×

25 ปี ‘พรีเมียร์ลีก’ เกมลูกหนังเปลี่ยนโลก

15.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • จุดกำเนิดของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เกิดจากวิกฤตของวงการฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งเข้าสู่ยุคเสื่อมจากปัจจัย ‘3 H’s’ นั่นคือ โศกนาฏกรรมที่เฮย์เซล (1985), โศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโรห์ (1989) และปัญหาฮูลิแกนส์ หรืออันธพาลลูกหนังที่เป็นมะเร็งกัดกินวงการฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน
  • แนวคิดของการแยกลีกเกิดจากความต้องการ ‘ลดตัวหาร’ จาก 92 ให้เหลือ 22 เนื่องจากสโมสรในระดับสูงสุดนั้นได้รับเงินส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดน้อยมากจาก ITV และ BBC โดยทั้ง 22 สโมสรในระดับสูงสุดลงทะเบียนกับองค์กรใหม่ที่ชื่อ เอฟเอ พรีเมียร์ลีก (FA Premier League) และลงแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งกลายเป็นลีกสูงสุดใหม่ของอังกฤษ
  • ด้วยการทำการตลาดอย่างชาญฉลาด ทำให้ความนิยมของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเติบโตอย่างรวดเร็ว ความนิยมนั้นไม่ได้ถูกจำกัดแค่เฉพาะในอังกฤษ แต่เป็นทั่วโลกที่น้อมรับพรีเมียร์ลีกเข้ามาอยู่ในอ้อมใจ โดย BSkyB เจ้าของลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดคำโฆษณาในเวลานั้นว่า ‘A whole new ball game’

     25 ปีที่แล้วคุณทำอะไรกันอยู่ครับ?

     บิดเข็มนาฬิกากลับไป 25 ปีที่แล้ว ผมยังเป็นเด็กอายุ 10 ขวบอยู่เลย (อ้าว บอกอายุเสียอย่างนั้น) อยู่ประมาณ ป.5 ตกเย็นต้องไปเรียนพิเศษทุกเย็น เคยพยายามสมัครเป็นหัวหน้าห้อง

     และ เอ่อ…ยังไม่รู้จักคำว่ารักเลยครับ (แต่เริ่มแอบมองสาวบ้างแล้ว)

     ที่ถามแบบนี้เพราะระหว่างที่เขียนในวันนี้​ (15 ส.ค.) เป็นวันคล้ายวันเกิดครบรอบ 25 ปีของ ‘พรีเมียร์ลีก’ (Premier League) ลีกฟุตบอลอังกฤษที่เราคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะไม่ว่าจะเป็นคนเจเนอเรชันไหน จะตั้งใจหรือไม่ อย่างน้อยเราต้องเคยผ่านตากับการแข่งขันฟุตบอลจากเมืองผู้ดีกันบ้าง

     เราคุ้นกับฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจนเหมือนเป็นญาติสนิท บางครั้งรู้เรื่องของนักฟุตบอลดีกว่าเรื่องของเพื่อนสนิทหรือญาติตัวเองด้วยซ้ำไป

     แต่ระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมามันนานนะครับ เป็นระยะเวลาที่นานพอที่อะไรๆ จะเปลี่ยนแปลงได้มากมาย

     พรีเมียร์ลีกก็เช่นกัน ลีกฟุตบอลแห่งนี้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตเยอะมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของ ‘โฉมหน้า’ หากแต่ยังเป็นเรื่องของ ‘ตัวตน’

     มากกว่านั้นคือพวกเขาไม่ได้เปลี่ยนแปลงแค่ตัวเอง

     แต่มีส่วนในการเปลี่ยนแปลงโลก (ฟุตบอล) ทั้งใบด้วย

 

Photo: Gerry Penny/AFP

 

หมดยุคลูกหนังเปื้อนโคลน

     สำหรับน้องๆ ที่อายุน้อยกว่า 25-30 ปี และได้เห็นการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกในปัจจุบันที่ทั้งหรูหรา อู้ฟู่ เต็มไปด้วยทีมที่ร่ำรวยเงินทอง และเหล่าซูเปอร์สตาร์ที่มีรายได้ในระดับอภิมหาเศรษฐี อาจจะนึกไม่ออกครับว่าเมื่อ 25 ปีก่อนฟุตบอลลีกสูงสุดของอังกฤษอยู่ในสภาพที่ลำบากมาก

     จุดกำเนิดของฟุตบอลพรีเมียร์ลีก เกิดจากวิกฤตของวงการฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งเข้าสู่ยุคเสื่อมจากปัจจัย ‘3 H’s’ นั่นคือ โศกนาฏกรรมที่เฮย์เซล (1985), โศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโรห์ (1989) และปัญหาฮูลิแกนส์ หรืออันธพาลลูกหนังที่เป็นมะเร็งกัดกินวงการฟุตบอลอังกฤษมายาวนาน

     โศกนาฏกรรมที่เฮย์เซลในเกมนัดชิงยูโรเปี้ยน คัพ ระหว่างยูเวนตุสและลิเวอร์พูล ทำให้สโมสรฟุตบอลจากอังกฤษถูกแบนจากการเล่นสโมสรฟุตบอลยุโรปเป็นระยะเวลา 5 ปี ทำให้ทีมในเมืองผู้ดีซึ่งเดิมเป็นหนึ่งในเจ้าแห่งฟุตบอลยุโรป กลายเป็นฝ่ายตามหลังสโมสรจากชาติอื่นที่พัฒนาขึ้นมาและแซงหน้าไป

     นักฟุตบอลระดับชั้นนำของประเทศหลั่งไหลออกนอกประเทศ บวกกับปัญหาฮูลิแกนส์อาละวาด ทำให้ผู้คนไม่อยากเสี่ยงเข้าไปชมเกมในสนาม ส่งผลให้ยอดผู้ชมในสนามลดจำนวนลง ผลสืบเนื่องตามมาคือรายได้ของสโมสรลดลง

     จากนั้นเมื่อเกิดเหตุโศกนาฏกรรมที่ฮิลส์โบโรห์ ซึ่งเป็นเหมือนจุดต่ำสุดของวงการฟุตบอลอังกฤษ

     มันเป็นเหมือนสัญญาณที่เตือนให้พวกเขาตระหนักว่าควรจะทำอะไรสักอย่างเพื่อให้เกมฟุตบอล และสนามฟุตบอล ซึ่งเป็น ‘รากเหง้า’ ทางวัฒนธรรมคงอยู่สืบไป

     ฟุตบอลอังกฤษต้องดีกว่าเดิม!

     ด้วยจังหวะของโชคชะตาที่พลิกผัน การเข้าถึงรอบรองชนะเลิศฟุตบอลโลก 1990 ของทีมชาติอังกฤษ บวกกับการคว้าแชมป์ยูฟ่า คัพ วินเนอร์สคัพ (ซึ่งปัจจุบันยกเลิกไปนานแล้ว) และรายงานของลอร์ด เทย์เลอร์ (Taylor Report) ที่นอกจากจะมีการสรุปสาเหตุของเหตุโศกนาฏกรรม (ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นที่ประจักษ์แล้วว่าเจ้าหน้าที่รัฐบกพร่องต่อหน้าที่ ไม่ใช่แฟนบอลที่เป็นต้นตอทั้งหมด) ยังมีการเสนอให้มีการปรับปรุงอัฒจันทร์ให้เป็นแบบที่นั่งทั้งหมดเพื่อความปลอดภัย

     เหล่า ‘บิ๊ก’ ในวงการฟุตบอลอังกฤษ จึงมีการหารือร่วมกัน และนำไอเดียที่มีการพูดคุยกันตั้งแต่ช่วงยุค 80 ในการจัดตั้ง ‘ซูเปอร์ลีก’ ลีกใหม่ที่จะทำให้พวกเขาร่ำรวยขึ้น

     สาเหตุของความไม่พอใจเกิดขึ้นจากการที่ตลอดมาสโมสรในระดับสูงสุดนั้นได้รับเงินส่วนแบ่งค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอด (ในอังกฤษไม่มีการถ่ายทอดสด แต่จะมีการถ่ายทอดสดไฮไลต์ ขณะที่นอกอังกฤษมีการถ่ายทอดสด แต่จำนวนไม่มาก) น้อยมากจาก ITV และ BBC สองทีวีของรัฐที่แย่งกันเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในเวลานั้น เพราะต้องแบ่งส่วนแบ่งกับทีมอีก 3 ดิวิชัน รวมแล้ว 92 ทีมจาก 4 ดิวิชัน

     แนวคิดของการแยกลีกจึงเกิดจากความต้องการ ‘ลดตัวหาร’ จาก 92 ให้เหลือ 22

     จาก ‘สารตั้งต้น’ ดังกล่าว สโมสรยักษ์ใหญ่ทั้ง 5 ในนาม ‘Big Five’ อันประกอบไปด้วย แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด,​ ลิเวอร์พูล, ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, เอฟเวอร์ตัน และอาร์เซนอล ที่ต่อสู้จนได้รับชัยชนะเมื่อศาลสูงตัดสินว่าพวกเขาสามารถที่จะเจรจาส่วนแบ่งลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้ด้วยตัวเอง สู่การเห็นชอบร่วมกันของทุกสโมสรในระดับสูงสุด และการสนับสนุนของสมาคมฟุตบอลอังกฤษ (FA)

     ผลคือการตัดสินใจแยกตัวออกจากฟุตบอลลีก (Football League) ซึ่งเป็นองค์กรที่จัดการแข่งขันลีกดั้งเดิมมายาวนานกว่า 104 ปี เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 1992 หลังจบการแข่งขันฟุตบอลดิวิชัน 1 ในฤดูกาล 1991/1992

     โดยทั้ง 22 สโมสรในระดับสูงสุดลงทะเบียนกับองค์กรใหม่ที่ชื่อ เอฟเอ พรีเมียร์ลีก (FA Premier League) และลงแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีก ซึ่งกลายเป็นลีกสูงสุดใหม่ของอังกฤษ ขณะที่รายการของฟุตบอลลีกตั้งแต่ระดับดิวิชัน 1-4 ลงมาก็ถูดลดชั้นเป็นฟุตบอลระดับที่ 2 ลงไปเรื่อยๆ

     ก่อนจะเริ่มเปิดฉากการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเป็นครั้งแรกในวันที่ 15 ส.ค. 1992 หรือเมื่อ 25 ปีที่แล้ว

 

Photo: PAUL BARKER/AFP

 

BSkyB ผู้ปลุกมนต์ขลังลูกหนังผู้ดี

     ไม่มีการก่อการใหญ่ครั้งไหนที่ไร้เบื้องหลัง

     การกำเนิดของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเองก็มีเบื้องหลังครับ และคนที่อยู่เบื้องหลังก็คือ BSkyB Television สถานีโทรทัศน์ของ รูเพิร์ต เมอร์ด็อก (Rupert Murdoch) เจ้าพ่อวงการสื่อของอังกฤษ

     BSkyB ซึ่งเป็นโทรทัศน์ในระบบสมาชิก (Pay TV) ที่จับตามองสถานการณ์ของวงการฟุตบอลอังกฤษมานาน ได้เห็นความตกต่ำ รอยร้าวที่เกิดขึ้น และได้เห็นความต้องการที่แท้จริงของเหล่าสโมสรต่างๆ ในระดับลีกสูงสุด ที่เห็นได้ชัดว่าชื่อเสียง ความสำเร็จ และประวัติศาสตร์นั้นมันกินไม่ได้

     พวกเขาอยากได้เงิน และ BSkyB ก็รู้วิธีที่จะหาเงินมาให้

     สิ่งที่พวกเขาทำคือการรอจังหวะที่เหมาะสม โดยหลังจากเฝ้ามองอยู่ร่วม 2 ปี (1990-1992) เมื่อมีสัญญาณว่าทีมในลีกสูงสุดพร้อมแยกตัวออกมาตั้งลีกใหม่ BSkyB ประกาศทันทีว่าพวกเขาพร้อมที่จะซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด ‘ลีกใหม่’

     เมอร์ด็อก กดปุ่มไฟเขียวให้ BSkyB ทุ่มข้อเสนอมากเป็นประวัติการณ์ถึง 304 ล้านปอนด์สำหรับสัญญาการถ่ายทอดสดเป็นระยะเวลา 5 ปี

     BBC รู้ตัวว่าพวกเขาสู้ไม่ได้จึงขอถอยและสนับสนุนอยู่ข้างหลัง โดยขอรักษาไว้แค่ไฮไลต์การแข่งขันและรายการยอดนิยม Match of the Day

     ส่วน ITV ก็ถูกลอยแพ…

     อย่างไรก็ดี เมื่อเป็นการรับชมในโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก ซึ่งหมายถึงคนอยากดูต้องเสียเงิน BSkyB หรือที่เรารู้จักกันมากกว่าในชื่อของ Sky ต้องทำเพื่อให้คนที่เสียเงินรู้สึกคุ้มค่าที่จะได้ดู

     ทุกอย่างต้องใหม่และดูดี

     และด้วยการทำการตลาดอย่างชาญฉลาด ทำให้ความนิยมของฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเติบโตอย่างรวดเร็ว ความนิยมนั้นไม่ได้ถูกจำกัดแค่เฉพาะในอังกฤษ (ที่ถึงคนจะบ่นเรื่องของค่าสมาชิกที่แพงระยับ) แต่เป็นทั่วโลกที่น้อมรับพรีเมียร์ลีกเข้ามาอยู่ในอ้อมใจ

     Sky ใช้คำโฆษณาในเวลานั้นว่า ‘A whole new ball game’ ซึ่งไม่ผิดไปจากนั้นเลยครับ

     เราได้เห็นเทคโนโลยีการถ่ายทอดสดแบบใหม่ๆ การนำเสนอเรื่องราว การนำเสนอข่าวสาร และนักฟุตบอลระดับซูเปอร์สตาร์ที่มาค้าแข้งในอังกฤษมากขึ้น เพราะสโมสรมีรายได้มากขึ้น และมีทุนที่จะจ้างนักเตะระดับนั้นได้

 

 

     นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนแปลงตารางแข่งขันเพื่อไม่ให้แย่งคนดูด้วยกันเอง จากเดิมที่เคยแข่งในเวลาบ่าย 3 โมงวันเสาร์ที่อังกฤษ (จนเป็นวลีว่า When Saturday Comes) ก็กลายเป็นหลายช่วงเวลา มีเตะตอนเที่ยง เตะตอนค่ำ เตะวันอาทิตย์ เตะวันจันทร์ และล่าสุดตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้วก็เริ่มมีเกม Friday Night ในคืนวันศุกร์

     สโมสรฟุตบอลเองก็ต้องปรับตัวเข้าหาตลาดโลกด้วยเช่นกัน จากที่เคยชินกับการทำตัวสูงส่งไม่แยแสแบบสไตล์คนผู้ดี สโมสรฟุตบอลค่อยๆ รู้ตัวว่าความนิยมในตลาดโลกสำคัญกับพวกเขาแค่ไหน เพราะยิ่งความนิยมสูงมากขึ้นเท่าไร ก็หมายถึงเงินรายได้ที่จะกลับเข้ามาสู่สโมสรมากขึ้นเท่านั้น

     มันหมายถึงการเปลี่ยนแปลงที่ไม่มีวันหวนกลับสำหรับเกมฟุตบอลเมืองผู้ดี

     ความเปลี่ยนแปลงนี้สำหรับคนสมัยเก่าอาจทำใจได้ยาก โดยเฉพาะเหล่าแฟนบอลเลือดข้นที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของสโมสรรู้สึกถูกกีดกันเพราะพวกเขาไม่มีกำลังทรัพย์พอจะสนับสนุนสโมสรที่ขูดเลือดขูดเนื้อจากแฟนๆ

     แต่ความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือพรีเมียร์ลีกกลายเป็น ‘ขุมทรัพย์สุดขอบฟ้า’ ไปแล้ว สังเกตได้จากการที่นักลงทุนจากทั่วโลกต้องการครอบครองสโมสรฟุตบอลในพรีเมียร์ลีกจนแทบไม่เหลือสโมสรที่มีเจ้าของเป็นชาวอังกฤษแท้ๆ

     ปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกกลายเป็นลีกฟุตบอลที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลก นับเฉพาะค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดในรอบปัจจุบันเมื่อปี 2015 (สำหรับปี 2016-2019) สามารถทำรายได้มากกว่า 8.3 พันล้านปอนด์ทั่วโลก มากเป็นประวัติการณ์

     โดยที่ Sky เองก็ยังต้องจ่ายเงินมหาศาลถึง 4,176 ล้านปอนด์เพื่อรักษาลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดพรีเมียร์ลีกในอังกฤษเอาไว้ให้ได้ โดยได้ถ่ายทอดสด 126 นัดต่อฤดูกาล ร่วมกับอีกเจ้าคือ BT Sport ที่จ่าย 960 ล้านปอนด์ สำหรับ 42 นัดต่อฤดูกาล

 

Photo: ODD ANDERSEN/AFP

 

     ลีกฟุตบอลของชาติอื่นต้องปรับตัวกันขนานใหญ่เพื่อไม่ให้ถูกทิ้งห่างมากไปกว่านี้ ไม่เว้นแม้แต่ลีกในประเทศที่ว่ากันว่าประชาชนแสนขี้เกียจและมีธรรมเนียมเฉพาะอย่างสเปน ก็ต้องหันมาเตะกันเร็วขึ้นเพื่อชิงฐานคนดูจากพรีเมียร์ลีกให้ได้

     ขณะที่ในชาติที่หวังจะพัฒนาในเกมลูกหนังก็ใช้พรีเมียร์ลีกเป็นโมเดลต้นแบบ

     แต่ไม่มีชาติใดที่จะประสบความสำเร็จได้เหมือนฟุตบอลอังกฤษ

     เพราะสิ่งที่ทำให้ทุกคนหลงรักพรีเมียร์ลีกไม่ได้เกิดจากการทำการตลาด

     สิ่งที่แฟนบอลหลงรักพรีเมียร์ลีกคือ DNA ของเกมฟุตบอลเมืองผู้ดีที่เข้มข้น การต่อสู้อย่างถึงพริกถึงขิงจากเสียงนกหวีดแรกจนถึงเสียงนกหวีดสุดท้าย

     ของแบบนี้มันเลียนแบบกันไม่ได้

 

 

อนาคตของพรีเมียร์ลีกหลัง Brexit

     มีวันรุ่งโรจน์ก็ย่อมมีวันตกต่ำ ตามสัจธรรมของชีวิต

     และในวันฟ้าสีทองของพรีเมียร์ลีก คนระดับ ‘บิ๊ก’ ในวงการลูกหนังอังกฤษหลายคน เริ่มกังวลว่าวันตกต่ำของพรีเมียร์ลีกนั้นมันอาจมาถึงเร็วกว่าที่คาดแบบที่ไม่สามารถทำอะไรได้มากนักด้วย

     สาเหตุไม่ใช่เพราะเกมฟุตบอลไม่สนุกหรือความนิยมตกต่ำ แต่เป็นเพราะการตัดสินใจของชาวอังกฤษที่จะออกจากการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU) ที่เราเรียกกันว่า Brexit กลายเป็นสิ่งที่พรีเมียร์ลีก รวมถึงเหล่าสโมสรต่างๆ กังวล เพราะนั่นหมายถึงนักฟุตบอลที่ไม่ใช่ชาวอังกฤษ (non-UK) ทุกคนจะต้องเข้าสู่กระบวนการการขอ Work Visa เพื่อทำงานในอังกฤษ

     และตามกฎใหม่ของสมาคมฟุตบอลแล้ว การขอวีซ่าทำงานไม่ใช่เรื่องง่ายครับ

     เช่น นักฟุตบอลจากชาติที่มีอันดับ 1-10 ใน FIFA World Ranking จะต้องลงเล่นในเกมทีมชาติอย่างน้อย 30% ในรอบ 24 เดือน (หรือ 12 เดือนสำหรับนักเตะที่มีอายุน้อยกว่า 21 ปี)

     ส่วนนักฟุตบอลที่อยู่ในชาติที่มีอันดับรองลงไปก็ต้องผ่านเกมทีมชาติมากขึ้น เช่น 45% สำหรับชาติอันดับ 11-20, 60% สำหรับชาติอันดับ 21-30 และเรื่อยไปถึงชาติอันดับ 31-50 ที่ต้องผ่านเกมทีมชาติ 75%

     สำหรับนักฟุตบอลจากชาติที่อันดับต่ำกว่า 50 เช่น สมมตินักเตะจากประเทศไทย หากอยากจะไปเล่นในอังกฤษต้องยื่นคำขอต่างหาก โดยมีมูลค่า 5,000 ปอนด์ หรือคิดเป็นเงินไทยตามค่าเงินวันนี้ประมาณ 215,000 บาท

 

Photo: PAUL BARKER/AFP

 

     หลังจากนั้นคณะกรรมการจึงจะพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น ค่าตัวในการย้ายทีม, ค่าเหนื่อย และจำนวนที่เล่นในลีกระดับท็อป 6 ของยุโรป (ลาลีกา, เซเรียอา, บุนเดสลีกา ฯลฯ) และรายการระดับทวีป เช่น แชมเปี้ยนส์ ลีก

     ตามเกณฑ์นี้อย่าว่าแต่นักฟุตบอลไทยเลย นักเตะระดับท็อปอย่าง เอ็นโกโล ก็องเต, ฆวน มาตา, ซาเมียร์ นาสรี หรือดาบิด เดเคอา ก็มีปัญหา

     และในการสำรวจนักฟุตบอลของแต่ละสโมสรพบว่า ทุกสโมสรมีปัญหาเหมือนกันหมด เพราะจะมีนักเตะต่างชาติจำนวนมากที่ไม่ผ่านเกณฑ์

     ด้าน เอฟเอยืนยันว่า กฎนี้มีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของวงการฟุตบอล เพื่อ ‘กรอง’ ให้มีเฉพาะนักฟุตบอลระดับสุดยอดเท่านั้นที่จะมาค้าแข้งในอังกฤษได้ ไม่ใช่ใครก็ได้ที่แค่อยากจะมาหาเงิน

     ตรงนี้ก็น่าคิดครับ

     อย่างไรก็ดี ไม่ได้หมายความว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นทันทีครับ มันเป็นเรื่องที่จะต้องผ่านการต่อสู้กันอีกพอสมควร เพราะสโมสรหรือแม้แต่พรีเมียร์ลีกเองก็ไม่อยากจะสูญเสียความนิยม หรือความสามารถในการแข่งขันกับลีกอื่นแน่นอน

     เราคงต้องจับตาดูอนาคตของพรีเมียร์ลีกกันต่อไปว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร

     บางทีอีก 25 ปีข้างหน้า ถ้าผมได้มีโอกาสกลับมาเขียนเรื่องนี้ใหม่ ทุกอย่างมันอาจจะยังไม่เหมือนที่พูดในตอนนี้เลยก็ได้ครับ

     แต่สิ่งหนึ่งที่ผมเชื่อคือ พวกเราก็น่าจะยังชื่นชอบฟุตบอลพรีเมียร์ลีกเหมือนเดิม

     ยกเว้นเรื่องหนึ่งที่ยังไม่ค่อยมั่นใจ

     ลิเวอร์พูลจะได้แชมป์พรีเมียร์ลีกหรือยังนะในเวลานั้น… (เล่นตัวเองเจ็บน้อยกว่า!)

FYI
  • นับจากจุดเริ่มต้น พรีเมียร์ลีก มีการเปลี่ยนชื่อรายการอย่างเป็นทางการมาแล้ว 5 ครั้ง ตั้งแต่ เอฟเอ พรีเมียร์ลีก (ไม่มีสปอนเซอร์), เอฟเอ คาร์ลิง พรีเมียร์ชิป (Carling เป็นสปอนเซอร์), เอฟเอ บาร์เคลย์การ์ด พรีเมียร์ชิป (Barclaycard เป็นสปอนเซอร์), เอฟเอ บาร์เคลย์ส พรีเมียร์ชิป, บาร์เคลย์ส พรีเมียร์ลีก (Barclays เป็นสปอนเซอร์) ส่วนในปัจจุบันคือตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา พรีเมียร์ลีกมีการรีแบรนด์ใหม่ และเปลี่ยนชื่อเป็น พรีเมียร์ลีก เฉยๆ
  • พรีเมียร์ลีก เดิมเป็นชื่อที่แฟนบอลนอกเกาะอังกฤษเรียก เพราะคนอังกฤษจะเรียกลีกสูงสุดของพวกเขาว่าพรีเมียร์ชิป
  • ปัจจุบัน พรีเมียร์ลีก ลงแข่งไปแล้ว 9,756 นัด
  • ในตอนเริ่มต้น พรีเมียร์ลีก มีนักฟุตบอลนอกสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ แค่ 13 คน
  • ปัจจุบันนับจนถึงจบฤดูกาลที่แล้ว 2016-2017 พรีเมียร์ลีกมีนักฟุตบอลต่างชาติมาเล่นรวมกันถึง 3,835 คน จาก 113 ประเทศ
  • ประตูแรกของพรีเมียร์ลีกเป็นของ ไบรอัน ดีน ที่ทำประตูให้เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ในเกมที่เอาชนะ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด 2-1
  • ส่วนประตูที่สวยที่สุดของพรีเมียร์ลีกตลอดกาลคือ ลูกยิงเต้นระบำของ เดนนิส เบิร์กแคมป์ ในนัดที่อาร์เซนอล พบกับ นิวคาสเซิล
  • หนึ่งในเรื่องที่จี้ที่สุดตลอดกาลของพรีเมียร์ลีกคือ เรื่องของ อาลี ดิอา (Ali Dia) นักฟุตบอลของทีมเซาแธมป์ตัน ที่อ้างตัวว่าเป็นญาติของจอร์จ เวอาห์ (George Weah) เนียนมาทดสอบฝีเท้า ซึ่งผลออกมาว่า ‘ห่วยสุดๆ’ แต่เพราะปัญหากองหน้าเจ็บล้นทีม ทำให้ แกรม ซูเนสส์ ผู้จัดการทีมในเวลานั้นต้องส่งลงสนามในเกมกับ ลีดส์ ยูไนเต็ด และถูกเปลี่ยนตัวออกจากสนามภายในเวลา 53 นาที ก่อนจะหายตัวไปตลอดกาล…
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising