สถานการณ์ความขัดแย้งในเวทีการเมือง-การค้าโลกที่ยังคงร้อนระอุ อาจทำให้เกิดคำถามว่า แล้วความสงบในสังคมที่เราอยู่กันทุกวันนี้มันเป็นอย่างไร? สถานที่ที่เราอยู่มีความสงบมากน้อยขนาดไหนเมื่อเทียบกับที่อื่นๆ ในโลก?
Global Peace Index (GPI) ดัชนีความสงบสุขถูกทำขึ้นครั้งแรกในปี 2007 ได้ออกรายงานประจำปี 2023 ที่จัดทำขึ้นโดย Institute for Economics and Peace (IEP) ที่เก็บข้อมูลครอบคลุมไปกว่า 99.7% ของประชากรโลกใน 163 ประเทศ พบว่าความสงบสุขทั่วโลกโดยเฉลี่ยถดถอยลงไป 0.42% ซึ่งถือเป็นปีที่ 13 ในรอบระยะเวลา 15 ปีที่ผ่านมาที่ค่าเฉลี่ยความสงบทั่วโลกลดน้อยลงและยังไม่ได้มีการปรับตัวไปในทางที่ดีขึ้นมาตั้งแต่ปี 2014 แล้ว
ดัชนี Global Peace Index วัดความสงบสุขของประเทศต่างๆ ทั้งหมด 23 ปัจจัยที่ถูกจัดกลุ่มและจำแนกออกมาได้เป็น 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่
- ปัญหาความขัดแย้งทั้งในและนอกประเทศ (Ongoing Domestic and International Conflict) เช่น จำนวนครั้ง ระยะเวลา และผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งทั้งในและนอกประเทศ ระดับความรุนแรงของความขัดแย้งและความสัมพันธ์กับประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง
- ระดับความปลอดภัยและมั่นคงของสังคม (Level of Societal Safety and Security) เช่น จำนวนอาชญากรรมในสังคม ความไม่มั่นคงทางการเมือง การประท้วงที่ใช้ความรุนแรง ความยากง่ายในการเข้าถึงอาวุธขนาดเล็กเบา รวมไปถึงสัดส่วนจำนวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ นักโทษ และคดีฆาตกรรมต่อประชากร 100,000 คน
- อิทธิพลอำนาจทางทหาร (Militarization) เช่น งบประมาณทางทหารต่อ GDP จำนวนเงินที่ให้กับ UN ในพันธกิจที่ส่งเสริมความสงบ การครอบครองอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธหนักต่างๆ
จากปัจจัยทั้งหมดนี้ ตัวดัชนีจะถูกคำนวณออกมาเป็นคะแนนที่มีช่วงระหว่าง 1-5 โดย 1 หมายความว่าประเทศนั้นๆ มีความสงบสุขสูงที่สุด และ 5 หมายความว่ามีความโกลาหลวุ่นวายหาความสงบไม่ได้ หรือยิ่งคะแนนน้อยยิ่งดีเพราะมีความสงบที่มากกว่า
ยุโรปเป็นพื้นที่ที่มีความสงบสูงสุดในโลกแม้ปีนี้จะทำได้แย่ลงก็ตาม
ข้อมูลรายงานประจำปี 2023 แสดงให้เห็นว่า 84 ประเทศมีความสงบที่ดีขึ้น ในขณะที่อีก 79 ประเทศมีความสงบน้อยลง และหนึ่งในเหตุผลหลักที่ส่งผลให้คะแนนความสงบโดยเฉลี่ยทั่วโลกตกต่ำลงนั้นมาจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้ทั้ง 2 ประเทศถูกปัดลงไปอยู่ใน 10 กลุ่มประเทศที่มีความสงบน้อยที่สุดในโลก
สำหรับภาพรวมทั่วโลก ผลการจัดอันดับในรายงานปี 2023 ประกาศรายชื่อประเทศ 10 อันดับแรกที่มีความสงบมากที่สุดและ 10 อันดับสุดท้ายที่มีความสงบน้อยที่สุดดังต่อไปนี้
จากข้อมูล 10 อันดับแรกเราจะเห็นได้ว่ามีประเทศจากทวีปยุโรปถึง 6 ประเทศที่ได้ชื่อว่าเป็นประเทศที่มีความสงบสูงสุด ในทางตรงกันข้าม 10 อันดับสุดท้ายที่ยังคงเผชิญปัญหาความไม่สงบอยู่ส่วนมากจะเป็นประเทศในพื้นที่ทวีปแอฟริกาและตะวันออกกลาง
ถ้าเราซูมออกมาดูผ่านเลนส์ในระดับภูมิภาค (ตามรูปภาพด้านล่าง) และดูถึงมุมของการเปลี่ยนแปลงระดับความสงบสุขของแต่ละพื้นที่จะพบว่า ตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ เป็นพื้นที่ที่ความสงบสุขเพิ่มขึ้นมากที่สุด แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม ภูมิภาคนี้ก็ยังคงมีความไม่สงบสูงที่สุดในโลก ในอีกฟากหนึ่งภูมิภาคที่ความสงบลดลงแรงที่สุดก็คือ รัสเซียและยูเรเชีย อันมีเหตุมาจากสงครามในพื้นที่ และในส่วนของเอเชียแปซิฟิก ที่ประเทศไทยตั้งอยู่ถือว่ายังเป็น 1 ใน 3 ของภูมิภาคที่มีความสงบสุขเพิ่มขึ้นจากทั้งหมด 10 ภูมิภาคตามการแบ่งของรายงาน Global Peace Index
ความสงบสุขในระดับภูมิภาคตามรายงาน GPI ประจำปี 2023
GPI พบไทยมีความสงบเพิ่มขึ้นจากปีก่อน แต่ยังต้องลดความขัดแย้งและเพิ่มความมั่นคง
สำหรับประเทศไทยแล้วเราอยู่ในอันดับที่ 92 จากทั้งหมด 163 ประเทศที่เราได้คะแนนไป 2.061 (ใกล้ 1 มากกว่า 5 ถือว่ามีความสงบมากกว่า) ซึ่งถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีความสงบสุข ‘ปานกลาง’ แต่ที่น่าสนใจคือการไต่อันดับของประเทศไทยที่กระโดดขึ้นมาค่อนข้างเยอะเมื่อเทียบผลของปีที่แล้วที่ไทยอยู่ในอันดับ 103 ทำให้การไต่ขึ้นอันดับปีนี้ของเราถือเป็นการเพิ่มขึ้นที่มากที่สุดเป็นอันดับที่ 6 เทียบกับทุกๆ ประเทศในรายงาน
หากเรามาย่อยดูในแต่ละปัจจัยของไทยในเวทีโลกกับอีก 162 ประเทศ เราจะพบว่ามี 2 ปัจจัยที่ไทยยังต้องให้ความใส่ใจในการแก้ไขมากขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน 2 ปัจจัยนี้ก็เป็นอะไรที่ทั่วโลกทำได้แย่ลงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะปัญหาความขัดแย้งทั้งในและนอกประเทศ (1.84 คะแนน) ซึ่งปัจจัยนี้ไทยอยู่ในอันดับที่ 103 กับปัจจัยอีกตัวคือระดับความปลอดภัยและมั่นคงของสังคม (2.60 คะแนน) โดยไทยได้อันดับที่ 108 ซึ่งในสถานการณ์ของไทย ปัญหาความขัดแย้งที่มีอาจกดทับการเติบโตของเศรษฐกิจได้ เช่น ความกังวลของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาพักผ่อน แต่อาจต้องเปลี่ยนแผนหากมีสถานการณ์ความไม่สงบ
แต่สำหรับสิ่งที่ทั่วโลกและไทยเองทำได้ค่อนข้างดีคืออิทธิพลอำนาจทางทหาร (1.45 คะแนน) ซึ่งไทยได้อันดับที่ 19 หมายความว่าไทยมีอิทธิพลอำนาจทางทหารไม่เยอะมากเมื่อเทียบกับอีก 144 ประเทศที่ตามหลังเราอยู่ ไม่ว่าจะเป็นในแง่การใช้จ่ายงบประมาณทางทหารหรือจำนวนครั้งของความขัดแย้งที่มีทหารเป็นส่วนร่วมด้วย ตามการเก็บข้อมูลของ Global Peace Index
โดยภาพรวมแล้ว ณ ปัจจุบันโลกมีความตึงเครียดในหลายพื้นที่ และรายงานยังพบว่าช่องว่างความห่างประเทศที่มีความสงบกับประเทศที่ไม่มีเริ่มฉีกห่างออกมามากขึ้นเรื่อยๆ โดยตั้งแต่ปี 2008 กลุ่มประเทศที่มีความสงบน้อยที่สุด 25 ประเทศ มีความสงบลดลงเฉลี่ย 9.8% ในขณะที่ 25 ประเทศที่มีความสงบมากที่สุดทำได้ดีขึ้นเพียงแค่ 0.1% แต่ภาพรวมของประเทศไทยชี้ว่าเราทำได้ค่อนข้างดีในปีนี้จากการไต่อันดับขึ้นมาอยู่ที่ 92 จากเดิมที่ 103 เมื่อปี 2022 แต่ก็ยังมีเรื่องความขัดแย้งและความมั่นคงในสังคมที่ทุกคนจะต้องร่วมใจสร้างประเทศไทยที่สงบเพื่อกันและกัน
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
อ้างอิง: