ช่วงเช้าวันนี้ (28 มิถุนายน) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้เรียกประชุมคณะทำงานแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการออกข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 25) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ได้แก่ ปทุมธานี นครปฐม สมุทรปราการ นนทบุรี และสมุทรสาคร รวมระยะเวลา 1 เดือน
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ออกมาตรการช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการออกประกาศฉบับดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจไซต์งานก่อสร้างหรือร้านอาหาร ทั้งที่อยู่ในระบบประกันสังคมและนอกระบบประกันสังคม ซึ่งมาตรการช่วยเหลือดังกล่าวแบ่งออกเป็น
- ร้านค้าหรือบริษัทที่อยู่ในระบบประกันสังคม กรณีลูกจ้าง ทางประกันสังคมจะจ่ายชดเชยให้ 50% ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท นอกจากนี้ รัฐบาลจะจ่ายเพิ่มเติมให้อีกคนละ 2,000 บาท
ส่วนกรณีนายจ้างหรือผู้ประกอบการ รัฐบาลจะจ่ายเงินช่วยเหลือให้ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างหนึ่งรายในบริษัท โดยกำหนดจำนวนการจ่ายสูงสุดไม่เกิน 200 คน
- ร้านค้าหรือบริษัทที่อยู่นอกระบบประกันสังคม รัฐบาลจะจ่ายให้ลูกจ้างคนละ 2,000 บาท และจ่ายให้กับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ 3,000 บาทต่อจำนวนลูกจ้างหนึ่งรายในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน อย่างไรก็ตาม ต้องเป็นร้านที่มีฐานข้อมูลในระบบ ‘ถุงเงิน’ และต้องดำเนินการลงทะเบียนเข้าระบบประกันสังคม แต่จะยังไม่ได้รับการชดเชยจากประกันสังคม เนื่องจากยังจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน
สำหรับผู้ประกอบการที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนประกันสังคมได้เนื่องจากไม่มีลูกจ้าง สามารถขึ้นทะเบียนผ่าน ‘ถุงเงิน’ (หมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ได้ภายใน 1 เดือน โดยกระทรวงมหาดไทยจะลงไปตรวจสอบ
ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า รัฐบาลได้เตรียมกรอบวงเงินในการเยียวยาครั้งนี้ไว้ทั้งหมด 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมโดยรัฐบาล 4,000 ล้านบาท และกองทุนประกันสังคมอีก 3,500 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 29 มิถุนายนนี้
ส่วนกรณีที่มีข่าวเรื่องจะเลื่อนโครงการคนละครึ่ง เฟส 3 ขอยืนยันว่าไม่เป็นความจริง เพราะไม่มีการเลื่อนออกไปแต่อย่างใด เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจและการบริโภคในขณะนี้เริ่มชะลอตัวลง ดังนั้น โครงการที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการบริโภคต้องดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้
สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า รัฐบาลมีความจำเป็นต้องออกประกาศฉบับที่ 25 โดยมีระยะเวลาบังคับใช้ 1 เดือน ซึ่งอาจกระทบโดยตรงกับธุรกิจ 2-3 ประเภท ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ออกมาตรการเยียวยาเพิ่มเติมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของคนกลุ่มเหล่านี้
ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงแรงงาน กระทรวงสาธารณสุข กรุงเทพมหานคร จะลงพื้นที่เพื่อปฏิบัติการเชิงรุกเข้าตรวจคัดกรองผู้ป่วยและเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรค
“นายกรัฐมนตรีประสงค์อยากจะเห็น กทม. และปริมณฑล หรือจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อเกิน 10 คนขึ้นไป กลับมาเป็นเหมือน 50 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อต่ำกว่า 10 คน การออกมาตรการยอมรับว่ามีผลกระทบ แต่การเยียวยาในรอบนี้เป็นลักษณะจำกัดตามพื้นที่การประกาศข้อกำหนด ฉบับที่ 25 สำหรับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล