ตลอดไตรมาสแรกของปีนี้ ทองคำเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ถูกจับตามอง ทั้งสำหรับลงทุนเพื่อรับผลตอบแทน และลงทุนเพื่อกระจายความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ในมุมของความเคลื่อนไหวราคาทองคำกลับปรับลดลงต่อเนื่องตลอดไตรมาส โดยต้นปีนี้ ราคาทองคำเริ่มต้นที่ 1,890-1,910 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว 26,950-27,150 บาทต่อบาททองคำ (ราคาทองคำแท่งขายออก) และไต่ระดับไปถึง 1,955 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 27,650 บาทต่อบาททองคำในสัปดาห์แรกของเดือนมกราคม
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ราคาปรับลดลงหลุดระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือราว 24,450 บาทต่อบาททองคำ ซึ่งเป็นแนวรับสำคัญ
จรณเวท ศักดิ์ศรี ผู้อำนวยการฝ่ายแนะนำการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ที่ปรึกษาการลงทุน คลาสสิก ออสสิริส Classic Ausiris กล่าวว่า ราคาทองคำในปัจจุบันรับแรงกดดันจาก 5 ปัจจัย คือ
- Dollar Index ที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนถึงการแข็งค่าของค่าเงินดอลลาร์ และกดดันราคาทองคำ
- อัตราผลตอบแทนพันบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีแนวโน้มสูงขึ้น
- มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์
- ความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- การทยอยลดสัดส่วนการถือครองทองคำของกองทุน SPDR โดยข้อมูลตั้งแต่ต้นถึงปัจจุบัน กองทุน SPDR ขายทองคำไปแล้ว 100 ตัน และเฉพาะเดือนมีนาคมปีนี้ ขายไปกว่า 30 ตัน
ทั้ง 5 ปัจจัยเริ่มกดดันราคาทองคำให้เข้าสู่ช่วงขาลงมาตั้งแต่ต้นปี สำหรับรอบการปรับตัวลงครั้งนี้ ประเมินแนวรับที่ 1,600 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และแนวต้านที่ 1,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ อย่างไรก็ตาม ให้น้ำหนักมุมมองต่อราคาทองคำที่แนวรับมากกว่า
“ออสสิริสมองทองคำเป็นขาลงตั้งแต่ต้นปี เพราะเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งล้วนทำให้ความน่าสนใจของทองคำในฐานะที่เป็น Safe Haven ลดลงต่อเนื่อง ดูจากพฤติกรรมของกองทุน SPDR ที่ขายทองคำออกมาทุกรอบที่ราคารีบาวด์ ก็สะท้อนถึงมุมมองต่อทองคำได้ดี”
เขากล่าวเพิ่มว่า สัญญาณบ่งชี้ว่าทองคำเริ่มกลับด้านขาลงเป็นขาขึ้น ก็คือ 5 ปัจจัยที่กดดันราคาทองคำต้องเปลี่ยนทิศทางเคลื่อนไหว ทั้งนี้ ยังไม่แนะนำให้เข้าลงทุนทองคำ หรือเพิ่มน้ำหนักการถือครองในเวลานี้ เพราะช่วงขาลงยังไม่สิ้นสุด
ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ MTS Gold แม่ทองสุก กล่าวว่า ราคาทองคำปรับตัวลดลงในระยะสั้น และหลุดระดับ 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เนื่องจากรับผลกระทบจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ยังคงปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยมองเป็นการปรับฐานระยะสั้น-กลาง แต่ในเชิงเทคนิคแล้วเป็นช่วงขาลง และประเมินแนวรับที่ 1,650 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ และแนวต้านที่ 1,750 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ณัฐพงศ์ กล่าวว่า แนวโน้มราคาทองคำยังคงได้รับแรงกดดันต่อเนื่อง จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิของสหรัฐฯ มูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเมื่ออัดฉีดเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วก็จะทำให้เงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้นไป
ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนทยอยสะสมในช่วงราคา 24,000 บาทต่อบาททองคำ เนื่องจากยังเชื่อว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับเดียวกับในช่วงต้นปีที่ผ่านมา หรือที่ประมาณ 1,800 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
ฐิภา นววัฒนทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด (YLG) ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าในตลาด TFEX เปิดเผยว่าในช่วงต้นเดือนมีนาคม ราคาทองคำปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี คาดว่าในระยะสั้นจะมีแรงขายสลับกับการเข้าซื้อกลับ โดยในช่วงราคาที่ปรับลงมาสู่ระดับต่ำจะมีแรงซื้อทองคำกายภาพจากผู้ผลิตเครื่องประดับ รวมถึงแรงซื้อจากผู้บริโภคในเอเชีย ทั้งอินเดียและจีน เข้าซื้อทองคำแท่งซึ่งช่วยหนุนให้ราคาฟื้นตัวขึ้นเป็นระยะ
สำหรับการปรับลดลงของราคาทองคำในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากนักลงทุนคาดการณ์เชิงบวกเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และสกุลเงินดอลลาร์ปรับขึ้น อีกทั้งเรื่องความคืบหน้าของวัคซีนต้านโควิด-19 ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กดราคาทองคำให้ลดลง
ในส่วนของปัจจัยบวกนั้น ยังมีสลับเข้ามาเป็นระยะ โดยเฉพาะแนวโน้มที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำ รวมถึงเข้าซื้อสินทรัพย์ตามมาตรการ QE ต่อไปในการประชุมช่วงกลางเดือนมีนาคมนี้ จึงทำให้คาดการณ์ว่าในระยะสั้นราคาทองคำจะมีแรงดีดกลับสลับได้ แต่ในระยะกลางยังเป็นการแกว่งตัวลดลง
ทั้งนี้ การจะดูว่าเทรนด์ทองคำเป็นขาลงแล้วหรือไม่ ในส่วนของสัญญาณทางเทคนิคมีจุดที่ต้องจับตาคือ ถ้ารอบนี้ราคาทองคำไม่สามารถดีดกลับขึ้นไปยืน 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ได้ และปรับตัวต่ำกว่า 1,675-1,660 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ก็มีโอกาสที่จะกลายเป็นขาลง แต่ถ้ารอบนี้กลับขึ้นไปยืน 1,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ยังมีโอกาสลุ้นเทรนด์พลิกกลับหากราคาทองคำผ่าน 1,776 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ไปได้ ราคาก็จะกลายเป็นเทรนด์ขาขึ้นได้อีกรอบ
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์