อีลอน มัสก์ เจ้าของบริษัท Neuralink ผู้พัฒนาเทคโนโลยีเชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์ เปิดเผยความก้าวหน้าในการทดลองครั้งแรกกับมนุษย์ โดยระบุว่าผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ภายในเวลาไม่ถึงหนึ่งเดือนหลังจากฝังชิป Neuralink และสามารถใช้ความคิดในการควบคุมเมาส์คอมพิวเตอร์ได้แล้ว
เมื่อเดือนที่แล้ว มัสก์ได้กล่าวว่าบริษัทได้ทำการฝังชิปใส่สมองของอาสาสมัครมนุษย์รายแรกสำเร็จ หลังจากได้รับการอนุมัติให้ศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของชิปและเครื่องมือผ่าตัดกับมนุษย์เมื่อปีที่ผ่านมา
การประสบความสำเร็จในระยะแรกในการทดลองเทคโนโลยีการเชื่อมต่อสมองกับมนุษย์ถือเป็นความก้าวหน้าครั้งสำคัญของ Neuralink ในการพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเปลี่ยนชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่มีปัญหาการเคลื่อนไหวหรือสื่อสาร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ผู้ป่วยรายแรกได้รับการฝัง ‘ชิปในสมอง’ จาก Neuralink สตาร์ทอัพของ Elon Musk แล้ว
- Neuralink เตรียมทดสอบฝังชิปในสมองคนไข้อัมพาต หลังได้รับอนุมัติให้เริ่มการสรรหาบุคคลเข้ารับการทดลอง
- ยุคใหม่ของประสาทวิทยาศาสตร์! Neuralink ของ อีลอน มัสก์ ได้รับการอนุมัติจาก FDA สำหรับทดลองปลูกถ่ายสมองในมนุษย์เป็นครั้งแรก
โดยผู้ทดลองที่เข้าร่วมโครงการจะถูกฝังชิปบริเวณสมองในส่วนที่ควบคุมความตั้งใจในการเคลื่อนไหว ชิปซึ่งฝังโดยหุ่นยนต์จะทำการบันทึกและส่งสัญญาณสมองไปยังแอปพลิเคชันด้วยเป้าหมายแรก ‘เพื่อให้ผู้คนสามารถควบคุมเมาส์คอมพิวเตอร์หรือคีย์บอร์ดได้โดยใช้ความคิดเพียงอย่างเดียว’ บริษัทระบุไว้เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม มัสก์ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดหรือหลักฐานเกี่ยวกับผลการผ่าตัด ทำให้ยังไม่ชัดเจนว่าการฝังชิปดังกล่าวมีความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์มากเพียงใด ขณะที่ CNN Business ระบุว่า Neuralink ยังไม่ตอบสนองต่อคำขอให้แสดงความคิดเห็นในทันที
ในท้ายที่สุด เป้าหมายของ Neuralink คือการใช้ชิปเพื่อเชื่อมต่อสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ ตัวอย่างเช่น เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยอัมพาตสามารถควบคุมสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ หรือช่วยให้คนตาบอดมองเห็นได้อีกครั้ง บริษัทตั้งใจจะรวบรวมสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากสมองและตีความหมายของสัญญาณนั้นเป็นความเคลื่อนไหวของร่างกาย
กระนั้นเป็นที่ชัดเจนว่าผู้บริโภคทั่วไปจะไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ในเร็วๆ นี้ ก่อนที่อุปกรณ์เชื่อมต่อสมองของ Neuralink จะวางจำหน่ายในวงกว้างจำเป็นต้องได้รับการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแลเสียก่อน
ขณะเดียวกัน บริษัทอื่นๆ ที่ดำเนินโครงการคล้ายกันอยู่ในขั้นตอนการวิจัยที่ก้าวหน้ากว่า เช่น บริษัท Synchron ที่ได้เปิดรับอาสาสมัครและฝังชิปการทดลองตั้งแต่ปี 2021
Neuralink ยังต้องเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หลังลิงตัวหนึ่งเสียชีวิตระหว่างการทดลองเชื่อมต่อสมองเพื่อเล่นเกม Pong ในช่วงปี 2022 จากกรณีดังกล่าวและการเร่งกระบวนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ส่งผลให้พนักงานออกมาเปิดเผยกับสื่อว่ามีการเบียดเบียนสัตว์ และทำให้สัตว์เสียชีวิตอย่างไม่จำเป็น จนนำไปสู่การที่หน่วยงานของรัฐบาลเข้ามาตรวจสอบ
ทว่าเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว Neuralink ได้รับอนุญาตจากสำนักงานอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA) ให้เริ่มทดลองกับมนุษย์ และหลังจากนั้นไม่กี่เดือนก็ได้เริ่มเกณฑ์ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาตสี่ด้านอันเกิดจากการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังส่วนคอ หรือโรคเส้นประสาทสั่งการเสื่อมด้านข้าง (ALS) เข้ามาร่วมโครงการทดลอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการที่ทางบริษัทตั้งชื่อว่า PRIME Study (Precise Robotically Implanted Brain-Computer Interface) ที่มีจุดมุ่งหมายในการศึกษาความปลอดภัยและประสิทธิภาพของอุปกรณ์เชื่อมต่อและเครื่องมือผ่าตัดของบริษัท
ภาพ: Jonathan Raa / NurPhoto via Getty Images
อ้างอิง: