×

ลาก่อน ‘คัมป์นู’ จนกว่าเราจะพบกันใหม่ ว่าแต่บาร์ซาจะไปอยู่ที่ไหนนะ?

30.05.2023
  • LOADING...
camp nou

HIGHLIGHTS

  • หลังจากที่คัมป์นูแห่งนี้รับใช้บาร์เซโลนามาอย่างยาวนานตั้งแต่เดือนกันยายน 1957 และผ่านการปรับปรุงสนามครั้งใหญ่มาแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี 1982 และ 1994 ชามอ่างยักษ์แห่งนี้ก็ประสบปัญหาเหมือนสนามใหญ่คลาสสิกหลายๆ แห่งของโลก คือมันเก่าเกินกว่าที่จะบูรณะไหวแล้ว
  • การสร้างชามอ่างยักษ์ขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แนวคิดที่จะเปิดใช้สนามไปด้วยพลางๆ บางส่วนในระหว่างที่ยังมีการก่อสร้างอยู่โดยที่อยากจะให้สนามเสร็จอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ทำให้บาร์ซาจำเป็นที่จะต้องโยกย้ายหาสนามเหย้าแห่งใหม่ที่จะใช้เป็นการชั่วคราว
  • โจน ลาปอร์ตา กล่าวให้คำมั่นกับแฟนบอลบาร์ซาทุกคนว่า “เราจะได้กลับมาในคัมป์นูอีกครั้งในวันเกิดครบรอบ 125 ปีของบาร์เซโลนา” ซึ่งนั่นหมายถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2024 โดยให้สัญญาว่าสนามแห่งนี้จะเป็นสนามฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก

เพราะไม่มีการจากลาครั้งใดที่ทำใจได้ง่าย แม้มันจะหมายถึงการลาจากเพื่อไปสู่วันข้างหน้าที่สวยสดและงดงามกว่าแค่ไหนก็ตาม

 

และเพราะเหตุนี้ทำให้เกมลาลีกานัดส่งท้ายฤดูกาล 2022/23 ระหว่างบาร์เซโลนาและเรอัล มายอร์กา ที่สนามคัมป์นู เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (28 พฤษภาคม) ซึ่งจะเป็นเกมนัดสุดท้ายของชามอ่างยักษ์ในตำนานของโลกฟุตบอล จึงเป็นเกมที่เต็มไปด้วยความรู้สึกมากมาย

 

แฟนบอลมากมายกว่า 80,000 คนเดินทางมาเพื่ออยู่ในช่วงเวลาสุดท้ายของสนามที่มีความทรงจำมากมาย สนามที่พวกเขาเคยเข้ามาเชียร์สุดยอดนักเตะระดับโลกที่ผลัดกันมาโชว์ฝีเท้าตามยุคสมัย แต่วันนี้ถึงคราวที่จะต้องทุบทิ้ง (บางส่วน) เพื่อที่จะสร้างสนามแห่งใหม่ขึ้นมา

 

คำถามที่น่าสนใจคือทำไมบาร์ซาจึงต้องทุบคัมป์นูทิ้ง? ปรับปรุงใหม่ไม่ได้อีกแล้วหรือ? แล้วพวกเขาจะไปอยู่ที่ไหนในฤดูกาลหน้า?

 

           

ย้อนกลับไปที่คำถามแรก สนามคัมป์นู (สำเนียงกาตาลันออกเสียงว่า คัมนาว) หรือชื่อปัจจุบันคือ สปอติฟาย คัมป์นู นั้นไม่ได้เป็นสนามฟุตบอลแห่งแรกของทีมฟุตบอลบาร์เซโลนา เพราะสนามแห่งนี้ก็เกิดขึ้นมาเพื่อแทนที่สนามแห่งเดิม คัมป์ เด เลส คอร์ตเช่นกัน

 

โดยเหตุผลที่ต้องมีการสร้างสนามแห่งใหม่ก็เพราะสนามแห่งเดิมนั้นไม่สามารถปรับปรุงหรือขยายเพื่อรองรับแฟนฟุตบอลที่มีจำนวนมากขึ้นในช่วงเวลานั้นได้อีกแล้ว สนามแห่งใหม่ที่มีความจุใหญ่มโหฬารจึงเกิดขึ้น โดยโครงการนั้นเริ่มต้นในปี 1950 ก่อนที่การก่อสร้างจะแล้วเสร็จในปี 1957 โดยใช้งบประมาณถึง 288 ล้านเปเซตาในเวลานั้น ซึ่งมากกว่างบที่มีการตั้งไว้ในครั้งแรกถึง 4 เท่า

 

เดิมทีสนามแห่งนี้จะมีชื่อว่าเอสตาดิ เดล เอฟซี บาร์เซโลนา เพียงแต่ชื่อที่ถูกเรียกจนคุ้นชินกันคือคัมป์นู ซึ่งก็ไม่ได้มีความหมายอะไรพิเศษ เพราะแปลว่า ‘สนามแห่งใหม่’ เฉยๆ และก็มีการเรียกขานชื่อนี้กันจนถึงปัจจุบัน

 

อย่างไรก็ดี หลังจากที่คัมป์นูแห่งนี้รับใช้บาร์เซโลนามาอย่างยาวนานตั้งแต่เกมแรกที่พวกเขาเอาชนะเรอัล ฆาเอน 6-1 (ปัจจุบันทีมหลังอยู่ในลีกระดับที่ 5 ของสเปน) เมื่อเดือนกันยายน 1957 และผ่านการปรับปรุงสนามครั้งใหญ่มาแล้วถึง 2 ครั้ง ในปี 1982 และ 1994 ชามอ่างยักษ์ที่เป็นสนามฟุตบอลระดับสโมสรที่ใหญ่ที่สุดของยุโรปมาเกือบ 50 ปีแห่งนี้ก็ประสบปัญหาเหมือนสนามใหญ่คลาสสิกหลายๆ แห่งของโลก

 

มันเก่าเกินกว่าที่จะบูรณะไหวแล้ว

 

ในขณะที่สนามของสโมสรหลายแห่งมีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและมีโอกาสได้ใช้สำหรับการจัดการแข่งขันสำคัญๆ มากมาย แต่สนามคัมป์นูแห่งนี้ไม่ได้รับโอกาสในการจัดเกมระดับ 5 ดาวอีกเลย นับตั้งแต่นัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูฟ่าแชมเปียนส์​ลีก ในปี 1999 (ใช่! เกมที่แมนฯ ยูไนเต็ดคว้าเทรเบิลแชมป์ด้วยการชนะบาเยิร์น มิวนิกแบบช็อกโลกนั่นแหละ)

           

นั่นเป็นเพราะหลายอย่างของสนามไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานของสหพันธ์ฟุตบอลยุโรป (UEFA) และล้าหลังกว่าสนามเกิดใหม่หลายแห่งที่ความจุอาจจะไม่มากเท่าแต่ทันสมัยกว่า รองรับแขกเหรื่อ VIP ได้ดีกว่า

 

โจน ลาปอร์ตา ประธานสโมสรคนปัจจุบันจึงตระหนักดีว่าสิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับอนาคตของบาร์เซโลนานั้นไม่ได้อยู่กับแค่การไล่ล่าหานักฟุตบอลที่เก่งที่สุดในโลกมาอยู่กับพวกเขาเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างสนามใหม่ขึ้นมา

 

โดยที่งานนี้จะช้าไม่ได้ เพราะคู่ปรับสำคัญอย่างเรอัล มาดริด มีการขยับตัวไปล่วงหน้าตั้งแต่ปี 2019 ซึ่งแม้การก่อสร้างซานติอาโก เบร์นาเบวแห่งใหม่จะล่าช้าเพราะโควิด-19 แต่คาดว่าทุกอย่างจะเสร็จสมบูรณ์ภายในเดือนกันยายนหรือตุลาคมปีนี้ และคาดว่าจะมีพิธีเปิดสนามอย่างเป็นทางการภายในเดือนธันวาคม

 

 

ความจริงแล้วแนวคิดในการปรับปรุงสนามคัมป์นูเกิดขึ้นมายาวนาน ย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ลาปอร์ตาดำรงตำแหน่งประธานบาร์ซาในยุคแรกเมื่อ 20 ปีที่แล้ว แต่ก็ไม่ได้มีการสานต่อเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งประสบปัญหาหลายอย่างที่ทำให้โครงการล่าช้ามาถึงทุกวันนี้

 

แต่ด้วยความพยายามผลักดันอีกครั้งอย่างจริงจัง โดยลาปอร์ตาประกาศเมื่อเดือนเมษายนปีกลายว่าต้องการจะสร้างสนามใหม่ขึ้นมาไม่ใช่การปรับปรุงสนาม โดยใช้โครงสร้างเดิมตามที่ โจเซป มาเรีย บาร์โตเมว อดีตประธานผู้อื้อฉาวเคยวางแผนไว้ในชื่อโครงการ ‘Espai Barca Project’ บาร์ซาก็เพิ่งจะได้รับข่าวดีเรื่องของการหาเงินจำนวน 1.45 พันล้านยูโร เพื่อมาก่อสร้างสนามใหม่เมื่อเดือนที่แล้วนี่เอง และทุกอย่างก็ถูกเร่งรัดอย่างรวดเร็ว

 

ก่อนหน้านี้บาร์ซาได้มีการเริ่มต้นงานบางส่วนไปบ้างแล้ว ตั้งแต่การทุบทำลายพื้นที่บางส่วน การย้ายสกอร์บอร์ดยักษ์ออกไปในช่วงเดือนกันยายนปีกลาย และมีการเตรียมการก่อสร้างในช่วงเดือนพฤศจิกายนจนถึงธันวาคมในระหว่างที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก

 

ลาปอร์ตากล่าวให้คำมั่นกับแฟนบอลบาร์ซาทุกคนว่า “เราจะได้กลับมาในคัมป์นูอีกครั้งในวันเกิดครบรอบ 125 ปีของบาร์เซโลนา” ซึ่งนั่นหมายถึงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2024 โดยให้สัญญาว่าสนามแห่งนี้จะเป็นสนามฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลก

 

อย่างไรก็ดี การสร้างชามอ่างยักษ์ขึ้นมาใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แนวคิดที่จะเปิดใช้สนามไปด้วยพลางๆ บางส่วนในระหว่างที่ยังมีการก่อสร้างอยู่ โดยที่อยากจะให้สนามเสร็จอย่างรวดเร็วเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ บริษัท Limak ผู้รับเหมาสัญชาติตุรกียืนยันว่าพวกเขาต้องการเวลาอย่างน้อย 18 เดือน สำหรับการก่อสร้างสนามใหม่โดยที่ไม่เปิดพื้นที่ใดๆ ให้ใช้งานได้เลย

 

เรื่องนี้ทำให้บาร์ซาจำเป็นที่จะต้องโยกย้ายหาสนามเหย้าแห่งใหม่ที่จะใช้เป็นการชั่วคราว ซึ่งก็ได้เป็นสนามเอสตาดี โอลิมปิก ลุยซ์ กอมปานีส ซึ่งเป็นสนามกีฬาหลักที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่เมืองบาร์เซโลนาเป็นเจ้าภาพในปี 1992 เมื่อ 31 ปีที่แล้วไปพลางๆ

 

แต่การโยกย้ายสนามแบบนี้ไม่ได้แปลว่าทุกอย่างจะราบรื่น เพราะสนามชั่วคราวมีความจุแค่ 55,000 ที่นั่ง ไม่นับเรื่องที่เป็นสนามที่ใช้จัดการแข่งขันกรีฑาและยังอยู่คนละฟากของเมือง ไปจนถึงเรื่องการขึ้นราคาค่าตั๋วที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับฤดูกาลหน้า 2023/24 ซึ่งไม่ถูกใจเหล่า ‘Socios’ หรือสมาชิกของสโมสรแล้ว

 

ความจุที่ลดลงเกือบครึ่งหมายถึงรายได้ของบาร์ซาที่จะลดลงด้วยเช่นกัน โดยมีการประเมินว่ารายได้ของบาร์ซาจากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมเกมในสนามจะหายไปถึงปีละกว่า 90 ล้านยูโร ในระหว่างที่มีการสร้างคัมป์นูขึ้นมาใหม่ ซึ่งจะกระทบต่อสถานะทางการเงินของสโมสรที่ทุกวันนี้ก็ยังอยู่ในอาการโคม่าอย่างแน่นอน

 

 

นั่นทำให้ถึงจะสร้างสนามใหม่ บาร์ซาเองก็ยังพยายามที่จะหาเงินกลับเข้าสโมสรให้ได้มากที่สุดผ่านวิธีการต่างๆ เช่น การทัวร์สนามรอบสุดท้ายสำหรับคัมป์นูเดิมที่จะมีถึงวันศุกร์นี้ แต่จะมีการเปิดพิพิธภัณฑ์บางส่วนในแบบ Audio-Visual ที่สนามฮอกกี้น้ำแข็งของสโมสรบาร์เซโลนา (บาร์เซโลนามีทีมกีฬาหลายอย่าง) ที่เรียกว่า ‘Ice Palace’ หรือวังน้ำแข็ง

 

ส่วนร้านขายของที่ระลึกของสโมสรจะยังมีการเปิดจำหน่ายตามปกติแม้ว่าจะมีการปรับปรุงสนามก็ตาม โดยสินค้ายอดฮิตในเวลานี้คือเสื้อที่มาพร้อมกับสโลแกนพิเศษที่เป็นแคมเปญการสร้างสนามใหม่คือ ‘Ple d’historia. Ple de futur’ ซึ่งแปลได้ว่า ‘เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ เต็มไปด้วยอนาคต’ ซึ่งที่ร้านค้าก็มีการเปิดให้แฟนบอลมาร่วมลงชื่อเป็นที่ระลึกบนฝาผนัง รวมถึงถ่ายรูปเก็บไว้เป็นความทรงจำด้วยเช่นกัน

 

บาร์ซายังเตรียมจำหน่ายของที่พอจะจำหน่ายได้ในสนามให้กับแฟนๆ เก็บเป็นที่ระลึกด้วย เช่น การจำหน่ายเก้าอี้นั่ง ​หญ้าในสนาม ไปจนถึงของที่ระลึกต่างๆ เพื่อเป็นการหาเงินกลับเข้าสโมสรให้ได้มากที่สุด แม้ว่าจะมีแฟนบอลบางคนที่ลักเอาของติดไม้ติดมือกลับไปบ้างแล้วก็ตาม

 

สำหรับฉากจบของคัมป์นูเดิมนั้นนับว่าเป็น Happy Ending เมื่อบาร์ซาไล่ถล่มมายอร์กาสบายๆ 3-0 โดย อันซู ฟาติ กองหน้าดาวรุ่งที่เป็นสายเลือดแท้ของสโมสร ทำประตูออกนำตั้งแต่ 48 วินาทีแรก ก่อนที่จะบวกเพิ่มอีกประตู และปิดท้ายด้วยกาบี นักเตะผู้เป็นอนาคตของสโมสร

 

ในวันนั้นยังเป็นการบอกลาตำนานผู้ยิ่งใหญ่อีก 2 คนที่รับใช้สโมสรและพาทีมประสบความสำเร็จมากมายอย่าง เซร์คิโอ บุสเก็ตส์ และ จอร์ดี้ อัลบา ที่ได้บอกรักและบอกลาทุกคน พร้อมปิดฉากตำนานยุคเก่าที่ยิ่งใหญ่เกรียงไกรในความทรงจำของผู้คน ในวันปิดฉากสนามในตำนานแม้ว่าจะรักมากแค่ไหนก็ตาม

 

เป็นการบอกว่าบาร์ซาพร้อมแล้วที่จะเดินหน้าไปสู่อนาคต ด้วยความหวังว่าการรอคอยการกลับมาของคัมป์นูจะไม่ยาวนานจนเกินไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising