Goldman Sachs สูญเสียตำแหน่งมือดีลการควบรวมและเข้าซื้อกิจการ (M&A) อันดับ 1 ของโลกเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปี ให้กับ JPMorgan หลังจากที่ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสามารถผลักดันดีล M&A ได้คิดเป็นมูลค่ารวมกันเพียง 2.37 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็นส่วนแบ่งตลาดที่ 28.8% ขณะที่ JPMorgan สามารถปิดดีลไปได้คิดเป็นมูลค่า 2.84 แสนล้านดอลลาร์คิดเป็นส่วนแบ่งตลาด 22.5%
สำหรับสถาบันการเงินได้ลำดับถัดๆ มาตกเป็นของ Bank of America, Morgan Stanley, Centerview, UBS และ Citigroup ด้วยมูลค่าดีลที่ 2 แสนล้านดอลลาร์, 1.77 แสนล้านดอลลาร์, 1.28 แสนล้านดอลลาร์, 1.03 แสนล้านดอลลาร์ และ 8.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามลำดับ
ข้อมูลจาก Bloomberg ระบุว่า ในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา ภาพรวมของดีล M&A และ IPO ทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันอยู่ที่ 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีถึง 42% และเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 10 ปี
Dominic Lester หัวหน้าฝ่ายวาณิชธนกิจประจำภูมิภาคยุโรป ตะวันออกกลาง และแอฟริกา ของ Jefferies Financial Group เปิดเผยว่า ดีลจำนวนมากถูกชะลอออกไปในช่วงครึ่งปีแรกจากปัจจัยด้านแรงกดดันเงินเฟ้อและต้นทุนการเงินที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมถึงความตึงเครียดของปัญหาเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริหารของบริษัทต่างๆ ประเมินทิศทางมูลค่าสินทรัพย์ในอนาคตได้ยากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ในรอบ 6 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีดีล M&A จำนวนมากที่ถูกชะลอออกไปหรือยกเลิกไปเลย เช่น การควบรวมกิจการระหว่างบริษัทดาวเทียม SES SA และ Intelsat SA มูลค่า 1 หมื่นล้านดอลลาร์, การขายยูนิตธุรกิจในเม็กซิโกมูลค่า 7 พันล้านดอลลาร์ของ Citigroup และการเข้าซื้อกิจการบริษัทเกม Activision Blizzard มูลค่า 6.9 หมื่นล้านดอลลาร์ของ Microsoft
การชะลอตัวของดีล M&A ทั่วโลกกำลังสร้างแรงกดดันให้กับสถาบันการเงินหลายแห่งที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาได้เร่งขยายทีมวาณิชธนกิจเพื่อมารองรับการเติบโต โดยล่าสุด Goldman Sachs ได้ออกมาประกาศแล้วว่าจะมีการปรับลดกรรมการผู้จัดการในแผนกต่างๆ ของตัวเองลงถึง 125 ตำแหน่ง เช่นเดียวกับสถาบันการเงินอื่นๆ ที่ได้แย้มถึงแผนปรับลดจำนวนพนักงานออกมาเช่นกันในช่วงก่อนหน้านี้
Valeriya Vitkova อาจารย์ประจำ Bayes Business School ของ University of London วิเคราะห์ว่า ความแตกต่างที่เห็นได้ชัดของดีล M&A ทั่วโลกในปีนี้เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ คือ การหายไปของดีลขนาดยักษ์ที่มีมูลค่ามหาศาลหรือเมกะดีล
“เราเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงโครงสร้างของดีล M&A ที่เริ่มมีมูลค่าเล็กลง ซึ่งน่าสนใจว่าเทรนด์ที่เกิดขึ้นนี้จะเป็นเพียงภาวะชั่วคราวหรือจะลากยาวไปเป็นหลักเดือนหรือปี” Vitkova กล่าว
Vitkova กล่าวอีกว่า หากในช่วงครึ่งปีหลังภาวะเศรษฐกิจโลกเอื้ออำนวยต่อการทำดีล M&A มากขึ้นก็มีโอกาสที่ตารางการจัดอันดับที่ปรึกษาการทำดีล M&A ของโลกจะมีการเปลี่ยนแปลง โดยมีความเป็นไปได้ที่ Goldman Sachs อาจจะก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งได้อีกครั้ง เนื่องจากในรอบ 20 ปีที่ผ่านมามีเพียง 3 ปีเท่านั้นที่ Goldman Sachs สูญเสียตำแหน่งแชมป์ไป
“บางทีดีลที่มีมูลค่าสูงๆ เพียงดีลเดียวก็อาจเปลี่ยนแปลงการจัดอันดับได้เลย เช่น ในกรณีของ Guggenheim ที่ในปีก่อนถูกจัดให้เป็นมือทำดีลอันดับ 57 ของโลก แต่ได้รับโอกาสให้เป็นที่ปรึกษาในดีลการเข้าซื้อกิจการมูลค่า 4.3 หมื่นล้านดอลลาร์ของบริษัทยายักษ์ใหญ่อย่าง Pfizer ก็ทำให้อันดับในปีนี้พุ่งกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 9 ของโลก” Vitkova กล่าว
อ้างอิง: