้าที่หลากหลายที่สุดหากเทียบกับผู้ให้บริการส่งสินค้ารายอื่น”
กิลเลมกล่าวเสริมว่า “Grab คือพันธมิตรที่ดีที่สุดสำหรับเรา ด้วยจำนวนผู้ขับขี่และการส่งสินค้ามากมายทำให้เราจัดตารางส่งสินค้าได้มากขึ้น และปรับปรุงเวลาการส่งสินค้าของเราได้ นอกจากนี้เรายังสามารถขยายขอบเขตการให้บริการในประเทศและต่างประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งช่วยให้เราสามารถต่อยอดพัฒนาจุดแข็งของเรา เพื่อมอบประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้าผ่านบริการผู้ช่วยซื้อสินค้าส่วนตัวที่ผ่านการอบรมมาอย่างดี”
GrabFresh เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ Grab ในการเป็นซูเปอร์แอปฯ สำหรับทุกวันด้วยช่องทางใหม่ ลูกค้าจะได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ ที่นอกเหนือไปจากบริการเดิมๆ แต่ยังรวมถึงการได้ข้อมูลที่อัดแน่นด้วยคุณภาพในทุกเวลาที่ต้องการ โดยลูกค้าสามารถเข้าถึงช่องทางการจ่ายเงินในหน้าหลักของแอปพลิเคชัน Grab ผ่านการแตะเพียงครั้งเดียว และเข้าถึงการบริการอื่นๆ สำหรับทุกวันได้อย่างง่ายดาย
นอกจากนี้ผู้ใช้ยังจะได้รับข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับเมืองที่อยู่ การรีวิวสถานที่ และเทศกาลต่างๆ เช่น ข้อมูลมัสยิดที่ใกล้ที่สุดระหว่างช่วงรอมฎอน หรือการอัปเดตผลการแข่งขันฟุตบอลโลก เป็นต้น
ความสำเร็จ เป้าหมาย และโอกาส
การเปิดตัว Grab Platform เป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จมากมายของ Grab ในปีนี้ โดย Grab เพิ่งฉลองยอดการบริการการเดินทางครบ 2 พันล้านเที่ยวเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคมที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ Grab ต้องใช้เวลาถึง 5 ปี 4 เดือนในการให้บริการครบ 1 พันล้านแรก แต่ใช้เวลาเพียงไม่ถึง 9 เดือนในการก้าวจากตัวเลข 1 พันล้านสู่หลักชัยใหม่ที่ 2 พันล้าน ซึ่งแสดงถึงศักยภาพในการเติบโตของบริการนี้
แอนโทนีกล่าวว่า “ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมาเราทำงานกันอย่างหนักเพื่อปรับปรุงเทคโนโลยีและขยายการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ของเรา สิ่งที่เรามีได้ในวันนี้ล้วนได้รับการทดสอบผ่านทางการให้บริการของเราเอง โดยเราเติบโตจากแพลตฟอร์มการจองรถแท็กซี่ (GrabTaxi) จนมาเป็นผู้ให้บริการขนส่งสำหรับบริษัทในธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปัจจุบัน ดังนั้นจึงเป็นเวลาที่เหมาะสมในการนำสิ่งที่เราเชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกับพันธมิตรที่ได้รับการคัดเลือก
ส่วนเป้าหมายอันใกล้ก็คือการทำให้แพลตฟอร์มของ Grab เป็นแพลตฟอร์มเปิดสำหรับธุรกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยฐานการดำเนินงานใน 225 เมืองใน 8 ประเทศ ยอดการติดตั้งแอปฯ ในสมาร์ทโฟน 100 ล้านเครื่อง บวกเครือข่ายผู้ขับขี่ พันธมิตรผู้ขนส่ง ผู้ค้า และตัวแทนรวมกว่า 7.1 ล้านราย ตลอดจนระบบการจ่ายเงินที่แข็งแกร่งและเทคโนโลยีที่เรามีจะทำให้ Grab เป็นที่หนึ่งในภูมิภาค โดยสามารถสนับสนุนการเติบโตทางธุรกิจของสตาร์ทอัพอื่นๆ ได้อย่างมั่นคง
Grab ย้ำว่าพันธมิตรจะมีข้อได้เปรียบจากการเชื่อมต่อการทำงานกับเทคโนโลยีของ Grab ไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การจัดส่งสินค้า การชำระเงิน การระบุตัวตนผู้ใช้ การรับส่งข้อความ การให้ข้อมูลข่าวสาร และแผนที่ระบุพิกัด ซึ่งทำให้การใช้งานมีความต่อเนื่อง เรียกได้ว่าเป็น One Stop Platform เลยทีเดียว
“เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีแนวโน้มเป็นภูมิภาคที่มีขนาดทางธุรกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ภายในปี 2050 เพราะประชากรจำนวนมากจะมีฐานะดีขึ้นในระดับชนชั้นกลาง ระบบโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีจะก้าวหน้ามากขึ้น บริษัทต่างๆ จึงต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วให้สอดคล้องกับโอกาสทางธุรกิจที่กำลังเปลี่ยนแปลง การผนวกระหว่างความแข็งแกร่งของ Grab และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านของพันธมิตรจะเสริมศักยภาพของทั้งสองฝ่ายให้เติบโตอย่างมั่นคงเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในภูมิภาคนี้” แอนโทนีกล่าว
ส่วนโมเดลการเป็นพันธมิตรกับ Grab Platform ก็จะคล้ายกับ GrabFresh ซึ่งจะช่วยลดความซับซ้อนในการให้บริการ เพราะพาร์ตเนอร์จะสามารถมอบบริการเพิ่มเติมบนแอปพลิเคชัน Grab โดยตรง โดยพันธมิตรจะสามารถเชื่อมต่อกับระบบ GrabPay สำหรับการชำระเงินผ่านมือถือ, GrabExpress สำหรับการขนส่ง และ GrabProfile สำหรับการระบุตัวตนผู้ใช้กับเว็บไซต์และแอปพลิเคชันของพันธมิตร ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจ อีกทั้งช่วยสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าด้วย Grab Platform ผ่านการให้ข้อมูลข่าวสารและโปรแกรม GrabRewards ด้วยคอนเทนต์ที่เป็นประโยชน์ เช่น การรีวิวผลิตภัณฑ์ หรือการมอบโปรโมชัน
ซูเปอร์แอปฯ แห่งอนาคต
อย่างที่กล่าวไปในตอนต้น Grab มีความมุ่งมั่นที่จะเป็นซูเปอร์แอปฯ ที่สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดสำหรับทุกการใช้งานของผู้ใช้ในชีวิตประจำวัน สำหรับไทยนั้น เราอาจเห็น LINE ยึดโมเดลการสร้างแพลตฟอร์มที่เป็นมากกว่าแอปฯ ส่งข้อความทันที หรือ Instant Messaging App จากการต่อยอดผลิตภัณฑ์อื่นๆ บนแอปฯ LINE เช่น บริการ LINE Today สำหรับติดตามข่าวสาร, LINE TV สำหรับรับชมคอนเทนต์โทรทัศน์แบบไลฟ์สตรีม และ LINE Pay สำหรับการชำระเงิน เป็นต้น
เจอรัลด์ ซิงค์ หัวหน้าฝ่ายผลิตภัณฑ์ของ Grab กล่าวว่า “ความมุ่งหวังของเราคือการสร้างแอปพลิเคชันเดียวสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่สามารถตอบสนองความต้องการในทุกวันของผู้บริโภคในทุกเวลาที่พวกเขาต้องการ หรือแม้กระทั่งคาดการณ์ความต้องการของผู้บริโภคล่วงหน้าได้
“ลูกค้าของ Grab จะสนุกกับบริการต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นการช้อปปิ้ง บริการพื้นฐาน ความบันเทิง และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการก้าวเป็นซูเปอร์แอปฯ สำหรับทุกวัน และมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคมากที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
นอกเหนือจากการส่งสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ตแล้ว Grab ยังมอบบริการเติมเครดิตแบบพรีเพดสำหรับโทรศัพท์มือถือ หรือพัลซา (Pulsa) ในประเทศอินโดนีเซียอีกด้วย
นอกจากนี้แอปพลิเคชัน Grab ยังเตรียมเพิ่มฟีเจอร์การให้ข่าวสาร (News Feed) ที่ปรับให้ตรงกับความต้องการของผู้ใช้ในแต่ละตลาด เพื่อให้ประโยชน์และข้อมูลที่สำคัญเมื่อลูกค้าเดินทาง ทั้งข่าวสาร รีวิว และความบันเทิงต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าของ Grab จะสามารถอ่านรีวิวร้านอาหารหรือห้างสรรพสินค้าก่อนที่จะเดินทางไปถึง หรือดูหนังสั้นจากโปรดิวเซอร์ท้องถิ่น และเล่นเกมเพื่อความเพลิดเพลินในระหว่างวัน
ขณะที่เนื้อหาคอนเทนต์หลักๆ จะถูกปรับให้เหมาะกับช่วงเวลานั้นๆ เช่น การแนะนำเวลาที่ควรรับประทานอาหารเช้าในช่วงรอมฎอน หรือคำแนะนำการใช้บริการรถหรือจักรยานในช่วงฤดูฝน
สำหรับนิวส์ฟีดนั้น Grab ได้จับมือเป็นพันธมิตรด้านเนื้อหากับ Yahoo โดยเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมนี้ ลูกค้า Grab ในสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะได้รับข่าวสารและข้อมูลล่าสุด ในขณะที่พันธมิตรด้านข่าวในประเทศอื่นๆ จะมีการประกาศให้ทราบต่อไป
ตลาดไทยมีความท้าทายรออยู่
Grab มองไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง เนื่องจากประชากรมีกำลังซื้อมากและนิยมใช้สมาร์ทโฟนทำธุรกรรมต่างๆ แต่แน่นอนว่าทุกตลาดย่อมมีอุปสรรคและความท้าทายในการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ซึ่งไทยก็เช่นกัน โดยเฉพาะในเรื่องของตัวบทกฎหมายที่ปัจจุบันยังไม่รองรับบริการ GrabCar และ GrabBike แต่เรื่องนี้แอนโทนีตอบว่า Grab มีการประสานงานกับผู้เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด และเชื่อว่าไม่ว่ารัฐบาลของประเทศใดก็ต้องการสร้างงาน ซึ่งบริการของ Grab ไม่เพียงแต่เปิดโอกาสด้านอาชีพเท่านั้น แต่ยังสร้างรายได้ให้กับผู้ขับขี่ของ Grab เพิ่มขึ้นด้วย ด้วยเหตุนี้ Grab จึงเดินหน้าเปิดตัวบริการที่เหมาะกับแต่ละตลาด พร้อมกับมอบโอกาสด้านการสร้างงาน รวมถึงพัฒนาระบบนิเวศของสตาร์ทอัพในไทยด้วย
อีกหนึ่งความท้าทายของ Grab เพื่อก้าวสู่การเป็นซูเปอร์แอปฯ ก็คือการแข่งขันระหว่างผู้เล่นต่างๆ ในตลาด โดยบริษัทเทคหลายรายต่างต้องการดึงผู้ใช้ให้อยู่ในแอปฯ ของตนให้นานที่สุดเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ดังนั้นจึงได้พัฒนาความหลากหลายของผลิตภัณฑ์เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าที่มีไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมต่างกัน
ซีอีโอ Grab มองว่าการแข่งขันไม่ใช่อุปสรรคสำหรับ Grab เพราะการแข่งขันจะทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ และการเลือกทำงานกับพันธมิตรที่จะนำประสบการณ์การใช้งานใหม่ๆ มาสู่ชุมชนผู้ใช้ เพราะสิ่งสำคัญคือการสร้างคุณค่าให้กับลูกค้า ซึ่งคุณค่านี้เองจะเป็นเกณฑ์การตัดสินใจเลือกของลูกค้าในท้ายที่สุด
อ้างอิง: Grab
- Grab จะเปิดประสบการณ์ใหม่บนระบบปฏิบัติการ iOS และ Andriod ในไทยภายในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้