×

สปสช. ยืนยัน บัตรทองไม่ล่ม เตรียมศึกษาต้นทุน ชี้ 1.3 หมื่นบาทต่อคนเป็นข้อมูลเก่า

โดย THE STANDARD TEAM
27.05.2025
  • LOADING...
gold-card-cost-analysis

วันนี้ (27 พฤษภาคม) ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะโฆษก สปสช. เปิดเผยกับทีมข่าว THE STANDARD ถึงประเด็นงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) ว่าไม่เพียงพอและเสี่ยงล่มสลายภายใน 3 ปี ว่า จากในงานเสวนา ‘ทิศทางการดำเนินงานระบบบัตรทองในปัจจุบันและอนาคต’ เมื่อวันเสาร์ที่ 24 พฤษภาคมที่ผ่านมา โดยตัวแทนจากโรงพยาบาลต่างๆ มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงในจุดต่างๆ ซึ่ง สปสช. เองยินดีน้อมรับข้อเสนอแนะทั้งหมด 

 

ทพ.อรรถพร ยืนยันว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของไทยไม่อยู่ในความเสี่ยงที่จะล่มสลาย โดย ‘กองทุนบัตรทอง’ นั้น รัฐบาลสนับสนุน ส่วนรัฐบาลจะจัดสรรให้มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับ 1. คำของบประมาณ​ที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) 2. พิจารณาสิทธิประโยชน์ที่จะเพิ่มเติม บนพื้นฐานของการคำนวณงบประมาณที่จะใช้ 3. อัตราเงินเฟ้อในปีนั้นๆ เป็นอย่างไร ทั้ง 3 ปัจจัยนี้เป็นองค์ประกอบที่ทาง สปสช. ส่งให้สำนักงบประมาณ

 

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ที่ผ่านมา สปสช. ได้รับจัดสรรงบกลาง จำนวน 5,924 ล้านบาท เงินจำนวนนี้ สปสช. จัดสรรค่าบริการ 30 บาทรักษาทุกที่ 1,705 ล้านบาท และเงินส่วนที่เหลือได้นำมาจัดสรรค่าบริการผู้ป่วยในให้หน่วยบริการ ในอัตราไม่เกิน 8,350 บาทต่อ AdjRw (หนึ่งน้ำหนักสัมพัทธ์ปรับตามวันนอน) 

 

ทั้งนี้ ในประเด็นตัวเลขอัตราจ่ายผู้ป่วยใน 8,350 บาทต่อ AdjRw ที่จะปรับลดเหลือ 7,100 บาทต่อ AdjRw นั้น ทพ.อรรถพร อธิบายว่า ตัวเลขอัตราจ่ายผู้ป่วยใน 7,100 บาทต่อ AdjRw นั้นเป็นการคำนวณจากจำนวนการใช้บริการผู้ป่วยในที่เพิ่มขึ้น ซึ่ง สปสช. ได้นำเข้าที่ประชุมคณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินการงานและการบริหารจัดการกองทุนเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้ข้อสรุปว่ายืนยันอัตราจ่ายผู้ป่วยในที่ 8,350 บาทต่อ AdjRw และ สปสช. จะเสนอของบประมาณเพิ่มเติมต่อไป ดังนั้นไม่มีการปรับลดอัตราจ่ายผู้ป่วยในเหลือ 7,100 บาทต่อ AdjRw อย่างแน่นอน

 

ทั้งนี้ งบประมาณการจ่ายค่าบริการผู้ป่วยในเป็นงบประมาณปลายปิด หรือ Global budget เป็นไปตามแนวทางวิชาการของการบริหารงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งประเทศที่มีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชาชนใช้หลักการนี้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของระบบ ในส่วนของประเทศไทย เราใช้หลักการว่าต้องไม่ต่ำกว่า 8,350 บาทต่อ AdjRw หากปลายปีงบประมาณไม่เพียงพอให้เสนอของบประมาณเพิ่มเติม ซึ่งในการจ่ายเงินให้กับหน่วยบริการนั้น สปสช. ได้รับงบประมาณมาเท่าไหร่ ก็จ่ายตามระเบียบและหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามกฎหมายให้กับโรงพยาบาลไปทั้งหมด 

 

ส่วนประเด็นที่มีข้อมูลว่าโรงพยาบาลรัฐหลายแห่งขาดทุนรวมกันกว่า 2 พันล้าน และมีโรงพยาบาลอีกกว่า 91 แห่งที่มีเงินบำรุงเหลือไม่ถึง 5 ล้านบาท นั้น ทพ.อรรถพร กล่าวว่า จะต้องไปดูแหล่งรายได้ของโรงพยาบาลก่อน โดยรายได้ของโรงพยาบาลนั้นมาจาก 3 แหล่ง ได้แก่ 1. รัฐ โดยนำไปใช้สำหรับสิทธิ์การรักษาของข้าราชการ สิทธิ์การรักษาประกันสังคม และสิทธิ์การรักษาบัตรทอง 2. เก็บเงินสดจากผู้ป่วย 3. อื่นๆ ส่วนสาเหตุที่บางโรงพยาบาลขาดทุนทาง สปสช. ไม่สามารถตอบแทนได้ จะต้องไปดูที่บริบทของแต่ละโรงพยาบาล เพราะ สปสช. รับผิดชอบเพียงแค่ 1 ช่องทางรายได้ของโรงพยาบาลเท่านั้น 

 

ในขณะที่ประเด็นเรื่องต้นทุนเฉลี่ยต่อผู้ป่วยในหนึ่งรายอยู่ที่ 13,000 บาทนั้น ทพ.อรรถพร กล่าวว่า ข้อมูลดังกล่าวมาจากงานวิจัยเมื่อหลายปีมาแล้ว ตนมองว่าหากจะหาต้นทุนจริงๆ ควรจะศึกษาหาต้นทุนในปัจจุบัน ทาง สปสช. จึงเสนอว่าควรจะทำต้นทุนโดยการเชิญผู้เชี่ยวชาญระดับชาติมาทำงานวิจัยร่วมกัน และแบ่งไปตามขนาดโรงพยาบาลตั้งแต่โรงพยาบาลขนาดใหญ่ โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลทั่วไป ไปจนถึงโรงพยาบาลชุมชน และนำต้นทุนนี้ไปเสนอสำนักงบประมาณร่วมกันระหว่างโรงพยาบาลและ สปสช. เพื่อให้สำนักงบประมาณเห็นว่าขณะนี้ต้นทุนนั้นเปลี่ยนไป และควรจะมีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม ทั้งนี้ในอนาคตอาจจะมีการเพิ่มเรื่องนี้เข้าไปในบอร์ด สปสช. เพื่อให้เสนอ ครม. ตั้งคณะกรรมการศึกษาต้นทุนตามฐานข้อมูลจริง 

 

“การบอกว่าระบบหลักประกันสุขภาพกำลังจะเจ๊งมันกระทบต่อความรู้สึกของประชาชน เพราะมีคนกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่จำเป็นต้องใช้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ” ทพ.อรรถพร กล่าว

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising