1.
“ผมยังจำลูกเปิดลูกนั้นได้ดี”
บันทึกความทรงจำของเขายังคงทำหน้าที่ของมันได้อย่างสมบูรณ์แบบ
“ผมได้เห็นลูกบอลที่ โธมัส มุลเลอร์ ขึ้นโขกลอยข้ามผ่าน เพตเตอร์ เช็ก ก่อนจะชนคานและกระเด้งลงมา และหลังจากนั้นผมก็ได้ยินเสียง เสียงที่ดังจนผมไม่สามารถจะได้ยินแม้แต่เสียงความคิดของตัวเอง มันดังเหมือนพสุธากัมปนาท”
ประตูนั้นเป็นประตูขึ้นนำ 1-0 ของ บาเยิร์น มิวนิก ในเกมนัดชิงชนะเลิศ ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ ลีก ปี 2012 ซึ่งเป็นเกมนัดชิงที่สนาม อลิอันซ์ อารีนา รังเหย้าของชาว ‘เสือใต้’
เขาและเพื่อนร่วมทีม ถึงจะผ่านการลงสนามมาแล้วมากมายแต่ก็ไม่เคยได้ยินเสียงอะไรที่ดังขนาดนี้มาก่อน
แต่เมื่อเกมยังไม่หมดเวลา ไม่กี่วินาทีหลังจากนั้นเขาเดินกลับมายืนอยู่กลางสนาม รอให้นักเตะบาเยิร์น ฉลองประตูที่พวกเขาและแฟนบอลบาเยิร์น อีกกว่า 50,000 คนที่ดีใจแบบหลุดโลกในสนามที่งดงามดั่งโคมไฟสีแดง คิดว่ามันจะเป็นประตูฉลองชัยชนะกับการคว้าแชมป์ยุโรปในบ้านของตัวเอง
ไม่แปลกที่เหตุการณ์จะชวนให้คิดว่าทุกอย่างอาจถูกกำหนดไว้แบบนั้น
ระหว่างที่รอนั้นมีความคิดมากมายปรากฏขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ผู้จัดการทีมคนเก่าเพิ่งจะถูกปลดไม่กี่เดือนก่อนหน้า และพวกเขาก็พลิกสถานการณ์ผ่านด่าน นาโปลี มาได้ในรอบ 16 ทีมสุดท้าย และหลังรอดพ้นจากเงื้อมมือของ บาร์เซโลนา ที่สนามคัมป์ นู ทั้งที่เหลือผู้เล่นแค่ 10 คน
นี่มันคืออะไร? มันจะจบลงแค่นี้หรือ?
ฆวน มาตา – เจ้าของเรื่องราวนี้ – หันไปมอง ดิดิเยร์ ดร็อกบา ที่เดินมาเขี่ยบอลด้วยกัน และพบว่ากองหน้าผู้แข็งแกร่งดุจพญาช้างสารซึ่งไม่เคยท้อแท้ให้เห็นเลยได้แสดงความอ่อนแอออกมาให้เห็นผ่านนัยน์ตาเป็นครั้งแรก
แต่ไม่รู้ว่ามีอะไรดลใจ มาตา วางมือบนบ่าของ ดร็อกบา และบอกว่า “มองไปรอบๆ สิ ดิดิเยร์ ลองดูว่าเราอยู่ตรงไหน ได้โปรดอย่ากังวลอะไร ขอให้เชื่อต่อไป… ขอแค่เชื่อเท่านั้น”
มาตา เชื่อว่าบาเยิร์น มิวนิก ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นผู้ชนะ แต่เป็น เชลซี ของเขาต่างหากที่เกิดมาเพื่อเป็นผู้ชนะ
อาจเป็นเพราะเขาไม่ใช่คนที่พูดเยอะ การให้กำลังใจของเขา ทำให้ ดร็อกบา รู้สึกดีขึ้น
“โอเค ฮวน ลุยกันเถอะ” ดร็อกบา กล่าวพร้อมรอยยิ้มที่มุมปาก
โดยที่เวลานั้นพวกเขาไม่รู้ว่าความเชื่อนั้นมีพลังมากแค่ไหน
2.
ทราบไหมครับว่าบนโลกใบนี้มีคนที่รักเกมฟุตบอลกี่คน?
ผมก็ไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด แต่ว่ากันว่าบนโลกใบนี้เรามีคนที่รักฟุตบอลมากกว่า 3,000 ล้านคนทั่วโลก
มันเป็นจำนวนเกิน ‘ครึ่งโลก’ และหากมองข้ามเรื่องของพรมแดนและอาณาเขตแล้ว ฟุตบอลคือสังคมที่ใหญ่ที่สุดในโลก ไม่มีกีฬาประเภทไหนที่จะมีผู้ชมมากเท่านี้
‘The Beautiful Game’ อันเป็นสมญาของเกมฟุตบอล ในด้านหนึ่งคือกีฬามหาชน
แต่อีกด้านแล้วฟุตบอลคือ ‘The Money Game’ เป็นหนึ่งในกีฬาที่เงินตราสะพัดมากที่สุดด้วยเช่นกัน
ฟุตบอลคือ ‘ธุรกิจ’ ที่สร้างรายได้มหาศาลในปัจจุบัน ทุกอย่างของเกมฟุตบอลสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้หมด ตั้งแต่เศษก้อนอิฐของสนามฟุตบอลเก่าแก่ เก้าอี้ไม้ที่ถูกปลดระวาง เศษหญ้าของสนามฟุตบอลชื่อดังยังถูกนำมาใส่กรอบขายเป็นที่ระลึก กระเบื้องทางเดินถูกนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการเปิดให้แฟนบอลจับจองเป็นเจ้าของเพื่อสลักชื่อและข้อความของพวกเขา
นักฟุตบอลในปัจจุบันมีสถานะไม่ต่างอะไรจากซูเปอร์สตาร์ รายได้ของพวกเขาในปัจจุบันเพิ่มขึ้นจากนักฟุตบอลในอดีตนับร้อยพันเท่า ทุกวินาทีมีค่าเท่ากับทอง และการร้องขอนักฟุตบอลให้ทำอะไรสักอย่างนั้นต้องแลกเปลี่ยนด้วยเงินตรามากมายมหาศาล
ที่พูดไม่ใช่เฉพาะนักฟุตบอลต่างประเทศ นักฟุตบอลไทยในปัจจุบันบางคนค่าตัวแพงกว่าดาราระดับท็อปด้วยซ้ำไป
ฟุตบอลให้อะไรกับผู้คนมากมายครับ สร้างงานสร้างรายได้เยอะแยะไปหมด กับคนที่ทำงานในวงการฟุตบอล (ผมเองก็เช่นกัน)
แต่มันก็นำไปสู่คำถามที่น่าสนใจต่อมา
ว่าฟุตบอลสามารถทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม?
และพวกเราเอง – ในฐานะคนในสังคมฟุตบอล กินอยู่และหายใจในโลกลูกหนัง – เราทำอะไรเพื่อคนอื่นได้บ้างไหม?
3.
1%
ตัวเลขดังกล่าวคือสิ่งที่ ฆวน มาตา ‘ขอ’ จากเพื่อนนักฟุตบอลของเขา โดยขอแค่ส่วนแบ่งเดือนละ 1% จากรายได้ที่พวกเขาได้รับเพื่อนำไปบริจาคให้แก่การกุศลผ่านกองทุนที่ชื่อว่า ‘Common Goal’
สตาร์จากทีมแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ไม่ได้แค่ร้องขอเปล่าๆ ครับ แต่เขาขอเป็นคนแรกที่เริ่มบริจาคเงินดังกล่าวให้แก่ Common Goal ซึ่งดำเนินการโดย NGO ที่ชื่อว่า streetfootballworld ซึ่งเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลจากการทำงานการกุศลทั่วโลก
1% ของรายได้ของฆวน มาตา ต่อปีอยู่ที่ 8,500,000 ล้านปอนด์ คิดเป็น 85,000 ปอนด์ หรือ 3,600,000 ล้านบาท
ผมเชื่อว่าเงินจำนวนนี้ซื้อชีวิตที่ดีขึ้นให้เด็กๆ ได้เยอะแยะเลยครับ ถ้าคิดเป็นรองเท้าสตั๊ดราคาคู่ละ 3,000 บาท ก็จะสามารถซื้อรองเท้าสตั๊ดให้เด็กๆ ได้ถึง 1,200 คู่
แล้วถ้าเป็น 1% ของ คริสเตียโน โรนัลโด, ลิโอเนล เมสซี? รวมถึงอีก 1% ของ เนย์มาร์ นักฟุตบอลค่าตัวแพงที่สุดของโลกในปัจจุบันล่ะ?
แล้วถ้านักฟุตบอลทั้งโลกร่วมกันบริจาคเงินรายได้คนละ 1% ล่ะ?
แล้วถ้าสโมสรฟุตบอลทั่วโลก รวมถึงคนทุกคนที่ใช้ชีวิตในโลกลูกหนังที่มีกำลังทรัพย์มากพอช่วยกันบริจาคคนละ 1% ของรายได้เพื่อ Common Goal ล่ะ?
มาตา ‘เชื่อ’ – เหมือนที่เชื่อในวินาทีที่เขาบอกกับ ดร็อกบา ในเกมนัดชิงแชมเปี้ยนส์ ลีก เมื่อปี 2012 – ว่าเงินจำนวนน้อยนิดในรายได้มหาศาลที่นักฟุตบอลได้รับมันมากพอที่จะเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ได้
ฟุตบอลมีพลังที่ยิ่งใหญ่มากพอ และมันก็ควรจะแสดงความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่งด้วยเช่นกัน
เมื่อเดือนที่แล้วดาวเตะทีมชาติสเปน เดินทางไปเมืองมุมไบ ในประเทศอินเดีย เพื่อถ่ายโฆษณาโปรโมตโครงการ และพบว่าสภาพสังคมความเป็นอยู่ที่นั่นย่ำแย่มาก และเด็กๆ (ซึ่งอาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเขาเป็นใคร) ดีใจที่มีคนมาให้ความช่วยเหลือ และเล่นฟุตบอลกับพวกเขา
นอกจากเด็กๆ ที่มุมไบแล้ว บนโลกใบนี้ยังมีเด็กๆ อีกมากมายที่ขาดแคลนโอกาส บ้างเกิดในครอบครัวที่ยากจน บ้างอยู่ในสังคมที่ข้นแค้น
ไม่ต่างอะไรจากชีวิตของนักฟุตบอลซูเปอร์สตาร์จำนวนมากที่พวกเรารู้จักในปัจจุบัน ซึ่งมีจำนวนมากที่ผ่านความยากลำบากมาทั้งนั้น
สิ่งที่ทำให้พวกเขาผ่านมันมาได้นอกจากความพยายามแล้วยังมีเรื่องของโชคและโอกาส
โชคอาจเป็นสิ่งที่เรามอบให้ใครไม่ได้ครับ วาสนาใครวาสนามัน
แต่โอกาสเรามอบให้กันได้
เพียงแต่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนโลกด้วยเกมฟุตบอลมันเป็นเกมที่ไม่ง่าย มาตา และ Common Goal เชื่อว่าเราควรจะลงสนามเล่นในทีมเดียวกัน
ไม่จำกัดตัวผู้เล่น ไม่จำกัดเพศและวัย ไม่จำกัดอะไรทั้งนั้น
ขอแค่มีใจจะช่วยกันก็พอ
เป้าหมายมีหนึ่งเดียวครับคือเพื่อโลกใบนี้ที่ดีกว่า และนั่นล้ำค่ายิ่งกว่าประตูแห่งชัยชนะลูกไหนๆ ที่พวกเราเคยเห็นมาตลอดทั้งชีวิตครับ
Photo: www.theplayerstribune.com
อ้างอิง:
- หลังการประกาศเรื่องกองทุน Common Goal ผ่าน The Players’ Tribune เป้าหมายแรกของ ฆวน มาตา คือการจัดทีมนักเตะ 11 คนแรก (Common Goal Starting XI) และเขาได้เพื่อนร่วมทีมคนแรกแล้วคือ มัตส์ ฮุมเมิลส์ โดยปราการหลังชาวเยอรมัน ขอร่วมมือด้วยทั้งที่ไม่เคยรู้จักกับ มาตา เป็นการส่วนตัว
- Common Goal ดูแลโดยองค์กรการกุศลที่ไม่แสวงหาผลกำไร streetfootballworld ในประเทศเยอรมนี ซึ่งมีเครือข่ายเป็นองค์กรการกุศลที่มีเป้าหมายเดียวกันในการช่วยแก้ไขปัญหาสังคมผ่านเกมฟุตบอล
- สำหรับคนธรรมดา (อย่างเราๆ) สามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ โดยเวลานี้ Common Goal แค่ต้องการขอให้พวกเราช่วยกันกระจายเรื่องราวนี้ออกไปให้มากที่สุด หรือหากอยากจะร่วมเป็นทีมเดียวกับพวกเขาง่ายๆ ครับ แค่เข้าไป Join us ที่ www.common-goal.org (ผมก็ร่วมทีมเรียบร้อยครับ)
- Common Goal บอกว่า “ถ้าเราช่วยกัน เราสามารถทำเรื่องนี้ให้เป็นจริงได้” 🙂