ราคาทองคําวานนี้ (13 ตุลาคม) ทะยานขึ้น 32.90 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ +1.87% ที่ระดับ 1,792.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างวันไต่ระดับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตะราคาสูงสุดของวันที่ 1,795.89 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือเพิ่มขึ้น 2% และวันนี้ (14 ตุลาคม) ราคาทองคำยังทรงตัวได้ต่อเนื่อง ล่าสุดอยู่ที่ 1,792 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ความเคลื่อนไหวครั้งนี้เป็นการตอบรับปัจจัยอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ รายปีที่ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.4% ซึ่งสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ ทำให้ความสนใจในทองคำเพิ่มขึ้น เพราะทองคําเป็นสินทรัพย์ป้องกันเงินเฟ้อ และปัจจัยเรื่องอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับตัวลงต่อเนื่อง ซึ่งหนุนให้ราคาทองคำปรับเพิ่มขึ้น
วรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน ฟิวเจอร์ส (YLG) กล่าวว่า ราคาทองคำปรับขึ้นช่วงสั้น ตอบรับอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจชะลอลง
โดยตลาดเริ่มเปลี่ยนมุมมองต่อเศรษฐกิจและการดำเนินนโยบายต่างๆ โดยแต่เดิมตลาดมองการลดวงเงิน QE ของ Fed เป็นการสะท้อนความเชื่อมั่นใจการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เมื่อเร็วๆ นี้มีปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ตลาดเกิดความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในระยะกลางและระยะยาว ส่งผลให้นักลงทุนเพิ่มการถือครองทองคำในฐานะที่ทองคำเป็นสินทรัพย์ต้านทานเงินเฟ้อ
“การที่ราคาทองคำปรับขึ้นครั้งนี้เป็นการปรับขึ้นระยะสั้น เพื่อตอบรับกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งสะท้อนถึงความกังวลที่มากขึ้นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ”
YLG ประเมินทิศทางราคาทองคำในช่วงไตรมาส 4 จะเคลื่อนไหวในกรอบแคบ (Sideway) โดยมองแนวต้านที่กรอบ 1,833-1,919 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยที่ระดับ 1,833 ดอลลาร์ต่อออนซ์เป็นแนวต้านสำคัญ และเป็นจุดสูงสุดของเดือนกรกฎาคม-กันยายน ส่วนแนวรับมองที่ 1,716-1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์
วรุตกล่าวว่า ในระยะกลาง-ยาว ราคาทองคำยังมีปัจจัยสนับสนุนอยู่อีก เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้, ความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ซึ่งล่าสุดสหรัฐฯ มีท่าทีที่ชัดเจนว่าพร้อมจะโต้ตอบทางการค้ากับจีนด้วยนโยบายทางภาษี หากจีนไม่สามารถทำตามข้อตกลงทางการค้า Phase 1 ที่จะครบกำหนดตามสัญญาในสิ้นปีนี้
นอกจากนี้ยังมีเรื่องความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐฯ ยังคงพยายามเข้ามามีบทบาทเพื่อลดทอนอำนาจของจีนแผ่นดินใหญ่ รวมถึงเพดานหนี้สาธารณะสหรัฐฯ ที่ต้องได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเครดิตประเทศ
โดย YLG ประเมินทิศทางราคาทองคำในปี 2565 น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 1,960-2,000 จุดได้ หากปัจจัยดังกล่าวขั้นต้นมีความชัดเจน โดยแนะนำนักลงทุนให้ลงทุนในทองคำสัดส่วน 5-15% ของพอร์ตลงทุน เพื่อรับผลตอบแทนระยะกลาง-ยาว และใช้ทองคำเป็นสินทรัพย์ช่วยบริหารความเสี่ยง สำหรับนักลงทุนที่มีความเชี่ยวชาญในตลาดทองคำ แนะนำให้ลงทุนเพิ่มอีก 5% ในลักษณะ Trading
ณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก กล่าวว่า ราคาทองคำวันนี้ปรับขึ้นตอบรับ 2 ปัจจัย คือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับสูงขึ้นและอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อายุ 10 ปีที่ปรับตัวลง ทั้งนี้ มองเป็นการตอบรับระยะสั้นๆ ที่จะต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤศจิกายนที่ Fed จะเริ่มมีการลดวงเงิน QE ซึ่งเมื่อ Fed เริ่มดำเนินการนโยบายดังกล่าว จะทำให้ดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และกดดันให้ราคาทองคำปรับลดลง
“มองว่าการปรับขึ้นรอบนี้จะเป็นช่วงสั้นๆ ถึงเดือนพฤศจิกายน เพราะเมื่อ Fed เริ่มลดวงเงิน QE ก็จะทำให้เม็ดเงินในระบบลดลง ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นและกดดันราคาทองคำ เพราะราคาทองคำจะเคลื่อนไหวผกผันกับค่าเงินดอลลาร์ โดยแนวต้านรอบนี้ที่ 1,806-1,820 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวรับมองที่ 1,780 ดอลลาร์ต่อออนซ์”
สำหรับปี 2565 ยังมองทิศทางราคาทองคำเคลื่อนไหวในกรอบแคบ เนื่องจากปีหน้าทองคำจะรับแรงกดดันจากการลดวงเงิน QE ของ Fed อย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงปลายปีน่าจะมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิกฤตการทางเศรษฐกิจขึ้น ก็จะส่งผลบวกต่อทองคำอีกครั้ง
ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนระยะสั้นหาจังหวะเข้าซื้อและขายทำกำไร ส่วนนักลงทุนระยะยาวให้รอราคาทองคำอ่อนตัวอย่างชัดเจนจึงทยอยสะสม
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP