×

ถอดรหัส ‘ไอซ์แลนด์’ กับเหตุผลที่ทำให้ชาติที่เล็กที่สุดได้ไปฟุตบอลโลก

12.10.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • สำหรับชาติที่มีจำนวนประชากรแค่ 335,000 คน ความสำเร็จในเรื่องใดสักครั้งนั้นมันอาจมากเกินพอแล้ว แต่สำหรับไอซ์แลนด์ ความสำเร็จในยูโร 2016 ไม่ได้ทำให้พวกเขาคิดที่จะ ‘หยุด’ อยู่แค่นั้น
  • โค้ชไฮเมียร์ ฮัลล์กริมส์สัน กล่าวว่า “ผมคิดว่าหลังจบยูโร 2016 นั้น สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการกระตุ้นตัวเราเองอีกครั้ง” เพราะในเกมกีฬา เมื่อใดที่เราได้สัมผัสกับความสำเร็จแล้ว มันง่ายมากที่เราจะสูญเสียความตั้งใจไปเพียงเพราะคำว่า “ฉันทำได้แล้ว” แต่ฮัลล์กริมส์สันไม่อยากให้ไอซ์แลนด์เป็นเช่นนั้น
  • เคล็ดลับความสำเร็จของไอซ์แลนด์อย่างแรกคือ ‘สนาม’ นั่นเอง ด้วยขนาดพื้นที่แค่ 102,000 ตารางกิโลเมตร ไอซ์แลนด์มีจำนวนสนามขนาดใหญ่ มาตรฐานอยู่ 179 สนาม นอกจากนี้ยังมีสนามที่มีขนาดครึ่งหนึ่งของสนามมาตรฐาน ซึ่งรวมถึงสนามหญ้าเทียมทั้งกลางแจ้งอีก 6 แห่ง และสนามในร่มอีก 160 สนาม

     สองแขนที่กางออก ก่อนจะปรบมือในจังหวะพร้อมเพรียง

     เสียงนั้นดังดุจกัมปนาทที่ฟาดลงกลางใจ ก่อนจะเงียบและดังขึ้นใหม่อยู่เช่นนี้

     จากจังหวะช้าๆ ค่อยๆ เร็วขึ้นเรื่อยๆ ก่อนที่เสียงปรบมือจะระรัว และจบลงด้วยการกู่ร้องก้องสุดเสียงของทั้งคนที่อยู่บนสนามหญ้าและคนที่อยู่บนอัฒจันทร์

     นั่นคือภาพการเฉลิมฉลองของเหล่านักเตะทีมชาติไอซ์แลนด์ และแฟนๆ ของพวกเขาที่เรารู้จักกันในนาม The Viking Thunder-Clap (บ้างก็เรียกว่า Viking Clap) ที่เคยสร้างความประทับใจมาแล้วในรายการ ยูโร 2016 ที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปีที่แล้ว

     โดยเฉพาะการฉลองหลังไอซ์แลนด์เขี่ยชาติที่อ้างตนว่าเป็นผู้ให้กำเนิดเกมฟุตบอลสมัยใหม่อย่างอังกฤษ ที่เป็น ‘ภาพจำ’ ในใจของคนทั้งโลก

     มันทำให้เรารู้ว่านอกจาก ‘แสงเหนือ’ แล้ว ไอซ์แลนด์ยังมีดีในเรื่องฟุตบอลด้วย

     วันนี้พวกเขาได้ฉลองกันอีกครั้งหลังเอาชนะโคโซโวได้ 2-0 ทำให้ได้สิทธิ์ผ่านเข้าไปเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่ประเทศรัสเซียครับ ทั้งๆ ที่ต้องอยู่ร่วมกลุ่มที่ไม่ง่ายเลยเพราะมีทั้งโครเอเชีย, ตุรกี, ยูเครน และฟินแลนด์

     และนี่คือฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์ชาติไอซ์แลนด์ ชาติที่มีขนาดเล็กที่สุด และมีประชากรน้อยที่สุดที่ได้สิทธิ์ร่วมชิงชัยในมหกรรมฟุตบอลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของโลกใบนี้

     ดอกไม้ไฟบานเต็มฟ้าเหนือสนาม Laugardalsvöllur ใบหน้าของแฟนบอลชาวไอซ์แลนดิกเต็มไปด้วยรอยยิ้ม มวลความสุขอบอวลไปทั่วกรุงเรคยาวิก เมืองหลวงของไอซ์แลนด์

     แต่นอกจากการร่วมแสดงความยินดีไปกับความสำเร็จในครั้งนี้ของไอซ์แลนด์ บางทีผมว่าเราน่าจะลองศึกษาอะไรจากเรื่องราวของพวกเขากันดูสักนิด

     มาถอดรหัสเรื่องราวของทีมชาติเล็กๆ ชุดนี้ดูสักหน่อย ผมว่ามีอะไรดีๆ ที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยเลย 🙂

 

 

การเริ่มต้นใหม่ที่ยากลำบาก

     สำหรับชาติที่มีจำนวนประชากรแค่ 335,000 คน ความสำเร็จในเรื่องใดสักครั้งนั้นมันอาจมากเกินพอแล้ว

     อย่างน้อยก็มีเรื่องเล่าไว้ให้ลูกหลานฟังได้ทั้งชาติ

     แต่สำหรับไอซ์แลนด์ ความสำเร็จในยูโร 2016 ไม่ได้ทำให้พวกเขาคิดที่จะ ‘หยุด’ อยู่แค่นั้นครับ

     พวกเขายังต้องการไปต่ออีก แม้จะรู้ว่ามันไม่ง่ายเลย

     โค้ชไฮเมียร์ ฮัลล์กริมส์สัน กล่าวว่า “ผมคิดว่าหลังจบยูโร 2016 นั้น สิ่งที่ยากที่สุดก็คือการกระตุ้นตัวเราเองอีกครั้ง”

     ที่ฮัลล์กริมส์สันพูดแบบนี้ก็เพราะว่าในเกมกีฬา หรือแม้กระทั่งในชีวิตจริงของพวกเราทุกคนเองก็ตาม เมื่อใดที่เราได้สัมผัสกับความสำเร็จแล้ว มันง่ายมากที่เราจะสูญเสียความตั้งใจไปเพียงเพราะคำว่า ‘ฉันทำได้แล้ว’

     ในวงการฟุตบอลเองก็มีทีมในอดีตจำนวนมากที่ประสบความสำเร็จเพียงครั้งเดียวก่อนจะล้มเหลวไปอีกนาน

     เหมือนที่โบราณเขาพูดกันว่า “การป้องกันแชมป์นั้นยากกว่าการเป็นแชมป์”

     ฮัลล์กริมส์สันไม่อยากให้ไอซ์แลนด์เป็นเช่นนั้น พวกเขาไม่อยากให้ทุกคนจำภาพความสำเร็จได้แค่ในฟุตบอลยูโร 2016 และภาพการฉลองด้วยการปรบมือที่กึกก้องดุจกัมปนาทแค่นั้น

     แต่เขาอยากให้ทุกคนจดจำไอซ์แลนด์ในฐานะชาติที่มีทีมฟุตบอลที่ดีจริงๆ ไม่ใช่แค่มาเปรี้ยงเดียวแล้วหายไป

     และเพื่อจะทำเช่นนั้น ฮัลล์กริมส์สันเริ่มต้นทุกอย่างที่ตัวเองก่อนด้วยการทำหน้าที่ในฐานะโค้ชของไอซ์แลนด์ต่อไป โดยเพิกเฉยต่อเสียงทัดทานจากคนรอบข้างว่าเขาควรหยุดทุกอย่างและปล่อยให้เรื่องราวที่ฝรั่งเศสนั้นเป็นตำนานตลอดไป

     การตัดสินใจด้วยความแน่วแน่ครั้งนั้นได้รับการตอบสนองจากลูกทีม ที่ค่อยๆเก็บเล็กผสมน้อยในผลการแข่งขันแต่ละนัด ไม่ต่างอะไรจากการปรบมือ Viking Thunder-Clap ที่เริ่มจากช้าๆ ก่อนจังหวะจะเร่งระรัวขึ้น

     หลังเริ่มต้นอย่างกระท่อนกระแท่น ไอซ์แลนด์กลับมาเข้าฝักกันอีกครั้งในปีนี้ที่สามารถเก็บชัยชนะในรอบคัดเลือกได้ถึง 5 จาก 6 นัด โดยเฉพาะเกมสำคัญกับ โครเอเชีย, ตุรกี และยูเครน พวกเขาชนะรวดทั้งหมด

     ไอซ์แลนด์ได้เป็นแชมป์กลุ่มและได้ไปฟุตบอลโลก และทุกคนได้ฉลองร่วมกันอีกครั้ง

     สิ่งเหล่านี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้เลยหากฮัลล์กริมส์สัน และลูกทีมพอใจกับความสำเร็จในฟุตบอลยูโรที่ฝรั่งเศส

     และมันเป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าหากเราตั้งใจทำอะไรอย่างจริงจังและทำได้ดีพอ เราสามารถประสบความสำเร็จได้มากกว่า 1 ครั้ง

     “เบียร์แก้วแรกในวันหลังจากวันฉลองนั้นรสชาติไม่ได้เรื่อง มันไม่มีวันที่จะมีรสชาติดีเหมือนในเวลานี้แน่”

     ฮัลล์กริมส์สันจิบไปฉลองไปพร้อมกับชาวไอซ์แลนด์ทั้งประเทศ

 

ถอดรหัสความสำเร็จฉบับไอซ์แลนด์

     สิ่งที่หลายคนสงสัยคือชาติเล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนดินแดนที่หนาวเหน็บเต็มไปด้วยหิมะแทบทุกหนทุกแห่งนี้ แถมยังไม่มีลีกฟุตบอลอาชีพเป็นของตัวเองด้วย พวกเขาเล่นฟุตบอลเก่งได้อย่างไร?

     เคล็ดลับความสำเร็จของไอซ์แลนด์อย่างแรกคือ ‘สนาม’ นั่นเอง

     ด้วยขนาดพื้นที่แค่ 102,000 ตารางกิโลเมตร (ประเทศไทยมีขนาดพื้นที่ 513,115 ตารางกิโลเมตร) และจำนวนประชากรที่น้อยมาก (ไอซ์แลนด์มีอัตราความหนาแน่นของประชากรน้อยที่สุดในโลก) ทำให้คนไอซ์แลนด์มีความใกล้ชิดกันมาก

     ตามข้อมูลจากสมาคมฟุตบอลไอซ์แลนด์ (KSI) เมื่อปี 2015 ระบุว่าในประเทศมีจำนวนสนามขนาดใหญ่มาตรฐาน (full-size pitch) อยู่ 179 สนาม นอกจากนี้ยังมีสนามที่มีขนาดครึ่งหนึ่งของสนามมาตรฐาน ซึ่งรวมถึงสนามหญ้าเทียมทั้งกลางแจ้งอีก 6 แห่งและสนามในร่ม (มีระบบทำความอุ่นภายใน) อีก 160 สนาม

     สนามเหล่านี้มีไว้เพื่อให้ทุกคนในไอซ์แลนด์ได้มีโอกาสเล่นฟุตบอลกัน โดย 1 สนามสามารถรองรับจำนวนนักฟุตบอลที่ลงทะเบียนเอาไว้ได้ถึง 128 คน

     เรียกได้ว่าระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานในเรื่องของสนามฟุตบอลคือรากฐานความสำเร็จของไอซ์แลนด์ก็ว่าได้

     โดย ‘ทุกคน’ ไม่ว่าจะยากดีมีจน จะเป็นหญิงหรือชาย พวกเขามีสิทธิ์จะลงเล่นฟุตบอลไปจนถึงอายุ 19 ปีโดยไม่มีเงื่อนไข

     ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเล่นฟุตบอลอย่าง ‘เท่าเทียม’

     เมื่อมีสนามมากพอ ด้วยจำนวนประชากรที่ไม่มากนักทำให้เกิดความ ‘ใกล้ชิด’ ขึ้นในหมู่นักฟุตบอล และนั่นคือเคล็ดลับอย่างที่สองของไอซ์แลนด์ครับ

     ที่นั่นน้องๆ หนูๆ ไม่ได้เฝ้ามองเหล่านักฟุตบอลรุ่นพี่อยู่ห่างๆ แต่พวกเขาจะได้โอกาสในการลงฝึกซ้อม ได้พูดคุย ได้ฟังคำแนะนำ คำสอนจากนักเตะรุ่นพี่เหล่านั้น

     สิ่งเหล่านี้มีคุณค่ามากครับ เพราะมันคือการได้รับแรงบันดาลใจโดยตรง ซึ่งทรงพลังกว่าการฟังคำบอกเล่าจากนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ที่มาพูดให้ฟังในระยะเวลา 10 นาทีในกิจกรรมฟุตบอลคลินิกเพื่อการตลาดมากมายนัก

     เด็กๆ พวกนี้ได้เห็นกับตาว่ารุ่นพี่ๆ ของพวกเขาประสบความสำเร็จได้อย่างไร จากนักเตะสมัครเล่นก้าวไปสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพ และก้าวไปสู่การรับใช้ทีมชาติ

     โดยคนที่มาฝึกสอนนั้นก็ไม่ใช่โค้ชไก่กา แต่เป็นโค้ชฟุตบอลที่ผ่านการอบรมในระบบ UEFA B License เป็นอย่างต่ำ บางครั้งอาจจะมีโค้ชระดับ UEFA A License มาสอนให้ด้วยซ้ำไป

     และนี่คือเคล็ดลับความสำเร็จอย่างสุดท้ายของพวกเขาครับ

     การที่ชาติใดจะประสบความสำเร็จในเกมลูกหนังอย่างจริงจังได้นั้นไม่ใช่แค่คิดจะสร้างนักฟุตบอลขึ้นมาแค่อย่างเดียว เพราะสิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือคนที่จะมาสอนและดูแลนักฟุตบอลเหล่านั้น

     ก็เหมือนกับการที่เราจะปลูกป่า เราจำเป็นต้องมีคนที่เข้าใจธรรมชาติของป่ามาดูแล ไม่เช่นนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการเอาต้นไม้ไปปักวางตามแปลงปลูกเฉยๆ

     ที่ไอซ์แลนด์ความได้เปรียบของพวกเขาคือการที่ค่าอบรมโค้ชในไอซ์แลนด์ถูกกว่าชาติอื่นในยุโรปมากครับ

     สำหรับการอบรม B-License ในไอซ์แลนด์ มีค่าใช้จ่าย 770 ยูโร ขณะที่ในสเปนต้องใช้เงินถึง 1,200 ยูโร

     เมื่อค่าใช้จ่ายไม่มาก ทำให้ใครๆ ก็สามารถอบรมโค้ชได้ โดยใช้ระยะเวลาในการอบรม 8 เดือนด้วยกัน ซึ่ง 95% ของการอบรมจะมีขึ้นที่เมืองหลวงเรคยาวิก ทำให้พวกเขาได้เรียนจาก ‘ต้นแบบ’ ที่ดีเท่าเทียมกันด้วย

     การมีโค้ชที่มีความรู้ความสามารถจำนวนมากเท่าไหร่ก็ยิ่งดีต่อระบบฟุตบอลมากขึ้นเท่านั้นครับ

     เหนืออื่นใดสำหรับไอซ์แลนด์แล้วฟุตบอลไม่ได้เป็นแค่กีฬา

     แต่มันคือตัวตนและจิตวิญญาณของพวกเขาซึ่งถูกปลูกฝังจนกลายเป็นรากเหง้าและวัฒนธรรม

     โดยที่เราสามารถมองเห็นภาพสะท้อนของสิ่งเหล่านั้นได้อย่างชัดเจนผ่านผลงานของทีมนักรบไวกิ้ง

 

 

การเปลี่ยนแปลงโชคชะตาด้วยตัวเอง

     พูดถึงเคล็ดลับของความสำเร็จของไอซ์แลนด์กันไปแล้ว เหมือนทุกอย่างจะราบรื่นและสวยงามไปเสียหมดนะครับ

     แต่ความจริงแล้วกว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ ไอซ์แลนด์เองก็ต้องผ่านความเจ็บปวดมามากมาย

     ไอซ์แลนด์เคยเป็นเพียงชาติเล็กๆ ที่ยากจะคิดถึงความสำเร็จ เรื่องจะไปฟุตบอลโลกหรือฟุตบอลยูโรนั้นไกลเกินจินตนาการของพวกเขาไปมาก

     แต่แทนที่ชาวไอซ์แลนด์จะปล่อยให้ความฝันเป็นแค่จินตนาการในยามหลับใหล พวกเขาเลือกที่จะตื่นและลงมือทำให้เป็นความจริง

     โดยทุกอย่างเพิ่งจะเริ่มต้นผ่านการปฏิวัติลูกหนังครั้งใหญ่ในปี 2002 เท่านั้นเอง

     จุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงมาจากการจ้าง Sigurður Ragnar Eyjólfsson เข้ามาเป็นหัวหน้าผู้ฝึกสอนโค้ช เพื่อให้ไอซ์แลนด์มีโค้ชที่มีฝีมือและความรู้ฟุตบอลเทียบเท่ากับประเทศในระดับชั้นนำ ซึ่งนำไปสู่การเปิดอบรมโค้ชที่กล่าวไว้ข้างต้น

     หลังจากนั้นคือการสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ เพื่อรองรับสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

     สนามฟุตบอลจำนวนมากในไอซ์แลนด์ เกิดขึ้นในช่วงหลังปี 2002 หรือไม่เกิน 15 ปีที่ผ่านมานี่เองครับ

     เมื่อทุกอย่างพร้อมที่เหลือคือการพัฒนาเยาวชน ซึ่งเยาวชนที่ผ่านการฝึกฝนและมีฝีเท้าดีพอจะมีโอกาสเล่นในระดับลีกสมัครเล่นที่เรียกว่า Úrvalsdeild karla ซึ่งเป็นแหล่งผลิตนักเตะฝีเท้าดีให้สโมสรจากลีกชั้นนำมาเก็บเกี่ยวในเวลาต่อมา

     แน่นอนครับว่าช่วงเวลาที่ยากที่สุดคือการ ‘นับหนึ่ง’

     จากโค้ชคนแรกที่ผ่านการอบรม B License ก็ต้องรอจนถึงปี 2004

     หลังจากนั้นต้องรอนักฟุตบอลที่ผ่านการสอนจากโค้ชเหล่านี้อีก

     มันเป็นกระบวนการที่ต้องใช้เวลา ใช้ความพยายาม และความอดทนสูง

     แต่ผลตอบแทนของการลงทุนนั้นคุ้มค่า โดยเฉพาะเมื่อได้เห็นเด็กๆ ได้ลงเล่นฟุตบอลในสนามที่มีความพร้อม มีโค้ชเก่งๆ คอยสอนและดูแล มีกองเชียร์ที่พร้อมเข้ามาให้กำลังใจทุกเมื่อ มันคือภาพสังคมฟุตบอลในอุดมคติ

     ขณะที่เด็กๆ เองเมื่อได้ฝึกฝนในสิ่งแวดล้อมเช่นนั้น โดยเฉพาะการได้สัมผัสกับนักเตะรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จอย่างใกล้ชิด มันทำให้พวกเขาเกิดความรักและความผูกพันในการเล่นฟุตบอล

     และเมื่อเกิดความรักที่จะเล่นฟุตบอลแล้ว พวกเขาจะเล่นด้วยตัวตนและจิตใจของพวกเขาเอง

     นั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

     การได้ไปฟุตบอลโลกของไอซ์แลนด์อาจจะเหมือนเรื่องปาฏิหาริย์

     แต่มันเป็นปาฏิหาริย์ที่เกิดขึ้นได้ด้วยการวางแผนที่ดีและความตั้งใจที่ดีครับ

     มันงดงามไม่แพ้แสงเหนือบนฟากฟ้า หรือลีลา Viking Thunder-Clap ของพวกเขาเลย

     และคุณูปการที่ยิ่งใหญ่สำหรับโลกใบนี้ที่ไอซ์แลนด์ฝากไว้ คือการเป็นแรงบันดาลใจของชาติที่ไม่เคยได้ไปรายการอย่างฟุตบอลโลกมาก่อน

     ถ้าตั้งใจทำ ไม่มีอะไรที่ทำไม่ได้ครับ 🙂

 

Photo: Haraldur Gudjonsson/AFP

อ้างอิง:

FYI
  • The Viking Thunder-Clap มีต้นกำเนิดมาจากกองเชียร์สโมสร Stjarnan ในกรุงเรคยาวิก ในวันที่ไปเยือน มาเธอร์เวลล์ สโมสรในสกอตแลนด์ ในศึกยูโรป้า ลีก และสไตล์การเชียร์แบบนี้ถูกเรียกขานว่าเป็น ‘Viking war chant’ และมาโด่งดังในฟุตบอลยูโร 2016 โดยเฉพาะหลังชัยชนะเหนืออังกฤษในรอบน็อกเอาต์ ก่อนโดน เวลส์ และ ฝรั่งเศส เอาไปเลียนแบบในเวลาต่อมา
  • ในบรรดานักเตะทีมชาติไอซ์แลนด์ชุดปัจจุบัน นามสกุลของทุกคนลงท้ายด้วยคำว่า Son ทั้งหมด!
  • สตาร์ในอดีตที่โด่งดังที่สุดของไอซ์แลนด์ คือ ไอเดอร์ กุ๊ดยอห์นเซ่น (Eiður Guðjohnsen) เจ้าของสถิติ 26 ประตูจากการเล่น 88 นัด
  • ส่วนโค้ชไฮเมียร์ ฮัลล์กริมส์สัน โค้ชคนปัจจุบันยังมีอาชีพเป็นหมอฟันอยู่เลย
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising