×

เชลซีกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่สุดในรอบ 10 ปี

20.09.2019
  • LOADING...
Chelsea

HIGHLIGHTS

7 MINS. READ
  • การที่เชลซีถูกตัดสินลงโทษแบนห้ามซื้อผู้เล่น ทำให้เราได้เห็นบรรดาดาวรุ่งประจำสโมสรได้รับโอกาสฉายแสงในแบบที่ควรจะได้รับมากขึ้น
  • อคาเดมีของเชลซีถือเป็นอีกทีมที่ประสบความสำเร็จพอสมควร หลังจากได้แชมป์เอฟเอ ยูธ คัพมากถึง 7 สมัย, แชมป์ยูฟ่า ยูธ ลีก (2 สมัย), U-18 พรีเมียร์ลีก (2 สมัย) ฯลฯ
  • แฟรงก์ แลมพาร์ด เป็นโค้ชที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ของทีมก่อนหน้านี้ตรงที่ เขามีโอกาสและเวลามากพอสำหรับเด็กทุกคนเสมอ

ลืมความพ่ายแพ้ในเกมกับบาเลนเซียในเกมแชมเปี้ยนส์ลีกนัดล่าสุดไปเสียก่อน เช่นเดียวกับการโดน เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด ตามตีเสมอในช่วงท้ายเกม และความพ่ายแพ้แบบหมดรูปต่อ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเกมพรีเมียร์ลีกนัดแรกของฤดูกาล

 

มันอาจจะน่าผิดหวัง แต่เชื่อว่าในความรู้สึกของแฟนฟุตบอลทีมเชลซีจำนวนมาก หัวใจของพวกเขาน่าจะเต้นในจังหวะที่ไม่เป็นจังหวะนัก

 

ไม่ต่างอะไรจากคนที่มีความรัก ความรักที่ห่างหายไปนานหลายปี นานจนแทบจะลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งพวกเขาก็เคยมีความรู้สึกแบบนี้ไม่ต่างอะไรจากแฟนฟุตบอลทีมอื่น

 

ความจริงแล้วมันควรจะเป็นขวบปีที่ขื่นขมสำหรับพวกเขานะครับ 

 

ลองคิดย้อนกลับมา หากว่าเป็นทีมของเราเองผลงานตกต่ำมาต่อเนื่องหลายปี เจ้าของสโมสรถูกห้ามเข้าประเทศและดูเหมือนจะไม่อยากลงทุนอะไรกับทีมเหมือนเดิม ผู้จัดการทีมคนเก่าตัดสินใจทิ้งปัญหาจากไปแบบดื้อๆ ถูกสั่งลงโทษแบนห้ามซื้อผู้เล่นเป็นเวลาถึง 1 ปี และสตาร์หมายเลขหนึ่งของทีมตัดสินใจเด็ดขาดที่จะไปจากทีมเพื่อทำตามความฝันของตัวเอง โดยที่ไม่มีสิทธิ์จะเหนี่ยวรั้งอะไรอีก

 

ถ้าเจอมวลมหาปัญหาถาโถมขนาดนี้ จะท้อจะถอยก็ไม่แปลก

 

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับเชลซีเวลานี้เป็นในทางตรงกันข้ามครับ พวกเขากลับกลายเป็นทีมที่เต็มไปด้วยพลังของความหวัง นอกจากจะไม่ย่อท้อต่อปัญหา ทุกคนที่เกี่ยวข้องกับสโมสรต่างรวมพลังกัน ไม่เพียงเพื่อประคับประคองสโมสร แต่ยังเพื่อเปลี่ยนแปลงสโมสรครั้งใหญ่ ให้เชลซีได้กลับมาเป็นสโมสรฟุตบอลที่ทุกคนจะรักได้อีกครั้ง

 

ผมว่ามันคือความมหัศจรรย์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นในเกมฟุตบอลเลยล่ะ

 

อย่างที่บอกครับว่า ‘วิกฤต’ ที่เกิดขึ้นที่สแตมฟอร์ดบริดจ์ได้แปรเปลี่ยนเป็น ‘โอกาส’ 

 

การถูกตัดสินลงโทษแบนห้ามซื้อผู้เล่นเป็นระยะเวลา 2 รอบตลาดการซื้อขาย (ตลาดฤดูร้อน 2019 และตลาดฤดูหนาวในต้นปี 2020) ทำให้สโมสรไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการใช้ผู้เล่นที่มีอยู่ในมือ

 

โชคดีที่เชลซีมีขุมกำลังสำรองค่อนข้างแน่นหนา ถึงจะเสียสตาร์หมายเลขหนึ่งอย่าง เอเดน อาซาร์ ไปให้กับเรอัล มาดริด แต่พวกเขาก็ยังมีผู้เล่นระดับท็อปคลาสอีกมากมายที่ดีพอจะประคับประคองทีมให้มีลุ้นไปฟุตบอลสโมสรยุโรปได้ อยู่ที่จะจบ Top 4 ได้ไปแชมเปี้ยนส์ลีก หรือ Top 6 ได้ไปยูโรปาลีก

 

Chelsea

 

การเซ็นสัญญาล่วงหน้ากับ คริสเตียน พูลิซิช เพชรเม็ดงามจากโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ทำให้สถานการณ์ไม่เข้าขั้นมืดมนอนธการ เช่นกันกับ มาเตโอ โควาซิช กองกลางห้องเครื่องที่ใช้เงื่อนไขซื้อขาดจากเรอัล มาดริด ก็ดีกว่าไม่ได้ใครเลย

 

แต่สิ่งที่ดีที่สุดในเรื่องนี้ และเป็นสิ่งที่น่าจะเรียกว่าดีที่สุดกับเชลซีในรอบสิบกว่าปีที่ผ่านมา คือการที่พวกเขาตัดสินใจหันกลับมามองบรรดาผู้เล่นดาวรุ่งเยาวชนในทีมอีกครั้ง

 

อาจจะเรียกว่าเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาเทกโอเวอร์กิจการสโมสรเมื่อปี 2003 ต่อจาก เคน เบตส์ เจ้าของสโมสรเดิมเลยทีเดียว

 

บางคนอาจจะทราบ แต่หลายคนอาจไม่รู้ว่าเชลซีเป็นสโมสรที่มีการลงทุนมหาศาลในระบบอคาเดมี พวกเขามีศูนย์ฝึกที่ดีในระดับชั้นนำของโลกอยู่ที่คอปแฮม ซึ่งใช้เงินลงทุนกว่า 20 ล้านปอนด์

 

ไม่ใช่แค่การลงทุนระบบ แต่เชลซีมีผู้เล่นเยาวชนในระดับ ‘หัวกะทิ’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นเด็กอังกฤษหรือดาวรุ่งที่คัดมาจากต่างประเทศก็ตาม ซึ่งทำให้พวกเขามีทีมเยาวชนที่แข็งแกร่งมากที่สุดในอังกฤษ

 

Chelsea

 

เอาแค่แชมป์เอฟเอ ยูธ คัพ ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา เชลซีเป็นแชมป์มากถึง 7 สมัย ไม่นับแชมป์ยูฟ่า ยูธ ลีก (2 สมัย), U-18 พรีเมียร์ลีก (2 สมัย) ฯลฯ

 

เพียงแต่ปัญหาที่ผ่านมาคือ เชลซีเป็นทีมที่ไม่มีค่านิยมในการผลักดันผู้เล่นจากทีมเยาวชนของตัวเองขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่

 

ต่อให้จะมีบ้างบางคนที่ได้โอกาสขึ้นมาสัมผัสประสบการณ์ แต่ไม่มีสักคนที่สามารถจะยึดตำแหน่งในทีมได้อย่างถาวร หลายคนถูกส่งตัวให้สโมสรอื่นยืมใช้งาน แต่ต่อให้ทำได้ดีแค่ไหน สุดท้ายก็ไม่มีโอกาสได้แจ้งเกิดกับต้นสังกัด จากดาวรุ่งจึงกลายเป็นดาวร่วง และไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการไปเริ่มต้นชีวิตใหม่กับสโมสรอื่น

 

นักเตะแบบนี้มีมากมายครับ ไม่ว่าจะเป็น ไรอัน เบอร์ทรานด์, แพทริก ฟาน อานโฮลท์, นาธาน อาเก, โดมินิค โซลันกี, เนธาเนียล ชาโลบาห์

 

รวมถึงคนที่ผมเสียดายมากที่สุดเมื่อคิดถึงช่วงแรกที่เขาแจ้งเกิดได้อย่าง จอช แม็คเอคราน อดีตกองกลางเพชรเม็ดงามที่เคยโด่งดังเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่กลายเป็นดาวดับอย่างน่าเศร้า (ปัจจุบันเล่นกับเบรนต์ฟอร์ด ในลีกเดอะ แชมเปี้ยนชิป)

 

ดังนั้นการถูกลงโทษไม่ให้ซื้อผู้เล่นของเชลซีจึงกลายเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เกิดขึ้นกับสโมสรอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะทำให้นักเตะดาวรุ่งตัวเด่นๆ ของทีมได้โอกาสในการกลับมาเล่นให้กับพวกเขาอีกครั้ง 

 

ความโชคดีต่อมาคือ การที่ดาวรุ่งเหล่านั้นได้คนที่เข้าใจและพร้อมให้โอกาสอย่าง แฟรงก์ แลมพาร์ด 

 

ถึงจะมีประสบการณ์ในการทำงานแค่ปีเดียวในระดับเดอะ แชมเปี้ยนชิป ซึ่งถือเป็นการเดิมพันราคาค่อนข้างแพงอยู่ไม่น้อยสำหรับสโมสรใหญ่อย่างเชลซี ที่ไม่เคยใช้งานผู้จัดการทีมชาวอังกฤษเลยแม้แต่คนเดียว แต่ประสบการณ์ 1 ปีของแลมพาร์ดกลายเป็นสิ่งที่มีความหมายอย่างมาก เพราะดาวรุ่งตัวท็อปของเขาก็เล่นในลีกระดับเดียวกัน 

 

เรียกว่าอยู่ในหูในตามาโดยตลอด

 

Chelsea

 

ไม่ว่าจะเป็น เมสัน เมาท์ เพลย์เมกเกอร์พรสวรรค์สูง และ ฟิกาโย โทโมรี สองนักเตะที่แลมพาร์ดขอยืมไปใช้งานกับดาร์บี เคาน์ตีเมื่อฤดูกาลที่แล้ว หรือ แทมมี อับราฮัม กองหน้าที่ดังระเบิดกับแอสตัน วิลลาในฤดูกาลที่แล้ว จากผลงานการทำประตูถึง 27 ลูก

 

ด้วยเห็นมากับตาและด้วยประสบการณ์การเล่นฟุตบอลที่ยาวนาน ทำให้อดีตกองกลางขวัญใจตลอดกาลของเชลซีรู้ว่าเด็กๆ เหล่านี้ดีเกินพอที่จะประสบความสำเร็จในการเล่นระดับสูงสุดได้

 

สิ่งที่พวกเขาต้องการมีแค่ 2 อย่างเท่านั้น

 

อย่างแรกคือโอกาส และอีกอย่างหนึ่งคือการให้โอกาสแก้ตัว

 

เพราะปัญหาใหญ่ที่ดาวรุ่งเหล่านี้เผชิญคือ แม้จะมีฝีเท้าที่ดีพอ มีพรสวรรค์มากพอ แต่ประสบการณ์ที่อ่อนด้อย กระดูกกระเดี้ยวทางเกมลูกหนังและการใช้ชีวิตของพวกเขายังอ่อนอยู่ เก่งแค่ไหนก็ผิดพลาดทุกคน 

 

และความโหดร้ายของโลกคือ สโมสรใหญ่ๆ อย่างเชลซีไม่มีเวลาและความอดทนมากพอที่จะเฝ้ารอพวกเขาให้แข็งแรงก่อน เพราะทุกปีสิ่งที่พวกเขาต้องการคือความสำเร็จที่เป็นรูปธรรมจับต้องได้อย่างถ้วยแชมป์ ไม่ใช่ความสุขจากการเห็นดาวรุ่งแจ้งเกิด

 

ผู้จัดการทีมที่เก็บเกี่ยวความสำเร็จมาแล้วมากมายอย่าง โฆเซ มูรินโญ จึงไม่เคยแยแสเด็กๆ เหล่านี้ เหมือนที่ โทมัส คาลาส อดีตดาวรุ่งในทีมเชลซีเคยเล่าด้วยความเจ็บปวดว่า เขารู้สึกไม่ต่างอะไรจากการเป็น ‘กรวย’ ในสนามซ้อมที่ The Special One ไม่เคยคิดว่ามีตัวตนอยู่ในสนามซ้อม

 

Chelsea

 

แต่สำหรับแลมพาร์ด เขามีโอกาสและเวลามากพอสำหรับเด็กทุกคนเสมอ

 

ในช่วงแรก อับราฮัมและเมาท์ทำผลงานได้ไม่ดีนัก พวกเขาอ่อนหัดอย่างเห็นได้ชัด แต่แลมพาร์ดก็ให้โอกาสพวกเขาต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่ความจริงแล้วก็มีผู้เล่นชุดใหญ่เดิมที่มีประสบการณ์มากกว่าพร้อมจะเสียบตำแหน่งทุกเมื่อ

 

สิ่งตอบแทนที่เขาได้รับกลับมาในเวลานี้คือความหวัง เมาท์กลายเป็นเพลย์เมกเกอร์ที่ทีมขาดไม่ได้ (ล่าสุดบาดเจ็บในเกมกับบาเลนเซีย ก็ทำเอาแฟนๆ ถึงกับภาวนาขอให้หายทันในเกมกับลิเวอร์พูลวันอาทิตย์นี้) ขณะที่อับราฮัมกลายเป็นดาวยิงที่ร้อนแรงสุดๆ ในเกมลีกนัดล่าสุดกับวูล์ฟส ก็ได้ลูกฟุตบอลกลับบ้านเป็นที่ระลึกหลังทำแฮตทริกแรกในพรีเมียร์ลีกได้สำเร็จ

 

หนึ่งในประตูที่เขาทำได้คือการแตะหนี คอเนอร์ โคดี ปราการเหล็กกัปตันทีมวูล์ฟสเข้าไปยิงเสียบเสาไกลง่ายๆ ซึ่งไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถลากผ่านกองหลังที่แข็งแกร่งและใจสู้อย่างโคดีได้ง่ายๆ แบบนี้

 

ขณะที่โทโมรีเริ่มได้โอกาสลงเล่นในช่วงหลังและทำผลงานได้เด่นมาก ในเกมกับวูล์ฟสก็ยิงไกลจากระยะ 30 หลาเข้าไปอย่างสวยงาม แต่ที่ดีกว่านั้นคือจังหวะที่เขาลากทำเกมขึ้นมาถึงกรอบเขตโทษ ก่อนจะประสานงานต่อให้เมาท์ และจบที่การทำประตูของอับราฮัม

 

เด็กๆ เหล่านี้ทำให้เชลซีกลับมามีชีวิตชีวาได้อย่างน่าอัศจรรย์ครับ

 

ที่สำคัญคือเชลซียังมีดาวรุ่งระดับนี้อีกหลายคน ไม่ว่าจะเป็น รูเบน ลอฟตัส-ชีค กองกลางดาวรุ่งประสบการณ์พอตัวที่แจ้งเกิดตั้งแต่ในฤดูกาลที่แล้ว, เอเมอร์สัน พัลมิเอรี แบ็กซ้ายจอมบุกที่บาดเจ็บอยู่ รวมถึงอีก 2 ดาวเด่นที่บาดเจ็บหนักมานานอย่าง รีซ เจมส์ ฟูลแบ็กและดาวรุ่งที่ดังที่สุดของทีมอย่าง คัลลัม​ ฮัดสัน-โอดอย

 

ไม่นับคนที่รอพร้อมต่อคิวลงสนามทุกเมื่ออย่าง บิลลี กิลมัวร์, มาร์ก เกวฮิ และเอียน มัตเซน 

 

Chelsea

 

โดยเฉพาะรายของ ฮัดสัน-โอดอย ที่เคยเกือบตัดสินใจจะย้ายไปเยอรมนีตามรอย จาดอน ซานโช หลังได้รับการทาบทามอย่างจริงจังจากบาเยิร์น มิวนิก สุดท้ายการมาถึงของแลมพาร์ดทำให้เขาเชื่อว่าเขามีโอกาสจะแจ้งเกิดกับทีมที่เขารัก และล่าสุดบรรลุข้อตกลงสัญญาฉบับใหม่กับสโมสรที่จะทำให้เด็กอายุ 18 อย่างเขามีรายได้ถึง 120,000 ปอนด์ต่อสัปดาห์ (ที่สูงขนาดนี้เพราะเป็นที่ต้องการของทีมอื่น และเชลซีไม่สามารถจะเสียเพชรเม็ดงามในทีมได้ในเวลานี้)

 

ดังนั้นฤดูกาลนี้จึงเป็นฤดูกาลที่น่าตื่นเต้นสำหรับพวกเขา และในอีกทางหนึ่งก็เป็นการเดิมพันของอนาคตที่น่าสนใจ

 

หากสุดท้ายแลมพาร์ดทำทีมได้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย หรือเกินกว่าเป้าหมาย บรรดาผู้บริหารของสโมสรจะเปลี่ยนนโยบายจากการ ‘ซื้อ’ มาเน้นการ ‘สร้าง’ แทนหรือไม่

 

ตรงนี้เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไปครับ

 

อาจจะไม่ใช่ทีมที่ชอบ ไม่ใช่ทีมที่เชียร์ (ชังบ้างเป็นบ้างยุค) แต่สำหรับฤดูกาลนี้ 1 ขวบปีจากนี้เป็นต้นไป อยากจะร่วมจับตาและเอาใจช่วยเด็กมหัศจรรย์ของแลมพาร์ด

 

เพราะนี่คือความงดงามของเกมฟุตบอลที่หายไปนาน

 

เห็นแล้วหัวใจก็เบิกบานไปด้วยครับ 🙂

FYI
  • ปัจจุบันเชลซีจับดาวรุ่งตัวท็อปอย่าง เมสัน เมาท์, บิลลี กิลมัวร์, รูเบน ลอฟตัส-ชีค รวมถึง คัลลัม ฮัดสัน-โอดอย ต่อสัญญาระยะยาวเรียบร้อยแล้ว 
  • คนที่รอต่อคิวจะต่อสัญญาต่อไปคือ แทมมี อับราฮัม, ฟิกาโย โทโมรี และ รีซ เจมส์ 
  • 11 ประตู คือจำนวนประตูที่ 3 ดาวรุ่ง อับราฮัม, เมาท์ และโทโมรี ทำได้รวมกันในฤดูกาลนี้ ซึ่งเป็นจำนวนที่ดาวรุ่งยิงรวมกันได้มากที่สุดเหนือกว่าสถิติเดิมเมื่อฤดูกาลที่แล้ว 2018/19 ที่ทำได้ 6 ประตู และทั้งหมดเป็นของลอฟตัส-ชีค แค่คนเดียว
  • เอาเข้าจริงตลอด 16 ฤดูกาลก่อนหน้านี้นับตั้งแต่ โรมัน อบราโมวิช เข้ามาเทกโอเวอร์ มีผู้เล่นจากอคาเดมีของเชลซีทำประตูได้แค่ 3 คนคือ จอห์น เทอร์รี, เบอร์ทรานด์ ตราโอเร และลอฟตัส-ชีค
  • นอกจากแลมพาร์ดแล้ว คนที่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการผลักดันเยาวชนคือ โจดี มอร์ริส ผู้ช่วยของแลมพาร์ด ซึ่งเป็นอดีตเด็กปั้นของเชลซีมาก่อน และ 2 กำลังสำคัญของอคาเดมีอย่าง นีล บาธ และจิม เฟรเซอร์ 
  • ระยะทางระหว่างห้องทำงานของผู้จัดการทีมเชลซีกับสนามของทีมอคาเดมีในคอปแฮมห่างกันเพียงแค่ 50 เมตร เพียงแต่ในอดีตผู้จัดการทีมมักจะไม่แยแส ต่อให้มีเกมแชมเปี้ยนส์ลีก U-19 ลงเล่นอยู่ในระยะสายตาก็ตาม ซึ่ง โจดี มอร์ริส ที่คุมทีมเยาวชนมาก่อนเคยตัดพ้อว่า “มันทำให้หัวใจสลาย”
  • อีกหนึ่งคนสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จเล็กๆ ของทีมในเวลานี้คือ มาร์รินา กรานอฟสกายา ผู้อำนวยการสโมสรสาวที่เป็นเหมือนมือขวาของ โรมัน อบราโมวิช ที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้และมีส่วนช่วยยับยั้งการย้ายทีมของฮัดสัน-โอดอย และต่อสัญญาเขาในอีก 7 เดือนต่อมา
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising