×

Google เปิดตัว WiFi ความเร็วสูงฟรี ชู 4 กลยุทธ์พาคนไทยเข้าสังคมดิจิทัล

19.07.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MINS READ
  • Google เปิดตัว Google Station บริการไวไฟสาธารณะความเร็วสูง ประกาศวิสัยทัศน์ไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง พร้อมมอบโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกัน
  • 4 เสาหลักที่ Google จะให้ความสำคัญประกอบไปด้วย การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี, การส่งเสริมด้านการศึกษา, พัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน, สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
  • ใน 4 เสาหลักที่ว่านี้ Google ได้สังเคราะห์ออกมาเป็น 6 โปรเจกต์สำคัญที่จะช่วยให้คนไทยเข้าถึงเศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียมกันทุกคน ได้แก่ การให้บริการไวไฟฟรี, พื้นที่ฝึกอบรมทักษะดิจิทัล, พื้นที่แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเหล่าครีเอเตอร์ และการสนับสนุนฝั่ง SMEs ฯลฯ

Google เปิดตัว Google Station บริการไวไฟสาธารณะความเร็วสูง ประกาศวิสัยทัศน์ไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง มอบโอกาสให้คนไทยทุกคนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเท่าเทียมกันผ่าน 6 โครงการและ 4 เสาหลัก

 

งาน Google for Thailand จัดขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันพุธที่ 18 กรกฎาคม 2561 และได้ประกาศวิสัยทัศน์สำคัญพร้อม 6 โครงการเพื่อความก้าวหน้า การมอบโอกาสให้คนไทยอย่างเท่าเทียมกัน โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม, กลิน ที. เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย และผู้บริหาร Google เข้าร่วมงาน

 

 

Google Station หรือบริการไวไฟสาธารณะความเร็วสูง คือ 1 ใน 6 โครงการสำคัญที่ Google ได้ประกาศเปิดตัวในงานปีนี้ ภายใต้ความร่วมมือกับ CAT บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัทยูนิลีเวอร์ เพื่อความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว เบื้องต้นจะให้บริการครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ 10 แห่งในกรุงเทพฯ (เมกาบางนา หัวลำโพง) พิจิตร และเลย เพื่อช่วยให้คนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่เสถียรและไม่เสียค่าใช้จ่าย

 

อันจาลี โจชิ รองประธานฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ Next Billion Users ของ Google บอกว่า ในอนาคต Google มีแผนจะขยายพื้นที่ให้บริการของ Google Station ให้รองรับการใช้งานในหลายๆ ส่วนของประเทศ

 

Google Station เป็นบริการสัญญาณไวไฟฟรีที่เริ่มต้นเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนมกราคม ปี 2016 ที่ประเทศอินเดีย ก่อนขยายไปยังอินโดนีเซีย เม็กซิโก ผ่านมายังประเทศไทย (รวมถึงประเทศอื่นๆ) ในวันนี้ โดยอันจาลีบอกว่ามันได้ช่วยให้ผู้คนนับล้านสามารถเข้าถึงการเชื่อมต่อสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงได้ และช่วยพัฒนาให้คุณภาพชีวิตของผู้คนดีขึ้น

 

 

4 เสาหลักสำคัญและวิสัยทัศน์ขับเคลื่อนสู่เศรษฐกิจดิจิทัลโดยเท่าเทียม

ข้อมูลจากงานวิจัยของ Temasek เมื่อปี 2017 ระบุว่าโอกาสทางเศรษฐกิจดิจิทัลในอาเซียนภายในปี 2025 หรืออีก 7 ปีข้างหน้าจะมีมูลค่ามากกว่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในจำนวนนี้ 18.5% หรือราว 37,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 1.2 ล้านล้านบาท) เป็นมูลค่าโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

 

มูลค่า 1.2 ล้านล้านบาท คือจำนวนเงินที่สูงมากๆ สำหรับประเทศไทยกับการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล หากเราไม่พร้อมก็จะทำให้พลาดโอกาสในส่วนนี้ไป ฉะนั้นแนวคิดหลักของ Google for Thailand ก็คือการร่วมเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพาคนไทยทุกคนเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลโดยเท่าเทียม ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่ง 4 เสาหลักที่ Google จะให้ความสำคัญได้มีดังนี้

 

  1. การสร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี (Access)
  2. การส่งเสริมด้านการศึกษา (Education & Skilling)
  3. การพัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน (Localized Product & Local Content)
  4. การสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs & Start Up)

 

เบน คิง ผู้บริหาร Google ประจำประเทศไทย บอกว่าสิ่งที่ Google ประเทศไทยกำลังจะทำคือการวางแผนพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัล โดยในปัจจุบันเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงโลกนี้ไปในหลายๆ ทาง ทั้งสร้างความเป็นไปได้ ทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมโยงที่ดี และยังทลายอุปสรรคปัญหาต่างๆ

 

“เทคโนโลยีช่วยให้ผู้คนได้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารต่างๆ ถ้าจะให้ผมกล่าวถึงวิสัยทัศน์ของ Google แบบรวบรัด หน้าที่ของเราคือการจัดระเบียบข้อมูลของทั้งโลกใบนี้ และทำให้มันเข้าถึงได้ทั่วโลก เป็นประโยชน์”

 

ผู้บริหารหนุ่มจาก Google บอกว่า ในโลกดิจิทัลยุคใหม่ คนไทยทุกคนต้องมีโอกาสที่เท่าเทียมกัน เทคโนโลยีจะต้องช่วยสร้างโอกาสให้กับคนไทย ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน เจ้าของธุรกิจ ในขณะเดียวกันก็ยังช่วยให้ผู้คนได้เรียนรู้ สนุกสนาน

 

“ด้วยเป้าหมายของการไม่ทิ้งคนไทยไว้ข้างหลัง พวกเราต้องการจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้อินเทอร์เน็ตยั่งยืนกับคนไทยทุกคน เราต้องการทำให้แน่ใจว่าเรามีคอนเทนต์ท้องถิ่นและประสบการณ์ต่างๆ ที่มีความเกี่ยวพันกับชุมชนคนไทย เราอยากทำให้แน่ใจว่าคนไทยทุกคนมีทักษะทุกประการที่จำเป็น Google อยากจะเป็นส่วนหนึ่งของการทำให้เห็นถึงความเท่าเทียมในด้านโอกาสและคุณภาพของโอกาสด้านดิจิทัลเพื่อคนไทยทุกคน”

 

ด้าน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวไว้ว่าอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศไทยและประชาชนจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งประเทศอื่นๆ อย่างสหรัฐอเมริกาจะเข้ามาช่วยสนับสนุนได้ ที่สำคัญ ‘ดิจิทัล’ จะเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาทำให้ยุทธศาสตร์ของประเทศสามารถดำเนินได้ตามแผนแม่บท

 

“ประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้าจะต้องมีความมั่นคง มีเสถียรภาพ มีความปลอดภัยในชีวิตทุกมิติ ต้องมั่งคั่ง มีรายได้ที่เพียงพอ ต้องยั่งยืน สามารถพัฒนาชีวิตต่อไปได้เรื่อยๆ มากกว่าชีวิตที่อยู่อย่างพอเพียง ให้เขามีความสุข นั่นแหละคือ 20 ปีที่ผมคาดหวัง คงไม่ได้นานเกินไปสำหรับประเทศของเรา และประเทศอื่นๆ อย่างเช่นสหรัฐอเมริกาที่อยู่ ณ ที่นี้จะช่วยสนับสนุนเราในฐานะที่พวกท่านมีการเจริญเติบโตที่ก้าวหน้าไปกว่าเรา

 

“ผมพร้อมจะร่วมมือกับทุกประเทศในนามประเทศไทย วันนี้เราต้องเน้นการทำตามยุทธศาสตร์ของเราให้ได้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนาความเข้มแข็งและขีดความสามารถของประชาชนในประเทศ ข้อถัดมาคือการกระจายรายได้และความเหลื่อมล้ำ และยุทธศาสตร์การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ซึ่ง ‘ดิจิทัล’ จะเข้ามาช่วยเสริมยุทธศาสตร์เหล่านี้ให้เราได้”

 

นายกรัฐมนตรียังได้ฝากให้ Google รวมถึงบริษัทอื่นๆ ช่วยกันดูแลและเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างขั้นพื้นฐานของประเทศในด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืนและพลิกโฉมหน้าของประเทศให้พร้อมจะเข้าสู่การเป็นสังคมดิจิทัล แต่จะต้องมีมาตรการรองรับความเสี่ยงที่ดีในเวลาเดียวกันด้วย

 

6 โครงการจาก Google ร่วมสร้างโอกาสให้สังคมไทยแบบไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง

สำหรับโครงการต่างๆ ที่ Google ได้ประกาศเปิดตัวภายในงานมีด้วยกันถึง 6 โครงการ ซึ่งจะครอบคลุม 4 เสาหลักสำคัญที่พวกเขาจะยึดถือ โครงการแรกก็คือ บริการสัญญาณไวไฟฟรี หรือ Google Station ที่เราได้อธิบายไว้ในตอนต้น ซึ่งเป็นการช่วยให้คนไทยได้รับโอกาสเข้าถึงเทคโนโลยี (Access) ส่วนอีก 5 โครงการที่เหลือ ได้แก่

 

2. ศูนย์การเรียนรู้เสริมทักษะทางดิจิทัล Academy Bangkok – A Google Space (ส่งเสริมด้านการศึกษา) พื้นที่สำหรับให้การศึกษาและพัฒนาทักษะทางดิจิทัลที่สามารถรองรับผู้เข้าฝึกได้มากกว่า 150-200 คนต่อครั้ง เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเข้าทำงานกับบริษัทต่างๆ ภายในประเทศไทย เช่น AIS, AP, SANSIRI หรือ SCB ฯลฯ ตั้งอยู่ในโครงการทรู ดิจิทัล พาร์ค กรุงเทพฯ

 

“พวกเราเชื่อว่าการเรียนรู้ทักษะทางด้านดิจิทัลที่สำคัญจะสร้างผลกระทบที่มีความหมายเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจและองค์กรต่างๆ ได้บุคลากรที่มีความสามารถ และยังช่วยให้นักศึกษาทุกคนมีทักษะความสามารถที่ดีนอกเหนือจากองค์ความรู้ที่พวกเขามีอยู่แล้ว” เบนกล่าว

 

3. พื้นที่เวิร์กช็อปสำหรับครีเอเตอร์ YouTube Pop-Up Space (พัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน) YouTube Pop-Up Space จะเปิดให้บริการในเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้บรรดาครีเอเตอร์คนไทยสามารถเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกและเทคโนโลยีในการผลิตวิดีโอที่ล้ำสมัย

 

Google ประเทศไทย ยังเตรียมจัดโครงการฝึกอบรมสำหรับครีเอเตอร์ เช่น YouTube NextUp เพื่อให้คำปรึกษาแก่ครีเอเตอร์เกี่ยวกับเทคนิคในการก้าวขึ้นเป็นผู้มีชื่อเสียงบน YouTube และโครงการ Creators for Change ส่งเสริมให้ตระหนักถึงปัญหาต่างๆ ในสังคม ณ ปัจจุบัน

 

4. แอปพลิเคชัน YouTube เวอร์ชันเซฟอินเทอร์เน็ต YouTube Go (สร้างโอกาสในการเข้าถึงเทคโนโลยี) Google ได้ร่วมงานกับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS เพื่อนำเสนอแพ็กเกจการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างไม่จำกัดสำหรับผู้ใช้แอปพลิเคชัน YouTube Go ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเพียง 9 บาทต่อวันเท่านั้น โดยแอปพลิเคชัน YouTube Go จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถรับชมคอนเทนต์บน YouTube ได้ แม้จะมีการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ช้าหรือไม่ได้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต

 

5. โหมดการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์บน Google Maps (พัฒนาเนื้อหาและผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการของผู้ใช้งาน) ทุกวันนี้ผู้คนส่วนใหญ่มักเดินทางโดยใช้ Google Maps เป็นผู้ช่วยระบบนำทาง แต่ปัญหาสำคัญที่ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ต้องเผชิญคือไม่มีโหมด ‘จักรยานยนต์’ ให้เลือกใช้บนตัวแอปพลิเคชัน

 

Google จึงเปิดตัวโหมดการเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์สำหรับผู้ขับขี่และสัญจรด้วยมอเตอร์ไซค์เพื่ออำนวยความสะดวก และสามารถคำนวณระยะเวลาการเดินทางถึงที่หมายได้อย่างแม่นยำ ทั้งยังช่วยแนะนำเส้นทางที่เหมาะสมกับประเภทของยานพาหนะ

 

6. Google My Business (สนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม) ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ระบุว่า 99.7% ของธุรกิจในประเทศไทยเป็น SMEs พวกเขาได้สร้าง GDP ให้กับประเทศไทยถึง 42% ขณะที่การขยายตัวของภาคธุรกิจก็ยังเร็วกว่าภาคธุรกิจขนาดใหญ่ถึง 1.7 เท่า โดยที่การจ้างงานในประเทศกว่า 78% ก็ยังมาจากฝั่ง SMEs

 

ไมเคิล จิตติวาณิชย์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด Google ประเทศไทย บอกว่า Google ให้ความสำคัญกับการผลักดัน SMEs ให้ประสบความสำเร็จ เพราะถือเป็นเสาหลักของประเทศทั้งในแง่ของการจ้างงานและด้านเศรษฐกิจ แต่การโกดิจิทัลของผู้ประกอบการหลายๆ รายยังเป็นเรื่องยากอยู่ เพราะผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อยยังเน้นแค่หน้าร้านออฟไลน์เป็นหลัก

 

“เราเชื่อว่าร้านค้าทุกแห่งเป็นธุรกิจออนไลน์ได้ ไม่ได้หมายความว่าทุกรายจะต้องทำอีคอมเมิร์ซ แต่เป็นเพราะผู้บริโภคต้องการจะเสิร์ชข้อมูลของร้านค้านั้นๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ก่อนเข้าไปซื้อสินค้าและรับบริการที่หน้าร้าน”

 

Google จึงได้ประกาศความร่วมมือกับธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมในไทย (SMEs) สามารถลงทะเบียนและรับการตรวจสอบความถูกต้องในการใช้งาน Google My Business บริการฟรีจาก Google ที่ช่วยให้ธุรกิจต่างๆ มีตัวตนบนโลกออนไลน์ทั้งบน Google Search และ Google Maps โดยผู้ที่สนใจสามารถติดต่อเจ้าหน้าที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ทุกสาขา

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising