ปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นในรอบสัปดาห์นี้ โดยบรรดานักลงทุนต่างเฝ้าจับตารอดูตัวเลขดัชนีราคาผู้บริโภคของสำนักงานสถิติแรงงานสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในช่วงปลายสัปดาห์ เพื่อดูว่าเงินเฟ้อจะมีแนวโน้มชะลอตัวลงหรือยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้นต่อไป
นักวิเคราะห์มองว่า หากเลขเงินเฟ้อยังคงขยับขึ้นหรือไม่ยอมขยับปรับลด หลายฝ่ายเกรงว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะกลายเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้ยาแรง เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่าเดิม กระทบต่อการฟื้นตัวเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวม เป็นการซ้ำเติมสภาวะจิตใจที่บอบช้ำอยู่แล้วของนักลงทุน หลังพบว่ารายงานตัวเลขการจ้างงานในเดือนพฤษภาคมโดยกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เมื่อปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา สะท้อนถึงการจ้างงานที่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า โดยมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นเพียง 3.9 แสนตำแหน่งเท่านั้น แม้การเติบโตในภาพรวมจะค่อนข้างอยู่ในระดับดีก็ตาม
ชาร์ลี ริปลีย์ นักยุทธศาสตร์การลงทุนอาวุโสของ Allianz Investment Management กล่าวว่า โดยรวมแล้ว รายงานการจ้างงานตอกย้ำความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจในภาพรวม แต่ก็มีปัจจัยบ่งชี้ว่า Fed ยังคงต้องปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ตลอดช่วงฤดูใบไม้ร่วงปีนี้
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) จะขยับเพิ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับทรงตัวเทียบกับเดือนเมษายน ขณะที่บรรดานักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่า ดัชนี CPI จะเพิ่มขึ้น 8.3% ในเดือนพฤษภาคม โดยมีสัญญาณเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วที่ 0.2%
ขณะเดียวกัน ดัชนีเงินเฟ้อหลัก ซึ่งไม่รวมราคาอาหารและพลังงาน มีแนวโน้มชะลอตัวลงเหลือ 0.5% ในเดือนพฤษภาคม จาก 0.6% ในเดือนเมษายน
เกร็ก แมคไบรด์ หัวหน้านักวิเคราะห์ทางการเงินของ Bankrate กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อจะมีการปรับตัวลงเล็กน้อยในเดือนเมษายน ตามมาด้วยการชะลอตัวมากขึ้นในเดือนพฤษภาคม เป็นการตอกย้ำแนวคิดที่ว่าอัตราเงินเฟ้อพุ่งถึงจุดสูงสุดแล้ว และคาดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าที่จะได้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อขยับปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ประเมินว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทในรอบสัปดาห์นี้น่าจะยังคงผันผวนต่อไป โดยนักลงทุนส่วนใหญ่ชะลอการลงทุนเพื่อรอดูเงินเฟ้อ ทิศทางการจ้างงาน รวมถึงท่าทีของบรรดานักธุรกิจชั้นนำในตลาด
ขณะเดียวกัน จอห์น วัลดรอน ประธาน และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการของโกลด์แมน แซคส์ แบ่งปันมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในการประชุมธนาคารเมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้ว โดยเตือนให้ระวังถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และการเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบากมากขึ้นในวันข้างหน้า
คำเตือนดังกล่าวสอดคล้องกับที่ทาง เจมี ไดมอน ซีอีโอของเจพี มอร์แกน ที่ออกโรงเตือนก่อนหน้าว่า เฮอร์ริเคนลูกใหญ่กำลังตั้งเค้า และนักลงทุนทั้งหลายควรเตรียมพร้อมตั้งรับให้ดีๆ
วัลดรอนระบุว่า ปัจจัยเงินเฟ้อสูงบวกกับการปรับเปลี่ยนโยบายการเงินของธนาคารกลาง และสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ทำให้คาดได้ว่าเศรษฐกิจจะเผชิญหน้ากับภาวะสาหัสรุนแรง ท่ามกลางสภาพแวดล้อมของตลาดทุนที่เข้มงวดมากขึ้น
อ้างอิง: