สถานีโทรทัศน์บีบีซีของอังกฤษรายงานว่า Goldman Sachs สถาบันการเงินชั้นนำขนาดใหญ่ถือเป็นอีกหนึ่งแห่ง ที่ล่าสุดได้ออกมาปรับลดคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในปีนี้ลง จากเดิมที่คาดว่าจีนจะโตได้ 8.2% ลงมาอยู่ที่ 7.8% โดยให้เหตุผลว่า ปัญหาขาดแคลนพลังงานในจีน บวกกับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ลดลงอย่างมาก กลายเป็นการเพิ่มแรงกดดันให้เศรษฐกิจจีนมีความเสี่ยงที่จะเผชิญภาวะขาลง
การปรับลดการคาดการณ์ในครั้งนี้มีขึ้น ท่ามกลางภาวะการขาดแคลนพลังงานที่เป็นผลมาจากการที่รัฐบาลออกมาตรการควบคุมสิ่งแวดล้อม ปัญหาติดขัดด้านอุปทาน และราคาสินค้าที่สูงขึ้น ได้กดดันให้บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมทั่วประเทศจีนต้องปรับลดการผลิต และทำให้มณฑลหลายแห่งของจีนเผชิญกับความยากลำบากในการจ่ายไฟฟ้าให้กับผู้อยู่อาศัย มีรายงานว่าในบางพื้นที่เกิดไฟฟ้าดับนานกว่า 3 ชั่วโมง
ขณะเดียวกัน Goldman Sachs ยังคาดการณ์ว่า กิจกรรมในภาคอุตสาหกรรมของจีนจะได้รับผลกระทบประมาณ 44% ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของจีนปรับตัวลง 1% ในไตรมาส 3 ของปีนี้ และลดลง 2% ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี (ตุลาคมถึงธันวาคม)
ทั้งนี้ รายงานระบุว่า วิกฤตขาดแคลนพลังงานเป็นอีกหนึ่งปัจจัยซ้ำเติมเศรษฐกิจจีนที่บอบช้ำมาก่อนหน้าแล้ว จากการที่รัฐบาลใช้มาตรการควบคุมภาคอสังหาริมทรัพย์และเทคโนโลยี รวมทั้งความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผิดนัดชำระหนี้ของ China Evergrande ซึ่งเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่อันดับสองของจีน
อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ข่าวโกลบอล ไทม์ส ของทางการจีนรายงานอ้างความเห็นของ Ning Jizhe หัวหน้าคณะกรรมาธิการการพัฒนาและการปฏิรูปแห่งชาติ (National Development and Reform Commission: NDRC) ซึ่งกล่าวระหว่างการแถลงข่าวเปิดเผยแผนพัฒนาระยะเวลา 5 ปีฉบับที่ 14 (2021-2025) ของรัฐบาลจีนว่า รัฐบาลตั้งเป้าเดินหน้ายกระดับกลไกการกระจายรายได้ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ควบคู่ไปกับการปรับระบบจัดเก็บภาษี สวัสดิการสังคม และขั้นตอนอื่นๆ เพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เช่น การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำอย่างสมเหตุสมผล การควบคุมราคาสินค้าเพื่อรักษาสมดุลรายได้และค่าครองชีพ และการขยายสัดส่วนประชากรชนชั้นกลางของประเทศ
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP