ถึงแม้จะรู้ว่า คริสเตียโน โรนัลโด เป็นหนึ่งในสองของซูเปอร์สตาร์ผู้ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของโลกมาอย่างยาวนานนับทศวรรษ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะคาดคิดว่า การตัดสินใจที่จะถอดชุดสีขาวล้วนของเรอัล มาดริด เพื่อมาสวมใส่ชุดลายทางขาวดำของยูเวนตุส จะทำให้เกิดผลกระทบมากมายต่อโลกฟุตบอลถึงเพียงนี้
โดยเฉพาะกับนักฟุตบอลที่เข้าสู่วัย 33 ปี ซึ่งหากเป็นนักฟุตบอลทั่วไปนั่นคือ วัยไม้ใกล้ฝั่ง และใกล้ที่จะถึงคราวปลดระวางเต็มที และการย้ายทีมครั้งนี้ก็ไม่น่าจะมีความหมายอะไรที่แตกต่างจากนั้น
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงจากการย้ายทีมในครั้งนี้ของโรนัลโด ต้องบอกว่าเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ที่มหัศจรรย์อย่างมากครับ
ไม่ใช่แค่เรื่องของมูลค่าในการย้ายทีมที่แพงระยับยิ่งกว่าครั้งที่เขาเคยทำลายสถิติโลกเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ในการย้ายสำมะโนครัวจากโอลด์แทรฟฟอร์ดมาอยู่ที่ซานติอาโก เบอร์นาบิว ด้วยค่าตัวถึง 99.2 ล้านปอนด์ และรับค่าเหนื่อยมากมายมหาศาลถึง 27.7 ล้านปอนด์ต่อปี
โรนัลโดยังทำให้เกิดแรงกระเพื่อมมหาศาลดุจมหาคลื่นสึนามิที่ซัดโถมเข้าถล่มทุกสิ่ง
ผลกระทบในวงการฟุตบอลจากผู้ชายที่แสนมหัศจรรย์คนนี้มีอะไรบ้าง มาไล่เรียงกันดูครับ
เปลี่ยนยูเวนตุสให้เป็น Global Brand
สำหรับสโมสรฟุตบอลสมัยใหม่ ไม่ว่าจะเป็นสโมสรเล็กหรือใหญ่ พวกเขาต่างมีความฝันที่จะเป็นแบรนด์ที่ได้รับการจดจำจากผู้คนทั่วโลก เพราะนั่นคือหนทางในการทำรายได้อย่างมากมายมหาศาลและยั่งยืน
แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด เคยเป็นหนึ่งและยังเป็นหนึ่งในสโมสรที่เก่งกาจในเรื่องนี้ที่สุด (สังเกตได้จากการมีพาร์ตเนอร์ หรือผู้ให้การสนับสนุนด้านต่างๆ นับไม่ถ้วน หยิบจับอะไรก็เป็นเงินเป็นทองได้หมด) รองลงมาคือสโมสรในกลุ่มที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Elite Club อย่างบาร์เซโลนา, เรอัล มาดริด, บาเยิร์น มิวนิค และลิเวอร์พูล
ยูเวนตุส ในฐานะทีมหมายเลขหนึ่งของอิตาลี พวกเขาเองก็อยากจะยืนอยู่ในจุดนั้นเช่นกันครับ และที่ผ่านมาสโมสรฟุตบอลเก่าแก่ที่มีสมญานามจริงๆ ว่า ‘หญิงชรา’ (Vecchia Signora หรือ The Old Lady) ได้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตัวเองอย่างมากมายมหาศาล เพื่อให้เป็นสโมสรฟุตบอลสมัยใหม่ โดยเฉพาะการทำการตลาดโดยใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งเจาะกลุ่มแฟนบอลรุ่นใหม่ทั่วโลก ด้วยกลยุทธ์การทำคอนเทนต์ที่ทันสมัยและเท่สุดๆ
การปรับตัวขั้นสูงสุดที่พวกเขาทำคือ การเปลี่ยนโลโก้สโมสรใหม่ ซึ่งนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก เพราะโลโก้ใหม่นั้นไม่เหลือเค้าของโลโก้สโมสรดั้งเดิมที่สุดแสนคลาสสิกและเป็นที่หวงแหนของแฟนบอลเบียงโคเนรี และคนรักฟุตบอลทั่วโลก
ท่ามกลางก้อนอิฐที่พวกเขาได้รับในเรื่องนี้ ยูเวนตุสหนักแน่นในแนวทาง และวันเวลาที่ผ่านมาก็พิสูจน์ได้ว่า การเปลี่ยนแปลงนั้นไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด แฟนบอลเริ่มทำใจยอมรับได้ โดยเฉพาะตราบใดที่สโมสรยังทำผลงานได้ดี
อย่างไรก็ดี ยูเวยังขาดปัจจัยสุดท้ายที่จะทำให้พวกเขาก้าวไปสู่จุดสูงสุดได้
ปัจจัยนั้นคือ นักเตะซูเปอร์สตาร์ตัวจริงที่ไม่ใช่เก่งแค่เรื่องในสนาม แต่ยังต้องเป็นนักกีฬาที่สามารถทำการตลาดได้อย่างยอดเยี่ยมด้วย ซึ่งโรนัลโดเป็นคนที่ตอบโจทย์นี้ได้ดีที่สุด และนั่นทำให้ยูเวตัดสินใจไม่ยากนักที่จะจ่ายเงินมากมายมหาศาล เพื่อแลกมากับนักเตะในวัย 33 ปี (ที่การทดสอบทางวิทยาศาสตร์เผยว่า สภาพร่างกายยังแข็งแกร่งเหมือนนักเตะในวัย 20 ปี)
การย้ายทีมของโรนัลโดกลายเป็นปรากฏการณ์ เมื่อเสื้อแข่งของเขาถูกจำหน่ายออกไปอย่างรวดเร็วนับ ‘ล้านตัว’ และทำรายได้จากการจำหน่ายเสื้อถึง 52 ล้านยูโร
เงินจำนวนดังกล่าวเหมือนจะมากเกือบครึ่งหนึ่งของค่าตัวที่ยูเวนตุสจ่าย (112 ล้านยูโร) แต่ความจริงแล้วพวกเขาจะได้รับส่วนแบ่งจากการจำหน่ายเสื้อแค่ 10-15% เท่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึงการขายเสื้อทีมมากกว่า 5 ล้านตัว จึงจะเท่าทุนกับเงินที่จ่ายไป โดยที่ยังไม่ได้รวมค่าเหนื่อยด้วย
ถ้าเป็นแบบนี้ไม่ขาดทุนย่อยยับหรือ แล้วทำอย่างไรถึงจะหารายได้กลับมา
สิ่งที่จะช่วยพวกเขาในเรื่องนี้คือสปอนเซอร์ ซึ่งสำหรับสโมสรในระดับท็อปจะเป็นรายได้ 20-30% ของทั้งหมดเลยทีเดียว นอกเหนือจากรายได้จากการจำหน่ายตั๋วเข้าชมในสนาม (5-10% ของรายได้ทั้งหมด) และรายได้จากการจำหน่ายสินค้า
ตรงนี้เองที่การมีโรนัลโดอยู่ในทีมจะช่วยได้ เพราะ CR7 มีฐานแฟนบอลส่วนตัวมากถึง 300 ล้านคน (นับทุกแพลตฟอร์ม) นั่นหมายถึงโอกาสที่พวกเขาจะทำรายได้จากสปอนเซอร์ได้มากขึ้น เพราะสปอนเซอร์รู้ว่า หากลงทุนด้วยการสนับสนุนยูเวนตุส นั่นหมายถึงพวกเขามีโอกาสจะปรากฏในสายตาของแฟนบอลอย่างน้อย 300 ล้านคน
และนั่นยังหมายถึงการที่พวกเขาได้ยกระดับตัวเองให้กลายเป็น Global Brand แทบจะทันทีอีกด้วย
ผลดีต่อเนื่องกันมาคือ หุ้นของสโมสรขึ้นทันที 40% หลังการประกาศว่า พวกเขาได้โรนัลโดมาร่วมทีม และมีคนติดตามสโมสรทางโซเชียลมีเดียเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนทันที
ตรงนี้ฟังดูแล้วอาจจะคล้ายกับวิธีการเล่นแบบ Long Ball หรือสาดบอลโด่งไปวัดดวงหน้าปากประตู แต่ความจริงแล้วการเซ็นสัญญากับนักเตะในระดับนี้คือการเซตเกมด้วยการต่อบอลสั้น (Build-Up Play) ขึ้นมามากกว่า
การค่อยๆ เซตเกมขึ้นมา หมายถึงทีมย่อมสร้างโอกาสได้มากขึ้น และแน่นอนกว่าเดิม เปรียบไปแล้วการได้โรนัลโดมาสู่ทีมนั้นหมายถึงภาพของยูเวนตุสจะไม่มีวันเหมือนเดิมอีกตลอดไป ซึ่งแค่นั้นก็เรียกว่าประสบความสำเร็จแล้ว
La Gazzetta dello Sport สื่อกีฬาหมายเลขหนึ่งของอิตาลี ยกย่องว่า การเซ็นสัญญาครั้งนี้สมควรที่จะมอบรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ให้กับตระกูลอันเญลลี เจ้าของยูเวนตุส
ขณะที่ La Repubblica เปรียบเทียบการมาของโรนัลโดกับภาพยนตร์ไซไฟที่เหนือจินตนาการอย่าง Interstellar
นั่นคือความยิ่งใหญ่ของการย้ายทีมในครั้งนี้
ปลุก ‘กัลโช่’ ให้คืนชีพ
บิดเข็มนาฬิกาย้อนเวลากลับไปเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว กัลโช่ เซเรีย อา (ปัจจุบันคือ เลกา เซเรีย อา) คือลีกฟุตบอลอันดับหนึ่งของโลก
นักฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลกรวมตัวกันอยู่ที่นี่ ในลีกที่แข็งแกร่งที่สุด หินที่สุด เป็นดินแดนเทพเจ้าที่นักเตะทุกคนใฝ่ฝันที่อยากจะมาแสวงโชคกันสักครั้ง และไม่ใช่ทุกคนที่จะประสบความสำเร็จกลับไป มีเพียงสุดยอดนักเตะที่เก่งที่สุดเท่านั้นที่จะเล่นและรอดในลีกนี้ได้
ดิเอโก มาราโดนา เคยเล่นที่นี่ เช่นเดียวกับ 3 ทหารเสือชาวดัตช์ของเอซี มิลาน, ‘เทพบุตรเปียทองคำ’ โรแบร์โต บัจโจ, ‘บาติโกล’ กาเบรียล บาติสตูตา, โรนัลโด (ดั้งเดิม) มาจนถึง ‘เจ้าชายหมาป่า’ ฟรานเชสโก ต๊อตติ
แต่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เซเรีย อาตกต่ำอย่างหนักจากการที่สโมสรฟุตบอลแทบทุกทีมมีปัญหาทางการเงิน จากการใช้จ่ายอย่างไม่ระมัดระวังจนแทบล้มละลาย สโมสรเก่าแก่อย่างปาร์มาก็เอาตัวไม่รอดจากเรื่องนี้ จนถูกปรับให้ตกลงไปอยู่ดิวิชันต่ำสุด (ก่อนจะคืนชีพกลับมาในเวลานี้)
สถานะทางการเงินที่บีบรัด ทำให้นอกจากจะไม่มีสตาร์หน้าใหม่มาสร้างสีสัน สตาร์เดิมที่เคยเล่นต่างก็ย้ายออกไปค้าแข้งยังต่างแดน อย่างอังกฤษหรือสเปน ที่พวกเขามีโอกาสทำเงินได้มากกว่า และเสี่ยงน้อยกว่ากับการที่จะไม่ได้รับเงินเดือนจากสโมสรเหมือนการเล่นในอิตาลี
เซเรีย อา ที่เคยยิ่งใหญ่ก็ตกต่ำอย่างรวดเร็ว
เพิ่งจะไม่กี่ปีมานี้ที่เซเรีย อาเริ่มจะฟื้นคืนมาอีกครั้ง สโมสรใหญ่ๆ เริ่มดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังไม่ได้ใกล้เคียงกับในอดีต แฟนฟุตบอลยังไม่ได้ให้ราคากับลีกในตำนานนี้มากนัก
จนกระทั่งการย้ายมายูเวนตุส ที่ทำให้เซเรีย อากลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้ง
ฟาบิโอ คาเปลโล อดีตโค้ชผู้ยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลอิตาลี ถึงกับเอ่ยปากว่า “สุดท้ายโลกก็เริ่มพูดถึงลีกอิตาลีอีกครั้ง” ก่อนจะกล่าวต่อในการให้สัมภาษณ์กับ La Gazzetta dello Sport ว่า “ในยุค 80 และ 90 พวกเราเคยอยู่จุดสูงสุด แต่จากนั้นเราก็สูญเสียแนวทางของเราเอง และไม่สามารถที่จะลงทุนไปกับโครงสร้างได้”
อย่างไรก็ดี คาเปลโลไม่คิดว่าลำพังโรนัลโดคนเดียวจะเปลี่ยนแปลงทุกสิ่งได้ และนั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนในวงการฟุตบอลอิตาลีต้องช่วยกันหาทางใช้ประโยชน์จากการมีอยู่ของซูเปอร์สตาร์ชาวโปรตุเกสรายนี้ให้ได้มากที่สุด
พวกเขาได้ประกายความหวังที่ต้องการมาแล้ว ที่เหลือคือการต่อยอดให้ดีที่สุด
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วคือ ความต้องการตั๋วเข้าชมเกมในสนามทุกนัดที่ยูเวนตุสลงเล่นเพิ่มขึ้นจากเดิมมากมายหลายเท่านัก
โดยเฉพาะในเกมที่พวกเขาเป็นทีมเยือน ไม่ว่าจะไปสนามไหน ตั๋วฝั่งเจ้าบ้านก็เกลี้ยงหมด ยกตัวอย่างเช่น ในเกมนัดเปิดสนามเมื่อฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งยูเวนตุสไปเยือนคิเอโว ปรากฏว่าตั๋วเข้าชมเกมจำนวน 30,000 ใบ ถูกจำหน่ายหมดอย่างรวดเร็ว
ทั้งที่เดิมเกมเดียวที่คิเอโวจะขายหมดคือ เกม Derby della Scala หรือเกมดาร์บี้แห่งเมืองเวโรนา (ระหว่างคิเอโวเวโรนากับเฮลลาสเวโรนา)
นั่นคืออิทธิพลของโรนัลโดที่มีต่อวงการฟุตบอลอิตาลีโดยทันที
สวนทางกับเรอัล มาดริด ที่มีข่าวว่าเกมนัดแรกของพวกเขาในเบอร์นาบิวกับเคตาเฟ มียอดผู้ชมต่ำที่สุดในรอบ 9 ปี โดยมีจำนวนเพียง 48,466 คนเท่านั้น (ครั้งสุดท้ายที่ผู้ชมน้อยขนาดนี้คือ ช่วงปลายฤดูกาล 2008-2009 โดยช่วงนั้นแพ้ติดต่อกัน 5 เกม และโรนัลโดยังไม่ย้ายมาจากแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด)
ถึงจะมีการพยายามอธิบายสาเหตุของผู้ชมของเรอัล มาดริดที่ตกต่ำว่าเกิดจากการที่เกมลงสนามค่อนข้างดึกในสเปน (22.15 น. ตามเวลาท้องถิ่น) ทำให้ไม่มีคนอยากเข้ามาชมเกมในสนามมากนัก แต่เมื่อคิดถึงการที่เป็นเกมนัดแรกของฤดูกาลแล้ว ก็ดูเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ค่อยขึ้นนัก
สิ่งที่น่าเสียดายคือ การย้ายทีมของเขาเกิดขึ้นหลังการประมูลลิขสิทธิ์เซเรีย อารอบใหม่ ซึ่งหากโรนัลโดย้ายมาก่อน ก็มีโอกาสที่ค่าลิขสิทธิ์จะพุ่งขึ้นอีกอย่างน้อย 20-30% เลยทีเดียว
เงินจำนวนดังกล่าวจะถูกจัดสรรแบ่งให้ทุกทีมในเซเรีย อา ซึ่งจะถูกนำไปแปรรูปเป็นนักฟุตบอลระดับสตาร์ที่เพิ่มจำนวนขึ้น ลีกก็จะค่อยๆ กลับมาแข็งแกร่งขึ้น บ้างอาจจะใช้สำหรับการลงทุนในระบบฟุตบอลเยาวชน ทำให้อนาคตของวงการฟุตบอลอิตาลีแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนขึ้น
เพื่อที่จะคืนชีพอย่างแท้จริงในอนาคตอันใกล้
แฟนบอลสายพันธุ์ใหม่
ปรากฏการณ์ใหม่อีกเรื่องในโลกของฟุตบอลที่เกิดขึ้นจากการย้ายทีมของโรนัลโดคือ แฟนบอลสายพันธุ์ใหม่ในยุค Digital Age
แฟนบอลที่ไม่ได้ยึดติดกับสโมสร หากแต่ยึดติดกับสตาร์ที่พวกเขาเทิดทูน
ความจริงเรื่องทำนองนี้ไม่ใช่ไม่เคยเกิด หลายคนอาจจะเปลี่ยนทีมเชียร์ตามไอดอลในดวงใจกันบ้าง แต่สำหรับกรณีของโรนัลโด ได้ทำให้เกิดเครื่องหมายคำถามตัวใหญ่เท่าบ้านครับ เพราะความเป็นสุดยอด Influencer ของเขา
อย่างที่บอกไปด้านบนว่า ทันทีที่ยูเวนตุสประกาศการคว้าตัวโรนัลโด พวกเขาได้แฟนเพิ่มทันทีในโซเชียลมีเดีย 1.5 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้คาดว่าจะมีจำนวนไม่น้อยที่เลิกติดตามเรอัล มาดริด และหันมาเกาะติดกับยูเวนตุสแทน
ความจริงจะเรียกเกาะติดยูเวนตุสก็ไม่ถูก เพราะคนเดียวที่แฟนบอลสายพันธุ์นี้สนใจคือ โรนัลโด
ทอม เอลส์เดน ผู้จัดการบริษัทดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง Mailman ที่มีฐานอยู่ในเซี่ยงไฮ้ วิเคราะห์สถานการณ์ได้น่าสนใจว่า “มันไม่เคยมีปรากฏการณ์ที่แฟนบอลจะเปลี่ยนใจจากทีมหนึ่งไปอีกทีมหนึ่งแบบนี้ หรือตัดสินใจที่จะเลือกและติดตามในฐานะทีมเชียร์ที่สอง (Second Team) บ่อยนัก และครั้งนี้ (หมายถึงการย้ายทีมของโรนัลโด) นั้นเป็นจำนวนมากที่สุดที่เราเคยเห็นในจีน
“ในเวลาเดียวกัน เรอัล มาดริดก็สูญเสียจำนวนผู้ติดตาม ซึ่งมันเป็นปัจจัยผกผันโดยตรงกัน ระหว่างการเติบโตของยูเวนตุสกับการสูญเสียจำนวนผู้ติดตามของเรอัล มาดริด”
และจาก 1.5 ล้านคนในช่วงแรก ตลอดเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ยูเวนตุสได้ผู้ติดตามเฉพาะในอินสตาแกรมเพิ่ม 3.5 ล้านคน
ไม่ต้องพูดถึง Engagements, Impressions และ Followers บนเฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์ และยูทูบ ที่กราฟนั้นพุ่งเป็นจรวดแทบจะเป็น 90 องศา
สิ่งที่น่าสนใจคือ นี่เป็นเครื่องสะท้อนว่าแฟนบอลรุ่นใหม่นั้นบูชานักฟุตบอลมากกว่าสโมสรใช่ไหม? พวกเขาพร้อมจะติดตามโรนัลโด, เนย์มาร์ หรือเมสซี ไปทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสโมสรไหนก็ตามใช่ไหม?
สิ่งที่เราต่างเคยเชื่อกันมาตลอดว่า หากเป็นแฟนบอลของทีมใดแล้ว ก็จะเป็นแฟนบอลของทีมนั้นไปตลอดลมหายใจที่เหลือ และการเปลี่ยนทีมเชียร์คือเรื่องที่น่าอับอายที่สุดแล้วของการเป็นแฟนบอล
วันนี้มันอาจจะไม่ใช่แบบนั้นอีกแล้ว โดยเฉพาะกับแฟนบอลใน Generation Z (เกิดในยุค 90 และ 2000) ซึ่งในชีวิตของพวกเขาไม่เคยขาดโซเชียลมีเดีย เรียกว่าแค่เกิดมาก็ต้องมีภาพของพวกเขาถูกบันทึกไว้ในเฟซบุ๊กหรืออินสตาแกรมก่อนจะลืมตาได้ด้วยซ้ำไป
ธรรมชาติของแฟนด้อมในเกมฟุตบอลกำลังเปลี่ยนไป
และหนึ่งในคนที่ยิ่งใหญ่พอที่จะทำให้มันเปลี่ยนแปลงก็ไม่ใช่ใคร ถ้าไม่ใช่ คริสเตียโน โรนัลโด
ทั้งหมดที่กล่าวมานั้นเป็นตัวอย่างของ Ronaldo Effect กับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจากนักฟุตบอลที่เป็นไอคอนของโลกปัจจุบัน
มันมีความเป็นไปได้ที่จะมีสิ่งต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากหลังจากนี้ เพราะนี่เป็นเพียงแค่การเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงเท่านั้น
หากการเด็ดดอกไม้สามารถสะเทือนได้ถึงดวงจันทร์
การย้ายทีมของโรนัลโดก็สะเทือนได้ถึงดวงดาวเช่นกันครับ
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง:
- www.bbc.com/sport/football/45209996
- www.weforum.org/agenda/2018/08/cristiano-ronaldo-juventus-economics-of-football/
- www.facebook.com/worldeconomicforum/videos/1872746393035174/
- edition.cnn.com/2018/08/17/football/cristiano-ronaldo-juventus-social-media-fans-china-spt-intl/index.html
- bleacherreport.com/articles/2791794-real-madrid-attendance-at-9-year-low-in-first-game-after-cristiano-ronaldo-exit
- ตามข้อมูลปัจจุบัน ยูเวนตุสทำรายได้รวมทั้งปี 400 ล้านยูโร ยังตามหลังสโมสรอย่างแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด (676 ล้านยูโร), เรอัล มาดริด (674 ล้านยูโร) หรือบาเยิร์น มิวนิค (588 ล้านยูโร) อีกไกล แต่เชื่อว่าการมาของโรนัลโดจะช่วยลดช่องว่างตรงนี้ได้มาก
- เชื่อกันว่าอีกหนึ่งเป้าหมายของยูเวนตุส โดยเฉพาะตระกูลอันเญลลี เจ้าของสโมสร หวังจากการซื้อโรนัลโดคือการเร่งปฏิกิริยาให้เกิด European Super League เร็วยิ่งขึ้น
- ค่าเหนื่อย 29 ล้านปอนด์ต่อปีของโรนัลโด เหมือนจะแพงมหาศาล แต่ในหมู่บรรดาสโมสรฟุตบอลระดับสูงสุด สิ่งที่พวกเขาเลี่ยงไม่ได้คือ การจ่ายค่าเหนื่อยแพงระยับให้ซูเปอร์สตาร์ เหมือนกรณีของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ที่มีรายรับมากกว่า 600 ล้านยูโร แต่ครึ่งหนึ่งต้องจ่ายเป็นค่าเหนื่อยของนักฟุตบอล