กองทุนบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งใหญ่ที่สุดในโลก รายงานการขาดทุน 4 ไตรมาสติดต่อกัน นับเป็นการขาดทุนยาวนานที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ เนื่องมาจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนฉุดมูลค่าสินทรัพย์ต่างประเทศ และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มขึ้น
Government Pension Investment Fund (GPIF) กองทุนบำนาญของรัฐบาลญี่ปุ่น ขาดทุน 1% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2022 ทำให้สินทรัพย์ทั้งหมดลดลงเหลือ 189.9 ล้านล้านเยน (หรือราว 48.74 ล้านล้านบาท) เหตุขาดทุนจากพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น 1.7% ขณะที่พอร์ตหุ้นต่างประเทศลดลง 0.05% และพันธบัตรต่างประเทศก็ขาดทุน 5.3% แม้ว่าหุ้นญี่ปุ่นที่ถือครองอยู่ปรับตัวเพิ่ม 3.2% ก็ตาม
ผลการดำเนินงานที่ลดลงในไตรมาสที่ผ่านมาเป็นผลมาจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงมากสุดนับตั้งแต่ปี 2008 เมื่อเทียบกับเงินเยนแบบไตรมาสต่อไตรมาส ได้ฉุดมูลค่าของสินทรัพย์ต่างประเทศซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของพอร์ตการลงทุนของ GPIF ลดลง ขณะเดียวกันการถือครองตราสารหนี้ของญี่ปุ่นก็ขาดทุนติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 5 ด้วย
Hidenori Suezawa นักวิเคราะห์จาก SMBC Nikko Securities กล่าวว่า การลงทุนดังกล่าวได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยที่พุ่งสูงขึ้น เช่นเดียวกับเงินเยนที่แข็งค่าขึ้น พร้อมทั้งมองว่า GPIF มีแนวโน้มที่จะขายทั้งหุ้นต่างประเทศและในประเทศ และมาซื้อพันธบัตรในช่วงไตรมาสสุดท้ายเพื่อปรับสมดุล
ทั้งนี้ ดัชนี MSCI All-Country World ของหุ้นทั่วโลก และดัชนี S&P 500 ต่างก็เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 7% ในช่วงเดือนตุลาคม-ธันวาคม ขณะที่ดัชนี TOPIX สูงขึ้น 3% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุ 10 ปีของสหรัฐอเมริกา เพิ่มเกือบ 5 bsp (0.05%) ในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 17 bsp (0.17%) ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019
Masataka Miyazono ประธาน GPIF กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า แม้นโยบายของ BOJ ได้ส่งผลกระทบต่อพันธบัตรในประเทศ แต่ GPIF ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงการจัดสรรพอร์ตการลงทุน
พร้อมทั้งเสริมว่า การเคลื่อนไหวของอัตราผลตอบแทนของญี่ปุ่นนั้นสอดคล้องกับแบบจำลอง พันธบัตรญี่ปุ่นมีผลขาดทุนรายไตรมาสมากที่สุดนับตั้งแต่ปี 2003 ณ สิ้นเดือนธันวาคม ตามดัชนี NOMURA-BPI
การขาดทุนครั้งนี้นับว่ายาวนานที่สุดนับตั้งแต่กองทุนประกาศการขาดทุน 4 ไตรมาสติดต่อกันระหว่างปีงบการเงิน ซี่งสิ้นสุดในเดือนมีนาคมปี 2003
ทั้งนี้ สินทรัพย์ของ GPIF มักได้รับการจัดสรรออกเป็น 4 ประเภท ซึ่งประกอบด้วยพันธบัตรและหุ้น ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- 5 กองทุน SSF ที่ผลตอบแทนโดดเด่นในรอบ 3 เดือน และ 1 ปี
- เจาะกองทุน SSF/RMF ดาวเด่นสายฮิต กับ SCBRM4 และ SCBLT1-SSF
- 10 กองทุน RMF ที่ผลตอบแทนดีสุดตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
อ้างอิง: