ในฉบับเดือนกันยายนนี้ของนิตยสารสำหรับสุภาพบุรุษชื่อดังอย่าง GQ ได้พร้อมกันประกาศพันธกิจและจุดยืนร่วมกันทั้ง 21 เวอร์ชันทั่วโลก ภายใต้ธีมที่มีชื่อว่า Change Is Good ที่จะหันมาให้ความสำคัญมากขึ้นกับเรื่องความหลากหลาย ความเท่าเทียมทางเพศ ความยั่งยืน และสุขภาพจิต
เริ่มด้วยหัวสำคัญอย่าง GQ อเมริกา ในฉบับเดือนกันยายน ซึ่งเป็นฉบับแห่งปีที่ได้ ทราวิส สกอตต์ แรปเปอร์หนุ่มวัย 28 ปีมาขึ้นปก ซึ่งจะโฟกัสกิจกรรมทางสังคมของเขาผ่านผลงานดนตรีฮิปฮอปและแฟชั่น ในปี 2019 เขาได้ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นการเหยียดสีผิวในอเมริกาโดยตอบรับขึ้นแสดงบนเวทีซูเปอร์โบวล์ในปีนั้น ภายใต้เงื่อนไขว่า NFL ต้องบริจาคเงินให้กับองค์กรที่ช่วยเหลือความยุติธรรมในสังคม โดยมี โคลิน เคเปอร์นิก นักกีฬาอเมริกันฟุตบอลที่ถูกสมาคมแบนหลังจากที่เขาต่อต้านการยืนเคารพธงชาติก่อนการแข่งขันเพื่อประกาศจุดยืนเรื่องการเหยียดเชื้อชาติในอเมริกา
“GQ มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนานในการนำเสนอความหลากหลายผ่านนิตยสาร และผมภูมิใจในจุดที่เราอยู่ทั้งในเรื่องของพนักงานและความเป็นผู้นำ แต่มันยังมีสิ่งที่เราต้องพัฒนา และเราจะทำมัน” วิล เวลช์ บรรณาธิการบริหารของนิตยสาร ได้กล่าวกับเว็บไซต์ WWD ผ่านทางวิดีโอคอล
สำหรับนิตยสารผู้ชายที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกอย่าง GQ ในเครือของ Condé Nast ที่กำเนิดตั้งแต่ปี 1957 และมีผู้อ่านทั่วโลกมากกว่า 50 ล้านคน ได้มีการเปลี่ยนผ่านมากมายตามยุคสมัย ซึ่งในปัจจุบันก็มีประเด็นทางสังคมเกิดขึ้นมากมายที่ทำให้นิตยสารผู้ชายต้องกลับมาทบทวนบทบาทการนำเสนอเนื้อหาไม่ต่างจากนิตยสารของผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นภาวะความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic Masculinity) ความหลากหลายทางเชื้อชาติ ปัญหาสิ่งแวดล้อม โรคระบาด
เช่น ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2019 ที่ได้ ฟาร์เรลล์ วิลเลียมส์ มาขึ้นปก โดยสวมชุดคลุมขนเป็ดยาวคลุมพื้นของ Moncler ที่ออกแบบโดย ปิแอร์เปาโล ปิกชิโอลี ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์จากแบรนด์ Valentino ในคอนเซปต์ที่ว่าด้วยเรื่องของ New Masculinity หรือนิยามความเป็นผู้ชายในรูปแบบใหม่
ภาพ: GQ
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: