×

ปีทอง EV ไทย! ‘MG’ ไม่รอช้า เร่งเดินสายพานผลิตประกอบแบต Cell-To-Pack กำลังผลิต 50,000 แพ็ก/ปี ป้อนรถยนต์ไฟฟ้าแสนคัน

06.11.2023
  • LOADING...

ปี 2566 ถือได้ว่าเป็นปีทองตลาดรถยนต์ EV ในไทย จากแรงหนุนมาตรการ EV 3.0 และล่าสุดมาตรการ EV 3.5 ยิ่งทำให้นักลงทุน โดยเฉพาะบรรดาค่ายรถจีนเริ่มขยายห่วงโซ่การผลิตป้อนตลาด ซึ่งสภาอุตสาหกรรมยานยนต์ประเมินว่าในปีหน้ามาตรการนี้จะช่วยกระตุ้นยอดจดทะเบียนรถ EV ป้ายแดงทะลุ 1 แสนคัน  

 

ส่งผลให้ล่าสุด ‘MG’ เร่งเครื่องเดินสายพานผลิตแบตเตอรี่ Cell-To-Pack 50,000 แพ็กต่อปี ป้อนรถยนต์ไฟฟ้าตามเป้าหมายแสนคัน ขณะที่ WHA รับพื้นที่ EEC สุดเนื้อหอม ลูกค้าอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับโลกปักหมุดคึกคัก หนุนรัฐบาลใช้โอกาสพัฒนาพื้นที่เชื่อม ‘แลนด์บริดจ์’ 

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

ธนากร เสรีบุรี รองประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานกรรมการ บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด (SAIC Motor-CP Co., Ltd.) หรือ MG เปิดเผยภายว่า เมื่อเร็วๆ นี้บริษัทได้เปิดโรงงานแบตเตอรี่ EV แห่งใหม่ภายใต้ชื่อ HASCO-CP BATTERY SHOP ในภูมิภาคอาเซียนบนพื้นที่ New Energy Industrial Park ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 75 ไร่ 

 

โดยแบ่งพื้นที่เป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ ได้แก่ ส่วนการประกอบแบตเตอรี่ ประกอบด้วยสายการผลิตอัตโนมัติที่ทันสมัยอย่างการนำหุ่นยนต์ (Robotic) เข้ามาช่วยในการผลิตเพื่อให้ได้มาตรฐานที่แม่นยำ และส่วนการทดสอบมาตรฐานของแบตเตอรี่กว่า 60 ขั้นตอน

 

และในสายการผลิตแห่งนี้สามารถประกอบแบตเตอรี่ Cell-To-Pack ได้สูงสุดมากกว่า 50,000 แพ็กต่อปี ซึ่งเป็นแบตเตอรี่ที่ประกอบในประเทศไทยและเป็นมาตรฐานเดียวกับสายการผลิตระดับโลก

 

 

MG ลุยผลิต EV 100,000 คันต่อปี

 

โรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) จังหวัดชลบุรี บนพื้นที่กว่า 437.5 ไร่ ซึ่งถือเป็นโรงงานที่ครบวงจรและมีความพร้อมในการผลิตทั้งรถยนต์เครื่องสันดาปภายในและรถยนต์พลังงานทางเลือก 

 

อีกทั้งยังมีโรงงานประกอบตัวถัง (General Assembly Shop) โรงงานพ่นสีรถยนต์ (Paint Shop) โรงผลิตตัวถัง (Body Shop) ซึ่งไลน์ผลิตทั้งหมดประกอบไปด้วยเทคโนโลยีการติดตั้งหุ่นยนต์สำหรับใช้ในสายการผลิต ที่ช่วยลดปริมาณการใช้พลังงานและมลพิษต่างๆ เพื่อความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยนอกจากไลน์การผลิตแล้วภายในพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นคลังจัดเก็บอะไหล่เพื่อรองรับรถยนต์ของ MG ทุกรุ่น

 

โดย MG มีกำลังการผลิตรวมสูงสุด 100,000 คันต่อปี เพื่อผลิตเพื่อป้อนตลาดในประเทศและส่งออกสู่ประเทศต่างๆ และภูมิภาคอาเซียน 

 

 

ซึ่งล่าสุด เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี เข้าเยี่ยมชมโรงงานประกอบรถยนต์แห่งนี้เพื่อสนับสนุนปักหมุดหมายฮับ EV ภูมิภาค ธนากรกล่าว

 

ธนากรกล่าวอีกว่า MG ถือเป็นแบรนด์รถยนต์ที่มีผลิตภัณฑ์ยานยนต์ไฟฟ้าที่หลากหลายและครอบคลุมทุกไลฟ์สไตล์ของคนไทย ทั้งรถเอสยูวีพลังงานไฟฟ้าอย่าง MG ZS EV ที่เป็นผู้จุดประกายความนิยมรถไฟฟ้าในไทย รถสเตชันวากอน และยังมีรุ่น MG EP และ MG ES รถแฮทช์แบคพลังงานไฟฟ้าที่มีระบบขับเคลื่อนล้อหลังอย่าง NEW MG4 ELECTRIC และรถลักชัวรี MPV แบบ 7 ที่นั่ง ขุมพลังไฟฟ้า 100% อย่าง NEW MG MAXUS 9 รวมถึงการลงทุนเพื่อขยายความแข็งแกร่งของระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้า และอนาคตจะมีสถานีชาร์จไฟแบบไว หรือ MG SUPER CHARGE ครอบคลุมทั่วประเทศ 

 

มาตรการ EV 3.5 กระตุ้นลงทุนนิคมฯ

 

ด้านจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA กล่าวว่า จากการเข้ามาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า EV โดยเฉพาะแบรนด์จีนเข้ามาตั้งฐานผลิตในนิคมอุตสาหกรรมของ WHA ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าไทยตั้งใจจริงในการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมให้มีมาตรฐานระดับโลก เพื่อขยายโอกาสความร่วมมือการลงทุนกับเขตเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก

 

 

โดยบริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ และมีโรงงานตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 437.5 ไร่ ภายในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 2 (WHA ESIE2) 

 

“นับเป็นช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับการที่รัฐบาลได้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติชุดใหม่ ที่มีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 ในช่วงระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ปี 2567-2570 นับเป็นการกระตุ้นให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่อง และเปิดโอกาสให้เกิดการลงทุนจากผู้ประกอบการรายใหม่จากทั่วโลก สอดคล้องนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน” 

 

WHA หนุนพัฒนา EEC เชื่อมแลนด์บริดจ์

 

นอกจากนี้ WHA มองว่าบริษัทพร้อมสนับสนุนรัฐบาลใช้โอกาสพัฒนาพื้นที่ EEC ควบคู่ไปกับการสร้างความเป็นไปได้ในการขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมและโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพทั่วประเทศ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน (แลนด์บริดจ์) ที่จะสร้างประโยชน์ด้านการลงทุนทั้งต่อ EEC และต่อการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ให้ยั่งยืน  

 

จากปัจจุบัน WHA Group มีนิคมอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ทั้งสิ้น 11 นิคม มีพื้นที่รวมกว่า 50,000 ไร่ และในปัจจุบันเกือบทุกนิคมอุตสาหกรรมรองรับผู้ประกอบการในธุรกิจยานยนต์ ส่งผลให้นิคมอุตสาหกรรมเป็นผู้นำด้านการพัฒนาพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ โดยมีบริษัทผู้ผลิตยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ชั้นนำจากทั่วโลกรวมมากกว่า 300 ราย เช่น AAT, Ford, Mazda, Suzuki, MG, Great Wall Motor, BYD และ Changan 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X