×
SCB Omnibus Fund 2024

ส่องกระเป๋าเงินรัฐ เหลือเงิน ‘เยียวยา-กระตุ้น’ เศรษฐกิจอีกเท่าไร… เพียงพอรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่หรือไม่

06.01.2021
  • LOADING...
ส่องกระเป๋าเงินรัฐ เหลือเงิน ‘เยียวยา-กระตุ้น’ เศรษฐกิจอีกเท่าไร… เพียงพอรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่หรือไม่

HIGHLIGHTS

6 mins read
  • การระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 กำลังซ้ำเติมความทุกข์ยากของประชาชนส่วนใหญ่ซึ่งยังไม่หลุดพ้นจากผลกระทบในรอบแรก
  • รัฐบาลออกมาพูดถึงเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบล่าช้า จึงเริ่มมีคำถามถึงฐานะทางการเงินว่ามีศักยภาพในการดูแลหรือไม่ กระทั่งนายกรัฐมนตรีออกมาให้สัมภาษณ์ว่าจะหามาตรการดูแลผู้ได้รับผลกระทบที่มีราว 40 ล้านคน
  • THE STANDARD ส่องกระเป๋าเงินรัฐ พบยังเหลือเงินสำหรับใช้ดูแลผลกระทบจากโควิด-19 รวมกว่า 6 แสนล้านบาท 
  • นักเศรษฐศาสตร์ประเมิน งบที่เหลืออีก 6 แสนล้านบาทเพียงพอที่จะดูแลเศรษฐกิจ และยังมีศักยภาพในการกู้ยืมได้อีกมากหากจำเป็น
  • แบงก์ชาติมั่นใจหนี้สาธารณะในระยะข้างหน้า แม้เพิ่มขึ้นแต่ไม่เพิ่มความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ การก่อหนี้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต เอื้อให้สัดส่วนหนี้ต่อ GDP มีความยั่งยืนในระยะข้างหน้า

การกลับมาระบาดรอบใหม่ของโรคโควิด-19 กำลังซ้ำเติมความทุกข์ยากของผู้คนในประเทศให้สาหัสยิ่งขึ้น ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายคนเริ่มเห็นความหวังจากตัวเลขเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

การระบาดในรอบใหม่นี้ แม้ภาครัฐจะยังไม่ใช้มาตรการล็อกดาวน์แบบเข้มข้นเหมือนช่วงไตรมาส 2 ของปีที่ผ่านมา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า ‘คนส่วนใหญ่’ ในเวลานี้เริ่มได้รับผลกระทบแล้ว 


โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าอาชีพอิสระจะเห็นว่าเวลานี้ตามท้องตลาดมีแต่คนขาย ไม่มีคนซื้อ บนถนนมีแต่แท็กซี่ แต่ไร้ผู้โดยสาร ประชาชนเริ่มเก็บตัวอยู่กับบ้าน กิจกรรมทางเศรษฐกิจกำลังหยุดชะงักลงอีกครั้ง

 

แน่นอนว่าในมุมของผู้ได้รับผลกระทบย่อมต้องเรียกหา ‘ภาครัฐ’ ว่าจะช่วยเหลือเยียวยาพวกเขาอย่างไร เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าการกลับมาระบาดครั้งใหม่ในรอบนี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความหละหลวมของหน่วยงานภาครัฐเอง รวมทั้งความเห็นแก่ตัวของผู้ประกอบการบางกลุ่ม

 

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เกิดการระบาดรอบใหม่ล่วงเลยมาจนถึงปัจจุบันกินเวลามากกว่าครึ่งเดือนไปแล้ว แต่ยังไม่เห็น ‘ภาครัฐ’ ออกมาพูดอย่างชัดเจนว่าจะเยียวยาพวกเขาเหล่านี้อย่างไร จนเริ่มมีการตั้งคำถามว่าหรือเป็นเพราะ ‘รัฐบาล’ ถังแตก ไม่มีเงินมาใช้เยียวยา

 

กระทั่งล่าสุดวานนี้ (5 มกราคม) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงเรื่องดังกล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่าได้มอบหมายให้ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รวมทั้ง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ไปหามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมเพื่อดูแลผู้ได้รับผลกระทบกว่า 40 ล้านคนในช่วง 2 เดือน ซึ่งนายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลมีเงินเพียงพอ

 

ทีมข่าว THE STANDARD จึงอาสาพาไปส่อง ‘กระเป๋าเงิน’ ของรัฐดูว่ายังเหลือเงินที่ใช้ในการ ‘เยียวยา’ และ ‘ฟื้นฟู’ เศรษฐกิจอีกมากน้อยแค่ไหน

 

ความจริงแล้วรัฐบาลเตรียมงบประมาณไว้ก่อนหน้าเผื่อการกลับมาระบาดในรอบใหม่อยู่แล้ว โดยผ่านงบหลักๆ 2 ก้อน 

 

ก้อนแรกคือเงินที่เหลือจากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท

 

ก้อนที่สองคืองบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน พ.ศ. 2564  

 

สำหรับงบก้อนแรกจาก พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ออกมาเพื่อใช้เยียวยาและฟื้นฟูการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่รอบแรกนั้น ปัจจุบันใช้ไปแล้วประมาณ 5.01 แสนล้านบาท ยังคงเหลือเม็ดเงินให้ใช้อีกประมาณ​ 4.9 แสนล้านบาท โดยงบก้อนนี้แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ 

 

  1. ใช้ในทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโรคโควิด-19 
  • วงเงิน 45,000 ล้านบาท 
  • อนุมัติแล้ว 13,881 ล้านบาท หรือประมาณ 30% ของวงเงิน (เบิกจ่ายแล้ว 1,040 ล้านบาท)
  • วงเงินที่ยังเหลือราว 31,119 ล้านบาท

 

  1. เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ
  • วงเงิน 555,000 ล้านบาท
  • อนุมัติแล้ว 348,553 ล้านบาท หรือ 62.8% ของวงเงิน (เบิกจ่ายแล้ว 322,958 ล้านบาท)
  • วงเงินที่ยังเหลือราว 206,447 ล้านบาท

 

  1. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 
  • วงเงิน 400,000 ล้านบาท
  • อนุมัติแล้ว 139,410 ล้านบาท หรือ 34.8% ของวงเงิน (เบิกจ่ายแล้ว 37,436 ล้านบาท
  • วงเงินที่ยังเหลือราว 260,590 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ หากรวมงบที่อนุมัติใช้ไปแล้วจากตัว พ.ร.ก. เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท รวมทั้งสิ้น 501,844 ล้านบาท เท่ากับว่าวงเงินที่ยังเหลือจากงบก้อนนี้มีประมาณ 498,156 ล้านบาท


ส่วนก้อนที่สองคืองบกลางฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งงบส่วนนี้อยู่ในอำนาจการอนุมัติของนายกรัฐมนตรี วงเงิน 1.4 แสนล้านบาท โดยงบกลางในส่วนนี้มาจากงบกลางปกติ 9.9 หมื่นล้านบาท และงบกลางที่กันออกมาสำหรับโควิด-19 อีก 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งที่ผ่านมาใช้ไปราวๆ 1 พันล้านบาทเท่านั้น

 

โดยสรุปแล้ว เมื่อรวมงบทั้งสองก้อนเข้าด้วยกันเท่ากับว่ารัฐบาลยังมีกระสุนเหลือสำหรับการเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 รอบใหม่นี้ราวๆ 6 แสนล้านบาท

 

ส่องกระเป๋าเงินรัฐ เหลือเงิน ‘เยียวยา-กระตุ้น’ เศรษฐกิจอีกเท่าไร… เพียงพอรับมือโควิด-19 ระลอกใหม่หรือไม่

 

คำถามต่อมาคืองบก้อนนี้เพียงพอที่จะเยียวยาผู้รับได้ผลกระทบจากโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าหรือไม่

 

เชาว์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย บอกกับ THE STANDARD ว่าศักยภาพในการดูแลเศรษฐกิจของรัฐบาลมีเพียงพออย่างแน่นอน เพราะปัจจุบันยังเหลือเงินที่ใช้ดูแลเศรษฐกิจได้อีกราวๆ 6 แสนล้านบาท และในกรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้เงินเพิ่ม รัฐบาลก็มีศักยภาพที่จะก่อหนี้เพิ่มได้อีกมาก เพราะสภาพคล่องการเงินของไทยมีเพียงพอในการรองรับ

 

“เราเชื่อว่าเงินมีเพียงพอที่จะดูแลอย่างแน่นอน เพราะหากทำแบบเดิมผ่านโครงการเราไม่ทิ้งกัน ซึ่งช่วงนั้นใช้เงินไปราวๆ 2 แสนกว่าล้านบาท เทียบกับวงเงินที่มียังทำได้อีกเยอะ”

 

อย่างไรก็ตาม เชาว์เชื่อว่ารัฐบาลคงระมัดระวังการใช้เงินพอสมควร ซึ่งเป็นเพราะกังวลข้อครหาเรื่องการกู้เงิน แต่ไม่ได้เป็นเพราะไม่มีเงินให้ใช้ เพราะรัฐบาลมีศักยภาพในการกู้เงินได้อีกมาก

 

“ดูแล้วรัฐบาลคงพยายามใช้เงินอย่างระมัดระวังที่สุด เพราะงบประมาณปี 2565 ที่จัดทำงบขาดดุล 7 แสนล้านบาทถือเป็นการขาดดุลเพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะ เขาจึงไม่อยากจะกู้เงินเพิ่มด้วย เพราะเกรงจะถูกกล่าวหาว่ากู้แล้วกู้อีก จึงพยายามใช้เงินก้อนเดิมให้มีประสิทธิภาพที่สุด แต่ผมเชื่อว่าหากรัฐบาลจะกู้เพิ่มก็มีศักยภาพที่จะทำได้ เนื่องจากสภาพคล่องในระบบเรามีค่อนข้างสูง”

 

สำหรับผลกระทบจากการระบาดรอบใหม่นั้น เดิมศูนย์วิจัยกสิกรไทยเคยประเมินว่าจะสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจต่อเดือนราว 4.5 หมื่นล้านบาท แต่เป็นการประเมินเฉพาะการระบาดในพื้นที่สมุทรสาคร ขณะที่ปัจจุบันการระบาดกระจายไปครึ่งประเทศ ทำให้ต้องมาประเมินผลกระทบกันใหม่

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดยังไม่นิ่ง อีกทั้งรัฐบาลเตรียมจะออกมาตรการดูแลเพิ่มเติม ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจึงอยากรอดูพัฒนาการเหล่านี้ก่อน แล้วค่อยมาประเมินผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทยในปีนี้อีกครั้ง

 

เชาว์กล่าวว่าปัจจุบันศูนย์วิจัยกสิกรไทยให้ตัวเลขการขยายตัวของ GDP ในปีนี้ไว้ค่อนข้างต่ำอยู่แล้วที่ 2.6% เพราะช่วงที่ประเมินเชื่อว่าผลกระทบจากโควิด-19 ยังคงมีอยู่ และประเมินว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยจะต่ำเพียง 4.5 ล้านคนเท่านั้น ทำให้ในขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องรีบปรับประมาณการใหม่

 

ขณะที่รายงานการประชุมฉบับย่อของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)​ ซึ่งเป็นคณะกรรมการชุดย่อยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ระบุว่าในที่ประชุม กนง. มีความเห็นว่ามาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง

 

นอกจากนี้ กนง. ยังมีความเห็นว่าระดับหนี้สาธารณะในระยะปานกลางแม้จะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น แต่ไม่ได้สร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากหนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนระบาดอยู่ระดับต่ำ อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี หนี้เกือบทั้งหมดเป็นหนี้สกุลเงินบาท และแนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยสูงกว่าแนวโน้มดอกเบี้ยกู้ยืมของรัฐบาล

 

ขณะเดียวกันไทยยังมีระดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+ และมีมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ กนง. จึงเห็นว่าหากการก่อหนี้ของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญจะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโต และเอื้อให้แนวโน้มหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีความยั่งยืนได้

 

ทั้งนี้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาปกติ รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลังผ่านการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวต่อไป

 

ภาพประกอบ: พิชามญชุ์ วรรณสาร 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising